พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร


พระพักต์งดงามได้สัดส่วน พระพุทธไสยาสน์วัดปาโมกนั้น เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีพระพักต์งดงามที่สุดในประเทศไทย นอกจากความงดงามของพระพักต์พุทธไสยาสน์แล้ว ที่องค์พระพุทธไสยาสน์ยังมีผ้าทิพย์ที่เป็นลายปูนปั้นสวยงามมาก ไม่ปรากฏว่ามีผ้าทิพย์ของพระพุทธไสน์องค์ใด มีผ้าทิพย์ที่งดงามเท่ากับพระพุทธไสยาสน์ ของวัดปาโมกวรวิหารครับ

 

”พระสมเด็จเกษไชโย  หลวงพ่อโตองค์ใหญ่  วีรไทยใจกล้า  ตุ๊กตาชาววัง

โด่งดังจักสาน  ถิ่นฐานทำกลอง เมืองสองพระนอน

        หากเอ่ยนามเมืองว่า เมืองสองพระนอน ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยใช่ไหมล่ะครับว่าคือเมืองไหน และสองพระนอนคือพระอะไร  คำขวัญข้างต้นที่ผมหยิบยกมาเบื้องต้นนี้เป็นคำขวัญจังหวัดอ่างทองครับ เมืองอ่างทองนี่ล่ะครับเมืองสองพระนอน  เหตุที่ว่าเป็นเมืองสองพระนอนเพราะว่า เมืองอ่างทองมีพระพุทธไสยาสน์ที่สำคัญเก่าแก่   มีคุณค่ามากทางศิลป และประวัติศาสตร์ถึง 2 องค์น่ะซิครับ

 

        เชื่อกันว่าในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดินแดนในบริเวณเมืองอ่างทองเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่และได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยด้วย ทำไมหรอครับ ก็ด้วยเหตุที่ปรากฏว่ามีพระพุทธรูปสำคัญที่สร้งในสมัยสุโขทัยขนาดใหญ่ อาทิเช่น  พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทรประมูล  ในเขตอำเภอโพธ์ทอง  และพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร ในเขตอำเภอป่าโมก  และอีกมากมายหลายแห่งในจังหวัดอ่างทอง  พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้มีความพิเศษและเป็นเลิศคนละด้าน และวันนี้ผมจะพามารู้จักพระพุทธไสยาสน์  วัดป่าโมกวรวิหาร กันก่อนว่ามีความพิเศษอย่างไร

 

 

            พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหารนี้  เดิมมีชื่อว่าวัดใต้ท้ายตลาด ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย  สังเกตุได้จากพุทธศิลปของพระพุทธไสยาสน์เอง เช่น พระนาสิดโด่งได้รูป  พระเนตมองต่ำ พระโขนงโก่ง  หน้านาง คางหยิก  ไรพระศกเป็นก้นหอยมีขนาดเล็กเรียว  พระโอถฐ์งามได้รูป  เป็นต้น  หากมีโอกาสเข้าไปในพระวิหารแล้วผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านคงต้องคิดเหมือนผมว่า  นอกเหนือจากขนาดที่มีความใหญ่โต มีความยาวจากพระเมาลีถึงพระบาทมีความยาวถึง 22.58 เมตร แล้วพระพักต์งดงามได้สัดส่วน และถือว่าพระพุทธไสยาสน์วัดปาโมกนั้น เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีพระพักต์งดงามที่สุดในประเทศไทย  นอกจากความงดงามของพระพักต์พุทธไสยาสน์แล้ว ที่องค์พระพุทธไสยาสน์ยังมีผ้าทิพย์ที่เป็นลายปูนปั้นสวยงามมาก ไม่ปรากฏว่ามีผ้าทิพย์ของพระพุทธไสน์องค์ใด มีผ้าทิพย์ที่งดงามเท่ากับพระพุทธไสยาสน์ ของวัดปาโมกวรวิหารครับ

 

            ความสำคัญของพระองค์นี้ และดินแดนที่ชื่อป่าโมกนั้นเริ่มปรากฏชัดในสมัยอยุธยาครับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของพระเนศวรมหาราช ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารในคราวที่สมเด็จพระเนรศวรเสด็จออกไปทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราช ที่เมืองสุพรรณบุรีนั้นว่า  “มีพระราชโองการตรัสให้แต่งตำหนักในตำบลป่าโมก (ปัจจุบันคืออำเภอป่าโมก) ครั้งเสด็จก็เสด็จด้วยชลวิมาน ทางชลมารคเสด็จเข้าพักพลในตำหนักป่าโมนั้น พระบาทสมเด็บรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จกลับพยุหยาตราจากตำบลป่าโมก  เสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบชัยภูมิในตำบลเอกราช (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอป่าโมก) ทำพิธีตัดไม้ข่มนามโดยการพิธีพิชัยสงคราม” เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าก่อนออกศึกทุกครั้งสมเด็จพระเนเรศวรจะมานมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกทุกครั้ง ตลอดจนสิ้นรัชกาล

 

              พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมกนี้ปรากฏความสำคัญขึ้นอีกครั้งในพ.ศ.2269  สมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครับ ก็ด้วยเพราะว่าแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดป่าโมกนั้น น้ำเซาะกัดตลิ่งจนอาจทำให้พระวิหารพระพุทธไสยาสน์อางพังทลายลงน้ำได้ จึงมีรับสั่งให้ทำการชลอพระพุทธไสยาสน์ เข้าไปประดิษฐานห่างจากฝั่ง 150 เมตร

 

           พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองขนาดมหมาครับ ยาวถึง 22.58 เมตร มีน้ำนักหลายตัน ดังนั้นการชักลากจึงเป็นงานที่ใหญ่โตมากในสมัยนั้น กินเวลาทั้งสิ้น 5 เดือนเศษ  ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพันรัตน์ ว่า “ จุลศักราชได้ 1088 ปีมะเมีย อัฐศก  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปวัดป่าโมก ให้รื้อพระวิหาร แล้วให้ตั้งพระตำหนักพลับพลาชัยใกล้วัดชีปะขาว” (ในภายหลังให้รวมวัดนี้เป็นวัดดียวกันครับ)

 

            พระเจ้าท้ายสระทรงเอาพระทัยใส่ในการที่จะบำรุงรักษาพระพุทธไสยาสน์นี้มาก  “ยับยั้งแรมอยู่หกบ้าง เจ็ดวันบ้าง กับด้วยพระอนุชา กลับไปกลับมา ให้กระทำการอยู่สามวันบ้าง สี่วันบ้าง แล้วกลับมาพระนคร”

 

            การชลอพระพุทธไสยาสน์เป็นงานใหญ่มากครับ  ในสมัยนั้นดังปรากฏในพระราชพงศาวดารและคำโครงชลอพระพุทธไสยาสน์  ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อดำรงยศเป็นกระพระราชวังบวร  ภายหลังมีการค้นพบคำโครงชลอพระพุทธไสยาสน์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้จารึกในแผ่นศิลาอ่อนประดิษฐานไว้เบื้องหลังพระพุทธไสยาสน์ครับ

                เมื่อชลอพระพุทธไสยาสน์เสร็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระโปรดให้รวมวัดใต้ท้ายตลาด และวัดชีปะขาว สร้างพระวิหารพุทธไสยาสน์ พระอุโบสถ และพระราชทานนามขึ้นใหม่ว่า วัดป่าโมก  อันเนื่องมาจากบริเวณดังการมีต้นโมกขึ้นอยู่จำนวนมากนั่นเองครับ

                ในสมัยรัชการที่ 5 มีเรื่องโจษจันถึงพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ว่าพูดได้ครับ ครั้งนั้นเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูป่าโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2448 พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่าง ๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ   จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม 30 คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบกัยเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่า ก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก พระครูปาโมกขมุนีจึงได้เขียนจดหมายนี้เพื่อถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ 6) แต่ยังมิได้ถวายจดหมาย ตำนานที่ปรากฏในจดหมายนี้ปรากฏในพระราชหัตเลขาของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้น ประทับที่เมืองอ่างทองครับ

                หากเราเข้ามาในวัดป่าโมกวรวิหาร ซึ่งปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ชั้น โท ชนิด วรวิหาร เราก็จะพบศิลปกรมมแบบอยุธยามากมายเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น พระวิหารพระพุธไสยาสน์  ศาลาฉนวน  พระวิหารเขียน (แต่เดิมเป็นตำหนักของพระเจ้าสอยู่หัวท้ายสระครับ) มณฑป  และพระอุโบสถ ครับ ผมเองมีโอกาสไปบ่อยๆ ครับ พระส่วนตัวผมเองชอบพระพุทธไสยาสน์ รู้สึกว่าเป็นปางที่ท่านมีความสุข เรามีโอกาสมาให้ก็จะได้มีความสุข ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าท่านชอบไข่ต้มครับ ใครมาขอพรสมความปราถนาแล้วก็มักจะนำไข่ต้มมาแก้บน มีโอกาสก็ลองมาขอพรกันดูนะครับ

                พระพุทธไสยาสน์องค์นี้นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของเมืองอ่างทององค์หนึ่งเลยครับ  ในทุกๆ ปีจะมีงานนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ ขึ้น 14 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 4 ช่วงหนึ่ง และอีกช่วงหนึ่งระหว่างขึ้น 12 – 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีครับ

                การเดินทางมาเที่ยวนมัสการวัดนี้ง่ายมากครับ  เริ่มต้นจากตัวเมืองอ่างแล้วกันครับ ใช้ถนนสายอ่างทอง – ป่าโมก – อยุธยา ถึงแยกป่าโมกแล้วเลี้ยวขวา ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสะพานแล้วเลี้ยวซ้ายไปเรื่อย ๆ ครับ จะพบป้ายบอกทางเข้าวัดตลอดทางครับ  หน้าวัดติดแม่น้ำเจ้าพระยาอากาศเย็นสบายดีมากๆ ครับ มีโอกาสลองไปดูนะครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมจะพาไปเที่ยวและนมัสการพระพุทธไสยาสน์วัดขุนอินทรประมูลครับ......

 

ปล. ขอขอบคุณภาพสวยๆ จากเว็บต่างๆ ที่นำมาแสดงให้ดูด้วยนะครับ

        ข้อมูลบ้างส่วนจากครูประสงค์  ลี้สุวรรณ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

หนังสือ เมืองอ่างทอง

 

หมายเลขบันทึก: 396156เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณนกขมิ้นที่นำความรู้ดี ๆ มาฝากค่ะ พี่เคยไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทรประมูล เมื่อปี 2542 ตอนที่ย้ายมาสุพรรณใหม่ ๆ แต่ยังไม่เคยไปนมัสการพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกเลย มีโอกาสจะแวะไปนมัสการและขอพรท่านค่ะ

โอเช ครับพี่

หากมีเวลาก็เลยไปวัดท่าสุธาวาส ตกเย็นก็นั่งกินลมชมวิวที่ทุ่งภูเขาทอง

มองดูทุ่งนา รับลมเย็น ๆ มองพระอาทิตย์ตกดิน

หรือเลยอีกนิดก็วัดไชยวัฒนาราม นั่งชายแม่น้ำ ชมบรรยากาศแล้วค่อยขับรถกลับบ้าน

สุขโข สโมรสรเลยล่ะครับ .... คิดแล้วอยากไปจังเลย

พี่ก็อยากไปเช่นกันค่ะ แตช่วงนี้อาจจะมีสายฝนโปรยปรายเป็นของแถมด้วยนะคะ

ไปช่วงปลายฝนต้นหนาวซิครับอากาศกำลังเย็นสบาย...

เป็นความคิดที่ดีค่ะ อีกสองเดือนมั้งคะ ธันวาก็เริ่มหนาว ๆ แล้ว :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท