เป็นครูด้วยหัวใจ ตอน๑๕


เห็นตัวเองชัดเจนขึ้น และเรียนรู้จากสถานการณ์ว่าสภาวะที่ไม่นิ่งทำให้พลังรั่วได้มาก

หนึ่งคืนกับหนึ่งวันที่ฉันจัดกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสรุปความรู้จากการจัดโครงการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาให้แก่นักศึกษาพยาบาล โครงการนี้เป็นเฟสการบ่มเพาะจิตวิญญาณครู

หลังจากที่ครูทั้งหลายได้สัมผัสประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการสังเกตการเปลี่ยนแปลงด้านใน เห็นการกระเพื่อมไหวของอารมณ์ และความรู้สึกด้านใน ด้วยกระบวนการทางจิตตปัญญาแล้ว ฉันและทีมงานก็ลุ้นให้ครูสมัครมาเข้าร่วมกระบวนการครูกล้าสอน ซึ่งคำว่าครูกล้าสอนนี้เป็นคำที่แปลมาจากหนังสือของพาร์คเกอร์ ปาล์มเมอร์ ชื่อว่าThe Courage to Teach ในความคิดของฉันเห็นว่าเป็นคำที่มีความหมายมาก การที่ครูจะสอนให้คนเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย น่าจะดีไม่น้อย หากมีครูสักกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเรียนรู้ และกล้าที่จะฝ่าความคุ้นชินเดิม เปลี่ยนการสอนจากการแบบบรรยายเดิมๆ เน้นการจำ การวิเคราะห์ที่ใช้ฐานหัวอาจจะมากจนขาดความพอดี แต่ให้กลับมาดูแลความต้องการ ความรู้สึก และมองเห็นความเป็นมนุษย์ของศิษย์และตัวครูให้มากขึ้น

คุณหมอธนา นิลชัยโกวิทย์ ซึ่งเป็นครูของฉันชื่นชมว่าฉันสามารถพาครูมาเรียนรู้การเป็นครูด้วยหัวใจจำนวนไม่น้อยทีเดียว คุณหมอมาเป็นโคชตลอดกระบวนการหนึ่งวันหนึ่งคืนนี้ โคชให้โอกาสเราแสดงความสามารถในการนำกระบวนการแนวศิลปะกับชีวิต ครูนฤมลและครูกนกพรเลือกที่จะเป็นผู้นำกระบวนการนี้ ฉันและครูนิด เป็นผู้ประสานงานและดูแลสื่อเสียงประกอบการทำกระบวนการ ระบายสีด้วยสีน้ำ ซึ่งเป็นที่ทราบว่าศิลปะสามารถทำให้จิตสงบ ผ่อนคลายได้ ต่อมาเราก็สร้างเงื่อนไขให้มีเหตุการณ์ทางธรรมชาติเกิดขึ้น จนศิลปะที่เราบรรจงสร้างพังทลาย หายไปต่อหน้าต่อตา

ครูกนกพรให้ผู้เข้าประชุมใช้เวลาใคร่ครวญด้านในคนเดียวก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ครูหลายคนรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงข้างในของตน และต่างพยายามจัดการกับสภาวะที่เกิดขึ้น เช่นบางคนกลัวแตกหักจึงยอมลู่ลม บางคนปิดการรับรุ้ บางคนรู้สึกสลดใจ ทั้งหมดแสดงออกเป็นภาพ และแบ่งปันด้วยการเล่า จากนั้นให้เงื่อนไขใหม่ และให้เวลาครูแก้ไขสิ่งที่พังทลาย ฉันเห็นพลังของครู ที่พยายามแก้ไขศิลปะชิ้นนั้น เห็นมุมมองเชิงบวก หลายคนบอกว่าเชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ทุกคนมีความหวัง

โคชบอกว่าครูกนกพร และครูนฤมล ทำกระบวนการได้เป็นขั้นเป็นตอนดีมาก เข้ากับบริบทของสื่อ โคชสะท้อนคิดอย่างอ่อนโยนว่า น้ำหนักเสียงมีความสำคัญ ไม่แพ้จังหวะการออกเสียง และชมว่าน้ำเสียงครูกนกพรดีฉันเห็นด้วย และให้ข้อสังเกตว่าเสียงและคำถามเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สามารถเชื้อเชิญผู้เข้าประชุมให้เข้าถึงบทบาทของตนได้ดียิ่งขึ้น และให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่าพู่กันที่จัดให้วาดศิลปะควรเบอร์โตกว่านี้ เพื่อการวาดภาพจะแจ่มชัดได้เร็วขึ้น

ฉันเห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้น และเรียนรู้จากสถานการณ์จริงว่าสภาวะที่ไม่นิ่งทำให้พลังรั่วได้มาก เนื่องจากก่อนหน้าจะเข้ากระบวนการนี้ ฝนตกหนักมากทำให้อุปกรณ์ที่ไปจัดหามาถึงไม่ทันตามนัด แต่ทันใช้สอน ฉันกังวลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของเสียงเพลง และระบบคอมพิวเตอร์ กังวลว่าสมาชิกจะมีห้องพักครบถ้วนหรือไม่ จนขาดความพร้อมด้านใน ที่สำคัญฉันพยายามลุ้นจะเห็นผลมากเกินไป จนลืมคำพูดของคุณหมอวรวุฒิ ครูคนหนึ่งของฉันว่า ยิ่งอยาก ยิ่งยาก อีกเรื่องหนึ่งคือความเกรงใจทีมงานจนมิได้มอบหมายภารกิจให้ผู้อื่นช่วย ทำให้ห่วงหน้าพะวงหลัง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 395683เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 02:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • การเข้าใจตนเอง นำมาสู่การเข้าใจคนอื่นครับ
  • เหมือนกับภาพศิลปะที่ตั้งใจทำถูกทำลาย เหมือนทำร้ายจิตวิญญาณเลยนะครับ ทำให้ความสุขสงบในใจหายไป
  • ถ้าผมเป็นนักเรียนจะบอกครูว่า ท่าทาง น้ำเสียง สายตาครูมีผลต่อการเรียนรู้มากครับ ครูที่ตั้งใจกับเด็กมากไปทำให้ ภาพที่ออกมาจริงจังมากไป ความคิดนักเรียนเลยไม่เปิดกว้าง แคบลงๆ จะตอบอะไรก็กลัวผิด แต่อาจารย์บางท่านก็บอกว่าก็ฉันหวังดี ฉันเป็นอย่างงี้ทำยังไงได้ ไม่คิดเปลี่ยนแปลง.....
  • ไม่อ่อนดักง่าย ไม่แก่ดัดยาก ใครหนอช่างกล่าว

จริงๆเลยนะคะ ท่าทาง สายตา น้ำเสียงครู มีผลมากทีเดียว ครูที่ดีต้องเข้าใจตนเอง และรู้จักใช้พลังของความเป็นครูให้เกิดประโยชน์กับศิษย์ ขอบคุณนะคะที่เข้ามาเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท