วิเคราะห์มิลินทปัญหา: ปรินิพพานปัญหา ถามเรื่องปรินิพพาน


นิพพานเป็นคำสอนสำคัญในพุทธปรัชญาเถรวาท เพราะนิพพานคือการหลุดพ้นหรือการพ้นทุกข์อันเป็นอุดมคติชีวิตหรือเป้าหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา นิพพานจึงเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งยากแก่การทำความเข้าใจ จึงมีทัศนะหรือการตีความที่หลากหลายเกี่ยวกับลักษณะหรือสภาวะของนิพพาน รวมทั้งสภาพหลังการดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์ คัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนกาลประมาณ ๕๐๐ พรรษา พระคันถรจนาจารย์ประสงค์จะชี้แจงข้อพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาให้แจ่มแจ้ง ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นคัมภีร์ที่แสดงแนวคิดของพุทธศาสนาเถรวาทที่ได้รับการยอมรับ

วิเคราะห์มิลินทปัญหา: ปรินิพพานปัญหา ถามเรื่องปรินิพพาน

โดย อุทัย สติมั่น

บทนำ 

นิพพานเป็นคำสอนสำคัญในพุทธปรัชญาเถรวาท  เพราะนิพพานคือการหลุดพ้นหรือการพ้นทุกข์อันเป็นอุดมคติชีวิตหรือเป้าหมายสูงสุดของพุทธปรัชญา  นิพพานจึงเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งยากแก่การทำความเข้าใจ จึงมีทัศนะหรือการตีความที่หลากหลายเกี่ยวกับลักษณะหรือสภาวะของนิพพาน รวมทั้งสภาพหลังการดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์   คัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนกาลประมาณ ๕๐๐ พรรษา พระคันถรจนาจารย์ประสงค์จะชี้แจงข้อพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาให้แจ่มแจ้ง   ถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นคัมภีร์ที่แสดงแนวคิดของพุทธศาสนาเถรวาทที่ได้รับการยอมรับ  ได้อธิบายเรื่องนิพพานผ่านการสนทนาระหว่างพระนาคเสน กับพระยามิลินท์  ซึ่งปรากฎปัญหาที่ว่าด้วยนิพพาน ได้แก่ปรินิพพานปัญหา  : ถามเรื่องปรินิพพาน      นิโรธนิพพานปัญหา: ถามความดับที่เรียกว่านิพพาน    นิพพานลภนปัญหา : ถามการได้นิพพาน     นิพพานสุขภาวชานนปัญหา: ถามความรู้จักความสุขในนิพพาน     นิพพานัสสอัตถิภาวปัญหา: ถามถึงความมีอยู่แห่งนิพพาน     นิพพานัสสะอทุกขมิสสภาวปัญหา: ถามความไม่เจือทุกข์แห่งนิพพาน     นิพพานปัญหา:  ถามเรื่องนิพพาน   นิพพานสัจฉิกรณปัญหา: ถามการทำให้แจ้งนิพพาน     นิพพานนัสสปัฏฐานปัญหา: ถามที่ตั้งแห่งนิพพาน    จะเห็นได้ว่าเรื่องนิพพานที่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากทำให้พระเจ้ามิลินท์ได้สอบถามความเข้าใจกับพระนาคเสนดังกล่าวข้างต้น 

ในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในคัมภีร์มิลินท์ในครั้งนี้ผู้เขียนจะมุ่งศึกษาวิเคราะห์เป็นพิเศษเฉพาะนิพพานในวรรคที่ ๒   ปัญหาที่ ๔ ปรินิพพานปัญหา   อันว่าด้วยการถามเรื่องปรินิพพานเท่านั้น  ทั้งนี้ผู้เขียนได้กำหนดประเด็นการศึกษาวิเคราะห์โดยในเบื้องต้นมุ่งสำรวจสำนวนการแปลต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร จากนั้นผู้เขียนจะได้วิเคราะห์ไปสู่ประเด็นเนื้อหาที่เป็นคำสำคัญเช่น คำว่า นิพพาน   ปรินิพพาน   กายิกทุกข์   เจตสิกทุกข์  ขันธนิพพาน  กิเลสนิพพาน  อุปาทิเสสปรินิพพาน  อนุปาทิเสสปรินิพพาน รวมถึงการพิจารณาความหมายของนิพพานในแง่มุมของพุทธศาสนามหายานเป็นต้น

        

วิเคราะห์ปรินิพพานปัญญา

๑.   สำนวน CD-ROM ฉบับธรรมทาน            

 

ปรินิพฺพานปญฺโห  จตุตฺโถ[๑]

          ราชา  อาห  ภนฺเต  นาคเสน  โย  นปฺปฏิสนฺธิยติ เวเทติ  โส  กิฺจิ  ทุกฺข เวทนนฺติ  ฯ  เถโร  อาห  กิฺจิ  เวเทติ  กิฺจิ  น  เวเทตีติ  ฯ  ราชา  อาห  กึ  เวเทติ  กึ  น  เวเทตีติ  ฯ  กายิก  มหาราช  เวทน  เวเทติ  เจตสิก  เวทน  น  เวเทตีติ  ฯ กถ ภนฺเต กายิก  เวทน  เวเทติ  กถ  เจตสิก  เวทน  น  เวเทตีติ ฯ  โย  มหาราช เหตุ  โย  ปจฺจโย  กายิกาย  ทุกฺขเวทนาย อุปฺปตฺติยา  ตสฺส เหตุสฺส  จ  ตสฺส ปจฺจยสฺส จ  อนุปรมาย กายิก  ทุกฺขเวทน  เวเทติ  โย  เหตุ  โย  ปจฺจโย  เจตสิกาย ทุกฺขเวทนาย อุปฺปตฺติยา  ตสฺส  เหตุสฺส  จ  ตสฺส ปจฺจยสฺส จ  อุปรมาย  เจตสิก  ทุกฺขเวทน  น เวเทตีติ  ฯ  ภาสิต  เจต  มหาราช  ภควตา  โส  เอก  เวทน เวเทติ  กายิก  น  เจตสิกนฺติ  ฯ  ภนฺเต  นาคเสน  โย โส  ทุกฺขเวทน  น  เวเทติ  กสฺมา  โส  น  ปรินิพฺพายตีติ  ฯ  เถโร  อาห  น  หิสฺส  มหาราช  อรหโต  อตฺถิ  อนุนโย  วา  ปฏีฆ  วา  น  จ  อรหนฺโต  อปกฺก ปาเตนฺติ  ปริปาก  อาคเมนฺติ  ปณฺฑิตา  ฯ    ภาสิต  เจต  มหาราช  เถเรน  สาริปุตฺเตน  ธมฺมเสนาปตินา

                   นาภินนฺทามิ  มรณ                        นาภินนฺทามิ  ชีวิต

                   กาลฺจ  ปฏิกงฺขามิ                       เวตฺตน  ภติโก  ยถา

                   นาภินฺนทามิ  มรณ                        นาภินนฺทามิ  ชีวิต

                   กาลฺจ ปฏิกงฺขามิ                        สมฺปชาโน  ปฏิสฺสโตติ  ฯ

กลฺโลสิ  ภนฺเต  นาคเสนาติ  ฯ

 แปลมคธเป็นไทย

                      ราชา  สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามอรรถปัญหาอันอื่นสืบไปเล่าว่า  ภนฺเต  นาคเสน  ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า บุคคลที่ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดใหม่ในภพเบื้องหน้านั้น จะได้เสวยทุกข์บ้างหรือว่าหามิได้

                   พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า  มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐคนที่ไม่ปฏิสนธิไม่เกิดอีกนั้นเสวยทุกข์บ้างไม่เสวยทุกข์บ้าง

                   พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงตรัสซักว่า  อย่างไรไม่เสวยทุกข์  อย่างไรเสวยทุกข์

                   พระนาคเสนจึงวิสัชนาแก้ไขว่า มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐท่านที่ไม่เกิดอีกนั้น  เสวยแต่กายิกทุกข์อันประกอบในกาย  มิได้เสวยเจตสิกทุกข์  ขอถวายพระพร

                   พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรถามว่า อย่างไรเรียกว่าทุกข์ประกอบในกาย  อย่างไรเรียกว่าทุกข์ประกอบในเจตสิก

                   พระนาคเสนจึงวิสัชนาว่า  มหาราช  ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ  เหตุปัจจัยอันแต่งกองทุกข์ในกายนั้นยังไม่ดับ ก็ยังมีทุกข์อยู่  และท่านที่เป็นขีณาสพนั้นเสวยทุกขเวทนาในกายนั้น  เหตุว่ากายของท่านนั้นยังเป็นเชื้ออุปาทานตกแต่ง  มีเหตุปัจจัยไปกว่าจะถึงนิพพานในปัจฉิมชาตินั้น  ท่านที่เป็นพระขีณาสพจึงเสวยทุกข์สำหรับกายให้อาพาธเจ็บไข้และต้องบาดเสี้ยนหนามยอกนั้น  ท่านก็ได้เสวยทุกข์อันเจ็บปวดในกาย  ของถวายพระพร  ที่ท่านไม่เสวยทุกข์อันประกอบในเจตสิกนั้น  คือเหตุปัจจัยที่แต่งจิตเจตสิกดับแล้ว  ไม่มีโลโภ  โทโส  โมโห กิเลสตัณหา  กิเลสตัณหาหามิได้มี  เหตุดังนั้นทุกข์ในจิตเจตสิกจึงไม่มี  มีแต่ทุกข์อันประกอบในกาย  ขอถวายพระพร  

                   สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี  จึงมีพระราชโองการซักว่า  ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า  ถ้าแม้นว่าพระอรหันต์ขีณาสพเจ้ามีทุกข์เกิดในกายอยู่กระนี้  เหตุไรจึงจะได้ไปนิพพาน

                   พระนาคเสนถวายพระพรว่า  มหาราช  ดูรานะพิตรพระราชสมภาร  ท่านเสวยทุกข์ก็แต่ทุกข์สำหรับกายอันเป็นเชื้อสายอุปทาน  ท่านมีราคะปราศจากสันดาน  หาเหตุปัจจัยที่จะแต่งไปมิได้  ท่านก็คงจะไปนิพพานโดยฤดูกาลอันสมควร  แล้วท่านก็ย่างเข้าสู่พระนครเมืองแก้วอันกล่าวแล้วคือพระปถโมกขมหานครนิพพาน  อันดับซึ่งชาติกันดาร ชรากันดาร  พยาธิกันดารมรณกันดาร เป็นที่สุขเกษมเอกันตะบรมสุขปราศจากทุกข์ในสงสาร  สมด้วยถ้อยคำพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรพุทธอัครสาวกวิเศษนิเทศไว้เป็นคาถาดังนี้

                       นาภินนฺทามิ  มรณ            นาภินนฺทามิ  ชีวิต

                   กาลญฺจ  ปฏิกงฺขามิ                     เวทน  ภตฺตการโก  ยถา ฯ

                   นาภินนฺทามิ  มรณ                      นาภินนฺทามิ  ชีวิต

                   กาลญฺจ  ปฏิกงฺขามิ                     สมฺปชาโน  ปติสฺสโตติ ฯ

                   กระแสความในพระคาถานี้ว่า  อห  อันว่าข้า  นาภินนฺทามิ  มิได้ยินดีบัดนี้  มรณ  ซึ่งความตาย  อห  อันว่าข้า  นาภินนฺทามิ  มิได้ยินดีบัดนี้ ชีวิต  ซึ่งจะมีชีวิตเป็นไป  ภตฺตการโกเปรียบดังพ่อครัวเชิญเครื่องเสวยคอยท่าสมเด็จบรมกษัตริย์จะเสวยเมื่อใด  ก็จะยกเครื่องไปถวายเมื่อนั้น ยถา  มีครุวนาฉันใดเล่า  อห  ตัวข้าพเจ้านี้  ปติสฺสโต  มีตัณหาปราศจากมีกิเลสราคะอันขาดจากสันดาน  สมฺปชาโน  มีสติรู้รอบคอบเป็นอันดี  ข้าพเจ้าจะถึงแก่มรณะก็ไม่ยินดี  จะมีชีวิตเป็นตัวเป็นตนอยู่ก็ไม่ยินดี  กาลญฺจ ปฏิกงฺขามิ  ข้าพเจ้านี้ปรารถนา  ซึ่งกาลอันควรที่จะเข้าสู่พระนิพพาน  เปรียบปานดุจพ่อครัวอันคอยกาลอันควรนั้น  สิ้นคำพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเท่านี้  เหตุดังนั้นที่ท่านจะไม่เกิดอีกนั้น  ยังมีชีวิตอยู่จะเสวยทุกข์สิ่งเดียวแต่ทุกข์ในกาย  ทุกข์ภายในเจตสิกไม่มี  ท่านคอยกาลสมควรของท่านแล้ว  ท่านก็เข้าสู่พระนิพพานนั้นแหละ  ขอถวายพระพร

                   สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี  ได้ฟังพระนาคเสนวิสัชนาฉะนี้  ก็มีน้ำพระทัยหรรษาทรงพระโสมนัส มีพระโองการตรัสว่า  กลฺโลสิ  พระผู้เป็นเจ้ากล่าววิสัชนานี้สมควรนี่กระไรสิ้นวิมติสงสัยของโยม ในกาลบัดนี้

ปรินิพพานปัญหา  คำรบ ๔ จบเท่านี้

 

ข้อวิจารณ์

              สำนวนแปลที่ท่านใช้คำว่า “เหตุว่ากายของท่านนั้นยังเป็นเชื้ออุปาทาน” เป็นการแปลที่สุ่มเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด เนื่องจาก คำว่า อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่น,  ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง มี ๔ อย่าง คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน  สีลัพพตุปาทาน  อัตตวาทุปาทาน[๒]  แต่บริบทข้างต้นท่านกำลังกล่าวถึงได้แก่พระขีณาสพ ที่สิ้นอุปาทานแล้ว ฉะนั้น คำว่าอุปาทาน ดังกล่าว ควรจะแปลว่า เหตุปัจจัย มากกว่า     แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องนิพพานของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มองว่า นิพพานในเถรวาทมีลักษณะเหมือนความดับสูญไร้ศักยภาพ  ไม่มีชีวิตชีวา  มหายานจึงมุ่งแสดงนิพพานในเชิงยืนยันไม่ใช่เชิงปฏิเสธมีปัจฉิมพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตรว่า[๓]              

“ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลาย  สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  เธอทั้งหลายจงทำหน้าที่ให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาทเถิด”

มหายานสรุปจากประเด็นนี้ว่า  เมื่อสังขารมีความเสื่อม จงรีบขวนขวายไปสู่ความไม่เสื่อม  นั่นคือเมื่อบรรลุจุดหมายแห่งการปฏิบัติคือนิพพาน  ย่อมไม่เสื่อม นิพพานจึงไม่ใช่ความขาดสูญ (not annihilation) ของโลก และไม่ใช่การสิ้นสุดชีวิต แต่นิพพานคือการมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางกระแสวังวนแห่งความเกิดและความตายแต่ก็อยู่เหนือความเกิดและความตาย นิพพานคือความยืนยันและเติมเต็ม ไม่ใช่การปฏิเสธและโยนทิ้งไป  รูปแบบแห่งนิพพาน มี ๔ อย่าง คือ

๑. ปรมัตถนิพพาน  เป็นอันเดียวกันกับธรรมกาย  ซึ่งเป็นสวภาวะของสรรพสัตว์  นิพพานนี้มีสวภาวะบริสุทธิ์ตลอดกาล  สร้างภาวะจริงแท้แห่งสรรพสัตว์เป็นอุตตรภาวะอยู่เหนือขอบเขตแห่งความรู้ของปุถุชน  สามารถรู้แจ้งได้โดยพุทธิปัญญาสูงสุด

๒. อุปาทิเสสนิพพาน ภาวะนิพพานที่มีบางสิ่งบางอย่างเหลืออยู่ หมายถึง ภาวะแห่งการตรัสรู้ที่บรรลุได้โดยผู้ปฏิบัติธรรมในชีวิตปัจจุบัน ในภาวะนี้  ธรรมกายถูกปลุกขึ้นมา ผู้บรรลุอุปาทิเสสนิพพานยังอยู่ภายใต้ความเกิดและความตาย  จึงไม่ใช่การหลุดพ้นจากทุกข์โดยสมบูรณ์ เพราะยังมีบางสิ่งเหลืออยู่ ซึ่งทำให้ต้องประสบทุกข์ 

๓. อนุปาทิเสสนิพพาน ภาวะนิพพานที่ไม่มีอะไรเหลืออยู่  ทุกอย่างหวนกลับไปสู่จุดสูงสุดดั้งเดิม นิพพานนี้บรรลุได้เมื่อธรรมกายได้รับการปลดปล่อยจากชาติทุกข์และมรณทุกข์ และจากกิเลสบาปธรรม

๔.  อสถานนิพพาน  ภาวะนิพพานที่ไม่มีสถานที่  เป็นการเปิดเผยตัวเองแห่งพุทธภาวะ หรือธรรมกาย ครอบคลุมกรุณาและจักษุสากล ผู้บรรลุนิพพานนี้ย่อมไม่มีสถานที่  ไม่มีที่อยู่อาศัย นั่นคือหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดโดยสิ้นเชิงไม่ยึดติดแม้กระทั่งกับนิพพานเอง อยู่เหนือนิพพานและสังสารวัฏ[๔]

อีกอย่างหนึ่ง สำนวนแปลที่ว่า   “ท่านก็คงจะไปนิพพานโดยฤดูกาลอันสมควร แล้วท่านก็ย่างเข้าสู่พระนครเมืองแก้วอันกล่าวแล้วคือพระปถโมกขมหานครนิพพาน”   สำนวนนี้ก็เป็นคติแบบมหายานดังกล่าวแล้วข้างต้น ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่าสำนวนการแปลนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นพื้น

 

๒. สำนวนมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

ปฏิสันทหนปุคคลเวทนิยนปัญหา

ปัญหาว่าด้วยการเสวยเวทนาของบุคคลผู้ปฏิสนธิ [๕]

              พระราชาตรัสถามว่า    “พระคุณเจ้านาคเสน ท่านผู้ใดจะไม่ปฏิสนธิ ท่านผู้นั้นยังจะเสวยทุกขเวทนาอะไร ๆ อยู่บ้างหรือ ?”

             พระเถระถวายวิสัชชนาว่า“ท่านยังเสวยทุกขเวทนาบางอย่าง จะไม่เสวยทุกขเวทนาบางอย่าง”

             พระเจ้ามิลินท์         “เสวยทุกขเวทนาอะไร ไม่เสวยทุกขเวทนาอะไร?”

             พระนาคเสน          “ขอถวายพระพร เสวยทุกขเวทนาทางกาย ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ”

             พระเจ้ามิลินท์         “พระคุณเจ้า ท่านเสวยทุกขเวทนาทางกาย อย่างไร ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ อย่างไร”

             พระนาคเสน          “เหตุใด ปัจจัยใด ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้น แห่งทุกขเวทนาทางกาย เพราะเหตุนั้น ปัจจัยนั้นไม่ระงับไป ท่านจึงเสวยทุกขเวทนาทางกาย เหตุใด ปัจจัยใด ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งทุกขเวทนาทางใจ เพราะเหตุนั้น ปัจจัยนั้น ระงับไป ท่านจึงไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตแม้ข้อความนี้ว่า ภิกษุรูปนั้นย่อมเสวยทุกขเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่เสวยทุกขเวทนาทางใจ” ดังนี้.

             พระเจ้ามิลินท์         “พระคุณเจ้านาคเสน ท่านผู้ใดยังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะเหตุไร ท่านผู้นั้น จึงไม่ปรินิพพานเสียเล่า?”

             พระนาคเสน          “ขอถวายพระพร ท่านผู้เป็นพระอรหันต์ หามีความยินดีหรือมีความยินร้ายไม่ อนึ่ง พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นบัณฑิต ไม่ทำขันธ์ที่ยังไม่สุกงอมให้ตกไป รอคอยความสุกงอมอยู่. ขอถวายพระพร ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ได้ภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  

                   นาภินนฺทามิ  มรณํ       นาภินนฺทามิ  ชีวิตํ

                   กาลญฺจ  ปฏิกงฺขามิ      นิพฺพิสํ  ภตโก  ยถา

                   นาภินนฺทามิ  มรณํ       นาภินนฺทามิ  ชีวิตํ

                   กาลญฺจ  ปฏิกงฺขามิ      สมฺปชาโน  ปติสฺสโตติ.

                   เราไม่ยินดีความตาย  เราไม่ยินดีความเป็นอยู่  ทว่า  เราได้แต่เฝ้ารอ

                   ค่าจ้าง ฉะนั้น   เราไม่ยินดีความตาย  เราไม่ยินดีความเป็นอยู่  ทว่า

                   เรามีสติเฉพาะหน้า มีสัมปชัญญะได้แต่รอเวลาอยู่เท่านั้น  ดังนี้.

             พระเจ้ามิลินท์  พระคุณเจ้านาคเสน  ท่านตอบสมควรแล้ว”

                 อธิบายความ

             คำว่า  ท่านผู้ใดจะไม่ปฏิสนธิ  ความว่า ท่านผู้เป็นพระอรหันต์จะไม่ปฏิสนธิ

             คำว่า  เพราะยังไม่ระงับไป  คือ เพราะยังไม่ดับไป ความว่า เมื่อพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่ กายประสาทยังเป็นไป ยังไม่ระงับ เพราะฉะนั้น เมื่อมีโผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา เช่นว่า ร้อนเกินไป เย็นเกินไป แข็งเกินไป เป็นต้น มากระทบกาย ท่านก็ย่อมเกิดความเจ็บปวด เมื่อมีไฟธาตุพลุ่งขึ้นมาจับพื้นกระเพาะในคราวที่ควรกลืนกินอาหารแล้ว ยังไม่ได้กลืนกิน ท่านก็เกิดความหิว เมื่อทรงกายอยู่ในอิริยาบถนั้น ๆ นาน ๆ ท่านก็เกิดความปวดเมื่อยขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ความเจ็บปวดเป็นต้นที่เกิดขึ้น ชื่อว่า ทุกขเวทนาทางกาย.  เพราะเหตุคือกายประสาทยังไม่ระงับ เพราะปัจจัยคืออัตภาพทั้งสิ้นอันเป็นที่ตั้งแห่งกายประสาทยังไม่ระงับ ท่านจึงเสวยทุกขเวทนาเหล่านั้น

             คำว่า  เพราะระงับไป  คือ เพราะดับไป ความว่า ทุกขเวทนาทางใจที่เรียกว่า โทมนัสมีโทสะเป็นเหตุ เป็นมูล มีธรรมที่เกิดร่วมกันอื่น ๆ มีผัสสะ วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นปัจจัยโดยเกี่ยวกับว่าเป็นผู้อุปถัมภ์. เพราะเหตุและปัจจัยเหล่านั้นระงับดับไป คือถูกละไปด้วยกำลังแห่งมรรคภาวนา ทุกขเวทนาคือโทมนัสนั้นจึงระงับดับไป เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่มีการเสวยทุกขเวทนาทางใจ

             คำว่า  ทว่าเราได้แต่รอเวลาอยู่เท่านั้น  ความว่า เราได้แต่รอเวลามรณะที่จะมาถึงเท่านั้น

             คำว่า  เหมือนอย่างลูกจ้างเฝ้ารอค่าจ้าง  ความว่า เปรียบเหมือนว่าลูกจ้างเฝ้ารอค่าจ้าง คือเวลาที่ลาภจะมาถึง ฉันใด เราก็เฝ้ารอเวลามรณะที่จะมาถึง ฉันนั้น

 

                 ข้อวิจารณ์

สำนวนแปลชุดนี้  มีความแตกต่างตั้งแต่ชื่อของปัญหา  ท่านใช้ชื่อว่า  “ปฏิสันทหนปุคคลเวทนิยนปัญหา คือปัญหาว่าด้วยการเสวยเวทนาของบุคคลผู้ปฏิสนธิ”   ในขณะที่เล่มอื่นๆ ใช้คำว่า ปรินิพพานปัญหา นอกจากนี้ก็ยังมีข้อสังเกตอีกว่า เนื้อหาท่านกำลังถามถึงการเสวยเวทนาของบุคคลผู้ไม่ถือปฏิสนธิอีก แต่เหตุไรท่านจึงตั้งชื่อว่า ปัญหาว่าด้วยการเสวยเวทนาของบุคคลผู้ปฏิสนธิ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าน่าจะตั้งชื่อว่า นัปปฏิสันทหนปุคคลเวทนิยนปัญหา คือ ปัญหาว่าด้วยการเสวยเวทนาของบุคคลผู้ไม่ปฏิสนธิ (ไม่เกิดอีก) ทั้งนี้เพื่อให้แตกต่างจากปัญหาในวรรคที่ ๙  นิพพานปัญหา:  ถามเรื่องนิพพาน   ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งชื่อปัญหาว่า ปรินิพพานปัญหา ในวรรคที่ ๔  กับ นิพพานปัญหา ในวรรคที่ ๙  หากพิจารณาเฉพาะชื่อดูว่าจะมีความใกล้เคียงจนแยกกันไม่ออกระหว่างคำว่า นิพพาน กับปรินิพพาน ซึ่งโดยความหมายที่เข้าใจโดยทั่วไปก็สามารถใช้แทนกันได้

    อีกอย่างหนึ่ง สำนวนแปลที่ว่า “พระคุณเจ้านาคเสน ท่านผู้ใดยังเสวยทุกขเวทนาอยู่ เพราะเหตุไร ท่านผู้นั้น จึงไม่ปรินิพพานเสียเล่า?”  มีความแตกต่างกันกับ   สำนวนแปลของปัญญา  สระทอง  ที่แปลสำนวนว่า    พระอรหันต์มีทุกข์ทางกาย ท่านจะบรรลุนิพพานได้อย่างไร    ตามสำนวนนี้เมื่อยังมีทุกข์ก็น่าจะปรินิพพานไปเสีย แต่สำนวนของปัญญา สระทอง หมายความว่า ถ้ายังมีทุกข์อยู่ก็แสดงว่ายังไม่ได้บรรลุนิพพาน  ซึ่งทั้งสองสำนวนก็ชวนให้เกิดคำถามเป็นข้อสังสัยและมีน้ำหนักความสำคัญแห่งคำถามใกล้เคียงกัน   หากพิจารณาจากสำนวนบาลีที่ว่า  กสฺมา  โส  น  ปรินิพฺพายตีติ  ผู้เขียนเห็นด้วยกับสำนวนแรกที่ว่า “เพราะเหตุไร ท่านผู้นั้น จึงไม่ปรินิพพานเสียเล่า”

                 ๓. สำนวนแปลของ ปัญญา  สระทอง

 

ปรินิพพานปัญหา  ถามเรื่องปรินิพพาน[๖]

พระเจ้ามิลินท์              :  คนที่ไม่เกิดในภพหน้าอีก จะมีทุกข์บ้างหรือไม่

พระนาคเสน                :  มีทุกข์บ้าง ไม่มีทุกข์บ้าง

พระเจ้ามิลินท์              :  อย่างไรมีทุกข์ อย่างไรไม่มีทุกข์

พระนาคเสน                :  คนที่ไม่เกิดอีกนั้นมีทุกข์ทางกาย แต่ไม่มีทุกข์ทางใจ

พระเจ้ามิลินท์              :  อย่างไรเรียกว่าทุกข์ทางกาย    อย่างไรเรียกว่าทุกข์ทางใจ

พระนาคเสน                : เหตุปัจจัยที่ให้เกิดทุกข์ทางกายยังไม่ดับก็ยังมีทุกข์อยู่ พระอรหันต์เมื่อท่านอาพาธก็ต้องมีทุกข์ทางกาย แต่ไม่มีทุกข์ทางใจ เพราะท่านไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แล้ว

พระเจ้ามิลินท์              :  พระอรหันต์มีทุกข์ทางกาย ท่านจะบรรลุนิพพานได้อย่างไร

พระนาคเสน                : ท่านมีทุกข์ก็เป็นเพียงสักว่าทุกข์ เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว หาเหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ท่านก็ปรินิพพานในโอกาสอันควร

จบปรินิพพานปัญหา

                 ข้อวิจารณ์

             สำนวนนี้เป็นสำนวนที่กระชับที่สุด และมีความชัดเจน ข้อสังเกตก็คือ เหตุใดท่านจึงไม่ยกอุปมาอันเป็นธรรมภาษิตของพระสารีบุตรมาประกอบด้วย

 

๑. สำนวนนายยิ้ม  ปัณฑยางกูร

 

ปัญหาที่ ๔ [๗]

พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า  ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ที่จะไม่ต้องมาเกิดอีก  ระหว่างเมื่อยังมีชีวิตอยู่จะรู้สึกต่อความลำบากหรือไม่

พระนาคเสนทูลตอบว่า  ขอถวายพระพร  บางส่วนก็รู้สึก  บางส่วนก็ไม่รู้สึก

ม. ส่วนไหนรู้สึก  ส่วนไหนไม่รู้สึก

น. ร่างกายของท่านรู้สึกฝ่าต่อความลำบาก  แต่ใจของท่านไม่รับรู้ความลำบาก  คือไม่มีความทุกข์ใจ

ม. ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่าเธอ

น. เหตุว่าความลำบากกาย เช่น เมื่อยขบ หิวระหาย หรือโรคภัยไข้เจ็บอย่างอื่น  ก็ยังคงมีเสียดแทงร่ายกายท่านอยู่ตามธรรมดา  แต่ท่านไม่มีความลำบากใจ  เพราะว่าเหตุที่ทำให้รู้สึกต่อความลำบากใจ ท่านได้กำจัดจนสิ้นเชื้อแล้ว  จึงเป็นอันว่าใจของท่านไม่รับรู้ความลำบาก  แม้พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้  ใจความว่า ผู้ที่สิ้นกิเลส (เหตุให้ใจเศร้า) แล้วยังคงมีแต่กายิกทุกข์ (ทุกข์ประจำร่างกาย)  เท่านั้น  ส่วนเจตสิกทุกข์  (ทุกข์ใจ) เป็นอันไม่มีแล้ว

ม. เมื่อเช่นนั้น  ไฉนท่านจึงไม่รีบนิพพานหนีความลำบากเสียเล่า

น. เพราะใจท่านเหล่านั้นมิได้เกี่ยวเกาะ  อยู่ที่ความลำบากกายโดยมาพิจารณาเห็นว่า  ความลำบากเหล่านั้นเป็นอาการประจำของร่างกาย  เมื่อมีเกิดมีแก่แล้ว  ก็ต้องมีความไข้ความเจ็บ ต้องเมื่อยขบหรือหิวระหายอยู่เป็นธรรมดา

อนึ่งท่านเหล่านั้นไม่เร่งกาลเวลา  ทำใจอยู่เสมอว่าจะทำประโยชน์สุขให้แก่คนและผู้อื่นทุกๆ ขณะไป  แม้พระสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้  ความย่อๆ ว่า  จะยังมีชีวิตอยู่ก็ดี  จะตายเสียก็ดี  ไม่เป็นเหตุให้ดีใจหรือเสียใจ  แต่ว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่  ก็จำทำประโยชน์ต่อไป

ม. เธอว่านี้จับใจ

จบปรินิพพานปัญหา

 

                  ข้อวิจารณ์

              สำนวนนี้อธิบายเป็นแบบสำนวนชาวบ้าน  และเข้าใจได้ง่าย   ภาษาสละสลวย  ผู้เขียนสนใจสำนวนตอนท้ายที่ท่านแปลว่า    “อนึ่งท่านเหล่านั้นไม่เร่งกาลเวลา  ทำใจอยู่เสมอว่าจะทำประโยชน์สุขให้แก่คนและผู้อื่นทุกๆ ขณะไป  แม้พระสารีบุตรก็ได้กล่าวไว้  ความย่อๆ ว่า  จะยังมีชีวิตอยู่ก็ดี  จะตายเสียก็ดี  ไม่เป็นเหตุให้ดีใจหรือเสียใจ  แต่ว่าเมื่อยังมีชีวิตอยู่  ก็จำทำประโยชน์ต่อไป”  สำนวนนี้เป็นการอธิบายเหตุผลของการดำรงอยู่ของพระอรหันต์ได้เป็นอย่างดี และสามารถเป็นเหตุผลโต้แย้งกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่กล่าวว่า อุดมคติของพระอรหันตสาวกของเถรวาทนั้นคับแคบ คือเห็นแก่ตัว  มุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตัว  ไม่มุ่งช่วยเหลือบุคคลอื่น  สอดคล้องกับคำอธิบายของพระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตฺโต)  ที่กล่าวว่า   เหตุผลที่ทำให้ผู้บรรลุนิพพานไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของตนเอง  หรือห่วยใยเรื่องของตนเอง  สามารถทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น หรือบำเพ็ญกิจแห่งกรุณาได้เต็มที่ ก็เพราะเป็นผู้ทำประโยชน์ตนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อทำอัตตัตถะ (ประโยชน์ของตน,เรื่องของตน) เสร็จแล้ว ก็ไม่ต้องห่วยใยเรื่องของตัว สามารถทำปรัตถะ (ประโยชน์ของผู้อื่น, เรื่องของคนอื่น) ได้เต็มที่ ดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยปรหิตปฏิบัติ (การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น)สืบไป[๘]  พระอรหันต์นอกจากรับผิดชอบในงานเทศนาสั่งสอน การให้การศึกษา และการปกครองแล้ว หลักฐานและเรื่องราวต่างๆ เท่าที่ปรากฎในคัมภีร์แสดงให้เห็นว่า พระอรหันต์ได้ประพฤติเป็นตัวอย่างในการแสดงความเอาใจใส่ รับผิดชอบต่อกิจการของส่วนรวม และความเคารพสงฆ์  (อ่านต่อตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 396245เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 08:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท