บันทึกสอง


การล้างมือ

การล้างมือ (Hand washing)

       การล้างมือ หมายถึง การขัดถูให้ทั่วมือ รวมทั้งช่องลายนิ้วมือด้วยสบู่หรือสารเคมีและน้ำ แล้วล้างออกให้สะอาด เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าที่สุดในการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การล้างมืออย่างถูกวิธีร่วมกับการใช้ผ้าเช็ดมือที่สะอาดทุกครั้ง สามารถลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ การล้างมืออย่างถูกต้องเหมาะสมจะสามารถลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ถึงร้อยละ 50 ดังนั้นพยาบาลและบุคลากรทางด้านสุขภาพ จึงควรมีความรู้ความเข้าในเกี่ยวกับการล้างมืออย่างถูกวิธี มีความตระหนัก และเห็นความสำคัญของการล้างมือรวมทั้งมีพฤติกรรมการล้างมืออย่างถูกต้องและเหมาะสมจะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลได้

 

ประเภทของการล้างมือ

การล้างมือแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การล้างมือทั่วไป(Normal hand washing) เป็นการล้างมือเพื่อขจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ เหงื่อ ไขมัน ที่ออกมาตามธรรมชาติ และลดจำนวนเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ชั่วคราวบนมือ การล้างมือไม่ถูกวิธีจะพบว่ามีเชื้อโรคติดอยู่ การล้างมืออย่างถูกวิธีต้องล้างด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว ฟอกมือให้เป็นฟอง และถูไปมาให้ทั่วทั้งมือ 7 ขั้นตอน ตั้งแต่ ฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้วมือ ปลายนิ้วมือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วมือทั้ง 4 นิ้ว และข้อมือ ใช้เวลาในการฟอกมือนานประมาณ 15 วินาที แล้วล้างให้สะอาดด้วยน้ำที่ไหลผ่านตลอด เช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือหรือผ้าเช็ดมือที่แห้งและสะอาด

2. การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล (Alcohol gel) ในกรณีรีบด่วน ไม่สะดวกในการล้างมือด้วยน้ำและมือไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย ให้ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ซึ่งน้ำยามีส่วนประกอบสำคัญคือ Alcohol 70% ผสม Chlorhexidine 0.5% มีลักษณะเป็นเจล ( gel ) สามารถกำจัดเชื้อโรคออกจากมือทั้งแบคทีเรียแกรมบวกแกรมลบ เชื้อรา เชื้อที่ดื้อต่อยาหลายชนิด และไวรัสด้วย การล้างมือด้วยน้ำยาโดยการบีบน้ำยาประมาณ 10 มิลลิลิตร ถูให้ทั่วมือทุกซอกทุกมุมจนน้ำยาแห้วใช้เวลาประมาณ 15-25 วินาที แต่หากต้องการให้เกิดประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสต้องใช้เวลาในการฟอกนาน 30 วินาที

3. การล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (Hygienic hand washing) เป็นการล้างมือด้วยสบู่เหลวผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Chlorhexidine 4% ฟอกมือ และถูไปมาให้ทั่วมือ จนครบทั้ง 7 ขั้นตอน ใช้เวลาในการฟอกมือนาน 20-30 วินาที ล้างน้ำสะอาด เช็ดมือให้แห้งด้วยกระดาษเช็ดมือหรือผ้าที่แห้งและสะอาด เป็นการล้างมือก่อนปฏิบัติการ พยาบาลที่ใช้เทคนิคปลอดเชื้อ และภายหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค

4. การล้างมือก่อนทำหัตถการ (Surgical hand washing) เป็นการล้างมือก่อนทำหัตการในห้องผ่าตัดหรือห้องคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยการฟอกมือด้วยสบู่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Chlorhexidine 4% ตั้งแต่มือ แขน ถึงข้อศอกให้ทั่วเป็นเวลา 2-5 นาที โดยใช้แปรงที่ปราศจากเชื้อ

5. แปรงมือและเล็บในการปฏิบัติงานครั้งแรกของวัน แล้วล้างน้ำให้สะอาดและเช็ดด้วยผ้าแห้งปราศจากเชื้อ หรือทำความสะอาดด้วยมือ ด้วยแอลกอฮอล์เจล ประมาณ 10 มิลลิลิตร ถูมือให้ทั่วแขนถึงข้อศอกจนน้ำยาแห้งใช้เวลาในการฟอกนาน 30 วินาที

 

หลักสำคัญในการล้างมือ

1. เล็บมือควรตัดให้สั้น ถ้าเล็บยาวจะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกจากมือได้ยาก

2. ก่อนล้างมือ ควรถอดแหวน นาฬิกาออก เพื่อให้การล้างมือกระทำได้ง่ายและสะดวก ไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค

3. อ่างที่ใช้ล้างมือไม่ควรอยู่สูงหรือต่ำเกินไป และควรมีความลึกพอเพื่อกันการกระเด็นของน้ำ

4. ถ้าใช้สบู่ก้อน ควรล้างผ่านน้ำก่อนใช้และก่อนเก็บ เพื่อป้องกันเชื้อโรคติดค้างสบู่

5. กรณีมือสกปรกมาก ควรล้างมือ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกล้างเอาสิ่งสกปรกออกจากมือ และล้างอีกครั้งโดยฟอกสบู่ให้ครบทั้ง 7 ขั้นตอน

6. เมื่อล้างมือเสร็จควรตรวจดูว่ามีบาดแผลบริเวณมือหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไข โดยใช้ผ้าปิดแผลชนิดกันน้ำได้ (Waterproof dressing)

7. ภายหลังล้างมือควรเช็ดมือให้แห้ง จะช่วยขจัดเชื้อโรคที่ติดค้างอยู่บนมือออก ทั้งนี้มือที่เปียกจะสามารถนำพาเชื้อโรค ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ดีกว่ามือที่แห้ง

8. กรณีที่ก๊อกน้ำเป็นชนิดมือหมุนควรใช้กระดาษเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดมือจับก๊อกน้ำในการปิดน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของมือภายหลังล้างมือแล้ว

 

การล้างมือควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

1. ก่อนปฏิบัติหน้าที่

2. ก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยแต่ละราย

3. ภายหลังสัมผัสเลือด สิ่งขับหลั่งที่ออกจากตัวผู้ป่วย และสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ที่ใส่ถุงมือหรือไม่ก็ตาม

4. ล้างมือทันทีภายหลังถอดถุงมือ

5. อาจจำเป็นต้องล้างมือระหว่างทำกิจกรรมการพยาบาล เมื่อมีการปนเปื้อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อสู่บริเวณอื่น ๆ ของผู้ป่วย

6. ภายหลังออกจากห้องสุขา

                7. ก่อนรับประทานอาหาร

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ประทาย4
หมายเลขบันทึก: 392917เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2010 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท