การจัดการความรู้สู่องค์การคุณภาพ


องค์การแห่งการเรียนรู้เสมือนที่นา ส่วนKMก็เหมือนต้นข้าว ถ้าที่นาแตกระแหง แห้งแล้งไร้ปุ๋ย ต้นข้าวก็ไม่อาจเติบโตและเหี่ยวแห้งตายได้ ต้นข้าวจะไม่สามารถออกรวง(Body of Knowledge)ได้ เมื่อข้าวไม่มีรวงก็ไม่มีเมล็ดข้าวหรือข้าวเปลือก (Knowledge) เมื่อไม่มีข้าวเปลือกก็ไม่มีข้าวสาร(Wisdom)ที่จะเอาไปแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ได้

การจัดการความรู้สู่องค์การคุณภาพ
            เรื่องการจัดการความรู้มีนักวิชาการเขียนไว้หลายคนหลายแบบแล้วแต่จะนิยามกันบางคนก็เรียกว่าการบริหารความรู้หรือการบริหารภูมิปัญญา และหลายครั้งหลายองค์การพยายามจะนิยามศัพท์หรือยึดติดแต่รูปแบบที่นักวิชาการว่าไว้ พอนิยามศัพท์มากๆ กลายเป็นนิยามสับ(สน) งง ไปไม่ถึงไหน ในความเห็นของผมที่อาจแตกต่างจากตำราไปบ้างเพราะบางทีเราต้องคิดนอกกรอบ นิยามให้คนของเราเข้าใจง่ายเพราะตอนนี้เราไม่ได้จำเอาไว้ตอบข้อสอบก็ไม่ต้องกลัวผิด  ขอให้ใช้งานได้เหมาะสมกับองค์การเราก็พอ เน้นแนวคิดมากกว่าเน้นแนวทาง   ลองอ่านดูนะครับ
          การจัดการความรู้ (Knowledge management)คือเครื่องมือหรือกระบวนการที่ทำให้องค์การสามารถเก็บรับ สร้างและต่อยอดองค์ความรู้ที่นำมาใช้ในการพัฒนาองค์การให้สามารถทำงานตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ (Quality) ประสิทธิภาพ (Efficiency)และประหยัด(Cost)เพื่อให้องค์การสามารถอยู่รอดและเติบโตได้โดยสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน(Competitive  advantage)ได้ทำให้องค์การสร้างผลงาน (Performance)ที่ดีกว่า(Better) ถูกกว่า(Cheaper) เร็วกว่า(Faster)โดยอาศัยพลังปัญญาหรือสินทรัพย์ทางปัญญา (Intellectual capital) ของคนในองค์การเป็นหลัก (Intellectual capital = Competency  x Commitment ) และสามารถรวบรวมความรู้ที่ใช้ได้เหล่านั้นเอาไว้ให้บุคคลอื่นๆในองค์การได้นำไปใช้ต่อได้ง่ายจนกลายเป็นความฉลาดขององค์การ(Organizational Intelligence) ที่แสดงออกมาให้เห็นในรูปของสมรรถนะหลักขององค์การ(Core competence)
การที่จะนำการจัดการความรู้มาใช้ในองค์การจะต้องรู้ทิศทางความจำเป็นก่อนว่าจะนำมาใช้ทำไม เพื่ออะไร นั่นคือต้องมี Knowledge vision ที่ชัดเจนและมองให้ไกลไปถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร ไม่ใช่ทำ KMเพื่อ KM แต่ต้องทำเพื่อผลงานที่ดีขององค์การ จะได้ไม่ทำแค่ตามกระแส หรือให้ชื่อว่ามีการทำKM เอาไว้คุยกับองค์การอื่นๆเท่า นั้น   KMจึงเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย  การจัดการความรู้จึงมีความสำคัญในการช่วยให้องค์การ บรรลุเป้าหมายพันธกิจขององค์การมากกว่าการวัดแค่ว่าได้ทำอะไรบ้างหรือมีอะไรบ้างเกี่ยวกับการจัดการความรู้  และเน้นแนวทางที่เปิดกว้างมากกว่าปิดแคบ  การจัดการความรู้จึงเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย
การจัดการความรู้ ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการคนให้เขาสามารถเกิดการเรียนรู้และช่วยให้เขาสามารถนำความรู้ที่มีอยู่มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การได้

ทั้งนี้ผู้บริหารต้องตระหนักใน 3 กฎหลักของการจัดการความรู้ คือ
1. Knowledge can only be volunteered,it can not be conscripted. สมัครใจไม่ใช่กะเกณฑ์หรือบังคับ  โดยนโยบายสั่งได้ ความรู้สั่งไม่ได้ แต่จัดการได้  ทั้งนี้การจัดการไม่ได้หมายถึงสั่งการเสมอไป
2.  I only know what I know when I need to know it. การเรียนรู้เกิดเมื่ออยากรู้และต้องการใช้งาน
3.  We always know more than we can say,and we will always say more than we can write down. รู้มากกว่าที่พูดได้เขียนได้ ต้องทำยังไงให้ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน(Tacit knowledge)นำออกมาสู่ความรู้ที่เห็นได้ชัด(Explicit knowledge)ให้ได้มากที่สุด
หัวใจแห่งความสำเร็จประการหนึ่งของการจัดการความรู้คือการจัดการความรู้ต้องเกิดอยู่ในทุกส่วนขององค์การหรือเรียกว่าฉาบติดอยู่กับทุกส่วนขององค์การโดยไม่แยกออกมาเป็นส่วนเฉพาะและเริ่มต้นจากคนขององค์การเอง เพื่อให้สามารถดึงพลังปัญญาของคนในองค์การออกมาใช้ประโยชน์แก่องค์การให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แผนกใดแผนกหนึ่งแต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่าย ทุกแผนกในองค์การในภาษาอังกฤษเขาบอกว่าการจัดการความรู้เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue)ที่แฝงอยู่ในทุกส่วนขององค์การ แห่งการเรียนรู้ (Knowledge is a connective tissue of a learning organization.)  ในเรื่องความเหมือนความแตกต่างหรือความเชื่อมโยงกันของLearning organization กับ Knowledge managementนั้น ผมว่าเป็นเรื่องเดียวกันจะต่างกันบ้างแค่นิยามศัพท์ องค์การแห่งการเรียนรู้เสมือนที่นา  ส่วนKMก็เหมือนต้นข้าว  ถ้าที่นาแตกระแหง แห้งแล้งไร้ปุ๋ย ต้นข้าวก็ไม่อาจเติบโตและเหี่ยวแห้งตายได้ ต้นข้าวจะไม่สามารถออกรวง(Body of Knowledge)ได้ เมื่อข้าวไม่มีรวงก็ไม่มีเมล็ดข้าวหรือข้าวเปลือก (Knowledge) เมื่อไม่มีข้าวเปลือกก็ไม่มีข้าวสาร(Wisdom)ที่จะเอาไปแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ได้  ดังนั้นการจัดการความรู้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีในองค์การแห่งการเรียนรู้ เสมือนในนาต้องมีต้นข้าวจึงจะอุดมสมบูรณ์  การจะทำให้เกิดความรู้ ปัญญาและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงต้องอาศัยการจัดการ 5 ประการคือ1.การจัดการให้เกิดการเรียนรู้โดยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และองค์การแห่งการเรียนรู้ 2.การจัดการให้เกิดองค์ความรู้เพื่อสกัดเอาความรู้ที่มีประโยชน์มาประกอบกันเป็นตัวแบบ โมเดล ทฤษฎีเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์  3. การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้และองค์ความรู้ที่มีอยู่ เพราะบางทีมีความรู้ในองค์การเยอะแต่คนในไม่ค่อยยอมรับเลยไม่ได้นำไปปฏิบัติ ก็สูญเปล่า 4. การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อขยายวงความรู้ ยกระดับเกลียวความรู้ ต่อยอดและเพิ่มพลังความรู้และ 5.การจัดการให้เกิดขุมทรัพย์ความรู้ เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บ ค้น ใช้ต่อไป  การจัดการความรู้ 5 การจัดการนี้ผมเรียกว่าแอลคาซ่าโมเดล(LKASA Model)

นี่เป็นส่วนหนึ่งของบทตวามเรื่องการจัดการความรู้สู่องค์กรคุณภาพ ที่ผมได้เรียบเรียงขึ้นเพื่อประกอบการบรรยาย มีประมาณ 14 หน้า สามารถเปิดอ่านได้ที่เผยแพร่บทความ ในwww.bantakhospital.com ครับ

หมายเลขบันทึก: 3949เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2005 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท