นาฏยศัพท์เบื้องต้น


นาฏศัพท์ จีบ ตั้งวง

     นาฏศิลป์ไทย  หมายถึง ศิลปะแห่งการฟ้อนรำ ไม่ว่าจะเป็น ระบำ รำ ฟ้อน โขน และละคร ต่างก็รวมเป็นนาฏศิลป์ไทยทั้งสิ้น

     ปัจจุบัน เด็กรุ่นหลังมักจะห่างเหินกับคำว่านาฏศิลป์ไทย ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยที่สวยงาม แต่กลับไปให้ความสนใจกับวัฒนธรรมต่างประเทศเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเต้น บี-บอย เต้นฮิปฮอป เต้นเกาหลี ฯลฯ รัฐบาลจึงเล็งเห็นในจุดนี้จึงได้วางพื้นฐานการศึกษาให้ระบุวิชานาฏศิลป์ไทย เข้าไว้ในหลักสูตร ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ในทุกระดับชั้นต้องเรียนและผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัด

     ก่อนเรียนนาฏศิลป์ไทย ต้องเรียนการฝึกหัดเบื้องต้นเสียก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานในการรำที่ดี ในที่นี้จะกล่าวถึง นาฏยศัพท์ ที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นอันดับแรกในการเริ่มฝึกหัดให้กับนักเรียน นาฏยศัพท์มีหลายคำมากในนาฏศิลป์ไทย แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงนาฏยศัพท์ในการใช้มือที่เหมาะกับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 3

     นาฏยศัพท์ หมายถึง คำที่ใช้เรียกชื่อท่ารำ

     1. จีบ คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือมาจรดข้อแรกของนิ้วชี้ (นับจากปลายนิ้ว) ส่วนนิ้วที่เหลือ ได้แก่ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย กรีดออกไปให้ตึง (ต้องย้ำกับนักเรียนให้กรีดนิ้วให้ตึง เนื่องจากว่า เด็กอาจจะเกร็งนิ้วยังไม่ค่อยได้) และการจีบต้องหักข้อมือเข้าหาลำแขนทุกครั้ง (เด็กจะไม่ค่อยหักข้อมือต้องย้ำบ่อยๆ)

   

     จีบมี 2 ลักษณะ ได้แก่

          1.1 จีบคว่ำ เป็นลักษณะการจีบที่ให้ปลายนิ้วชี้ชี้ลงพื้น (อย่าลืมต้องให้เด็กหักข้อมือเข้าหาลำแขนทุกครั้ง)

          1.2 จีบหงาย เป็นลักษณะการจีบที่ให้ปลายนิ้วชี้ชี้ขึ้นข้างบน (ชี้ขึ้นฟ้าเลยค่ะนักเรียน แต่อย่าลืมหักข้อมือเข้าหาลำแขนนะคะ)

     จีบมีหลายระดับ ได้แก่

          1) จีบปรกข้าง  เป็นลักษณะการจีบหงายอยู่ด้านข้างระดับไหล่ แล้วยกท่อนแขนล่างตั้งฉากกับศีรษะ ให้ปลายนิ้วชี้ชี้เข้าหาศีรษะในระดับศีรษะ (เวลาฝึกปฏิบัติให้นักเรียนฝึกทั้งสองมือพร้อมกัน)

          2) จีบปรกหน้า เป็นลักษณะการจีบหงายอยู่ด้านหน้าระดับอก แล้วยกลำแขนท่อนล่างขึ้น ให้ปลายนิ้วชี้ชี้เขาหาใบหน้า ในระดับสายตา (แต่ไม่ติดตา ต้องระว้งเด็กชอบเอานิ้วมาจิ้มตา โดยให้เด็กทำตั้งฉากก่อน แล้วค่อยเอนลำแขนไปทางข้างหน้าอีกเล็กน้อย)

          3) จีบล่าง หรือจีบชายพก เป็นลักษณะการจีบตะแคงมืออยู่ด้านหน้า ระดับสะดือหรือหัวเข็มขัด (อย่าลืมเน้นให้เด็กหักข้อมือด้วยทุกครั้งที่ปฏิบัตินาฏยศัพท์จีบ) โดยห่างออกมาจากสะดือเล็กน้อย

          4) จีบส่งหลัง เป็นลักษณะการจีบคว่ำแล้วส่งลำแขนไปด้านหลังให้ตึง (ห้ามอยู่ที่ก้น เพราะเด็กชอบเอาไว้ที่ก้น และต้องหลังตรง เนื่องจากเด็กชอบโก่งหลัง เพราะอยากส่งแขนไปด้านหลังให้เยอะๆ)

       2. การตั้งวง คือ การตั้งปลายนิ้วทั้ง 4 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย เรียงชิดติดกัน ส่วนนิ้วหัวแม่มือหักเข้าฝ่ามือ (ต้องเน้นนิดนึง เพราะเด็กชอบกางนิ้วหัวแม่มือออกไปด้านนอกหรือไม่ก็เอาเรียงติดกับนิ้วชี้) แล้วให้ลำแขนโค้งได้รูป ไม่ตึงและไม่หักงอจนเกินไป

     ตั้งวงมีหลายระดับ ได้แก่

          1) ตั้งวงบน เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ในระดับศีรษะ (ถ้าเป็นตัวนางอยู่ระดับคิ้ว  โดยให้ลำแขนค่อนมาทางด้านหน้าเล็กน้อย ผู้หญิง เรียกว่า ตัวนาง  ส่วนผู้ชายเรียกว่า ตัวพระ ต้องคอยย้ำเตือนเด็กให้ลำแขนได้รูปโค้ง เพราะเด็กจะหักลำแขนเข้าหาตัวมากเกินไป)

          2) ตั้งวงกลาง เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ระดับไหล่ทั้งตัวพระและตัวนาง แต่ตัวนางให้ลำแขนมาด้านหน้าเล็กน้อยเช่นเดียวกับตั้งวงบน

          3) ตั้งวงล่าง เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ระดับสะดือหรือหัวเข็มขัด โดยให้มือออกห่างจากลำตัวเล็กน้อย

          4) ตั้งวงหน้า เป็นการตั้งวงให้ปลายนิ้วอยู่ระดับปาก (ต้องระวังท่านี้เด็กชอบหักแขนมากเกินไปหรือไม่ก็แขนตึงเกินไป)

     นาฏยศัพท์ จีบและตั้งวง เป็นนาฏยศัพท์การใช้มือที่สำคัญมากในการฝึกปฏิบัติขั้นต่อๆไป ถ้าเด็กสามารถปฏิบัติได้ถูกต้องและสวยงามแล้ว เด็กก็จะมีท่าการร่ายรำที่สวยงามต่อไป

หมายเลขบันทึก: 393370เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2010 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การตั้งวงหน้า หนูว่าน่าจะมีรู้ให้ประกอบด้วย หรือไม่ก็มีคำอธิบายมากกว่านี้(นิดนึง)นะคะ

อ่านแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจอะค่ะ

สอบตั้งแต่วันจันทร์แล้วค่ะ

แต่ไม่ผ่านสักที T^T

แค่อยากรู้ว่าทำไมตอบไม่ตรงคำที่เขียนลงไปในGoogle

หนูไม่ได้ตั้งใจที่จะบอกแบบนั้นหนูเป็นเด็กอยู่นะค่ะ อิ อิ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท