วันแรกของการเก็บข้อมูลโครงงานภูมิปัญญา


ก้าวแรกของโครงงาน

ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ (ภมิปัญญาการทอผ้าไหมบ้านโนนใหญ่)

1.ข้อมูลด้านประวัติส่วนตัว

ชื่อ...         นางหวาน   อ่อนเฉวียง

เชื้อชาติ...                เชื้อชาติ  ไทย   สัญชาติ  ไทย   ศาสนา  พุทธ

วัน/เดือน/ปีเกิด...                -   2501   อายุ  52  ปี

ที่อยู่ปัจจุบัน...         258  หมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทอง  อำเภอไทรงาม

จังหวัดกำแพงเพชร  โทรศัพท์  08 6 - 8271489

ชื่อบิดา... นายแล่   พุทธจง

ชื่อมารดา...             นางวาล   พุทธจง

สถานภาพปัจจุบัน...             คู่สมรส  นายอ่อนจันทร์   อ่อนเฉวียง   มีบุตร  4  คน

คติการทำงาน...      ทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความตั้งใจ

สิ่งที่คาดหวังในอนาคต...    อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง  พึ่งพาตนเองได้  และอยู่อย่างมีความสุข

การดำเนินชีวิต...   ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง

 

2.ข้อมูลงานด้านความมั่นคง

ป้าหวาน   อ่อนเฉวียง  เป็นชาวอีสาน  อารมณ์ดี  มีบุคลิกสนุกสนาน  ตั้งใจทำงานด้วยความทุ่มเท  จริงใจกับงานที่ได้ทำเสมอ  เป็นผู้อุทิศตน  และเสียสละเวลาให้กับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่  จึงเป็นที่รักใคร่  ไว้วางใจของพี่น้องชาวบ้านหมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทอง  และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ  ป้าหวานมีสมาชิกในครอบครัวที่เข้าใจท่านเสมอ  เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วป้าหวานจะเป็นผู้เสียสละเวลาให้กับงานส่วนรวมมากกว่างานส่วนตน

ปัจจุบันอาชีพหลักของป้าหวาน  ก็คือ  อาชีพเกษตรกรรม (ทำนา)  ส่วนอาชีพเสริม  คือ  การทอผ้า  และป้าหวานก็ได้รับเลือกให้เป็น

r  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง  หมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่

q  เป็นตัวแทนเข้ารับการสัมมนา  การมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนในการป้องกันการทุจริต  ตามโครงการประชาศึกษาและชุมชนสัมพันธ์

r  เป็นตัวแทนในการในการเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย  และการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทแก่ผู้นำหมู่บ้าน  กลุ่มเยาวชน  กลุ่มเกษตรกร  และประชาชนทั่วไป

 

3.ข้อมูลด้านจุดเริ่มต้นของการทอผ้า

นางหวาน   อ่อนเฉวียง  หรือที่ทุกคนในหมู่บ้านโนนใหญ่  เรียกกันว่า  แม่ใหญ่หวาน  เริ่มทอผ้าตั้งแต่ยังเป็นเด็ก  คือเห็นแม่ทอก็เลยหัดทอบ้างเพราะว่าชอบ  แต่ป้าหวานมาเริ่มจริงจังกับการทอผ้าเมื่ออายุประมาณ  20  ปีกว่าๆ  แต่เดิมเป็นการทอผ้าย้อมสีเคมี  ผ้าที่ทอทำให้ขายไม่ดี  ราคาก็ไม่ดี                                                                                                     

          ปี  พ.ศ.  2543  กลุ่มทอผ้าไหมสีธรรมชาติได้เข้าร่วมโครงการ  ( ฝ้ายแกมไหม )  ภายใต้การส่งเสริมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานหลายแห่ง  โดยเน้นการผลิตผ้าทอมือจากสีธรรมชาติ  ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย

           ปี พ.ศ.  2546  ป้าหวาน  ได้รับการอบรมการย้อมสีธรรมชาติจากสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

           จุดสำคัญที่ทำให้ผ้าทอมือเป็นที่รู้จักแพร่หลาย  เริ่มจากกลุ่มทอผ้า  หมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทองได้นำผ้ามัดหมี่ไปเสนอให้มูลนิธิศิลปชีพในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  พิจารณา  ณ  พระราชตำหนักภูพานราชนิเวศน์  ในปี  พ.ศ.  2525  จึงได้รับความสนใจ  จากนั้นมูลนิธิฯ  ได้มอบหมายให้กลุ่มดำเนินการผลิตผ้าไหมทอมือตามแบบ  และลายผ้าที่ต้องการส่งเข้าไปถวาย  ณ  พระตำหนักสวนจิตรลดา  ในนามมูลนิธิศิลปะชีพเรื่อยมา

             ด้วยความเป็นผู้มีเชื้อสายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  จึงทำให้มีความสามารถด้านการทอผ้าเป็นอย่างดี  เป็นเหตุให้ในปี  2525  มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่หมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทอง  อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร  และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ  มาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปี  พ.ศ.  2542  ได้รับการส่งเสริมเงินทุนหมุนเวียนกลุ่มอาชีพจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทอง  หมู่ละ  50,000  บาท  เป็นทุนจัดซื้ออุปกรณ์การผลิต  เช่น  วัตถุดิบ  กี่ทอผ้า  และอุปกรณ์ต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง  และส่งใช้คืนภายใน  4  ปี  ซึ่งปัจจุบันได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็นหมู่บ้านละ  100,000  บาท  รายได้โดยเฉลี่ยของสมาชิก  2,000 – 2,500  บาท  ต่อเดือน  ปัจจุบันผลิตและจำหน่ายทั่วไปทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด

               ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายผ้าย้อมสีธรรมชาติของจังหวัดกำแพงเพชร  และป้าหวาน  หรือ  นางหวาน  อ่อนเฉวียง  ประธานกลุ่ม ฯ  ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย  มีสมาชิกเป็นกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ  จำนวน  20  กลุ่มสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกของกลุ่มเป็นอย่างดี  

4.ข้อมูลด้านการรวมกลุ่มอาชีพ

              ด้วยความหลากหลายทางด้านวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในอำเภอไทรงาม  ประกอบกับภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของในท้องถิ่น  จึงทำให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการ  ผู้ที่มีความรู้  ความสามารถในชุมชนรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มอาชีพขึ้น  โดยการสนับสนุนของทางราชการหลายหน่วยงาน  การรวมกลุ่มอาชีพในพื้นที่ไทรงามนั้น  ทำให้เกิดการสร้างงาน  สร้างรายได้  ประชาชนมีงานทำ  และเป็นอยู่อย่างพอเพียง  ทั้งนี้  อำเภอไทรงามมีกลุ่มอาชีพที่สำคัญอยู่อย่างหลากหลาย  หลายกลุ่ม  เช่น  กลุ่มผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ  กลุ่มปุ๋ยน้ำสูตรใหม่  กลุ่มสตรีพัฒนา  เป็นต้น

               กลุ่มผลิตผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ

               เริ่มก่อตั้งในหมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทอง  อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร  เมื่อปี  พ.ศ.  2525  เริ่มต้นมีสมาชิกก่อตั้ง  43  คน  ต่อมาในปี  พ.ศ.  2543  แยกหมู่บ้านเป็นหมู่ที่  10  บ้านโนนใหญ่พัฒนา  และมีสมาชิกจากหมู่ที่  5  บ้านลานกระดี่  และหมู่ที่  9  บ้านสมบูรณ์พัฒนา  มาร่วมกิจกรรมด้วย  รวมมีสมาชิกทั้ง  4  หมู่บ้าน  จำนวน 79  คน  ดังนี้

              หมู่ที่  5  บ้านลานกระดี่  มีสมาชิกจำนวน  25  คน  โดยมีนางอำนวย   เลาะไธสง  เป็นประธานกลุ่ม                                                  

              หมู่ที่  6  บ้านโนนใหญ่  มีสมาชิกจำนวน  20  คน  โดยมีนางหวาน   อ่อนเฉวียง  เป็นประธานกลุ่ม

              หมู่ที่  9  บ้านสมบูรณ์พัฒนา  มีสมาชิกจำนวน  20  คน  โดยมีนางบังอร   มีสกุล  เป็นประธานกลุ่ม

              หมู่ที่  10  บ้านโนนใหญ่พัฒนา  มีสมาชิกจำนวน  14  คน  โดยมีนางบัวสอน  เหมือนไธสง  เป็นประธานกลุ่ม

                ปัจจุบันมีเงินกองทุนบริหารกลุ่ม  จำนวน  90,000  บาท  โดยมีคณะกรรมการบริหารกลุ่มประกอบด้วย

  1. นางหวาน   อ่อนเฉวียง                                          ประธานกลุ่ม
  2. นางอำนวย    เลาะไธสง                                        รองประธาน
  3. นางบังอร   มีสกุล                                                  เลขานุการ
  4. นางบัวสอน   เหมือนไธสง                                      เหรัญญิก

5.ข้อมูลด้านอื่นๆ

              1) ผ้าไหมท้องถิ่นมีกี่ลาย

                        ป้าหวานบอกว่า  ถ้าพูดถึงลายของผ้าไหมแล้วมีเป็นพันๆ  ลาย  แล้วแต่ว่าเราจะจินตนาการเป็นลายแบบใหนมากกว่า  ( ตามความต้องการของเราหรือของผู้ทอนั่นเอง )  และป้าหวานยังบอกอีกว่าถึงแม้ตัวของป้าจะแก่ยังไง  แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ผ้าไทยไว้  และก็จะบอกลูกหลานให้ศึกษา  อนุรักษ์ผ้าไทยไว้ต่อไป

                 2) ลายผ้าไทยที่ทอยากคือลายอะไร

                           ป้าหวานบอกว่า  แล้วแต่คนที่จะทอ  เพราะว่าถึงแม้ลายที่ทอนั้นมันจะยากขนาดใหน  แต่ถ้าคนที่ทอเขามีความตั้งใจที่อยากจะทอจริงๆ  เขาก็จะทอให้ได้  จนประสบผลสำเร็จนั่นเอง

                 3) ผ้าไทยราคาประมาณเท่าไร

                            ป้าหวานบอกว่า  ผ้าบางผืนราคาประมาณ  3,000 – 4,000  บาท  แต่บางพื้นก็ประมาณ  1,000  กว่าบาท  (แล้วแต่ชนิดของผ้า  ความละเอียด  ประณีต  และความสวยงามของผ้าแต่ละผืนนั่นเอง) 

6.ข้อมูลเพิ่มเติม

             เมื่อวันเสาร์  ที่  4  กันยายน  พ.ศ. 2553  กลุ่มของข้าพเจ้าได้ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงงานภูมิปัญญาท้องถิ่น  ซึ่งกลุ่มของข้าพเจ้าก็เลือกทำโครงงานเกี่ยวกับการผลิตผ้าทอมือจากสีธรรมชาติ

โดยสถานที่ที่กลุ่มของข้าพเจ้าเลือกที่จะไปเก็บข้อมูลคือ  บ้านโนนใหญ่  ตำบลหนองทอง  อำเภอไทรงาม  จังหวัดกำแพงเพชร  ซึ่งกลุ่มทอผ้าหรือผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่กลุ่มของข้าพเจ้าเลือกไปเก็บข้อมูลนั้นมีชื่อกลุ่มว่า  ( วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าแม่หูกทองบ้านโนนใหญ่ ) 

           เราเริ่มเดินทางออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรในเวลา  13.00 น.  และไปถึงที่หมายหรือบ้านโนนใหญ่  ในเวลา  14.00 น.  พอเราไปถึงบ้านป้าหวาน  หรือบ้านของประธานกลุ่มทอผ้าแม่หูกทองบ้านโนนใหญ่นั่นเอง  ป้าหวานก็เอาน้ำเย็นๆ  มาต้อนรับพวกเราเป็นอย่างดี  พอได้ดื่มน้ำเย็นแล้วรู้สึกชื่นใจจริงๆ  เพราะว่าอากาศร้อนมาก 

              ป้าหวานเป็นคนอารมณ์ดี  อัธยาศัยดีมาก  สนุกสนาน  และก็เป็นคนที่เสียสละเวลาให้กับงานส่วนรวมมากกว่างานส่วนตน  ป้าหวานเล่าให้ฟังว่า  นายกทักษิณ  ชินวัตร  เคยมาที่บ้านของแกด้วย  และป้าหวานก็มอบผ้าไหมให้ท่าน  นายกทักษิณ  ชินวัตร  1  ผืน  และป้าหวานก็ยังเคยมอบผ้าไหมให้กับหม่อมเจ้าพีรเดชอีกด้วย  บางครั้งป้าจะไปเชียงใหม่ไปเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติถึง  10  วัน  ป้าหวานบอกว่าแกเป็นคนที่ชอบทำงานส่วนรวม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงเอาป้าไปอบรม  และจะรู้จักป้าในนามย้อมสีธรรมชาติ  ซึ่งในตอนนั้นตลาดหลักของป้าคือ  สวนจิตรลดา

                  ป้าหวานยังเล่าให้ฟังว่า  อย่างผ้าซิ่นเนี่ยถ้าทอจะต้องทอ  4  เส้น  ถึงจะออกมาเป็นลาย  แต่ถ้าเกิน  4  เส้น  ก็จะไม่ใช่คือว่า  ลายจะผิดเพี้ยนไปเลย  ส่วนผ้าสโหร่งไหมนั้นคนอีสานจะใช้รับลูกเขยตอนขึ้นบ้าน  สำหรับผู้หญิงถ้าเป็นลูกสะใภ้คนไทย  จะต้องคัดผ้าไหมที่สวยที่สุดเพื่อไหว้  ปู่  ย่า  ต้องให้ผู้ใหญ่แก่ฝ่ายชาย  เพราะผ้าไหมเป็นสิ่งที่ล้ำค่ามากที่สุด  สวยที่สุด  และสำคัญมาก  ถ้าจะแต่งงานแล้วจะทำเครื่องไหมเรียกว่า  ( เครื่องสมมา )  ที่เลี้ยงไหมต้องสะอาด  ล้างมือก่อนให้อาหารไหมจะทำให้ใยไหมมีความสวย  และป้ายังเล่าให้ฟังอีกว่า  ป้าได้ไปย้อมผ้าที่เชียงใหม่โดยย้อมจากเปลือกมะพร้าวน้ำหอม  ซึ่งมอร์แด๊นของป้าคือ  น้ำปูนใส  ได้สีโอรส  ป้าหวานบอกว่าย้อมจากเปลือกมะพร้าวน้ำหอมที่เชียงใหม่ได้  ( สีโอรส )  ย้อมที่กำแพงเพชรได้สีน้ำตาล  เพราะน้ำไม่เหมือนกัน  ป้าบอกว่าฝรั่งจะชอบกันมาก

                 ป้าหวานบอกว่า  ที่ศูนย์หม่อนไหมตากนั้นมีการอบรมเกี่ยวกับการเลี้ยงไหม  ตอนนี้ที่ศูนย์หม่อนไหมตากจะเอาไหมมาเลี้ยง  เพื่อให้คนได้เข้าไปศึกษา  เข้าไปอบรม  และก่อนจะเข้าไปอบรมเขาก็จะให้ล้างมือก่อน  และในขณะที่ป้าหวานพูดเกี่ยวกับเรื่องของหม่อนไหมนั้น  ก็มีสมาชิกในกลุ่มถามป้าหวานขึ้นมาว่า  ศูนย์หม่อนไหมปัจจุบันนี้มีอยู่ที่ไหนบ้าง?  ป้าหวานก็ตอบว่า   ( ก็มีอยู่ที่  น่าน ตาก  อุตรดิตถ์  โคราช )  แต่ถ้าทางเหนือก็จะมีแค่  ตาก , น่าน , อุตรดิตถ์  สำหรับใบหม่อนนั้นสามารถใช้ได้หลายอย่าง  ชาใบหม่อนก็ได้  แม้กระทั่งผักบุ้งก็สามารถนำมาย้อมสีได้ด้วย  ป้าหวานเป็นคนชอบอนุรักษ์สีย้อม  และการย้อมสีจากธรรมชาติจะดีกว่าการย้อมสีจากเคมี

                            ป้าหวานได้พาพวกเราไปดูผ้าไหมต่างๆ  รวมถึงขั้นตอนต่างๆ  ในการทำเพื่อให้ได้เส้นไหมมา  จนไปสู่กระบวนการของการทอผ้าชนิดต่างๆ  ด้วยกัน  เมื่อพวกเราได้เห็นขั้นตอนต่างๆ  ทำให้ได้รู้ถึงคุณค่าของภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าทอมือที่ย้อมจากสีธรรมชาติว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ล้ำค่าจริงๆ  เพราะกว่าจะได้เส้นไหมแต่ละเส้นนั้นต้องมีกระบวนการขั้นตอนในการทำเยอะเหมือนกัน  เช่น  รังไหมนั้น  จะเอาไว้ให้ไหมทำรัง  ซึ่งไหมตัวสีเหลืองนั้นจะสุกแล้ว  จะทำรังภายใน  1  วัน  แล้วเอาผ้าปิดไว้  เพราะมันอายทำรัง  และให้อาหารวันละ  3  เวลา 

                             เวลาต้มไหม  จะต้องรอน้ำที่ใส่ลงในหม้อให้มันร้อนก่อนแล้วค่อยใส่ไหมลงไป  จะใช้เวลาไม่ถึง  5  นาที  มันก็จะคลายเป็นเส้นๆ  แล้วเอาไม้ตีๆ  ก็จะสามารถเสาไหมได้เลย  พอไหมหมดอายุก็จะเพาะเลี้ยงใหม่  ( เพาะไว้  7  วัน  ก็จะออกไข่ )  ถ้าผสมกันปุ๊บ  ก็จะแยกตัวผู้  กับตัวเมียออกจากกัน

                              เม็ดคำแสด  1  ขีด  ต่อไหม  1  ใจ  ( 1  ใจ  หมายความว่า  ไหม  1  ขีด )  ส่วนไหมเปลือกนอก  หรือไหมน้อย  คือ  เอาเปลือกนอกออกแล้ว  ก็จะได้ไหม  100  %

                     ป้าหวานได้ทิ้งท้ายว่า  เด็กสมัยนี้กับเด็กสมัยก่อนนั้นไม่เหมือนกัน  ป้าแกเล่าว่า  เมื่อตอนเป็นเด็กพ่อกับแม่ไปทำนา  ป้าแกต้องเลี้ยงน้อง  ไม่รู้ว่าจะทำอะไร  ก็เลยนั่งทอผ้า  จึงเกิดเป็นทักษะติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

ปัญหาและอุปสรรค์ในการเก็บข้อมูล

                ระหว่างการเดินทางไปเก็บข้อมูลนั้น  ได้มีฝนตกลงมาจึงทำให้การเดินทางล่าช้า 

 

 

                  

หมายเลขบันทึก: 394144เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2010 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข้อมูลละเอียดมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท