การรับใช้สังคมไทย ในทัศนะของข้าพเจ้า : 3 ส่วนของชีวิต...


การรับใช้สังคมในทัศนะของข้าพเจ้านั้นคือการทำหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่นั้นให้เต็มที่และดีที่สุด ซึ่งในส่วนแรกข้าพเจ้าขอแบ่งหน้าที่หลัก ๆ ออกเป็น 3 ส่วนคือ หน้าที่การงาน หน้าที่ต่อครอบครัว และ หน้าที่ต่อตนเอง

 

ในทัศนะของข้าพเจ้านั้น การรับใช้สังคมนั้นคือทำงานอย่างเต็มที่ในเวลาแปดโมงเช้าจนถึงห้าโมงเย็น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เต็มที่ทั้งกายและใจ

 

ถ้าหากสังคมกำหนดให้ข้าพเจ้ามีเวลาทำงานในหน้าที่นั้น 8 ชั่วโมงในหนึ่งวัน ข้าพเจ้าจะทำงานในหน้าที่นั้นมิให้ขาดตกบกพร่อง เพื่อที่จะมิให้จิตใจเศร้าหมองว่าเวลาในหน้าที่ที่สังคมกำหนดข้าพเจ้านั้นมิได้หายไปโดยข้าพเจ้าจงใจเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงใช้เวลาของสังคมซึ่งเป็นเวลาส่วนรวมไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

 

แต่เวลาแปดโมงชั่วโมงถือเป็นแค่เพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับเวลาที่ชีวิตของข้าพเจ้ามีในหนึ่งวัน

 

อีก 1 ใน 3 ข้าพเจ้าขอรับใช้ "ครอบครัว" ซึ่งเป็นสังคมของผู้มีพระคุณผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูให้ข้าพเจ้าได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้เป็นคน และ 1 ส่วนที่เหลือ ข้าพเจ้าขอรับใช้อัตภาพร่างกายนี้ที่เขายังดำรงอยู่ให้ข้าพเจ้าได้ "ทำความดี"

 

เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตในส่วนที่เราจะต้องรับใช้สังคมในเรื่องของหน้าที่การงานนั้น ดูเหมือนว่าจะน้อยแต่ก็ไม่น้อยถ้าหากเรารู้จัก "หน้าที่" ของตนที่สังคมได้มอบหมายมา

 

ปัญหาของสังคมมิได้อยู่ที่คนทำงานน้อย มีเวลารับใช้สังคมไม่พอ แต่อยู่ที่คนที่มีหน้าที่รับใช้สังคมในด้านหนึ่งกลับนำเวลาที่สังคมให้นั้นไปรับทำหน้าที่รับใช้สังคมในอีกด้านหนึ่ง

 

ที่จริงสภาพการจัดแจกแบ่งงานในสังคมนั้นมีความสมดุล ถ้าหากคนที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ นั้นรับใช้สังคมตามหน้าที่ที่ตนได้รับ และทำหน้าที่นั้นเต็มที่และเต็มเวลาที่ว่าไว้คือ 1 ใน 3 ของชีวิต

 

ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้าหากกายและใจของเราอยู่ในที่ทำงานตลอดเวลาที่สังคมกำหนดไว้นั้น หน่วยงานของเราจะเจริญขึ้นมากสักเท่าใด

 

คุณครูเริ่มต้นทุ่มเทกายและใจ ใช้วาจาอบรมพร่ำสอนลูกศิษย์ ประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง ถึงแม้นเวลาที่ว่างจากงานสอน จิตใจก็ครุ่นคิดวนเวียนอยู่ว่าเราจะพัฒนาการสอนของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร ขอให้กายและใจอยู่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพียงแค่ 1 ใน 3 นี้ก็ "รับใช้" ได้เพียงพอ

 

 

หรือถ้าหากใคร บุคคลใด หมดภาระทางด้านครอบครัวแล้ว ไม่มีสามี ไม่ภรรยา ซึ่งไม่มีทางที่จะนำมาซึ่งบุตร อีกทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้มีพระคุณลาละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว จะนำเวลาอีก 1 ใน 3 จากส่วนของครอบครัวนั้นมา "เสียสละ" เพื่อรับใช้สังคมในส่วนหน้าที่ของการงานย่อมเป็นภาพที่งดงามสำหรับบุคคลที่ตั้งหน้าตั้งจิตที่จะ "รับใช้สังคม"

 

แต่ถ้าบุคคลใดยังมีภาระทางด้านครอบครัวด้วยคู่ชีวิต บุตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อและแม่ก็ดี จะเสียสละเวลาในการดูแลรักษาอัตภาพ คือ ร่างกายนี้ จาก 8 ชั่วโมง นำมาสัก 2 หรือ 4 แล้วใช้ร่างกายนี้ "รับใช้สังคม" ก็เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อ "รับใช้" ส่วนรวม

 

การรับใช้สังคมจะเป็นภาพที่สวยงามมาก ถ้าหากเราทำหน้าที่ในภาคส่วนต่าง ๆ ให้ "ครบถ้วน สมบูรณ์"

 

ไม่หลีกหนีจากสังคมหนึ่ง เพื่อมาทุ่มเทให้สังคมหนึ่ง ละทิ้งครอบครัว มาเพื่อสำนักงาน หรือตัวอยู่สำนักงานแต่จิตใจอยู่ที่การและงานทางบ้าน ทำงานไปก็พักไป ทำงานไปทานอาหารไป ทำงานหนักไปกลัวเหนื่อย กลัวเพลีย ทำงานเต็มที่กลัวร่างกายจะทรุดโทรม

 

รู้จักใช้ ดูแล อัตภาพร่างกายนี้ รักษาด้วยอาหาร และไม่นำสารพิษจากสุราและยาเสพติดต่าง ๆ เข้ามาทำลาย

รู้จักดูแลและรักษาจิตใจให้เบาบางและห่างหายจากความโลภ ความโกรธ และความหลง

ร่างกาย และครอบครัว ที่สมบูรณ์ ย่อมทำให้หน้าที่การงานนั้นสมบูรณ์ตามไปด้วย

สิ่งต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นแต่เหตุ เมื่อเหตุแห่งฐานคือบ้านสมบูรณ์สังคมย่อมสมบูรณ์

 

ถ้าหากเราดูแลครอบครัวสมบูรณ์ ก็จะไม่มีปัญหาการหย่าร้าง ลูก ๆ ก็จะไม่ขาดความอบอุ่น ไม่หันไปพึ่งเกมส์ พึ่งยาเสพติดเพื่อมาทดแทนความอบอุ่นนั้น นั่นเป็นการไม่สร้างปัญหากับสังคม

 

ถ้าหากเราทำหน้าที่การงานตามที่สังคมมอบหมายมาให้อย่างเต็มที่แล้ว งานในส่วนนั้นก็จะไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะถ้าหากขาดตกบกพร่อง คนอื่นเห็น เขาก็จะโดดมาช่วย ข้ามฟากมา เมื่อเขาข้ามมา งานทางฟากเขาก็พร่อง พร่องไป พร่องมา กลายเป็นปัญหาสังคมที่ซับซ้อน

 

และสุดท้าย ถ้าหากเรามีเวลาที่จะรักษากายและจิตใจนี้ กายและจิตนี้ก็จะไม่กัดกินเจ้าของ ให้หลงเวียนว่ายตายเกิด หลงรัก หลงชัง หลงโกรธ หลงโลภ เมื่อเรามีเวลาที่จะดูแลกายและจิตของตนเองอย่างเพียงพอ ไม่ทิ้งกาย ทิ้งจิต นั่นก็เป็นหนทางพาตนเองนี้ให้พ้นไปได้จาก "สังสารวัฏ"

การรับใช้สังคมเป็นสิ่งที่จักต้องทำในทุกลมหายใจ และจำเป็นที่จะต้องรับใช้สังคมทั้งภายนอกและภายในให้สมบูรณ์

หมายเลขบันทึก: 393228เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สำหรับทัศนะของข้าพเจ้าต่อการรับใช้สังคมนั้น ข้าพเจ้ามีทัศนะส่วนตัวว่าเราควรจะรับใช้สังคมในทุก ๆ ลมหายใจ

ไม่ว่าลมหายใจเราจะอยู่ในสังคมใด เราก็พึงที่จะมีใจ "รับใช้" สังคมนั้น

คำว่า "รับใช้" นั้น ข้าพเจ้าขอใช้การตีความว่าคือ "การให้" ซึ่งเป็นการให้ด้วยกายและด้วยใจ

ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานใด ๆ หรืออยู่กับสังคมใด ๆ ก็ตาม "การรับใช้สังคม" ก็จะเป็นพื้นฐานแห่งการกระทำ

เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราจะมโนภาพการรับใช้สังคมว่าเป็น "กิจกรรม (Activities)" หนึ่งที่เสริมเพิ่มเติมขึ้นจากงานประจำ ซึ่งนั่นจะทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาส "รับใช้" ได้น้อย และจำเป็นที่จะต้องเบียดเบียนเวลาจากสังคมหนึ่งไปให้กับอีกสังคมหนึ่ง

ยกตัวอย่างในเวลาเกือบ ๒ เดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาทุ่มเทร่างกายและแรงใจ "พิมพ์หนังสือธรรมะ" เพื่อรับใช้สังคมเล็ก ๆ ใน http://portal.in.th/i-dhamma เพื่อที่จะให้สังคมที่สนใจในคำสอนของ "พระพุทธศาสนา" ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาและค้นคว้าในช่วงเวลาของแต่ละสถานที่แต่ละบุคคล

ในช่วงนั้นข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า ทุก ๆ นาทีของข้าพเจ้านั้นมีคุณค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้มีความสำรวมระวังเกี่ยวกับศีลข้อ ๔ ในเรื่องของ "การพูด" มากขึ้น เพราะศีลของ "มุสาวาท" นั้น นอกเสียจากจะว่าด้วยเรื่องของ "การพูดปดมดเท็จ" แล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องการพูดส่อเสียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การพูดเพ้อเจ้อ" ด้วย

ซึ่งในเวลาที่ข้าพเจ้าตั้งใจที่จะใช้แรงกาย แรงใช้ และทุนทรัพย์จากผู้ที่มีความปรารถนาดีต่าง ๆ ที่มอบให้มานั้นพิมพ์หนังสือธรรมะหลาย ๆ เล่มซึ่งหาได้ยากทั้งในร้านและใน Internet นั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่า เป็นการเสียเวลามากที่จะใช้เวลาไปกับการพูดคุย สรวลเส เฮฮา ซึ่งนั่นก็คือ "การพูดเพ้อเจ้อ"

ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าเสร็จจากภาระกิจประจำแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับการพูดคุยกับเพื่อนในเรื่องราวที่ไม่จำเป็น เพราะเมื่อข้าพเจ้าตั้งใจที่จะรับใช้สังคมนี้ จิตของข้าพเจ้าจะมีความสำรวมระวังต้อง "ศีล" ข้อนี้มาก ซึ่งนั่นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเสียเวลาไปกับโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ที่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นใช้เวลาที่ "สิ้นเปลือง" สำหรับชีวิตที่น้อยนี้

ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าสำรวมระวังในศีล ก็จะมีเวลาที่เมื่อก่อนสูญเปล่าไปกับเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์ให้กับสังคมส่วนรวม มีเพียงแต่สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นการส่วนตัวเท่านั้น และนี่เองทำให้ข้าพเจ้าได้เกิดความ "ปีติ" กับคำว่า "การรับใช้สังคม"

การรับใช้สังคมของข้าพเจ้า ไม่จำเป็นต้องทำงานใด ๆ ที่เป็นพิเศษนอกเหนือจากการใช้ชีวิตประจำวันที่มีอยู่ ขอเพียงมีความสำรวมระวังในศีล ความสำรวมระวังนั้นเองจะจัดแจกเวลาที่มีอยู่เท่าเดิมให้มีคุณค่าขึ้นอย่างเอนกอนันต์...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท