ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ตอน องค์ประกันหงสา


ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน องค์ประกันหงสา

พุทธศักราช 2106 พระเจ้าบุเรงนองกรีฑาทัพหงสาวดีตีหัวเมืองเหนือของสยามประเทศไล่มาตั้งแต่สุโขทัย, สวรรคโลก, และที่พระพิษณุโลกสองแคว ซึ่งที่พระพิษณุโลกสองแควนั้น พระมหาธรรมราชา (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) อุปราชผู้รั้งเมืองอยู่นั้นได้ขอความช่วยเหลือจากพระนครศรีอยุธยา แต่หามีความช่วยเหลือจากอยุธยาไม่ พระมหาธรรมราชาจึงแปรพักตร์ไปเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองเพื่อร่วมกันโจมตีอยุธยา โดยที่พระเจ้าบุเรงนองได้ขอเอาตัว พระนเรศ หรือ องค์ดำ (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) พระโอรสองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ (ปวีณา ชารีฟสกุล) ไปเป็นตัวประกันในหงสาวดีโดยที่ให้สัตย์สาบานว่าจะเลี้ยงดูอย่างดีดุจพระโอรส

เมื่อทัพพิษณุโลกสองแควและหงสาวดีมาถึงอยุธยา ก็ต้องพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากอยุธยา ด้วยเพราะมี พระราเมศวร (สถาพร นาควิลัย) พระโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เป็นขุนศึกกล้าหาญชาญณรงค์สงครามทำการต่อต้าน แต่ทางสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นว่าควรจะเจรจากับทางหงสาวดี เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน พระเจ้าบุเรงนองได้ขอช้างเผือก 2 ช้างละขอตัวพระราเมศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีด้วยเช่นเดียวกับพระนเรศ โดยอ้างว่ายังมี พระมหินทราธิราช (สันติสุข พรหมศิริ) พระอนุชายังสามารถสืบราชสมบัติต่อไปได้

ที่นครหงสาวดี องค์ดำขณะเที่ยวชมตลาดโยเดียซึ่งเป็นชุมนุมชาวสยามที่ถูกต้อนมาจากอยุธยาที่นอกกำแพงเมือง ได้พบกับ เด็กชายผมยาวเร่ร่อน (จิรายุ ละอองมณี) ที่ไม่มีแม้แต่ชื่อ ขณะกำลังขโมยของเพื่อหาอะไรกิน โดยมี ขุนเดช (ดี๋ ดอกมะดัน) เศรษฐีชาวสยามแปรพักตร์รังแก องค์ดำได้ช่วยเหลือเด็กชายไร้ชื่อคนนี้ไว้ และเด็กชายคนนี้ก็ได้สาบานว่าจะติดตามองค์ดำไปตลอด ขณะที่องค์ดำจะกลับเข้าพระราชวังได้พบกับขบวนของมังสามเกียด (โชติ บัวสุวรรณ) พระโอรสของมหาอุปราชนันทบุเรง (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ผ่านมา มังสามเกียดและลักไวทำมู ทหารคนสนิท พยายามให้องค์ดำก้มคาราวะตนในฐานะเชลย แต่องค์ดำไม่ยอม ขณะเดียวกันกับที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จผ่านมาเช่นกัน และให้มังสามเกียดเป็นฝ่ายก้มกราบองค์ดำแทน ด้วยเห็นว่ามีศักดิ์สูงกว่า และให้องค์ดำมาฝึกวิชาที่วัดหน้าประตูเมืองกับ พระมหาเถรคันฉ่อง (สรพงษ์ ชาตรี) ในวันรุ่งขึ้น เมื่อทั้งคู่มาถึงก็ได้พบกับ มณีจันทร์ (สุชาดา เช็คลีย์) เด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในวัด และได้พบกับพระมหาเถรคันฉ่องที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตราวุธ พระมหาเถรคันฉ่องได้ให้องค์ดำบวชเป็นเณรและตั้งชื่อให้เด็กไม่มีชื่อนั้นว่า บุญทิ้ง ซึ่งพระมหาเถรคันฉ่องได้สั่งสอนสรรพวิชาและให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองแก่องค์ดำตลอดมา

ต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างพิษณุโลกสองแควและอยุธยาเริ่มคลอนแคลนกันมากขึ้น เมื่อทางฝ่าย สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช (รอน บรรจงสร้าง) กษัตริย์แห่งล้านช้างได้ส่งพระราชสาสน์มาขอตัว พระเทพกษัตรี (ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นพระมเหสีด้วยว่าทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระสุริโยไท แต่ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาได้ลักลอบส่งสาสน์ไปบอกความยังพระเจ้าบุเรงนอง ให้มาชิงตัวไปในระหว่างทาง และเมื่อพระเทพกษัตรีมาอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าบุเรงนอง พระนางก็ได้ปลิดพระชนม์ชีพตนเอง ยังความให้ทางฝ่ายอยุธยาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ไม่พอพระทัยในท่าทีของพระมหาธรรมราชาหนักขึ้น

ทางฝ่ายล้านช้าง เมื่อสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้สูญเสียพระเทพกษัตรีไปแล้วนั้น ได้ยกทัพมาโจมตีพิษณุโลกสองแคว ทำให้ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชเกิดความระแวงในตัวพระมหาธรรมราชาหนักยิ่งขึ้น เพราะเกรงว่านี่จะเป็นกลศึก การสงครามที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชตีพิษณุโลกสองแควนั้นไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองได้ส่ง พระยาพุกาม และ พระยาเสือหาญ สองทหารมอญเข้ามาช่วยไล่ตีด้วยเพราะความเป็นสัมพันธไมตรีกันระหว่างสองเมือง แต่พระยามอญทั้งคู่ทำการไม่สำเร็จ พระเจ้าบุเรงนองจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิต แต่พระมหาธรรมราชาที่เดินทางไปยังหงสาวดีด้วยได้ทูลขอชีวิตไว้

ขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปยังหงสาวดีนั้น ทางฝ่ายพระมหินทราธิราชได้เสด็จมายังพิษณุโลกสองแควอัญเชิญตัวพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์กลับไปยังอยุธยา ทางฝ่ายพระมหาธรรมราชาและพระเจ้าบุเรงนองที่ยังประทับอยู่ที่หงสาวดีทราบความดังนั้นก็พิโรธ ยกทัพของทั้งสองเมืองไปโจมตีอยุธยาพร้อมกัน แต่การสงครามครั้งนี้กลับยืดเยื้อนานกว่าที่คาดคิด จนเวลาล่วงไปเกือบปี ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เสด็จสวรรคต พระมหินทราธิราช ได้ขึ้นเสวยราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้า ทางฝ่ายพระเจ้าบุเรงนองไม่อาจให้การสงครามยืดเยื้อมากไปกว่านี้ ออกญาจักรี (ไพโรจน์ ใจสิงห์) ขุนนางฝ่ายพิษณุโลกสองแควและอยุธยาเก่าได้ทำอุบายแสร้งเป็นว่าสามารถหนีมาจากทัพหงสาวดีได้และเข้าไปในราชสำนักอยุธยาเสนอตัวเป็นผู้บัญชาการทัพเอง โดยที่สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็มิได้สงสัย ท้ายที่สุดออกญาจักรีก็เปิดประตูเมืองให้ฝ่ายหงสาวดีเข้ามาตีเมืองได้

เมื่อได้ชัยชนะแล้ว พระเจ้าบุเรงนองได้ให้พระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์แทนเป็น สมเด็จพระมหาธรรมราชา และได้ขอเอาตัว พระสุพรรณกัลยา (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระธิดาองค์โตในพระมหาธรรมราชาและพระนางวิสุทธิ์กษัตริย์กลับไปยังหงสาวดีพร้อมกับสมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าด้วย ขณะเดินทางพระเจ้าบุเรงนองได้สั่งประหารชีวิตออกญาจักรีด้วยว่าเป็นคนที่ยอมหักหลังได้แม้กระทั่งเจ้านายเดิมของตน หากเลี้ยงไว้ก็จะไม่เป็นผลดี ต่อมาไม่นาน เมื่อมาถึงหงสาวดี สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าก็ประชวรและเสด็จถึงแก่สวรรคต

ขณะที่ฝ่าย องค์ดำ เมื่ออยู่ที่หงสาวดีได้รับการดูถูกตลอดเวลาจากฝ่ายมังสามเกียดและพรรคพวก โดยเรียกชื่อว่า ตองเจ หนักขึ้นถึงขั้นปองร้ายหมายเอาชีวิต องค์ดำจึงคิดหนีกลับพิษณุโลกสองแคว โดยขอให้สมเด็จพระสุพรรณกัลยา ซึ่งเป็นพระพี่นางเสด็จกลับไปด้วย แต่สมเด็จพระสุพรรณกัลยาไม่กลับ ด้วยทรงดำริว่าหากพระองค์ยังอยู่ที่หงสาวดีนี้ก็จะช่วยกราบทูลขอชีวิตองค์ดำจากพระเจ้าบุเรงนองไว้ได้ ทำให้องค์ดำ บุญทิ้ง และชาวสยามอีกจำนวน 300 คนหนีกลับไปได้สำเร็จ ในขณะที่มณีจันทร์ได้เข้าเป็นข้ารับใช้ในสมเด็จพระสุพรรณกัลยา

หมายเลขบันทึก: 392634เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2010 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ชอบเรียนประวัติศาสตร์หรอจ๊ะ

แต่ก็ดีสนุกนะ ตั้งใจเรียนล่ะ

 

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เราเป็นคนไทยเราต้องรู้

เข้ามาอ่านเรื่องนี้ทำแแบบฝึกอ.แม่ยังอะ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจดี

สนุกดีเนอ

อยากไปดูอีก

รู้เปล่าเราทำวิชาอ.แม่ได้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท