เมื่อพระลังกาเล่นการเมือง


เมื่อพระลังกาเล่นการเมือง

๑. เมื่อพระลังกาเล่นการเมือง
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

พระกับการเมืองในบ้านเรา ไม่ได้เป็นของเข้าคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร

เรามักได้ยินเสมอว่า พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และกลายเป็นประกาศิตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเชื่อตามกันมา เป็นส่วนหนึ่งของ วิธีคิดของสังคมไทย เมื่อคราวประกาศให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังเกิดเป็นปัญหาให้ กกต. ต้องตีความว่า "ชี " เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่

เมื่อพระสงฆ์ในประเทศศรีลังกาตัดสินใจโดดลง เล่นการเมือง ในคราวเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2547 จึงเป็นที่ฮือฮาในหมู่นักการศาสนาในบ้าน เราที่ทราบข่าวคราว ด้วยพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพุทธศาสนาในบ้านเราอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเทศเมืองพุทธไม่กี่ประเทศในโลกที่นับถือพุทธศาสนาในนิกายเดียวกัน จึงกลายเป็นประเด็นข้อสงสัยของที่มาที่ไป ทำไมพระสงฆ์ท่านถึงลงเล่นการเมือง

การอาสาไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่ประเทศศรีลังกาของผู้เขียนครั้งนี้ จึงมีเรื่องแถม
ที่ต้องเข้าวัดเข้าวาไปคุยกับพระสงฆ์เรื่องการเมือง ประกอบกับเมือง Kampaha ซึ่งผู้เขียนได้รับมอบหมาย ให้ไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง อยู่ห่างจากเมืองโคลัมโบ เมืองหลวงไปประมาณ 2 ชั่วโมงรถยนต์ เป็นเมืองที่ พรรคการเมืองของพระสงฆ์ได้รับความนิยมไม่น้อย ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พระสงฆ์ที่ได้รับเลือกให้ไปนั่งในสภามาจากเมืองนี้มากที่สุด

พระสงฆ์ตั้งชื่อพรรคการเมืองของท่านว่า "Jathika Hela Urumaya" หรือ เรียกย่อ ๆว่า 'JHU' โดยได้รับการเห็นพ้องจากมหาเถรสมาคม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ Ven.Omalpe Sobitha Tero และ Ven. Dhamar Lake ผู้นำ 2 ใน 9 ของสภาสูง JHU หรือ Supreme Council of JHU ซึ่งถือ เป็นองค์อำนาจสูงสุดของพรรคในการกำหนดทิศทางและนโยบายต่าง ๆของ JHU

หลังจากก้มกราบงาม ๆ 3 ครั้ง ให้สมกับเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบเงียบของที่ทำการพรรค ลมอ่อน ๆ ที่พัดผ่านหน้าต่างบานโตช่วยลดกระแสลมร้อนอบอ้าวจากภายนอกได้บ้าง ผู้เขียนตั้งคำถามแรกไปตรง ๆว่า ทำไมท่านถึงมาเล่นการเมือง ด้วยกิจของสงฆ์ไม่น่าจะมาข้องแวะกับการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ด้วยว่าพระนั้นพึงต้องอยู่อย่างสมถะ ไม่พึงแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ ต้องละเลิกซึ่งกิเลส ตัณหา ความอยากได้อยากมีทั้งปวง

ผู้เขียนได้รับคำตอบตรง ๆ พร้อมคำเทศนายาวเหยียด นั่งฟังดั่งเหมือนมนต์สะกด กว่าจะกระจ่างแจ้งในหัวใจ จิบน้ำชาใส่นมร้อนอันหอมหวลแสนอร่อยไปเกือบหมดกา

"การเมือง คืออะไร" เราลืมไปแล้วหรือว่า การเมือง ในความหมายที่แท้จริงคือ งานที่ทำ เพื่อรับใช้ประชาชน ทำให้ประชาชนมีความสุข มีสันติ ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งให้ผู้คนสามารถอยู่กันได้ ด้วยความปรองดอง ด้วยความรักสามัคคี การเมืองจึงเป็นภารกิจที่ศักดิ์สิทธ์ เพื่อรับใช้ผู้อื่น ปกป้องชุมชน จากสิ่งเลวร้ายทั้งปวง

อำนาจและผลประโยชน์ ที่เราเข้าใจกันนั้น นั้นเป็นเรื่องของนักการเมืองที่มีกิเลส ตัณหา ไปสร้างไว้ ทำให้การเมืองเต็มไปด้วยความโลภ การแก่งแย่งชิงดี การคอรัปชั่น ต้องการเอาชนะเพื่อ ประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงสังคมโดยส่วนรวม

นักการเมืองมักเห็นแก่ตัว เมื่อได้ อำนาจมาจะทำการใด ๆ ตามอำเภอใจ การข่มเหงรังแก การเข่นฆ่าจึงเกิดขึ้น มีความรุนแรงอยู่ทั่วไป

ปัญหาทมิฬ-สิงหล ที่มีอยู่มานานหลายทศวรรษ ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นปัญหาที่มาจากความขัดแย้งทางศาสนา แต่เป็นเพราะกลุ่มการเมือง นักการเมืองที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ทำให้มีการฆ่าฟัน ประชาชนต้องล้มตายกันเป็นพันเป็นหมื่น ผู้คนต้องหลบหนีลี้ภัย ครอบครัวต้องพรัดพรากจากกัน สังคมอยู่อย่างไม่เป็นสุขเพราะความเห็นแก่ตัว ความลุแก่อำนาจของนักการเมืองไม่กี่คน

สังคมลังกาทุกวันนี้ เต็มไปด้วยการละเมิดศีลธรรม มีบ่อนการพนัน อยู่ทั่วไปทุกหัวระแหง เพราะนักการเมืองออกกฎหมายให้มีการแข่งม้าโดยเสรี จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ในเมืองเล็ก ๆที่เดินทางผ่านไป จะเห็นบ่อนการพนันให้ผู้คนไปแทงม้าอย่างเปิดเผย อีกทั้งเหล้า โสเภณี ที่มีอยู่เกลื่อนไปทั่วเมือง เพราะมีนักการเมืองผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง แล้วศรีลังกาเมืองพุทธจะอยู่ได้อย่างไร

แล้วยังมีลัทธิบริโภคนิยม ที่เข้ามาแพร่หลาย ทำให้ผู้คนนิยมบรรดาอาหารและสิ่งของฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ทำให้ต้องไปพึ่งพาของนอก ทำลายวัฒนธรรมการอยู่กินกับธรรมชาติที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์หลากหลาย

หน้าที่ของสงฆ์ นั้น คือรับใช้สังคม รับใช้ชุมชนที่อยู่อาศัย เพราะสงฆ์จะอยู่ได้ ต้องพึ่ง ชุมชน พระสงฆ์ต้องไปบิณฑบาต ให้ชาวบ้านตักบาตรให้อาหารทุกเช้า จีวรที่นุ่งห่ม วัดที่พักอาศัย ล้วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านที่ช่วยกันหามาบริจาคเข้าวัด

พระพึ่งคน เพื่อให้คนพึ่งพระ ให้ช่วยเทศนาสั่งสอน ให้ลดกิเลส ตัณหา ความโลภโมโทสัน
เพื่อให้สังคมอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข พระกับคน ไม่อาจแยกจากกันฉันใด สงฆ์กับชุมชน ไม่อาจ แยกจากกันฉันนั้น

ในท่ามกลางความเดือดร้อนรุนแรง ที่สังคมลังกากำลังผจญอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ที่ต้องออกมาทำหน้าที่ช่วยนำพาสังคมให้พ้นวิกฤต คำถามยังคงมีตามมาว่า แล้วพระสงฆ์จะสามารถ ทนทานกับแรงยั่วยุของอำนาจกิเลส ตัณหานานาที่มีอยู่ล้อมรอบได้อย่างไร

คำตอบที่ฟันธงชัดเจน คือ เมื่อพรรค JHU ได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา จะไม่เข้าร่วมใน
รัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นมา แต่จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพุทธศาสนา เตือนสติและคัดค้านความไม่ชอบธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะคัดค้านกฎหมายต่าง ๆที่จะเป็นการทำลายศีลธรรม ทำลายวัฒนธรรมที่รุ่มรวยหลากหลาย ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์งดงาม ทำลายวิถีชีวิตอันร่มเย็นเป็นสุขของชาวศรีลังกา นี่เป็นเจตนารมณ์ของพรรคการเมืองสงฆ์พรรคแรกในโลกของพระพุทธศาสนา

"เราไม่ต้องการอำนาจ ขอเป็นเพียงระฆังเตือนสติ เป็นก้างที่จะคอยขวางคอ มิให้อาหาร แห่งกิเลส ตัณหา และความโลภ ได้ไหลผ่านสู่กระเพาะอาหารของสังคมได้โดยง่าย"

 

 

อ้างอิงจาก

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หมายเลขบันทึก: 393162เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 18:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเกิดมาในโลกนี้ ด้วยสิทธิเสรีภาพ วันเวลาได้มาเท่ากัน แม้ปัจจัยสี่ที่มีไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายตายเหมือนกัน แล้วไยมาห้ามใช้สิทธิ์ไม่เหมือนกัน เลิกกลัว เลิกกีดกัน ให้คนทุกคนที่อยู่ในชาตินี้ มีสิ่งที่ควรได้เหมือน ๆ กัน ส่วนเขาจะใช้สิทธิของเขาหรือไม่ นั่นคือเรื่องของเขา อย่ากีดกันในความเป็นพลเมืองด้วยกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท