"ภูมิสังคม" ฤาใจคนที่บกพร่อง...


เมื่อก่อนนี้ได้ยินบ่อย ๆ กับคำว่า "ภูมิรู้ ภูมิธรรม" แต่วันนี้รู้สึกตื่นใจเมื่อให้เห็นคำว่า "ภูมิสังคม"

"ภูมิ" ในที่นี้อาจจะตีความได้หลายความหมาย แต่ในความรู้สึกแรกที่ได้เห็นคำว่า "ภูมิ" นั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดไปถึง "ภูมิคุ้มกัน"

ร่างกายทุกคนมีระบบภูมิคุ้มกันจากสิ่งต่าง ๆ โดยตัวของตัวเองบ้าง โดยอาหารบ้าง โดยสิ่งแวดล้อมบ้าง ล้วนแต่ระคนกันสร้างสรรค์จนเกิดความ "สมดุล"

ถ้าหากภูมิคุ้มกันใครผิดพลาด บกพร่อง คน ๆ นั้นก็จะไม่สบายหรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า "ป่วย"

แล้ว "ภูมิคุ้มกัน" ต่อสังคมของคนในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรเล่า...?

ดี เสมอตัว หรือ "บกพร่อง..."!!!

ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ข้าพเจ้าเคยได้ยินประโยคหนึ่งที่สร้างสมการชีวิตให้กับข้าพเข้ามานานว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" มนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่โดยลำพังตัวคนเดียวได้ ซึ่งทำให้เข็มทิศของชีวิตจึงต้องเดินไปโดยควบคู่และใส่ใจกับ "สังคม" อยู่เสมอ จะตัดสินใจทำอะไร "สังคม" ก็จะต้องเข้ามาในจิตในใจอยู่ตลอด จนถึงวันนี้ข้าพเจ้าเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นในใจของตัวเองแล้วว่า "มนุษย์ต้องเป็นสัตว์สังคมจริง ๆ หรือ...?"

อาจจะเป็นเพราะข้าพเจ้ามีความรู้สึกส่วนตัวว่า ในสังคมทุกวันนี้มีอะไรต่ออะไรเจือปนเยอะมาก เมื่อเข้าไปแล้ว "ไม่สบาย" อยู่ห่างไกลออกหน่อยกลับ "สบาย" หรือโรคภัยอะไรต่ออะไรนั้นปนเปื้อนมากับสังคม

 

ช่วงก่อนข้าพเจ้าได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "กาลานุกรม (พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก)" มีตอนหนึ่งที่ท่านพระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)ได้เขียนกล่าวถึง โรคระบาดที่เกิดขึ้นจากคนต่างถิ่น (ชาวยุโรป) ที่เข้าไปล่าอาณานิคมในประเทศอเมริกา ทำให้คนพื้นถิ่นในสมัยนั้นตายเป็นใบไม้ร่วง คือ ต้องตายเพราะโรคระบาดที่เกิดจากคนต่างถิ่นพาเข้าไปนั้นกว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรที่มีอยู่เดิม (ระลอกที่ ๓. มุสลิมมงโกล ฝรั่งมาโรคระบาดไปแพร่ในอเมริกา เจ้าถิ่นตายดังใบไม้ร่วง)

ฤาจะเป็นว่าสังคมไทยเรากำลังจะประสบกับโรคระบาดชนิดนี้อยู่...?

ในอดีต โรคระบาดอาจจะหมายถึงฝีดาษ ไอกรน ฯลฯ แต่โรคในปัจจุบันนั้น "ละเอียด" ขึ้น เป็น "โรคทางความรู้" ที่แพร่กระจาย ไวรัสทางความคิด แล้วค่อย ๆ กลืนกินชีวิตและจิตใจของคนพื้นถิ่นนั้นให้ค่อย ๆ ตายไปจาก "ภูมิธรรม" ของตนเอง

การนำมาซึ่งความรู้ซึ่งติดตามมาด้วยขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ของชาวถิ่นอื่นนั้น ถ้าหาก "ภูมิคุ้มกัน" ของคนท้องถิ่นเดิมไม่ดีพอ อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในกระแสเลือด

คำสุภาษิตโบราณเคยพูดไว้ว่า "เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ" แต่ในปัจจุบันน้ำแล้วแทรกซึมมามาก ๆ เลือดก็ย่อมเจือจาง จนกลายเป็นโรค "โลหิตจาง" กันไปหมด

ฤาว่าคนไทยในปัจจุบันกำลังประสบกับสภาวะ "โรคหิตจาง" ทำให้ "ภูมิต้านทาน" ในร่างกายเบาบางจนมิสามารถกลั่นกรอง "ไวรัสทางความรู้" ที่แทรกผ่าน "วัฒนธรรม"...?

คนไทยในปัจจุบันอาจจะดูหน้าขาวขึ้น แต่ข่าวนี้มิใช่เกิดจากเม็ดสีของผิวหรือต่อมน้ำเหลือง แต่เกิดจากสภาวะ "เกล็ดเลือดต่ำ" ขาวแบบซีด ๆ ขาวแบบไม่มี "เลือดฝาด"

ฤาขนมปังจะทำให้ภูมิคุ้มกันของคนไทยอ่อนแอ ฤากาแฟจะสร้างความดำให้จิตใจ...?

ถ้าหากร่างกายของข้าพเจ้าต้องใช้กำลังงานที่ได้จากอาหารเพื่อสร้างภูมิต้านทานในการต่อสู่กับเชื้อโรคที่ปนเปอยู่ในดิน น้ำ ฟ้า และอากาศ แล้วข้าพเจ้าจะใช้กำลังงานจากที่ใดเล่าที่จะสร้างภูมิต้านทานกับ "ไวรัสทางธรรมวัฒนธรรม" ซึ่งจักทำให้เกล็ดเลือดในสายโลหิตมิจางคลาย

คำว่า "ภูมิสังคม" ที่นักวิชาการไทยสร้างขึ้นมาในปัจจุบันจำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แล้วจักต้องใช้เวลาและงบประมาณสักเท่าใดที่จะค้นคว้าและวิจัยเพื่อสร้างโมเดลจากทฤษฎีใด ๆ เพื่อมาใช้กับ "สังคม"

แต่ในระหว่างช่วงที่รอทฤษฎีจากนักวิชาการผู้ที่เชี่ยวชาญอยู่นั้น ข้าพเจ้าขอใช้ "ศีล" ศีลอันทำคนให้เป็นคน ลองสู้กับไวรัสทางความรู้ดูสักตั้ง

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเรื่อง "ศีล สมาธิ ปัญญา"

ศีล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิด สมาธิ

สมาธิ เป็นเหต เป็นปัจจัยให้เกิด "ปัญญา"

ถ้าศีลบริสุทธิ์เป็นเหตุ สมาธิ และปัญญาอันบริสุทธิ์ย่อมเป็นผล

ปัญญาอันบริสุทธิ์นี้จักสร้าง "ภูมิสังคม" ให้กับข้าพเจ้าได้บ้างหรือไม่...?

แต่ในความรู้สึกลึก ๆ ในจิตใจ "ศีล" ที่คุ้มครอบรอบดวงใจย่อมย่อยสลายภัยร้ายที่กายครอง...

หมายเลขบันทึก: 394467เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2010 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การแก้ปัญหาสังคมโดยการด้วยทฤษฎี หลักการ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็เปรียบได้กับคนเราต้องพึ่งพาอาหารเสริมและวิตามินอยู่ตลอดเวลา วันใดไม่กิน ไม่มีเรี่ยว ไม่มีแรง เมื่อร่างกายอ่อนแรง ภูมิคุ้มกันก็อ่อนตาม โรคต่าง ๆ ก็กลับเสนอหน้า ชูคอ ออกมาสร้างปัญหาไม่หยุด ไม่หย่อน

แต่ถ้าหากเราสร้างตนเองให้มีศีล ศีลซึ่งจะทำให้เกิด "ภูมิรู้ ภูมิธรรม" ก็เปรียบได้กับเราสร้างร่างกายของเขาให้แข็งแรง ที่จริงร่างกายของเรานั้นอุดมไปด้วยเชื้อโรคและจุลินทรีย์ต่าง ๆ มาก ๆ แต่เราอยู่ร่มกันได้อย่างสันติสุขเพราะร่างกายของเราแข็งแรงหนึ่ง และเรามี "ภูมิคุ้มกันของเราไม่บกพร่อง" อีกหนึ่ง เราก็อยู่ร่วมกันได้ จุลินทรีย์ก็เป็นประโยชน์ช่วยในระบบย่อยสลายและดูดซึมอาหารได้

 เปรียบได้กับ "ความทุกข์" ถ้าหากคนเรามีทุกข์มาก ก็ย่อมมีโจทย์ในการ "ภาวนา" มาก ภาวนามากเกินปัญญามาก ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นเหตุเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน

ร่างกายเรากับเชื้อโรคก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่แบบนี้

เรากับสังคมก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่แบบนี้

จงดำเนินชีวิตให้เหมือนกับคนที่ยืนมองดูเกลียวคลื่นอยู่ชายฝั่งทะเลฉันนั้น อย่าพึงก้าวขาลงไปแล้วจมหายไปกับเกลียวคลื่น ซึ่งดูเหมือนจะพาเราซัดเข้าหาฝั่ง แต่ที่จริงแล้ว กลับพาเราลอยห่างไป ห่างไป และห่างไป ซึ่งต้องรอจนกว่าเราจะตายจึงจะได้ลอยกลับเข้าฝั่งนี้อีกที

 

เกลียวคลื่นนี้ก็คือ กิเลส ตัณหา และกามราคะ ที่ภายนอกเหมือนเป็นสิ่งที่สร้างความสุข แต่สุขที่เกิดจากอารมณ์ทั้งสามนี้ล้วนฉาบหน้าอยู่บนความทุกข์ อันเป็นความทุกข์อย่างสุดจิต สุดใจ

เมื่อทุกข์ก็ไปหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ มาโปะไว้ พอให้ความทุกข์ในวันนี้ลบเลือนไป แล้วก็มีทุกข์อันใหม่ ๆ หมักหมมอยู่

ยิ่งหมักไว้ก็เหมือนสะสมเชื้อโรคไว้ ในวันใดที่ร่างกายไม่แข็งแรง เชื้อโรคร้ายก็พร้อมที่จะออกมา "โจมตี"

การทำตนเองให้แข็งแรงหนึ่ง การสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองจากภัยร้ายหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่หาโทษหาภัยให้ตัวเอง อีกย่อมนำชีวิตนี้พบกับความสงบอันเป็นความสุขที่แท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท