อุทานธรรม1


ปลงชีวิต

อุทาหรณ์

๑๑. ยามจน มันก็จน จนเต็มที่          แล้วกลับมี มันก็มี มีนักหนา            

อนิจจัง ดังนี้ ดีนักนา                           ไม่ขอลา อนิจจัง ดังนี้เลย              

        ๑๒. ไม่รู้ไม่ชี้ ดีนัก รู้จักใช้                     นึกอะไร แล้วทิ้ง นิ่งนั่งเฉย        

ไม่ต่อเรื่อง เครื่องทุกข์ สุขเสบย               ใครไม่เคย ลองดู จะรู้ดี             

        ๑๓. รักษาตัว กลัวกรรม อย่าทำชั่ว     จะหมองมัว หม่นไหม้ ไปเมืองผี            

จงเลือกทำ แต่กรรม ที่ดีดี                    จะได้มี ความสุข พ้นทุกข์ภัย                 

        ๑๔. เราจะต้อง พลัดพราก จากของรัก ไม่ย้ายยัก มั่นคง อย่าสงสัย                      

รีบรู้ตัว เสียก่อน ไม่ร้อนใจ                    ถึงคราวไป แล้วก็ไป ไปตามกาล                 

        ๑๕. ความไม่พอ ใจจน เป็นคนเข็ญ    พอแล้วเป็น เศรษฐี มหาศาล                  

จนทั้งนอก ทั้งใน ไม่ได้การ                   จงคิดอ่าน แก้จน เป็นคนมี                    

        ๑๖. รู้ว่าไฟแล้ว ทำไม ไปจับเล่น       มันไม่เย็น เลยหนา น่าบัดสี                

ครั้นถูกไฟ ไหม้เผา เศร้าโศกี                  น่าจะตี เสียให้ช้ำ ระกำทรวง               

        ๑๗. อัประมาท ปราชญ์ชม นิยมนัก    ว่าเป็นมรรค ครรไล อันใหญ่หลวง           

ให้ประชา สาธุชน คนทั้งปวง                    พ้นจากบ่วง ตัณหา สิ้นราคี                    

        ๑๘. อโหโอ โอ้น่า อนาถหนอ          ความไม่พอ พายุ่ง ทุกกรุงศรี          

ต้องรบรา ฆ่ากัน ลั่นโลกีย์                            ใครเสียที แล้วก็ตาย วายชีวัน           

        ๑๙. ผู้ใดชั่ว รู้ตัว แล้วกลับจิต           ไม่ถือผิด งมโง่ โดยโมหัน             

ควรจะชม ว่าสม เป็นคนธรรม์                 รู้ผ่อนผัน กลับตน เป็นคนตรง         

        ๒๐. สังขารา สัสสตา นัตถิ                    เป็นสติ สำคัญ ป้องกันหลง        

ตัดยินดี ยินร้าย ให้คลายลง                    ไม่งมงง ลืมตัว เพราะชั่วดี          

        ๒๑. เวลาใด ทำใจ ให้ผ่องแผ้ว         เหมือนได้แก้ว มีค่า เป็นราศี            

เวลาใด ทำใจ ให้ราคี                           เหมือนมณี แตกหมด ลดราคา          

        ๒๒. เขาทำดี ทำชั่ว ตัวของเขา        อย่าหาเหา ใส่หัว ของตัวหนา           

มันจะยุ่ง นุงนัก หนักอุรา                      ตามยถา กรรมเขา เราสบาย             

        ๒๓. สมัยใด ทำใจ ให้ผุดผ่อง           จากหม่นหมอง ราคิน สิ้นทั้งหลาย   

จะพบสุข สดใส ใจสบาย                              อภิปราย คงไม่ชัด ปัจจัตตัง            

        ๒๔. นึกนึกแล้ว ก็น่า อนาถหนา       เพราะตัณหา พายุ่ง ออกนุงถัง          

ต้องรบรา ฆ่ากัน ลั่นลือดัง                     ใครพลาดพลั้ง แล้วก็ตาย วายชีวา       

        ๒๕. กายกับใจ อาศัย ซึ่งกันอยู่        เราต้องรู้ ว่ามัน ต่างกันหนา             

สุขทุกข์ แต่ละอย่าง ก็ต่างนา                  ถ้าเอามา คลุกกัน มันยุ่งใจ               

        ๒๖.ปล่อยให้ยุ่ง แล้วมันแย่ แก้มันยาก ยิ่งยุ่งมากมันยิ่งแย่แก้ไม่ไหว                   

อย่าปล่อยให้ยุ่ง นุงนัก จะหนักใจ                จงแก้ไข อย่าให้ยุ่ง นุงนักนา                     

        ๒๗. พูดไปเขา ไม่รู้ กลับขู่เขา          ว่าโง่เง่า งมเงอะ เซอะหนักหนา       

ตัวของตัว ทำไม ไม่โกรธา                     ว่าพูดจา ให้เขา ไม่เข้าใจ                

        ๒๘. โกรธเขา เราก็รู้ อยู่ว่าร้อน        จะนั่งนอน ก็เป็นทุกข์ ไม่สุกใส          

แล้วยังดื้อ ด้านโกรธ จะโทษใคร                     น่าแค้นใจ จริงหนา ไม่น่าชม             

        ๒๙. จะเป็นสุข ก็ต้องทุกข์ ลงทุนก่อน  จะเป็นก้อน ทีละน้อย ค่อยประสม              

จะเป็นพระ ก็ต้องละ กามารมณ์                  จะเป็นพรหม ก็ต้องเพียร เรียนทำฌาน        

        ๓๐. มีกายอย่า ได้หมาย ว่าเป็นสุข     กลับมีทุกข์ มากมาย หลายสถาน           

จะหาสุข ที่กาย จนวายปราณ                  คงไม่พาน พบแท้ เป็นแน่นอน                

        ๓๑. สารพัน ที่จะรู้ เป็นครูเขา          ตัวของเรา แล้วทำไม ไม่สั่งสอน     

ปล่อยให้ยุ่ง นุงนัง ไม่สังวร                           ควรผันผ่อน แก้ยุ่ง นุงทั้งปวง           

        ๓๒. โอ้โลโภ โทโส โมโหนี่             เป็นราคี ของใจ อันใหญ่หลวง      

เป็นมูลราก ราคิน สิ้นทั้งปวง                  คอยเหนี่ยวหน่วง ให้นุง ยุ่งหัวใจ     

        ๓๓. โอ้ร่างกาย ของเรา มันเน่าแน่     ไม่มีแปร เปลี่ยนผัน หันไฉน                 

ต้องรู้ตัว เสียเสมอ อย่าเผลอใจ                สิ่งใดใด ควรทำ รีบจ้ำเอย.                   

        ๓๔. กาลนี้ ไม่ได้รอ เราหนอหนา       อย่ามัวมา มึนเมา เลยเราเอ๋ย              

หลงนิยม ชมทุกข์ ว่าสุขเสบย                 ไม่ช้าเลย จะต้องลา โลกคลาไคล         

        ๓๕. ชั่วหรือดี ที่ทำ กรรมทั้งหลาย     ไม่หนีหาย สูญสิ้น ไปถิ่นไหน               

ย่อมอยู่ดี กินดี ไม่มีภัย                        รวมเก็บไว้ ที่จิต ติดตัวเรา.                   

        ๓๖. อนิจจัง ทั้งนั้น ไม่ทันคิด           พอเห็นฤทธิ์ อนิจจัง ลงนั่งเหงา      

ว่าโอ้โอ๋ อกเอย เอ๋ยอกเรา                     มามัวเมา อนิจจัง จีรังกาล            

        ๓๗. ยังไม่เคย ฟังใคร ที่ไหนหนา      ว่าเกิดมา เป็นสุข สนุกสนาน               

มีแต่บ่น เรื่องทุกข์ ไม่สุขสราญ                ทั้งชาวบ้าน ชาววัด ซัดกันไป              

        ๓๘. อนัตตา สังขาร นี้ด้านดื้อ          ไม่เชื่อถือ ถ้อยคำ ที่ร่ำไข               

จะพูดจา ว่าขาน ประการใด                   ไม่ตามใจ ข้องขัด อนัตตา              

        ๓๙.ไตรลักษณ์ต้องเป็นหลักสำหรับจิต  จงหมั่นคิดหมั่นนึกหมั่นศึกษา                     

เราต้องตาย เป็นแท้ แน่ละว่า                  จะมัวมา นอกครู อยู่ทำไม                   

๔๐. ประพฤติธรรม สำคัญ อยู่ที่จิต             ถ้าตั้งผิด มัวหมอง ไม่ผ่องใส                

ถ้าตั้งถูก ผุดผ่อง ไม่หมองใจ                 สติใช้ คุมจิต ไม่ผิดนา                        

        ๔๑. อิฏฐารมณ์ นิยม ว่าเป็นสุข         ที่แท้ทุกข์ จริงเจียว ทีเดียวหนา         

สำคัญผิด ติดทุกข์ ว่าสุขนา                     เป็นสัญญา วิปลาส พลาดผิดธรรม์      

        ๔๒. อย่าทะนง องอาจ ประมาทรัก     มาชวนชัก รวนเร ให้เหหัน                   

ไม่กลัวเป็น กลัวตาย วายชีวัน                 ถ้าแพ้มัน แล้วต้องตาย วายชีวี              

        ๔๓. รามเกียรติ์ มันยุ่ง ออกนุงขิง       เพราะแย่งหญิง สีดา มารศรี                

ต้องรบรา ฆ่ากัน ลั่นโลกีย์                     ใครเสียที แล้วก็ตาย วอดวายปราณ       

        ๔๔. นิสัยควาย ไม่วาย จะบดเอื้อง      คนรื้อเรื่อง อตีตัง มาตั้งขาน                 

พิรี้พิไร ไม่จบ งบประมาณ                    ก็เปรียบปาน ดังควาย น่าอายนา            

        ๔๕. เออไฉน ใจเรา ฉะนี้นี่                        ไม่กลัวผี มันเย้ย บ้างเลยหนา      

ใจฉะนี้ หน้าไฉน อย่างไรนา                     ดูเงาหน้า แล้วคงเห็น ไม่เป็นเรา   

        ๔๖. อวดฉลาด พูดออก บอกว่าโง่       ฟังเขาโอ้ อวดอ้าง อย่าขวางเขา          

ถ้าขัดคอ เขาก็โกรธ พิโรธเรา                  เป็นเรื่องเร่า ร้อนใจ ไม่เป็นการ             

        ๔๗. ระลึกถึง ความตาย สบายนัก       มันหักรัก หักหลง ในสงสาร                 

บรรเทามืด โมหัน อันธการ                    ทำให้หาญ หายสะดุ้ง ไม่ยุ่งใจ             

        ๔๘. เราจะต้อง รบรับ กับมัจจุราช       ไม่แคล้วคลาด มั่นคง อย่าสงสัย          

รีบเตรียมตัว ไว้ก่อน ไม่ร้อนใจ                 มาเมื่อไร เราก็รบ ไม่หลบนา                

        ๔๙. ถึงกายแพ้ แต่ใจ เราไม่แพ้          ใจไม่แก่ เจ็บตาย ตามกายหนา         

กายนี้มัน จะเน่า เราก็ลา                       ไปสวรรค์ ชั้นฟ้า นิพพานเอย.           

         เอวังดังที่ได้                 แสดงมา                

สิ้นสุดเทศนา                        เท่านี้                    

    ควรแล้วแต่เวลา                        หยุดยุต – ติเฮย       

  ใดพลาดปราชญ์ช่วยชี้           ช่องให้ชนเห็น         

        ประสิทธิ์พรสวัสดี           เจริญศรีเจริญชนม์   

เจริญสุขเจริญผล                   เจริญพรรณเสมอสมัย

นิราศทุกข์นิราศโศก                นิราศโรคนิราศภัย   

ประสงค์สรรพ์กุศลใด               ก็จงสมประสงค์เทอญ

        ขอสิ่งพิเศษสรรพ์           สรพันพิพัฒน์พร

จงมาสโมสร                         อุปถัมภ์อำนวยชัย

มวลหมู่อมิตต์หมาย                        ก็ละลายละเลิกไป

ทุกข์โศกแลโรคภั                   -ยพิบัติบ่มีฑา     

หวังใดผิไม่ผิด                       ก็สำฤทธิ์ประจักษ์ตา

ทวยเทพเทพา                       อภิบาลนิรันดร.   

หมายเลขบันทึก: 389433เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท