Gotoknow กับ Story telling ที่ทรงคุณค่า


ในทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้าเห็นว่า story telling ใน Gotoknow แห่งนี้มีคุณค่าอย่างมาก แต่ยังขาดนักวิชาการที่จะ "ให้คุณค่า" หรือนำไปใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร

หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะให้คุณค่ากับ story telling ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการมากกว่า คือ เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่เกิดในห้องประชุม สัมมนาตามสถาบันการศึกษาหรือโรงแรม ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเรื่องเล่าที่เกิดในห้องสี่เหลี่ยม ๆ นั้นถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิจัย เอกสาร หรือตำราทางวิชาการกันค่อนข้างมาก

แต่ในประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) ในแต่ละครั้งที่ต้องเดินทางไปประชุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น โอกาสที่จะได้พูดมีน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยแล้ว แต่ละครั้งก็จะได้พูดประมาณ 5-10 นาที หรือบางครั้งเดินทางไปทั้งวันได้พูดแค่ 15 นาที และหลายครั้งนั้นมิใช่สิ่งที่ "ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)" เพราะด้วยสถานที่และโอกาสไม่เอื้ออำนวย เพราะการขุดความรู้ขึ้นมาจากจิตนั้นต้องอาศัย "ความสงบ" เป็นพื้นฐาน จำเป็นที่จะต้องใช้องค์ประกอบแวดล้อมเพื่อทำให้ความรู้ฝังลึกนั้น "ผุด" หรือที่นักวิชาการหลาย ๆ ท่านใช้คำว่า "ปิ๊งแว๊บ" ให้เกิดขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีการให้คุณค่ากับ story telling ใน Gotoknow นี้มากขึ้น เพราะเรื่องเล่าต่าง ๆ ในนี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจาก "สภาวะอารมณ์ที่เหมาะสม" ของตัวผู้เล่า ว่าเขาต้องการเล่าเรื่องใด ในเวลาใด และมีเหตุปัจจัยใดมีสนับสนุนที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นออกมา

บางครั้งสำหรับบางเรื่องต้องใช้เวลามากในการเล่า
บางครั้งสำหรับบางเรื่องต้องใช้องค์ประกอบคือ "เพื่อน ๆ" เป็น Facilitator ในการช่วยขุด ช่วยคุ้ย โดยข้าพเจ้าคิดว่าผู้เชี่ยวชาญระดับต้น ๆ หรือหัวกะทิด้าน KM ของเมืองไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ใน Gotoknow แห่งนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจากสังคมแห่งนี้จึงจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากนักวิชาการบ้านเราหันมาให้คุณค่ากันอย่างจริงจัง

หรือถ้าหากจะมีการชักชวนผู้ที่เข้าไปร่วมประชุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้นเข้ามาต่อยอดในสิ่งที่อยากจะพูดแล้วยังไม่ได้พูด พูดแล้วยังไม่พูดไม่จบ หรือมีความรู้ใด ๆ ผุดขึ้นมาอีกหลังจากเวทีอย่างเป็นทางการนั้น ก็จะทำให้คุณภาพของรายงานทางวิชาการจากเวทีในครั้งนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การทำ story telling ใน Web blog นี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่ต้องการข้อมูลไปใช้ในด้านต่าง ๆ แล้ว ผลประโยชน์โดยตรงยังเกิดจากผู้เล่าเองด้วย เพราะจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการเล่าเรื่องให้ชัดเจน และเฉียบคมมากยิ่งขึ้น

นักมวยจะขึ้นเวทีจริงก็ย่อมต้องซ้อมเป็นประจำและสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมีเวที G2K แห่งนี้ ทุก ๆ คนก็สามารถเข้ามาฟิตซ้อมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของตนเองให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้านเวลาและสถานที่

ภาพการเรียนรู้ที่งดงามจะหมุนวนกันเป็นเกลียวระหว่างผู้ให้และผู้รับ ยิ่งหมุนเกลียวมากเท่าใด อะไรต่ออะไรที่บิดเบี้ยวก็จะปรับเปลี่ยนจนเข้ากันได้ เกลียวความรู้ที่งดงามนี้จะช่วยเสริมสร้างวิชาการไทย ซึ่งจะต่อยอดสู่สังคมไทยให้มั่นคง

ที่มาจากบันทึก Gotoknow กับ สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-base Society)

หมายเลขบันทึก: 394983เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

หลายคนที่ผมไปเจอและชอบเล่าประสบการณ์มากมายในการทำงาน ผมชักชวนให้มาร่วมกัน Share ประสบการณ์เหล่านั้นใน G2K หลายคนก็บอกว่าการเขียนเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับผมคิดว่าการเขียนกลับเป็นเรื่องง่าย เพราะมีเวลาคิดทบทวน แก้ไข ขัดเกลาสิ่งที่เราเขียน แต่การพูดผมว่าเป็นเรื่องยากเพราะต้องระมัดระวัง เนื่องจากพูดไปแล้วไม่สามารถแก้ไขได้และต้องรับผืดชอบในคำพูดเหล่านั้นครับ

เรียนท่านIco64

    คุณยายแวะมาทักทายค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันนะคะ

จากการต่อยอดที่ทรงคุณค่าของคุณ คิดคม สเลลานนท์ อาจจะนิยาม story telling ใน Gotoknow นี้เป็น "การเล่าเรื่องอย่างรอบคอบ"

ใหม่ ๆ ข้าพเจ้าเองก็ประสบปัญหาเหมือนกันด้านการเขียน เขียนไปก็ต้องลบไป แต่งมา แต่งไป แต่งจน "ตรงใจ" ในเรื่องที่อยากจะเล่า

เพราะหลาย ๆ ครั้งการพูดนั้น ปากไม่ตรงกับใจ อาจเนื่องด้วยเพราะสภาพแวดล้อมด้านบุคคล คนขัด คนแย้ง คนยุ คนชี้ คนนำ โดยเฉพาะการเกรงใจคนใกล้ชิดบ้าง สิ่งทั้งหลายนั้นเป็นการ "บั่นทอน" ประสิทธิภาพในการพูด

และอีกหลายหนที่เมื่อออกจากห้องประชุมแล้ว ยังเกิดความคาใจว่า "ยังพูดไม่จบ" คือ หรือต้องตัด ตกแต่ง คำพูด เนื้อความบางสิ่งบางอย่างออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่มี

ดังนั้น เมื่อได้มีโอกาสมาฝึกงานเขียน จึงเป็นการแก้ไขปัญหาได้หลายประการ อาทิ ตัดปัญหาเรื่องคนขัด คนแย้ง คนยุ เพราะอย่างไงก็ไม่มีใครขัดอะไรเราได้จนกว่าเราจะเขียนจนและตีพิมพ์บันทึกออกมาแล้ว ดังนั้นจึงเกิด "เอกภาพ" ของผู้เขียนในการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้บันทึกใน G2K เป็นการถ่ายทอดอย่างบริสุทธิ์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท