วิปัสสนารักษาโรค...เยียวยาโลก


เมื่อมี การรับรู้จากระบบประสาท เข้าด้วยอายตนะต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยเกิดการปรุงแต่งจิต ด้วยประสบการณ์เก่าๆทั้งดีและไม่ดี จะเกิดอารมณ์ต่างๆ และตามมาซึ่งปฏิกิริยาทางร่างกาย จากนั้นก็เกิดความรู้สึกอีกครั้ง

          “เมื่อใดที่จิตสงบเย็น เวทนาก็หายจร” คงเป็นความจริงสำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง โดยอาจไม่จำเป็นต้องพูดถึงเวทนาทางใจมากมาย เพราะการที่จิตสงบเย็น นั่นก็หมายความว่า”ใจ”นั้นเป็นปกติ สงบเย็น ไม่เดือดร้อนอะไร หากผู้ที่กล่าวว่า ปกติเขาเป็นคนใจร้อน ก็ขอให้พิจารณาว่าความใจร้อนที่ว่านั้นไม่ได้เป็นเสมอตลอดเวลาใช่หรือไม่ และแม้แต่โดยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ความเย็นก็ไม่มีตัวตนที่วัดได้เพราะสิ่งที่เราวัดอุณหภูมิคือ เราวัดความร้อนเท่านั้น ดังนั้นหากพูดถึงความเย็น ทางวิทยาศาสตร์จะหมายถึงความร้อนที่ถูกดึงออกไป จนทำให้มีอุณหภูมิต่ำลงนั่นเอง  ทั้งนี้การวิปัสสนาจะเกิดผลที่เห็นได้ชัดเจนต่อผู้ที่ปฏิบัติคือ ใจเย็น และ มีปัญญา ซึ่งจะกล่าวต่อไป

                หากลองพิจารณาผู้ที่มีใจเย็น เราสามารถอธิบายได้ด้วยสิ่งต่างๆที่เราเห็นได้หรือสัมผัสได้ ว่าบุคคลผู้นั้นดูสงบเสงี่ยม ดูไม่เป็นภัย ทำอะไรก็สบายๆ ไม่รีบร้อนวุ่นวาย สีหน้าไม่ดุไม่บึ้งตึง คำพูดคำจาไม่เกรี้ยวกราด หากวัดความดันก็จะพบว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป อุณหภูมิร่างกายอาจจะปกติหรือค่อนต่ำ มีสิ่งเร้ารอบข้างที่เข้ามากระทบเขาก็ไม่ตื่นเต้นมาก หากบุคคลนี้มีปัญญาร่วมด้วยก็จะสามารถทำงาน หรือเรียนรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดค้าง ไม่เกิดปัญหาต่อผู้ร่วมงาน ดูแลสุขภาพให้อยู่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งทางด้านการรับประทานอาหาร การควบคุมอารมณ์ เลือกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ออกกำลังกายหรือพักผ่อนได้อย่างพอเพียง เป็นต้น

                กลับมาพิจารณาเรื่องจิตที่สงบเย็น และเวทนา ว่าคืออะไร สัมพันธ์กันอย่างไร  คำ “เวทนา” นั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง หมายถึง ความรู้สึก(feeling หรือ emotion) เราจะบ่งชี้ได้ชัดเจนว่านั่นคือทุกขเวทนา(รู้สึกเป็นทุกข์) สุขเวทนา(รู้สึกเป็นสุข) หรือ อทุกขมสุขเวทนา(เฉยๆ) ไปเลย  เวทนาทางร่างกายของเรานั้นหมายถึงความรู้สึกทางร่างกายที่เรารับรู้โดยการแปลผลของสมอง ใช้ระบบประสาทรับรู้ที่ผิวหนัง ที่ปกคลุมร่างกายไว้ทั้งหมด และระบบประสาทอัตโนมัติที่รับความรู้สึกจากอวัยวะภายใน ได้แก่ เจ็บ ปวด หนัก เบาสบาย แน่นทึบ ขยายตัว พองตัว โหวงๆ ไฟช็อต หน่วงๆ เวียนๆ มดไต่ คัน ร้อน เย็น เหนอะหนะ เปียก แห้ง เฉยๆ เป็นต้น ส่วนระบบประสาทรับสัมผัสพิเศษต่างๆคือ ตา หู จมูก ลิ้น นั้นก่อให้เกิดความรับรู้ทางใจ หรือเวทนาทางใจนั่นเอง ซึ่งรับรู้ด้วยจิตใจ ไม่ใช่สมอง คืออารมณ์ต่างๆได้แก่ ร่าเริง อิ่มเอิบ ดีใจ พอใจ สะใจ เสียใจ เศร้าใจ ทุกข์ใน รู้สึกผิด หดหู่ เฉยๆ โกรธ แค้น เจ็บใจ เป็นต้น

                เมื่อทราบกลไกการรับรู้ที่พึ่งพิงระบบประสาทรับสัมผัสภายใน-ภายนอก และสัมผัสพิเศษแล้ว ท่านอาจจะจินตนาการต่อไปว่าร่างกายเรานั้น หรือชีวิตเรานั้น สามารถติดต่อกับสิ่งภายนอกได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นขณะหลับหรือขณะตื่น และแน่นอนระบบประสาทเหล่านี้ก็ทำงานตลอดเวลาเช่นกันเพื่อส่งสัญญาณตรงขึ้นไปแปลผลในสมอง และรับรู้ด้วยจิตอีกที มากไปกว่านั้นไม่เพียงแต่ทำหน้าที่รับรู้(วิญญาณ) ต่อสิ่งต่างๆจากทาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย (อายตนะทั้ง ๕) แต่ตัวสมองเองยังสามารถทำงานรับรู้ได้จากการรับรู้ทางจิตใจด้วย โดยการคิด ไตร่ตรอง ตอกย้ำ(สังขาร) การจินตนาการ ซึ่งสามารถรับรู้ได้เป็นแสง สี เสียง อิงตามประสบการณ์ที่ตนเคยมีในอดีต (สัญญา)  โดยหากเป็นเพียงการรับรู้เฉยๆ แล้วจิตใจไม่ได้มีการใช้ ฟังค์ชั่นของ สังขาร หรือ สัญญา ต่อจากนั้น เรียกการรับรู้นั้นว่า “ปัญญา” แต่เมื่อใดก็ตามที่”จิต”มีการใช้ฟังค์ชั่นของ สังขาร และสัญญา สิ่งที่ตามมาคือเกิด”อารมณ์”(เวทนาทางใจ) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระดับเซลล์ของสมอง เกิดความร้อนขึ้นโดยการทำงานของสารสื่อประสาทชนิดต่างๆ (Neurotransmitters)  เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงมากขึ้น อารมณ์ก็ชัดเจนขึ้นไปอีก เช่นตอนมีไข้ อารมณ์เสียง่ายกว่าตอนไม่มีไข้ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการหลั่งฮอร์โมนทั้งดีและไม่ดีจากต่อมต่อมใต้สมอง (Hormones) ส่งผ่านกระแสเลือดไปทั่วร่างกายในระดับที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงสามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีต่างๆทั่วร่างกายแสดงออกมาในระดับที่สังเกตเห็นได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมีการใช้ฟังค์ชั่นของ สังขาร และสัญญา มากน้อยยาวนานเพียงไร แล้วเราก็สามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านทางระบบประสาทต่างๆอีกครั้งเรียกว่า “เวทนาทางกาย”   

         โดยสรุปง่ายๆแล้ว เมื่อมี การรับรู้จากระบบประสาท[วิญญาณ] เข้าด้วยอายตนะต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ(ความคิดจินตนาการ) โดยเกิดการปรุงแต่งจิต [การนึกคิด-จินตนาการ; “สังขาร”] ด้วยประสบการณ์เก่าๆทั้งดีและไม่ดี [ความจำ ความหมาย; “สัญญา”] จะเกิดอารมณ์ต่างๆ [เวทนาทางใจ] และตามมาซึ่งปฏิกิริยาทางร่างกาย จากนั้นก็เกิดความรู้สึกอีกครั้ง [เวทนาทางกาย] โดยส่วนใหญ่กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆกันเร็วมากจนเราไม่อาจจะสังเกตได้โดยง่าย หากจิตของเราไม่ไวพอหรือมีสิ่งรบกวนมากมายรอบข้าง

                 แน่นอนว่าจิตที่สงบเย็น หรือถูกฝึกฝนมาดีมากแล้วจะมีศักยภาพในการรับรู้ที่เร็วมากและชัดเจน เวลามีสิ่งเร้ามากระทบตามระบบประสาทรับรู้ต่างๆ แม้ว่าปกติสิ่งเร้านั้นจะเล็กละเอียดมากเกิดการปรุงแต่งน้อยๆ หรือสิ่งเร้ารุนแรงทำให้เกิดการปรุงแต่งมากและยาวนาน แต่ผู้นั้นสามารถระงับกลไกนี้ได้ทัน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเคมีระดับเซลล์น้อยมาก ซึ่งน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ การรับรู้สิ่งใดๆแล้ว จะน้อมรับนำมาคิดมาก เกิดอารมณ์มาก เกิดปฏิกิริยาเคมีมาก ซึ่งจะเกิดเวทนาทั้งกายและใจมากตามไปด้วยนั่นเอง จึงขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเวทนาทั้งทางกายและใจเพิ่มเติมดังนี้คือ

                เวทนาทางกาย หรือความรู้สึกต่างๆทางร่างกาย มีทั้งดีและไม่ดี หากไม่ดีก็หมายถึงความเจ็บป่วย ไม่สบายกาย อาจจะแก้ไขด้วยการพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเสริม การทายา การรับประทานยา ขึ้นอยู่กับว่าอาการนั้นๆเกิดขึ้นบ่อยเพียงใด หากเกิดขึ้นและพบเห็นได้บ่อย ทางการแพทย์ก็ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมแล้ว พบว่ามีการแสดงเป็นกลุ่มอาการ หรืออาจจะเป็นมานานจนกระทั่งเห็นได้ทางกายภาพก็วินิจฉัยว่าเป็น “โรค” ก็จะมีวิธีการรักษาลึกซึ้ง ละเอียดแตกต่างกันไปตามอาการและอาการแสดงเหล่านั้น หากพบไม่บ่อยก็รักษาไปตามอาการ อาจจะเรียกว่า “โรคทางอายุรกรรม” ก็ได้หรือเป็นเพียงอาการ บางครั้งเวทนาจมลึก มีอยู่ที่อวัยวะภายในไม่อาจแสดงให้เห็นได้โดยง่าย หรือผู้ป่วยมีการรับรู้ทางระบบประสาทที่เสียไปในบริเวณนั้นจึงไม่สามารถรับรู้เวทนาตรงตำแหน่งนั้นได้ ภายหลังต่อมาเกิดการรับรู้อีกครั้ง กลายเป็น “โรคทางศัลยกรรม”ไปแล้วก็มี ในกรณีของเวทนาทางด้านดีก็ทำให้เกิดความสุขสบายได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปกติ เพราะโรคของความสุขสบายมักลงท้ายด้วยภาวะสะสมเรื้อรังเช่น โรคอ้วน เบาหวาน เป็นต้น ดังนั้น หากวิปัสสนาสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีอาการทางกายอยู่นั้นสามารถรับรู้อาการนั้นได้ว่องไวขึ้น จึงสามารถควบคุมหรือรักษาอาการ หรืออาจจะปรับสมดุลชีวิต กำจัดสาเหตุของอาการได้รวดเร็ว ก็ไม่ก่อโรค หรือระงับไม่ให้อาการทางลบเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ทำให้โรคทางกายนั้นหายได้โดยง่าย ก็ไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “วิปัสสนารักษาโรค” ได้นั่นเอง

            เวทนาทางใจ หรืออารมณ์ทางใจ หากมีในทางลบ ในปริมาณไม่เหมาะสม บ่อยครั้งก็ถือว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ การรักษาก็พิจารณาระดับความเจ็บป่วย ว่าเรื้อรังยาวนานอย่างไร ให้การบำบัดทางจิตเพียงพอหรือไม่ เช่นการให้ความรู้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด ศิลปะบำบัด ธรรมชาติบำบัด บางครั้งจำเป็นต้องใช้ยาหรือไม่ อารมณ์นั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตหน้าที่การงาน การเรียน ครอบครัว สังคม ชีวิตคู่ เศรษฐกิจ อย่างไรบ้างซึ่งต้องการการเยียวยาจำเพาะมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องไม่ลืมว่าอารมณ์ที่ดีก็สามารถก่อให้เกิดทุกข์ได้หากอารมณ์นั้นมีปริมาณไม่พอดี เช่นมีความสุขมากผิดปกติจนไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม การใช้สารเสพติดเพื่อให้เกิดอารมณ์มีความสุขซึ่งใช้มากขึ้นก็ทำให้เสพติด ต้องเพิ่มปริมาณ สมองก็เสื่อมถอย เกิดความทุกข์เรื้อรังตามมา ดังนั้นหากจะมองว่า “วิปัสสนาช่วยเยียวยาโลก” ก็ไม่ผิดเพราะว่าการที่คนในสังคมเดียวกันมีจิตใจที่เย็นลง สงบได้แม้ผิดหวัง อารมณ์ก็ปกติ การตัดสินใจทำพฤติกรรมใดๆก็ตามก็ไม่มีโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ส่งผลให้“เวทนา”หรือเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมวงกว้างก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่พัฒนา ไม่เร่งร้อนรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าผู้วิปัสสนาจะมีปัญญาในการจัดการสิ่งต่างๆตามความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม เห็นทางออกของปัญหารอบข้าง ประเทศชาติก็สงบสุข โลกก็สงบสุขตามมา

คำสำคัญ (Tags): #วิปัสสนา
หมายเลขบันทึก: 391660เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2010 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท