ทฤษฎีปลาการ์ตูน (Clownfish Theory)


   ช่วงเที่ยง ๆ ของวันนี้ (16 กันยายน 2553)  ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบันทึกเรื่อง ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๘๐. เรียนรู้ความเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง ของ Prof. Vicharn Panich  แล้วเกิดสะกิดใจกับประโยคหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า "มีหลักฐานว่า ปลาการ์ตูนที่เลี้ยงในน้ำที่ pH ต่ำกว่าของน้ำทะเลในปัจจุบัน 0.2 - 0.4 ปลาการ์ตูนจะเป็นโรค LSD - Loss Smell Disorder   ทำให้ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมเสื่อมลง"  เพราะเมื่ออ่านจบปุ๊บก็ตั้งคำถามกับตนเองปั๊บว่า "ฤาว่าชีวิตคนเราเป็นดั่งปลาการ์ตูน (Clownfish)"

 

   ในอดีตคนเรานั้นเปรียบเสมือนปลาน้อยที่อาศัยอยู่ในทะเล มีน้ำ ลม ฟ้า และทะเลเป็นที่พึ่ง น้ำ ลม ฟ้า อากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็ปรับสภาพร่างกายให้เข้ากันได้กับสภาวะแบบนั้น

 

แต่ในปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจริญขึ้น เราก็เริ่มที่จะใช้เทคโนโลยีสร้า "เรือนกระจก" หรือที่ปลาน้อย Demo อาจจะเรียกว่า "ตู้ปลา" แล้วผสมผสานสรรพวิทยาสร้างน้ำทะเลขึ้นมาภายในตู้กระจกนั้น

 

ย้อนกลับไปเมื่อย้อนปี 2553 ข้าพเจ้าได้รู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งที่เปิดร้านขายยาแผนโบราณอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงนั้นเราได้มีโอกาสได้เข้าอบรมการแพทย์แผนไทยด้วยกัน ตอนเย็น ๆ พี่เขาบอกว่าจะต้องรีบกลับบ้านไปดูปลา เพราะที่บ้านเลี้ยงปลาทะเลไว้ เป็นพวกปลาการ์ตูน ลูกสาวชอบ...

"ลูกสาวอยากเลี้ยง แต่ก็ต้องคอยเช็คค่าน้ำ (pH) ตลอด ไม่งั้นเดี๋ยวปลาตาย แล้วจะวุ่นวายน่าดู"

ตอนนั้นข้าพเจ้าเองก็รู้สึกแปลกใจเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินว่าใครเอาปลาทะเลมาเลี้ยงไกลถึงเพียงนี้

ฤานักวิทยาศาสตร์หรือนักวิชาการมองเห็นคนในสังคมเปรียบเสมือนปลาน้อยในตู้กระจก ที่ต้องคอยทดลองนั่น ผสมนี่ ใครโต ใครกลาย ใคร ๆ ทั้งหลายก็จะกลายเป็น Case study

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบอกว่าเราพื้นดิน หรือแหล่งน้ำที่อื่น ๆ สวยงาม เขาได้พยายามสร้างรถ สร้างเรือ สร้างสื่อต่าง ๆ เพื่อพาเราไปเยี่ยมตามสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้น

เมื่อเจอน้ำเค็มกว่าก็บอกเราว่า "อยู่ได้" เมื่อเจอน้ำจืดกว่าก็บอกว่าเรา "อยู่ได้" ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เราจะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถ้าหาก "พยายาม"

คนทั้งหลายที่มีใจศรัทธาในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีอุดมการณ์ที่จะ "เปลี่ยนแปลงโลก" เพื่อให้โลกทั้งโลกปรับเข้าหาตัวเราเอง

แต่ก่อนเราอยู่ในทะเล เราปรับปรุง เปลี่ยนแปลง "วิวัฒนาการตัวเอง" ให้เข้ากับโลก

แต่ปัจจุบันเราอยู่ในโลก เราปรับปรุง เปลี่ยนแปลง "วิวัฒนาการโลก" ให้เข้ากับตัวเอง

ดังนั้น "สภาพชีวิตของปลาการ์ตูนที่เลี้ยงในน้ำที่ pH ต่ำกว่าของน้ำทะเลในปัจจุบัน 0.2 - 0.4 ปลาการ์ตูนจะเป็นโรค LSD - Loss Smell Disorder   ทำให้ความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมเสื่อมลง (Prof. Vicharn Panich) " ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่มีสภาพการดำรงชีวิตอยู่กับสภาพแวดล้อมต้องเสื่อมลงตามไปด้วย "ภูมิสังคม" ฤาใจคนที่บกพร่อง... ปัญหาสภาพชีวิตของคนในสังคมทุกวันนี้เกิดขึ้นมาเพราะเหตุใด...?

ปลาอยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ นกอยู่บนฟ้าไม่เห็นฟ้า สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อิงอาศัยโลกนี้เห็นคุณค่าแห่งการ "เปลี่ยนแปลง" แล้วหรือไม่...?

ถ้าหากพูดถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ (Ecnomics Theory) การกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดสินค้าและบริการ Q = F (K+L) จะไม่ก่อให้เกิด "ของเสีย Waste" ตามมานั้นเป็นไม่มี

*Q = ผลผลิต , F = Function, K = Capital , L = Labour

เพราะในทุก ๆ ขั้นตอนของการผลิตไม่ว่าจะเป็น Input Process หรือว่า Output ทุก ๆ ขั้นตอนนั้นจะต้องมีของเสีย (Waste) เกิดขึ้นในทุก ๆ กระบวนการ

ยกตัวอย่างเช่นกว่าเราจะได้รถยนต์หนึ่งคันเกิดขึ้นมา ในส่วนประกอบ อาทิเช่น โลหะ ยาง เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ล้วนแล้วจะต้องมีของเสียเกิดขึ้นทั้งสิ้น

บริษัทหนึ่งผลิตยางรถยนต์ขึ้นมาหนึ่งเส้น ความร้อนตั้งแต่การขนส่งยางแผ่นดิบจากรถบรรทุกคันหนึ่งมายังโรงงานก็เกิดขึ้น ก่อนที่คนงานจะมาทำงาน ขึ้นรถมา หรือในระหว่างนอนอยู่ที่พัก ก็ทำให้เกิดของเสียขึ้น หรือในตัวโรงงานเอง ไฟฟ้า แสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดความร้อนขึ้นอีก กว่าที่ยางเส้นหนึ่งจะส่งโรงงานผลิตรถยนต์ก็เกิดความร้อน (Waste) อีกอย่างมากมายมหาศาล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรถยนต์คันหนึ่งออกไปวิ่งบนถนน การเผาไหม้เชื้อเพลิงก็ทำให้เกิดความร้อนขึ้นอีก รถยิ่งเก่า ความร้อนยิ่งมาก ถ้าหากจะ Recycle รถยนต์ โดยกระจายวัสดุต่าง ๆ ก็ต้องเกิดความร้อนขึ้นอีก นี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของคำว่า "ของเสีย Waste" ที่ทำให้อุณหภูมิของโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป (Global Warming)

เมื่อปลาการ์ตูนอยากมีรถขับก็ต้องยอมรับความเสื่อมโทรมลงของชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจาก "ความอยาก" ของตนเอง

ดังนั้นสมการ Q = F (K+L) ถ้าจะเขียนให้ถูกต้องจริง ๆ อย่างเช่นที่ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ผู้ได้ให้ทฤษฎีเกี่ยวพุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) จะต้องเขียนว่า Q+W = F (K+L) ทฤษฎีนี้จึงจะเป็น Economics process ที่ถูกต้อง

เมื่อนักวิชาการปฏิเสธตัว W หรือของเสียว่ามิใช่ปัจจัยหนึ่งในสมการ โลกใบนี้จึงต้องคืบคลานเข้าสู่ "ความหายนะ (Highway to hell) เพราะเราทั้งหลายปฏิเสธความจริง

เมื่อบ้านเราร้อน เราเปิดแอร์ บ้านเราก็เย็น แต่บ้านข้าง ๆ นั้นร้อน

คนมีเงินก็สบาย คนไม่มีเงินก็ต้องขวนขวายไปผ่อนไปซื้อเครื่องปรับอากาศมาเพื่อให้บ้านนั้น "เย็น"

เมื่อแต่ละบ้านมีทฤษฎีว่าขอเพียงบ้านตัวเองเย็น แล้ว Waste ทั้งหลายที่ทิ้งออกไปออกจาก คอมเพรสเซอร์นั้นเล่า ทิ้งออกไปบ้านใคร...?

เมื่อเราออกนอกบ้านก็ร้อนอีกแล้ว เมื่อร้อนก็ต้องรีบวิ่งเข้ารถ สตาร์ทเครื่อง เปิดแอร์ ไปรถเมล์ไม่ไหว ร้อน อึดอัด แต่ละบ้านก็ต้องมี "รถส่วนตัว"

รถส่วนตัวหมายถึง รถส่วนตัวใคร ตัวมัน บ้านมีห้าคนก็ต้องมีรถห้าคัน เพราะเป็น "รถใคร รถมัน"

เพราะแต่ละคนทนความร้อนไม่ได้ ความร้อนที่ปล่อยมาจากแอร์บ้านของเรา ออกจากบ้านก็ปล่อยความร้อนออกจากท่อไอเสียรถ เข้าสำนักงานก็ต้องเข้าไปอยู่ห้องแอร์อีก และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายทำไมถึงมีความฝันว่าอยากทำงานออฟฟิช เพราะว่าออฟฟิชมันเย็น อยู่ข้างนอกมันร้อน

การเจริญเติบโตของสังคมของโลกจากทฤษฎีปลาการ์ตูน (Clownfish Theory) จึงเป็นการเจริญเติบโตที่ไร้ขีดจำกัด (Growth is without limit)

เมื่อร้อนก็ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อ "หนีร้อน" หนีจากข้างนอกเข้าในบ้าน หนีจากถนนหนทางเข้ารถส่วนตัว

เมื่อโลกใบนี้อาศัยอยู่ไม่ได้ใครต่อใครก็สร้างภาพฝันว่าจะมีเรือลำใหญ่ พาเราไปอยู่บนโลกใบอื่น

เมื่อโลกอื่นร้อนขึ้นอีก เราก็ต้องเดินทางไปยังโลกใบใหม่อีก ไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไร้ขีดจำกัด (Walk is without limit)

 

สงสัยว่าชีวิตเราจะไม่ใช่เป็นดั่งนิยายเสียแล้ว เพราะชีวิตเรากลายเป็นดั่ง "การ์ตูน" และเป็นนิยายเรื่อง "ปลาการ์ตูน (FINDING DEMO)" อีกต่างหาก

เมื่อสมัยเด็ก ๆ เคยได้ยินใคร ๆ ร้องเพลงว่า "สงสารแต่แม่ปลาบู่" สงสัยต่อไปคงจะต้องเพิ่มเพลง "สงสารปลาการ์ตูน" ขึ้นมาบ้าง

ปลาการ์ตูนที่ถูกจับมาจากทะเลแล้วเลี้ยงไว้ในตู้ปลาจะปล่อยคืนกับลงสู่ท้องธาราอันกว้างใหญ่ได้หรือไม่ เป็น "มหากาพย์" ที่เราทั้งหลายพึงติดตามกันต่อไป เพราะไม่อย่างไรนี้ก็คือชีวิตของเราเอง...

หมายเลขบันทึก: 394794เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท