โละหลักสูตร5 ปี ปรับให้เรียนรวดเดียวได้ปริญญาโท


โละหลักสูตร5 ปี ปรับให้เรียนรวดเดียวได้ปริญญาโท

ทุกวันนี้ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่จบวิทยาศาสตร์บัณฑิต ที่ไม่ได้จบครูโดยตรง แล้วมาเรียนป.บัณฑิตเพิ่ม ซึ่งปัจจุบัน ก็ได้มีการยกเลิกหลักสูตร ป.บัณฑิตไปเสียแล้ว เสียใจกับคนที่เรียนไม่ทันด้วยนะคะ แต่มีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของผู้ที่อยากจะเป็นครูในอนาคตเลยก็ว่าได้ คือเรื่องที่ “เล็งยกเครื่องครูพันธุ์ใหม่ โละหลักสูตร5 ปี ปรับให้เรียนรวดเดียวได้ปริญญาโท” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อก่อนเรียนครู 4 ปี เท่านั้น แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นครูพันธ์ใหม่ 5 ปี ปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนไปเป็น 6 ปี อีกแล้ว...

รมช.ศธ.'ไชยยศ'เล็งยกเครื่องครูพันธุ์ใหม่ โละหลักสูตร5 ปี ปรับให้เรียนรวดเดียวได้ปริญญาโท หวังดึงเด็กเก่ง'วิทย์-คณิต-อังกฤษ'เข้าระบบ สกอ.เตรียมชงตัวเลขงบฯใหม่เสนอ ครม.ขอเพิ่ม


นายไชยยศ จิรเมธากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ที่มา : http://www.moeradiothai.net/filemanage/news/big/20100816_150435.JPEG

เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายไชยยศ จิรเมธากรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการครูพันธุ์ใหม่ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ว่า ในวันที่ 9 กันยายนตนจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการโครงการครูพันธุ์ใหม่เพื่อพิจารณาปรับรูปแบบการดำเนินโครงการจากหลักสูตรครู 5 ปี ไปเป็นหลักสูตร5+1 ปี โดยจะเป็นการเรียนปริญญาตรีและปริญญาโทควบรวดเดียวจบ โดยเด็กที่จบปริญญาโทและเข้ารับการบรรจุแล้ว จะได้รับเงินเดือนในระดับเดียวกับผู้ที่จบปริญญาโท การที่ปรับเป็นหลักสูตร 5+1 ปี เพื่อดึงดูดเด็กเก่งมาเรียนครูเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาขาดแคลนอาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ และหากที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป
ด้านนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการครูพันธุ์ใหม่นำร่องในปีการศึกษา 2552 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสามารถคัดเลือกนักศึกษาได้แล้ว 2,000 คน โดยโครงการนำร่องปี 2552 นี้ ถือเป็นรุ่นแรกที่รับประกันการมีงานทำ แต่ไม่มีทุนให้ อย่างไรก็ตาม มีความล่าช้าในเรื่องการลงนามอนุมัติโครงการ เนื่องจากมีการเปลี่ยนประธานโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่จากนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.คนใหม่ คือนายไชยยศ จึงยังไม่มีการลงนามอนุมัติโครงการ ส่วนโครงการครูพันธุ์ใหม่ 4+1 ปี ที่รับผู้ที่จบปริญญาตรีในสาขาอื่น มาเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูหรือ ป.บัณฑิต1 ปีนั้น จะต้องปรับมาเป็นหลักสูตร 4+2 ปีเท่ากับผู้เรียนจะจบปริญญาโท เนื่องจากขณะนี้คุรุสภาได้ยกเลิกการรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตที่เปิดสอนหลังวันที่ 19 สิงหาคมแล้ว ส่งผลให้ต่อไปจะต้องผลิตครูที่จบปริญญาโทเลย โครงการจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหากต้องการให้ผู้ที่จบในสาขาอื่นหรือสาขาที่ขาดแคลนมาเป็นครู และขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปวิเคราะห์ตัวเลขงบประมาณที่จะต้องใช้เพิ่มขึ้น เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

"การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูสำหรับผู้ที่จบหลักสูตร 4+2 ปีนี้ จะต้องรอคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์ออกมา เพราะยังไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งเกณฑ์มาตรฐานผู้ที่จบปริญญาโทจากหลักสูตร 4+2 ปีด้วย ส่วนการปรับหลักสูตรครู 5 ปี มาเป็นหลักสูตรครู 5+1 ปีนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดี เชื่อว่าหากที่ประชุมคณะกรรมการโครงการครูพันธุ์ใหม่เห็นชอบก็ไม่น่าจะมีปัญหา โดยสภามหาวิทยาลัยรับรองหลักสูตรแล้วเสนอมายังคุรุสภาเพื่อพิจารณา"เลขาธิการ กกอ.กล่าว และว่า สำหรับการยกเลิกรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิตของคุรุสภา เนื่องจากเห็นว่าการเรียนการสอนยังไม่มีคุณภาพนั้น ไม่กระทบกับโครงการมากนัก เพียงแต่ต้องปรับรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับการขอรับใบประกอบวิชาชีพครู โดยขณะนี้โครงการหลักสูตรครู 5 ปียังไม่เริ่มดำเนินการ อยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิต จึงยังสามารถปรับรูปแบบได้ส่วนมหาวิทยาลัยที่เปิดรับหลักสูตร ป.บัณฑิต ก็จะต้องหยุดรับทันที แต่ถ้าอยู่ระหว่างการจัดการเรียนการสอนก็ให้ดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จไม่เช่นนั้นก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายและมหาวิทยาลัยจะต้องรับผิดชอบ
นายสมบัติ นพรัก คณบดีคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะประธานคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า หากคณะกรรมการโครงการครูพันธุ์ใหม่เห็นชอบการปรับรูปแบบโครงการตามที่เสนอ ก็จะต้องปรับเกณฑ์การคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตใหม่ เนื่องจากต่อไปจะต้องผลิตครูที่จบปริญญาโทเท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณตามโครงการครูพันธุ์ใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554-2558 จำนวน 4,235 ล้านบาท โดยจะผลิตครูทั้งหมด 30,000 คนโครงการนี้แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ กลุ่มที่เรียนครุศาสตร์ 5 ปี จำนวน 17,500 คน และโครงการหลักสูตร 4+1 ปี เพื่อให้ผู้ที่จบในสาขาอื่นๆ สามารถมาเรียนเพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตร ป.บัณฑิต) จำนวน12,500 คน ผู้เข้าโครงการทั้งหมดจะได้รับประกันการมีงานทำ แต่กลุ่มที่จะบรรจุลงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายขอบจะได้รับทุนเรียนด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อทดแทนครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่จะเกษียณอายุใน 10 ปีข้างหน้าจำนวน 188,000 คน จากครูทั้งหมดที่อยู่ในระบบ 450,000 คน

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

หมายเลขบันทึก: 395525เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2010 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ยังดีนะ ที่เรียนทันพอดี ^^

ดีมาก อยากเรียน รวดเดียวจบ ไม่เสียเวลามาเรียน ป.บัณฑิต 1 ปี แล้วต่อโทอีก 2 ปี

ใช่ เห็นด้วย เหมือนกัน จะได้ ป.โท ไปเลย ไหนๆ ก้อไหนๆ แล้ว

กว่าจะเป็นครูได้ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และเมื่อพอเป็นครูได้ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายไปกว่าเดิม ยากขึ้นไปอีกเยอะ...

เป็นสิ่งที่ดีนะ

แต่รุ่นนี้ก็จะได้อะไรจากห้องเรียนที่เป็นประสงการณ์น้อยลง

เป็นครูนี่เหนื่อยนะ เเต่ว่าใจมันรัก เหน่อยยังไงก็ต้องสู้

เป็นหลักสูตรที่เรียนหนักเอาการน่าดู

อัพเดท จริงๆครับ เป็นเรื่องที่ควรรู้ แต่ไม่รู้ว่า รุ่นสุดท้าย จะ โชคดีหรือโชคร้าย -*-

ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่..

ระวังนะครับ ต่อไปเราจะขาดครูเฉพาะทางที่มีความสามารถจริงๆ

โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา

ครูพันธุ์ใหม่มีครอบคลุมทุกสาขาไหมล่ะครับ ?

อย่างเรื่องของเทคโนโลยีแม่พิมพ์ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ฯลฯ

ถ้าให้เลือก ผมเอาวิศวกร ป.ตรี มาเรียนเพิ่มวิชาครูดีกว่า

แล้วครูพันธุ์ใหม่ ป.โทสายวิทย์

ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเก่งกว่า ป.ตรี วท.บ.หรอกครับ !!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท