สารให้ความหวานในอาหาร


สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ความหวานช่วยให้อาหารและเครื่องดื่ม มีรสชาติอร่อยน่ารับประทานมากขึ้น และก็มีคนไม่น้อยที่ชอบอาหารรสชาติหวานๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือขนมหวาน จริงๆ แล้วสารให้ความหวานมีอยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น ในผัก ผลไม้ ดังนั้น ถ้าคุณรับประทานผักผลไม้ร่างกาย ก็จะได้รับสารให้ความหวานเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว

ในทางการแพทย์สารให้ความหวานแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nutritive sweetener) และสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nonnutritive sweetener)

สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่รู้จักกันดีและใช้กันทั่วไป ได้แก่ น้ำตาล (sugar) ถ้าใช้คำว่า sugar หมายถึง น้ำตาลซูโครส ถ้า sugars หมายถึงน้ำตาลอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ซูโครส กลูโคส ฟรุคโตส และมอลโตส เป็นต้น น้ำตาลซูโครสคือน้ำตาลทรายที่ใช้ปรุงอาหาร ฟรุคโตสพบในผัก ผลไม้ มอลโตสมีมากในน้ำนม ซึ่งน้ำผึ้ง น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม น้ำอ้อย ก็จัดเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่าปราศจากน้ำตาลส่วนใหญ่ จะหมายถึงไม่มีน้ำตาลซูโครส แต่อาจจะมีน้ำตาลชนิดอื่นๆ น้ำตาลจัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตทุกชนิดจะถูกแปลงเป็นน้ำตาลกลูโคส เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของสมองและระบบต่างๆ ของร่างกาย

น้ำตาลยังเป็นตัวการสำคัญของโรคและมีผลกระทบกับสุขภาพร่างกายหลายด้านอีกด้วย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก จะทำการย่อยสลายน้ำตาลในปากไปเป็นกรด ซึ่งสามารถทำลายสารเคลือบฟันของเราจนทำให้ฟันผุ นอกจากนี้ยังควรทำความเข้าใจด้วยว่า การรับประทานน้ำตาลในปริมาณมากไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะพฤติกรรมการไม่อยู่เฉย (hyperactive) ในเด็ก รวมทั้งไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานโดยตรงในผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานหรือขนมหวาน เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ การรับประทานน้ำตาลปริมาณมากก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นได้

นอกจากนี้คุณอาจจะเคยเห็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีการโฆษณาว่าปราศจากน้ำตาล แท้จริงแล้วปราศจากน้ำตาลซูโครส แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ฟรุคโตสแทน เนื่องจากการรับประทานน้ำตาลฟรุคโตส มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นน้อยกว่าการรับประทานแป้งและซูโครส ดังนั้นจึงนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารขนม เช่น ลูกกวาด แยม เครื่องดื่มสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน


แต่อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานน้ำตาลต่างๆ มากกว่าร้อยละ 20 ของพลังงานจะมีผลเพิ่มระดับไขมันโคเลสเตอรอลรวม และโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ซึ่งถ้าโคเลสเตอรอลรวมและโคเลสเตอรอล LDL สูงก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดมากขึ้น

ในส่วนของผู้ที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักก็ไม่ควรรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ได้พลังงานมาก น้ำตาลให้พลังงาน 4 แคลอรี/กรัม หรือน้ำตาล 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี ถ้าร่างกายได้รับพลังงานมากเกิน ก็จะสะสมในรูปไขมันและเกิดโรคอ้วนในที่สุด ผลตามมาจากความอ้วนมีมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ข้อเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งเต้านมในเพศหญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย การทำงานของปอดลดลง เนื่องจากชั้นไขมันหนารอบทรวงอกทำให้การขยายตัวของปอดทำได้ไม่ดีนัก และไขมันที่หนาบริเวณท้องก็ทำให้กระบังลมยืดหยุ่นตัวได้ไม่ดี ดังนั้นจึงสังเกตว่าในคนที่อ้วนมากจะมีอาการหายใจลำบาก หรือมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ ในขณะนอนหลับเรียกว่า sleep apnea ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดศีรษะในเวลาเช้า ง่วงนอน หายใจช้าในเวลากลางวัน เป็นต้น

สำหรับ สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nonnutritive sweetener) ที่ใช้กันทั่วไปเป็นสารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริการับรองว่าปลอดภัย ได้แก่ Saccharine (sweet' N low) มีความหวาน 300 เท่าของน้ำตาล Aspartam (Nutrasweet, Equal) มีความหวาน 180 เท่า Acesulfame potassium นิยมใส่ในเครื่องดื่ม soft drink ความหวาน 200 เท่า sucralose ความหวาน 600 เท่าของน้ำตาล สารเหล่านี้มีค่าที่กำหนดปริมาณที่ใช้ผสมในอาหารที่คนสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยต่อวัน (Acceptable Daily Intake, ADI) แต่ก็มีการงานวิจัยบางชิ้นอ้างว่าน้ำตาลประเภทนี้บางชนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติการเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ร่างกายจะได้ทั้งน้ำตาล และสารอาหารครบเนื่องจากในผัก ผลไม้ มีทั้งน้ำตาล และคุณค่าสารอาหารอย่างอื่นด้วย ถ้าคุณไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก และห่างไกลจากความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานๆ เครื่องดื่มรสหวาน และอาหารที่มีน้ำตาลมากก็จะดีไม่น้อยทีเดียว

 

 

http://www.yourhealthyguide.com/article/an-sweetener.htm

หมายเลขบันทึก: 391893เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท