นปส.55 (43): เยือนถิ่นไทยงาม


แนวคิด“มิจฉาทิฐิ4 (The Four Fallacies)” หรือ แนวคิดที่ผิดพลาดในการทำงานกับชุมชน ของ Steven Polgar นักระบาดวิทยาสังคม 4 ประการคือ มิจฉาทิฐิที่ว่าด้วยภาชนะว่าง มิจฉาทิฐิที่มองปัญหาชุมชนแบบแยกส่วน มิจฉาทิฐิที่มองชุมชนเสมือนว่ามีองค์การเดียวและมิจฉาทิฐิที่มองชุมชนทุกชุมชนเหมือนกันหมด

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 13 ของการฝึกอบรม เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Action learning) ในช่วงวันที่ 11-16 กรกฎาคม 2553 ทางกลุ่มซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม 5 คน ได้รับมอบหมายให้ลงศึกษาในพื้นที่บ้านนาจาน หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านโพน อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร หลังจากที่ได้ลงไปกินไปนอนในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ทำให้ได้รับบทเรียนและประสบการณ์ด้านต่างๆที่มีคุณค่าอย่างมาก ผมนั่งรถแท็กซี่จากบ้านพี่ต้อยมาที่สนามบินดอนเมืองเพื่อขึ้นเครื่องบินของนกแอร์ไปสนามบินสกลนคร กับเพื่อนๆในกลุ่มอีก 26 คน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย (5 หมู่บ้าน)สมาชิกกลุ่มผมประกอบด้วยพี่ภพ พี่ปุ๊ พี่ตู่ พี่เหนอและผม

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม 2553 คณะของเรานำโดยอาจารย์พินัย อนันตพงศ์ อาจารย์ปรีชา วุฒิการณ์ และคุณวีระ ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองสู่จังหวัดสกลนครตอนเก้าโมงครึ่งถึง 11 โมงเช้า ลงจากเครื่องบินก็พบพี่สงและคณะจากสำนักงานจังหวัดสกลนครมาคอยต้อนรับพร้อมมอบพระเครื่องให้เป็นที่ระลึก พวกเราขึ้นรถตู้เดินทางไปกราบไหว้พระธาตุเชิงชุมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสกลนคร ตอนเที่ยงรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านสบันงา อาหารก็อร่อยดี มีแกงหน่อหวายอ่อนที่ผมทานไม่ได้เพราะค่อนข้างขมมาก

เสร็จแล้วบ่ายโมงไปศึกษาธรรมตามรอยหลวงปู่มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส และบ่ายสองโมงเดินทางต่อไปฟังธรรมเทศนาที่วัดป่าหนองไผ่ หลวงพ่อท่านเทศน์ดีมากแต่ผมก็นั่งหลับๆตื่นๆเป็นพักๆ ราวบ่ายสี่โมงเย็นจึงได้เข้าที่พักโรงแรมสกลแกรนด์ พักผ่อนตามอัธยาศัย ตอนเย็นทานอาหารเย็นที่โรงแรมพร้อมมีงานเลี้ยงเล็กๆอาหารอร่อยๆกับคาราโอเกะร้องเพลงกันแบบสบายๆ จนราวสี่ทุ่มก็แยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย ผมพักห้องเดียวกับพี่ตู่

พี่ตู่หรือวราชัย พิทักษ์ธรรม พัฒนาการจังหวัดสตูล เป็นคนดูเหมือนเงียบๆ ไม่ค่อยคุยแต่ถ้าคุยก็จะคุยเก่ง มีเนื้อหาสาระ พี่ตู่เป็นคนใจดี ง่ายๆ สบายๆ ไม่เรื่องมาก เป็นคนมีน้ำใจและให้เกียรติคนอื่น

พี่ปุ๊หรือชลัยสิน โพธิเจริญ ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 5 เชียงใหม่ เป็นคนนุ่มๆ เรียบๆ เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตร พูดน้อย เป็นคนง่ายๆสบายๆไม่เรื่องมากเช่นกัน

พี่สงหรือประสงค์ คงเคารพธรรม หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสกลนคร เป็นคนช่างคิด มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง มีความมั่นใจในตนเองสูง แต่ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่เรื่องมาก มีน้ำใจ พี่สงมักจะหอบหิ้วเนื้อโคขุนโพนยางคำมาฝากให้เพื่อนรุ่นได้ทานกันหลายครั้ง

คำว่า "สกลนคร" มาจากคำภาษาสันสกฤต สกล (สะ-กะ-ละ) หมายความว่า โดยรวม ครอบคลุม หรือทั้งหมด และ คำว่า "นคร" (นะ-คะ-ระ) จากภาษาสันสกฤต หมายถึงแหล่งที่อยู่ หรือเมือง ดังนั้นชื่อที่แท้จริงของเมืองหมายความว่า "นครแห่งนครทั้งมวล" (City of cities)

สกลนคร เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องจวบจนปัจจุบัน ทั้งนี้จังหวัดสกลนครยังเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญและหลากหลายในด้านต่างๆโดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และเป็นจังหวัดศูนย์กลางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศูนย์กลางทางการศึกษา อันเป็นสถานที่ตั้งของสถานศึกษาขนาดใหญ่ในกลุ่มจังหวัดสนุก (จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือ ประตูตะวันออก 4 จังหวัด)

สกลนคร เป็นแอ่งธรรมะ มีปูชนียสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น พระธาตุเชิงชุม พระธาตุดูม พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุศรีมงคล พระธาตุภูเพ็ก และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ อาทิ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม และหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น   

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม 2553 ทานอาหารเช้าที่โรงแรมแล้วไปรับฟังบรรยายสรุปแนวคิดและแนวทางการพัฒนาจังหวัดโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครและปลัดจังหวัดสกลนครตอนเก้าโมงเช้า สกลนครเดิมชื่อเมืองหนองหารหลวง มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์บริเวณแนวทิวเขาภูพาน อำเภอวาริชภูมิ ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนโบราณในพื้นที่จังหวัดสกลนครอยู่ร่วมสมัยเดียวกับอารยธรรมบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานีพบแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์จำนวน 83 แห่ง ชุมชนโบราณของแอ่งสกลนครนี้มีอายุประมาณ 600 ปีก่อนพุทธกาลจนถึงพุทธศตวรรษที่ 8 (ระหว่าง 1,800-3,000 ปีมาแล้ว

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็น เมืองสกลทวาปีต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสกลนครสกลนคร มีพื้นที่ 9,605.764 ตร.กม. เป็นอันดับที่ 19 มีประชากร 1,118,449 คน (พ.ศ. 2552) เป็นอันดับที่ 17 มีความหนาแน่น116.44 คน/ตร.กม.เป็นอันดับที่ 43

การปกครอง แบ่งออกเป็น 18 อำเภอ 125 ตำบล 1323 หมู่บ้าน ประกอบด้วยอำเภอเมืองสกลนคร อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอพังโคน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอวานรนิวาส อำเภอคำตากล้า อำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวย อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอส่องดาว อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอโพนนาแก้วและอำเภอภูพาน

ตราประจำจังหวัด: รูปพระธาตุเชิงชุม เบื้องหลังเป็นหนองหาร หมายถึง  พระเจดีย์ธาตุเชิงชุม  ซึ่งเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณคำขวัญจังหวัดสกลนคร คือ “พระธาตุเชิงชุม คู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาร แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม”

สกลนครมีชนเผ่าพื้นเมือง   มี 6 เผ่า ประกอบด้วย เผ่าไทลาว อยู่ที่อำเภอเจริญศิลป์ / สว่างแดนดิน / ส่องดาว / คำตากล้า เผ่าไทกะเลิง อยู่ที่อำเภอกุดบาก / ภูพาน / นิคมน้ำอูน เผ่าไทย้อ อยู่ที่อำเภอเมือง / เต่างอย / โพนนาแก้ว / โคกศรีสุพรรณ เผ่าไทโส้ อยู่ที่อำเภอกุสุมาลย์ เผ่าภูไท อยู่ที่อำเภอวาริชภูมิ / พรรณานิคม / พังโคน / บ้านม่วงและเผ่าไทโย้ย   อยู่ที่อำเภออากาศอำนวย / วานรนิวาส

ตอนเที่ยงไปรับประทานอาหารอีสานมื้อกลางวัน มีไก่ย่างข้าวเหนียวส้มตำครบชุด อร่อยมาก แล้วก็แยกย้ายกันโดยสามกลุ่มแรกไปที่อำเภอกุดชุม ส่วนกลุ่มผมและกลุ่มพี่พีเดินทางเข้าพื้นที่อำเภอโพนนาแก้ว ถึงอำเภอโพนนาแก้วบ่ายสองครึ่งรับฟังบรรยายสรุปและพบนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการอำเภอและผู้นำชุมชนและจัดกำหนดการเรียนรู้ในพื้นที่ร่วมกัน จนถึงบ่ายสี่โมงเย็นกลุ่มแรกเข้าพื้นที่บ้านจอมแจ้ง ตำบลนาแก้ว ส่วนกลุ่มผมเข้าพื้นที่หมู่บ้านนาจาน หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านโพน ส่วนผมไม่ได้ไปด้วยเพราะต้องกลับกรุงเทพฯไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นข้าราชการดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุขในวันพรุ่งนี้โดยพี่สงจัดรถตู้ไปส่งผมขึ้นเครื่องที่อุดรธานีและพี่ปี๊ด ติดรถเข้าเมืองด้วยเพราะจะไปขับรถจากศาลาลกลางมาไว้ในหมู่บ้าน

พี่ปี๊ดอยู่กลุ่มเดียวกับพี่พี พี่เหม่ง พี่โส่ย พี่แดง (มณฑา) แต่พอถึงตัวเมืองสกลนครทางผู้จัดประชุมได้โทรมาแจ้งว่าขอเลื่อนไปก่อนเพราะปลัดกระทรวงสาธารณสุขติดภารกิจ ผมจึงต้องกลับเข้าหมู่บ้านโดยพี่ปี๊ดอาสาไปส่งให้ ตอนแรกผมนัดกับพี่ขุนซึ่งจะเดินทางมาลงที่อุดรธานีเย็นวันนี้ จึงต้องโทรไปแจ้งและพี่ขุนก็จะให้รถของสถานพินิจฯอุดรมาส่ง

พี่ขุนหรือภูมิ์พงษ์ ขุนฉนมฉ่ำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบงานยุติธรรมเด็กและเยาวชน เป็นรุ่นพี่ ม.ช. แต่ไม่ทันกัน พี่ขุนกับผมอยู่ลูกเสือหมู่เดียวกัน จึงสนิทกันได้เร็ว พี่ขุนเป็นคนคุยสนุก เป็นนักบรรยายที่น่าสนใจ จริงจังกับการทำงาน เป็นตัวของตัวเองสูง แต่ก็ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่น เป็นคนยิ้มง่าย ไม่ถือตัว เข้ากับเพื่อนๆได้ดี

พี่ปี๊ดกับผมขับรถเข้าไปที่หมู่บ้านจอมแจ้งก่อน แต่ขับรถเลยหลงทางไปพักใหญ่กว่าจะเข้าหมู่บ้านจอมแจ้งถูกและฝนก็ตกลงมาเป็นระยะๆ ต้องจอดรถถามทางชาวบ้าน และได้ให้สมาชิก อบต.ขับรถมาส่งผมแทนเพราะกลัวจะหลงทางกันอีก ผมเข้าไปถึงบ้านนาจานเกือบหกโมงครึ่ง ซึ่งทางกลุ่มได้พบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ชวน พรมประศรี ผู้นำชุมชนและชาวบ้านนาจานเสร็จแล้วและแยกย้ายกันไปพักที่บ้านประภาพร 3 คน (พี่ภพ พี่ปุ๊ รวมผมด้วย) และบ้านป้าสวย 2 คน (พี่ตู่กับพี่เหนอ) และพี่ๆกำลังพักผ่อนและสนทนากับชาวบ้านโดยอิสระ ส่วนกลุ่มชาวบ้านกำลังจัดเตรียมอาหารเย็นให้ ประภาพรเป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านบ้านนาจานและเป็นน้องของกำนันนำสมัย กำนันตำบลนาโพน

พี่พีหรือ ดร. พีรพงศ์ ศิริเกษม ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์บริหารจัดการ จบปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา เป็นคนร่าเริงแจ่มใส เป็นกันเอง คุยเก่ง ยิ้มง่าย เป็นมิตร เป็นคนพูดมีหลักการ มีความเป็นนักวิชาการ

พี่ปี๊ดหรือชูเกียรติ บุญวัฒนา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุดรธานี พี่ปี๊ดเข้ากับคนอื่นๆได้ง่าย มีน้ำใจ สนุกสนานเฮฮา ร้องเพลงเก่ง ร้องได้เกือบทุกแนว มีมนุษยสัมพันธ์ดี ให้เกียรติผู้อื่น ไม่เรื่องมาก

หนึ่งทุ่มจึงได้รับประทานอาหารและพูดคุยพบปะสังสรรค์กับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในหมู่บ้านอย่างไม่เป็นทางการตามอัธยาศัยที่บ้านประภาพร (ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จนประมาณสี่ทุ่มจึงแยกย้ายกันพักผ่อน พี่เหนอกับพี่ตู่ไปนอนบ้านป้าสวย พี่เหนอนอนในห้อง ส่วนพี่ตู่กลางมุ้งนอนข้างนอก ส่วนผมนอนมุ้งเดียวกับพี่ภพและพี่ปุ๊นอนอีกมุ้งหนึ่ง ก่อนนอนผมโทรศัพท์กลับไปหาภรรยาและลูกด้วยความคิดถึงแต่สัญญาณมือถือในบ้านไม่ดีต้องออกไปโทรนอกบ้าน

วิสัยทัศน์จังหวัดสกลนคร “ก้าวไปสู่ความเป็นเมืองน่าอยู่ควบคู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” และวิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัดที่ 6.2(สนุก) ประกอบด้วย 4 จังหวัด สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ดูรูปที่ 3.6) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมของกลุ่มจังหวัด ดังนี้ “สะพาน การค้า การท่องเที่ยวสู่อินโดจีน หรือ Trade and Tour Bridge to Indochina and beyond

ประเด็นยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด กลุ่มจังหวัด “สนุก” ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดเจ้าภาพหลัก ประกอบด้วย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (สกลนคร) การพัฒนาการท่องเที่ยว (นครพนม) การพัฒนาการค้าชายแดน (มุกดาหาร) และการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม (กาฬสินธุ์)

เรากำหนดกรอบแนวคิดหรือหลักคิดในการศึกษาชุมชนบ้านนาจาน โดยพิจารณาระบบการจัดการชุมชน โดยพิจารณาภูมิสังคมของชุมชน (ประชากร วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ อาชีพ ความสัมพันธ์ ระบบสุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร) ซึ่งเป็นตัวกลางที่ถูกกระทบจากบทบาทของรัฐในการพัฒนาชนบท นโยบายรัฐด้านการเกษตรและพลังของเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี

กำหนดหลักการหรือหลักวิชาในการศึกษาชุมชนตามที่อาจารย์พินัย อนันตพงศ์ อาจารย์ที่ปรึกษาได้ให้ข้อแนะนำไว้ตอนชี้แจงเมื่อสัปดาห์ก่อนตามแนวคิด“มิจฉาทิฐิ4 (The Four Fallacies)” หรือ แนวคิดที่ผิดพลาดในการทำงานกับชุมชน ของ Steven Polgar นักระบาดวิทยาสังคม 4 ประการคือ

1)   มิจฉาทิฐิที่ว่าด้วยภาชนะว่าง (The Fallacy of Empty Vessel) การมองชุมชนเปรียบเหมือนภาชนะที่ว่างเปล่า ที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย ชุมชนต้องเป็นฝ่ายรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการหรือองค์กรภายนอก โดยไม่ได้ดูว่าชุมชนมีศักยภาพหรือทุนทางสังคมอะไรอยู่บ้าง

2)      มิจฉาทิฐิที่มองปัญหาชุมชนแบบแยกส่วน (The Fallacy of Separate Capsule) เป็นการมองชุมชนแบบขาดการเชื่อมโยง เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องแยกเป็นส่วนๆโดยไม่มองปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลเชื่อมโยงถึงกัน

3)      มิจฉาทิฐิที่มองชุมชนเสมือนว่ามีองค์การเดียว (The Fallacy of Single Pyramid) เป็นการมององค์กรหรือผู้นำที่เป็นทางการอย่างเดียว องค์กรหรือผู้นำธรรมชาติอื่นๆนั้น เรามักไม่ได้ให้ความสนใจ องค์กรอื่นๆจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ขาดความเข้มแข็ง สุดท้ายก็เหลือแต่องค์กรทางการเป็นปิระมิดอันเดียวโดดๆ แต่ในวิถีชีวิตจริงของชาวบ้านมักมีกลุ่มที่รวมตัวกันเองตามธรรมชาติอยู่ ทำให้เราเห็นศักยภาพของชุมชนอย่างจำกัด

4)      มิจฉาทิฐิที่มองชุมชนทุกชุมชนเหมือนกันหมด (The Fallacy of Interchangeable Face) มีรากฐานความคิดที่ว่า “หากแผนงานโครงการหนึ่งทำสำเร็จในที่หนึ่งก็สามารถขยายผลไปทำในที่อื่นๆได้ทั่วประเทศ” ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะชุมชนแต่ละแห่งมีสภาพทางกายภาพ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการเมืองที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง

แนวทางการศึกษาเรียนรู้ชุมชนของสมาชิกกลุ่มเราก็คือการตระหนักและไม่ตกอยู่ในหลุมพรางทั้ง 4 นี้และพยายามทำให้ได้ในทิศทางตรงกันข้าม เรากำหนดแนวคิดการศึกษาชุมชนของกลุ่มด้วย “สัมมาทิฐิ 4 (The Four Doing Right)” คือ

สัมมาทิฐิ 1 ชุมชนทุกชุมชนมีศักยภาพและทุนซ่อนอยู่

สัมมาทิฐิ 2 ปัญหาของชุมชนมีความเชื่อมโยงด้วยปัจจัยที่หลากหลาย

สัมมาทิฐิ 3 ชุมชนมีองค์กรจัดการชุมชนที่หลากหลาย มีทั้งองค์กรชุมชนแบบทางการและไม่เป็นทางการ

สัมมาทิฐิ 4 ชุมชนแต่ละชุมชนมีความเป็นเฉพาะตัว มีความแตกต่างที่หลากหลาย ไม่เหมือนกัน

ส่วนเครื่องมือในการศึกษาหรือหลักปฏิบัติ ทางกลุ่มเราได้ประยุกต์ใช้เครื่องมือการศึกษาชุมชนเชิงลึกของนักมานุษยวิทยา 7 ชิ้น คือ แผนที่ชุมชนฉบับเดินดิน ผังเครือญาติ โครงสร้างองค์กรชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน ปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนและประวัติชีวิตบุคคลที่น่าสนใจ

หมายเลขบันทึก: 391999เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท