สิทธิมนุษยชนทหาร


สิทธิมนุษยชนทหาร

 สิทธิมนุษยชนทหาร
ชำนาญ จันทร์เรือง



"มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ"
(all human beings are born free and equal in dignity and rights. They are endowed with reason and conscience and should act towards one another in a spirit of brotherhood)
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
Universal Declaration of Human Rights

ในสภาพความเป็นจริงที่เราต้องยอมรับก็คือความเป็นปัจเจกชนของทหารที่มี
สองสถานะ โดยทั้งที่เป็นทหารและเป็นพลเรือนหรือประชาชนทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า "ประชาชนในเครื่องแบบ" เนื่องเพราะการเป็นทหารนั้น ไม่ได้ทำให้สถานะความเป็นพลเรือนหรือประชาชนหมดสิ้นไป ตำแหน่งหน้าที่หรือเครื่องแบบที่สง่างามนั้น เพียงแต่ครอบความเป็นพลเรือนอยู่เพียงภายนอกเท่านั้น จึงมีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงว่า

เหตุใดทหารจึงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินความจำเป็นนอกเหนือจากการยุทธหรือการทหารอย่างมากมาย นอกเหนือจากเพื่อความเป็นเอกภาพในการบังคับบัญชาที่มีลักษณะของการปฏิบัติการ ที่ต้องการความเฉียบขาด รวดเร็ว และเพื่อควบคุม มิให้ทหารใช้อาวุธในทางไม่ถูกต้อง

นอกเหนือจากเหตุผลที่ทหารมี 2 สถานะดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์หรืออำนาจหน้าที่ของทหารในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเป็นอย่างมาก รวมทั้งทหารยังได้รับมอบหมายหน้าที่อื่นๆ นอกจากสู้รบหรือการสงคราม เช่น การพัฒนาประเทศ การปราบปรามยา
เสพย์ติด ฯลฯ ดังนั้น ทหารจึงน่าที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพในระดับที่ใกล้เคียงกับพลเรือนหรือประชาชน
ทั่วไปให้มากที่สุด โดยควรถูกจำกัดเพียงส่วนที่เกี่ยวกับวินัยทหารโดยตรงเท่านั้น

หลักการพื้นฐาน
1. ข้อ 2(1) แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระบุว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพในบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดใด ดังเช่น เชื้อชาติ ผิวเพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ"

2. มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ให้นิยามความหมายของ "สิทธิมนุษยชน" หมายความว่า"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือตามกฎหมายไทยหรือตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม"

3. มาตรา 64 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติรองรับสิทธิและเสรีภาพของทหารและข้าราชการ รวมทั้งองค์กรเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ว่า "บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจรรยาบรรณ"

ซึ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรานี้ เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพ ให้แก่ทหารที่จะสามารถมีสิทธิและเสรีภาพได้ในระดับหนึ่งที่ใกล้เคียงกับประชาชนโดยทั่วไป โดยจะถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็เฉพาะตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว จะต้องกระทำเฉพาะเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน และจะกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพนั้นไม่ได้ ซึ่งหลักการเหล่านี้ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรทหารที่ถือว่าเป็นองค์กรลักษณะพิเศษให้จำต้องเคารพ และให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของทหารด้วย

การถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร
แม้ว่าในความเป็นจริงประเทศไทย เราจะให้สัตยาบันต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว อีกทั้งยังมีกฎหมายหลักรองรับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก็ตาม แต่กฎระเบียบต่างๆที่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหาร และยังคงบังคับใช้อยู่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าบางส่วนจะถูกวินิจฉัยจากศาล รัฐธรรมนูญไปแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เช่น สิทธิทางศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ตุลาการที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดีได้ ตามที่เคยได้ถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เป็นต้น ซี่งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทหารที่ถูกจำกัดที่ว่านี้ก็คือ

1. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทัณฑ์กัก ขัง หรือ
ทัณฑกรรมกับทหาร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 ซึ่งไม่มีในการลงโทษบุคคลผู้เป็นพลเรือนทั่วไป

2. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายในส่วนที่เกี่ยวกับการขังเดี่ยวในห้องมืด และการเฆี่ยนนักโทษทหารตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเรือนจำทหาร พ.ศ.2479 ซึ่งก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข

3. สิทธิทางศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามมิให้มีการอุทธรณ์ ฎีกาในคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498

4. สิทธิทางศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการไม่สามารถเป็นผู้ฟ้องคดีในศาลทหารได้ด้วย
ตนเอง โดยต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารฯ

5. เสรีภาพในการรวมกันในส่วนที่เกี่ยวการห้ามเข้าเป็นสมาชิก ร่วมประชุม ฟังบรรยาย เผยแพร่กิจการของสมาคม หรือสโมสร องค์กรที่ไม่ใช่เป็นของราชการทหาร

6. สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกทหารใหม่ที่ล่อแหลมต่อการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

7. สิทธิในการเดินทางในส่วนที่เกี่ยวกับการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน

8. สิทธิการในฟ้องคดีที่เกี่ยวกับวินัยทหาร ต่อศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (ข้อยกเว้นตามมาตรา 9 วรรคสอง(1))

9. สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ทหาร ตาม
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 (ข้อยกเว้นตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง(7))

นอกจากนั้นยังมีข้อปลีกย่อยอีกมากมายเช่น สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางวิชาการซึ่งรวมทั้งการพูด การพิมพ์ ที่มีการจำกัดในบางกรณี เช่น การมีคำสั่งหรือข้อบังคับกำหนดกฎเกณฑ์ ไม่ให้พูดในเรื่องนอกหน้าที่ราชการของตน หรือการพูดหรือแสดงกริยาในลักษณะเป็นการไม่เคารพนายทหารเหนือตน หรือจะทำให้เกิดการแตกความสามัคคี หรือห้ามพิมพ์และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ที่จะเกิดผลทางลบต่อทหาร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพของทหารดังกล่าวข้างต้นนั้น บางส่วนนอกจากจะเกินความจำเป็นแล้วยังขาดความชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนกฎหมายและระเบียบ เพื่อมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อที่ทหารที่มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่และโอกาสในการใช้อำนาจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา จะได้ไม่ต้องทำการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำอันเป็นการละเมิด "สิทธิมนุษยชนของผู้เป็นทหาร" ของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองอีกต่อไป


หมายเลขบันทึก: 393165เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท