ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

สมาคม อสม.แห่งประเทศไทยรุก อสม. ที่กลายให้ใส่ใจ CHIA


หลังจากที่ประเทศไทยและพื้นที่ชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา ทำให้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นจริง และสมาคม อสม.ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ และได้ลงมายังพื้นที่ตำบลกลายเพื่อชวน อสม.ขบคิดขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้

สมาคม อสม.แห่งประเทศไทยรุก อสม. ที่กลายให้ใส่ใจ CHIA

เรื่อง / ภาพ : ใบใผ่ลู่ลม

ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๕ พฤษภาคม ๕๓

 

หลังจากที่ประเทศไทยและพื้นที่ชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา ทำให้หลายหน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นนี้ให้เป็นจริง และสมาคม อสม.ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ และได้ลงมายังพื้นที่ตำบลกลายเพื่อชวน อสม.ขบคิดขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้

หลังจากที่นัดแนะอสม.ทุกหมู่บ้านมารวมกันที่สถานีอนามัยดอนใครแล้ว ได้เรียนรู้ว่าชาวบ้านที่นี่พร้อมเพรียงกันมาก ทั้งที่อาจจะยังไม่เข้าใจว่า CHIA คืออะไร แต่เมื่อได้ยินว่าสมาคม อสม.จะมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมสายตาทุกคนก็ให้ความสนใจแม้ว่าศัพย์หรือกฏหมายบางอย่างที่พูดจะไม่ค่อยเข้าใจก็ตาม

หลังจากบรรยายเชิงหลักการเสร็จแล้ว พี่ขาวยกมือถามว่า “มีวิธีการไหนบ้างที่เราจะหยุดอุตสาหกรรมได้” แม้ว่าคำตอบที่ได้รับจะไม่มีคำตอบตรงๆ แต่คำถามก็สะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของคนกลายที่ไม่ต้องการอุตสาหกรรม

หลังจากคำถามแรก...ประโยคต่อมาก็เริ่มมีการวิพากย์วิจารณ์กันมากขึ้นเกี่ยวกับ นิคมอุตสาหกรรม เชฟรอน ต่างคนต่างแสดงความเห็นเบาๆ เมื่อมีคนยกมือถามต่อว่า “ถ้าเกิดอุตสาหกรรมขึ้นเราจะป้องกันไม่ให้เกิดอย่างไร” แล้วก็มีเสียงบ่นเบาๆพร้อมๆกันว่า “จะให้ทำปรือก็บอกมาเราคิดไม่ค่อยออก...”

เยาวชนคนหนึ่งบอกว่า “เราไม่เห็นรู้เลย ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วหลังจากนี้จะทำอย่างไรดี” เขารายงานตัวว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงเทพ เพิ่งกลับมาบ้านยังไม่รู้ข่าวมาก แต่สีหน้าแสดงออกถึงความกังวลอย่างชัดเจน และเอาธุระกับบ้านตัวเอง สังเกตได้จากคำถามต่อมาที่ว่า “แล้วถ้าพานักศึกษามาช่วยจะทำอย่างไรได้บ้าง อยากชวนเพื่อนเข้ามาทำงานในบ้านเรา” คำถามนี้เกิดจากความรู้สึกอย่างแท้จริงโดยที่ลืมคิดไปว่าตัวเองเรียนอยู่ที่กรุงเทพ

คำถามในวงประชุมประดังมาอีกหลายคำถาม...จนมีคนบอกว่าเรามาคิดกันดีไหมว่าจะมีวิธีการทำอย่างไรจึงจะหยุดนิคมอุตสาหกรรมได้...บรรยากาศหลังจากนี้จึงเต็มไปด้วยการแสดงออกถึงความต้องการที่จะทำให้พื้นที่ตำบลกลายสงบสุขท่ามกลางธรรมชาติ

ประการแรก....คนกลายในที่ประชุมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า คนกลายส่วนใหญ่ไม่เอาอุตสาหกรรมเพียงแต่มีอำนาจบางอย่างมาทำให้คนกลายยังไม่กล้าแสดงออก

ประการที่สอง...คนกลายยังคงรักแผ่นดินเกิดไม่อยากให้ใครมาทำลายธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนกลายซึ่งสั่งสมมานานนับร้อยปี  ชีวิตแบบนี้ยังสามารถสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถส่งต่อสิ่งดีๆเหล่านี้ให้ไปถึงลูกหลานได้

ประการที่สาม... ชาวกลายรู้ว่าการเกิดอุตสาหกรรมไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนกลายส่วนใหญ่ได้ แต่จะนำมาสู่การทำลายเศรษฐกิจระยะยาว เช่น ชาวประมง การทำกุ้งเคย หรือแม้แต่คนทำสวนก็ได้รับผลกระทบ ประสบการณ์นี้ได้รับการถ่ายทอดจากคนที่ไปดูงานจากอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ประการที่สี่...คนกลายในที่ประชุมเห็นว่าเราไม่ต้องการเชฟรอนและนิคมอุตสาหกรรมจึงต้องรวมพลังกันต่อสู้แต่อยากให้มีผู้นำการต่อสู้นำทุกคนไปในแนวทางเดียวกัน

ประการที่ห้า...หลังจากนี้ อสม.จะเริ่มกระจายความรู้ที่ได้รับให้กับครอบครัวที่ตัวเองรับผิดชอบเพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนในตำบลกลายอย่างทั่วถึงมากขึ้น

“หลังจากนี้ภารกิจแรกคือ อสม.จะต้องรับผิดชอบครอบครัวในความดูแลของตัวเองคนละ10ครัวเพื่อกระจายความรู้ที่ถูกต้องหลังจากนั้นเราค่อยร่วมกันขจัดมลพิษที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลกลาย” แกนนำ อสม.บอกกับทุกคนในที่ประชุม

เป็นการบอกกล่าวข้อมูลซึ่งบริษัทไม่เคยบอกให้ชาวบ้านรู้ข้อเท็จจริงมาก่อนเลย เพราะฉะนั้น อสม.จึงต้องทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเอง เพราะสุขภาพหรือผลกระทบสุขภาพไม่ใช่มีแต่เรื่องโรคอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะประสบการณ์จากจังหวัดอื่นๆบอกให้ทราบว่าอันตรายจากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพอย่างร้ายแรง

อสม.ในวันนั้นสรุปตรงกันว่า...บ้านของเราจะต้องรักษาด้วยตัวของเราเองไม่มีใครจะมารักบ้านเท่ากับเราที่อยู่มานานหลายชั่วอายุคน... ภารกิจของอสม.จึงทำหน้าที่รักษาบ้านของตัวเองด้วยการบอกความจริงกับสมาชิก๑๐ ครอบครัวที่ตัวเองรับผิดชอบ

เป็นการแสดงหน้าที่เพื่อรักษาแผ่นดินเกิดและย้ำตรงกันว่าจะไม่ยอมสูญเสียแผ่นดิน จะสู้ทุกวิถีทาง

หมายเลขบันทึก: 392180เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมายกมือเห็นด้วยๆคนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท