รพ.หนองม่วง
รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง

การดูแลสุขภาพช่องปาก ฟันผุ โรคปริทันต์อักเสบ


ฟันผุ เหงือกอักเสบ ปวดฟัน

 โรคฟันผุ ... เกิดจากอะไร..  

 

ฟันผุเกิดจาก การกัดกร่อนของกรดที่แบคทีเรียที่อยู่ที่ผิวฟันของเราผลิตออกมา โดยกรดที่ว่านี้มันจะถูกผลิตขึ้นโดยใช้อาหารที่เรารับประทานเข้าไปเป็นวัตถุดิบ 

 

 

ขั้นที่ 1

 ฟันผุเริ่มต้นจาก การมีเศษอาหารไปติดที่ตัวฟัน เช่น ที่ผิวร่องฟัน ในรูป สีแดงที่อยู่ที่ร่องฟันเป็นตัวแทนของเศษอาหาร 

ในขั้นตอนนี้ถ้าเราแปรงฟันเอาเศษอาหารออกไป ฟันก็จะไม่ผุ แต่ถ้าเราปล่อยเศษอาหารนั้นเอาไว้โดยไม่ขจัดออกไป หรือแปรงฟันไม่สะอาดเท่าที่ควรก็จะทำให้เกิดขั้นตอน ที่สองตามมาได้

 

ขั้นที่ 2

 ในขั้นนี้จะเห็น จากในภาพได้ว่า ชั้นที่เป็นเคลือบฟันเริ่มถูกทำลายเป็นรูลงไป (สีดำในภาพ) เนื่องจากอาหาร(ส่วนที่เป็นสีแดง)ไม่ได้ถูกกำจัดออกไป และถูกปล่อยไว้นานจนเกิดเป็นกรดไปกัดกร่อนผิว เคลือบฟันขึ้น 

ฟันที่ผุในขั้นนี้หากมีการแปรงฟันที่ดีด้วยยาสีฟันี่มี ฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบและมีการรักษาสุขภาพ ช่องปากที่ดี อาจจะยังไม่ต้องไปรับการอุดฟันก็ได้ แต่ถ้ายังคงละเลยไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี ฟันก็จะผุต่อไปถึงขั้นที่ 3

 

 

ขั้นที่ 3

ในขั้นนี้เป็นขั้น ที่เราปล่อยปละละเลยมาจากขั้นที่ 2  ทำให้มีเศษอาหาร (ส่วนที่เป็นสีแดง) เข้าไปอุดในรูผุเล็กๆที่มีอยู่ที่ผิวเคลือบฟัน ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดขั้นที่ 4 ตามมา

 

 

 

ขั้นที่ 4 ในขั้นนี้ส่วนที่ผุ จะลุกลามจนเข้าถึงส่วนของเนื้อฟัน (ส่วนที่เป็นสีเหลืองในภาพ ) อาการที่เกิดในขั้นนี้ คือ จะมีอาการเสียวฟันเป็นบางครั้งเมื่อดื่มน้ำเย็น 

การรักษาในขั้นนี้ ทำได้โดยการอุดฟัน แต่ถ้าเราไม่ไปรับการอุดฟันแล้วปล่อยต่อไป ฟันผุก็จะลุกลามไปสู่ขั้นที่ 5

 

 

ขั้นที่ 5

ฟันผุในขั้นนี้จะ ลุกลามเข้าไปสู่ชั้นเนื้อฟัน อาการที่แสดงคือ จะมีอาการเสียวฟันขณะดื่มน้ำเย็นหรือเมื่อรับประทานของ หวานจัด

การรักษาทำได้โดย การอุดฟัน แต่ถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 6 ต่อไป

 

ขั้นที่ 6

ในขั้นนี้ฟัน จะผุจนเกือบถึงโพรงประสาทฟัน อาการที่เกิด คือ จะมีอาการเสียวฟันมากหรือปวดฟันเมื่อดื่มน้ำเย็นหรือเมื่อม ีเศษอาหารไปอุดติดอยู่หรือบางครั้งเมื่อรับประทานของร้อน

จากภาพจะสังเกตได้ ว่า บางครั้งจะมองเห็นว่ารูผุที่มองเห็นจากในช่องปากมีขนาด เล็กนิดเดียวแต่ความจริงข้างในอาจจะผุเป็นรูขนาดใหญ่แล้วก็ได้

การรักษาในขั้นนี้ ทำได้โดยการอุดฟัน หรือบางครั้งอาจต้องรับการรักษารากฟัน แตถ้ายังปล่อยต่อไปก็จะเข้าสู่ขั้นสุดท้าย คือ ขั้นที่ 7

 

ขั้นที่ 7

ในขั้นนี้ฟันจะผุ เข้าไปจนถึงโพรงประสาทฟัน อาการที่เกิดคือ มีอาการปวดฟันตลอดเวลา แต่อาจจะหายปวดไปได้เอง บางครั้งจะมีอาการบวมที่เหงือกหรือปวดเมื่อเคี้ยว อาหารร่วมด้วย

จากในภาพจะเห็นว่า มีการอักเสบของโพรงประสาท ฟันและทำให้เกิดเป็นถุงหนองที่ปลายรากฟัน (ก้อนกลมสีเขียวที่ปลายรากฟัน) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม

การรักษาในขั้นนี้ ทำได้โดยการรักษารากฟันกับ การถอนฟันเท่านั้น

เราจะเห็นกันแล้วนะว่า การเกิดฟันผุนั้น ถ้าเรารับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆร่วมกับการรักษาความสะอาดช่องปากที่ดี เราก็จะสามารถหยุดยั้งมันได้ง่ายๆ แต่ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้จนปัญหาลุกลามออกไป การแก้ไขก็จะทำได้ยากขึ้น และอาจลงท้ายด้วยการถอนฟันซี่นั้นออกไป  

 

 โรคปริทันต์ เป็นอย่างไร

โรคปริทันต์มีตั้งแต่ ภาวะเหงือกอักเสบ และปริทันต์อักเสบ ซึ่งจะแตกต่างกัน โดยดูจากรอยโรคที่

เกิดขึ้น คือ โรคเหงือกอักเสบจะมีความผิดปกติ เฉพาะบริเวณของเหงือกเท่านั้น อาการที่พบคือ เหงือกบวมแดง และมีเลือดออกได้ง่าย ส่วนโรคปริทันต์นั้น เมื่อเป็นจะมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ ที่อยู่รอบๆ ฟัน คือ เหงือก เยื่อยึดปริทันต์ กระดูกเบ้าฟัน และเคลือบรากฟัน ซึ่งเป็นอวัยวะช่วยยึด ให้ฟันอยู่แน่นได้ โดยไม่โยก

ในระยะที่โรคปริทันต์ลุกลามไปมาก จะมีอาการให้เห็นอย่างชัดเจนคือ เหงือกบวม และมีหนองไหลออกมาจากร่องของเหงือก ฟันมักจะโยก บางครั้งมีอาการปวด และมักจะเป็นกับฟันหลายๆ ซี่ ในช่องปาก

 

 เหงือกมีเลือดออก

การมีเลือดออกจากเหงือก ภายหลังการแปรงฟัน ทั้งที่แปรงสีฟันไม่ได้กระแทกเหงือก ให้เกิด

บาดแผลเลยนั้น น่าจะเป็นผลมาจาก การเป็นโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของเหงือก ต่อสารระคายเคืองจากคราบจุลินทรีย์ ผิวของเหงือกมีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่มาหล่อเลี้ยง หรือมีเลือกคั่งอยู่ที่ผิวของเหงือกมากขึ้น ทำให้เหงือกบวมแดง เนื้อเยื่อที่ปกคลุมผิวเหงือก จึงบางขึ้น และฉีกขาดได้ง่าย ดังนั้น เมื่อได้รับการเสียดสีเพียงเล็กน้อย เช่น การแปรงฟัน ก็จะมีเลือดออก การเป็นโรคเหงือกอักเสบนี้ สามารถแก้ไขได้ ด้วยตนเอง โดยการแปรงฟัน ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน ช่วยทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ อันเป็นต้นเหตุของการเกิดโรค การดูความสะอาดในช่องปาก อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เหงือกกลับคืนสภาพปกติได้

 

 การรักษาความสะอาดช่องปาก

เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า แปรงฟันทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง ทำไมฟันจึงผุ ถ้าจะมาพิจารณา

กันอย่างละเอียด แล้วก็ คงจะตอบตัวเองกันได้นะว่า เราให้ความสนใจการแปรงฟันน้อยเกินไป บางคนนะแค่เอาแปรงสีฟันเข้าไปถูๆ ซ้ายที ขวาที แล้วก็เลิก แปรงสีฟันบางคนก็ใช้นานซะจนขนแปรงบาน จึงทำความสะอาดไม่ได้ดีเลย

 

แปรงฟัน ... อย่างมีประสิทธิภาพ

การแปรงฟันอย่างมีประสิทธิภาพ จะประกอบด้วยปัจจัย 5 ข้อ ดังนี้

  1. ขนแปรง : แปรงสีฟันที่ใช้ควรมีขนแปรงนุ่ม จะช่วยส่งเสริมให้แปรงฟันได้ โดยไม่ต้องออกแรงมาก สามารถป้องกันการสึกกร่อน และอาการเสียวฟัน ที่อาจเกิดต่อเนื่องได้ การแปรงฟันโดยแปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม จะช่วยให้ขนแปรงเข้าไปตามซอกฟัน ซึ่งเป็นที่สะสมของเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ได้ อย่างทั่วถึง ทำให้ทำความสะอาดได้ดีกว่า แต่จะต้องปรับอุปนิสัย และความเชื่อที่ว่า แปรงฟันแแรงๆ จึงจะสะอาด เปลี่ยนเป็น แปรงฟันด้วยขนแปรงนุ่ม จะสะอาดดีกว่า
  2. บริเวณที่ควรแปรงฟัน : แปรงฟันบริเวณขอบเหงือกเป็นพิเศษ บริเวณขอบเหงือก หรือรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน จะเป็นส่วนที่คราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และโรคฟันผุ สะสมได้ดีที่สุด ดังนั้น จึงเป็นบริเวณที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยการทำความสะอาดบริเวณนี้ ของเหงือกอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ การแปรงฟันโดยใช้ขนแปรงที่อ่อนนุ่ม กระทบขอบเหงือกเบาๆ ยังเป็นการกระตุ้นการทำงานของเหงือกด้วย ในรายที่เหงือกอักเสบ การแปรงฟันบริเวณขอบเหงือก อาจมีเลือดออกได้ แต่ถ้าอดทนแปรงต่อไป ในบริเวณนั้นอย่างต่อเนื่อง อาการเหงือกอักเสบ และเลือดออกขณะแปรงฟัน จะลดน้อยลง และหายไปในที่สุด ภายในเวลาไม่นาน
  3. ด้านของฟันที่ต้องแปรง : แปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ฟัน ทั้งด้านนอกและด้านใน ด้านนอกของฟัน ได้แก่ ด้านแก้ม คนส่วนใหญ่สามารถแปรงให้สะอาดได้ดี จะมีจุดอ่อนก็ตรงกระพุ้งแก้มด้านลึกสุด มักแปรงเข้าไปไม่ค่อยถึง ก็ทำให้ไม่สะอาดได้ และด้านในของฟัน ได้แก่ ด้านเพดานปาก สำหรับฟันบน หรือด้านลิ้น สำหรับฟันล่าง เป็นส่วนที่แปรงฟันไม่ค่อยถึงที่สุด เพราะว่าทุกด้านของฟัน จะเป็นที่สะสมคราบจุลินทรีย์ได้เหมือนๆ กัน จึงสมควรจะได้รับการทำความสะอาดเท่ากัน ทั้งด้านนอก และด้านในของฟันทุกซี่ในปาก การแปรงฟันที่ดี จึงต้องแปรงช้าๆ และทั่วถึง
  4. เวลาที่ใช้ : แปรงฟันให้นาน ครั้งละประมาณ 2 นาที เพราะโดยปกติแล้ว ความยาวของแปรงสีฟัน จะครอบคลุมฟันได้ครั้งละ 2-3 ซี่ ในขณะที่ฟันน้ำนมมี 20 ซี่ และฟันถาวรมี 32 ซี่ ซึ่งได้รับการแปรงฟันทั้งด้านนอก และด้านในทุกซี่อย่างทั่วถึง จะใช้เวลาประมาณ 2 นาทีขึ้นไป ดังนั้น การแปรงฟันอย่างรีบร้อน จะแปรงได้ไม่ทั่วถึง และไม่สะอาดเพียงพอ
  5. ยาสีฟัน : แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันที่ดี จะต้องมีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ในการป้องกันโรคฟันผุ และการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ควรจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ในการต่อต้านโรคฟันผุ ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ในเวลาประมาณ 2 นาทีดังกล่าว จะเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเกิดปฏิกิริยา ป้องกันฟันผุของฟลูออไรด์ด้วย

การแปรงฟันให้สะอาด อย่างทั่วถึง

ขั้นตอนการแปรงฟัน

  1. การจับแปรง เวลาจะแปรงฟันบน จับแปรงหงายขึ้น
    เวลาจะแปรงฟันล่าง จับแปรงคว่ำลง
  2. วิธีการแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง
  • วางแปรงแนบกับขอบเหงือก
  • เอียงขนแปรงเล็กน้อย
  • ขยับแปรง ไป-มา เล็กน้อย
  • หมุนข้อมือปัดขนแปรงจากเหงือก ผ่านตัวฟันโดยตลอด
  • ถ้าเป็นฟันบน ปัดลงล่าง ฟันล่าง ปัดขึ้นบน
  • แปรงให้ทั่วทุกซี่ ทั้งด้านนอก ด้านในของฟันบน และฟันล่าง ให้สะอาด
  • ส่วนด้านบดเคี้ยว ถูกไปมาตามแนวฟัน ทั้งซ้าย-ขวา จนสะอาด แต่ละครังควรใช้เวลาแปรงฟัน ประมาณ 2-3 นาที

 

 

การแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึง ในแต่ละบริเวณ ทำได้ดังนี้

 

 

 

แปรงด้านนอกของฟันบน หงายแปรงขึ้น สอดแปรงไว้ระหว่างกระพุ้งแก้ม และฟันบน ให้ด้านข้างของขนแปรง แนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรง อยู่เหนือขอบเหงือกเล็กน้อย วางทำมุม 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย และบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดลงล่าง จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟันในบริเวณนั้นโดยตลอด ให้แปรงซี่ในสุดออกมาข้างนอกจนทั่วทุกซี่

 

 

แปรงด้านในของฟันหลังบน หงายแปรงขึ้น สอดแปรงเข้าไปในช่องปากด้านเพดาน ให้ด้านข้างของขนแปรงแนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรงอยู่เหนือเหงือกเล็กน้อย เอียงทำมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย และบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดลงล่าง จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟัน ในบริเวณนั้นโดยตลอด

 

  

แปรงด้านนอกของฟันล่าง คว่ำแปรงลง สอดแปรงไว้ระหว่างกระพุ้งแก้มกับฟัน หันด้านข้างของขนแปรง ให้ปลายขนแปรงชิดกับขอบเหงือก วางมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย แล้วบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดขึ้นบน จากเหงือกผ่านซอกฟัน และตัวฟันในบริเวณนั้นโดยตลอด

 

 

แปรงด้านในของฟันหลังล่าง คว่ำแปรงลง สอดแปรงเข้าในช่องปาก ให้อยู่ระหว่างลิ้นกับฟัน วางด้านข้างของขนแปรง แนบบริเวณเหงือกและฟัน โดยปลายขนแปรงอยู่ต่ำจากขอบเหงือกเล็กน้อย เอียงทำมุมประมาณ 45 องศา ออกแรงกดเบาๆ ขยับแปรงไปมาเล็กน้อย แล้วบิดข้อมือให้ขนแปรงปัดขึ้นบน จากเหงือกผ่านซอกฟัน ในบริเวณนั้นโดยตลอด

 

แปรงด้านในของฟันหน้า สอดแปรงเข้าไปในช่องปาก ด้านในของฟันหน้าบน จับแปรงหงายขึ้น ให้ด้ามแปรงขนานกับตัวฟัน วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือก ปลายขนแปรงสัมผัสกับฟัน แล้วปัดขนแปรงจากขอบเหงือกลงมาถึงปลายฟัน ด้านในของฟันหน้าล่าง จับแปรงคว่ำลง ให้ด้ามแปรงขนานกับตัวฟัน วางขนแปรงบริเวณขอบเหงือก แล้วปัดขนแปรงจากขอบเหงือกขึ้นมา ถึงปลายฟัน

 

 

  

แปรงด้านบดเคี้ยว ฟันล่าง คว่ำแปรงลง วางแปรงด้านบดเคี้ยว ให้ขนแปรงสัมผัสกับตัวฟัน ออกแรงถู เข้า-ออก เบาๆ ในบริเวณนั้นโดยตลอด

ฟันบน หงานแปรงขึ้น ให้ขนแปรงสัมผัสกับด้านบดเคี้ยว ออกแรงถูก เข้า-ออกเบาๆ ในบริเวณนั้นโดยตลอด

 

 

ข้อควรจำ

  1. ควรแปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังรับประทานของหวาน
  2. ควรแปรงฟันให้ทั่วทั้งปาก ฟันบน ฟันล่าง ทุกด้าน และทุกซี่
  3. แปรงฟันด้านหนึ่งๆ ควรแปรงไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง และไม่ควรออกแรงมากเกินไป
  4. ใช้เวลาแปรงฟันประมาณ 2-3 นาที
  5. การแปรงฟันผิดวิธี เช่น การแปรงตามขวาง หรือขึ้นลงพร้อมกัน ทำให้เหงือกร่น และฟันสึกกร่อนมาก
  6. ทุกคนควรมีแปรงของตัวเอง ขนาดพอเหมาะกับปาก ขนแปรงไม่แข็งเกินไป

การใช้ไหมขัดฟัน

ไหมขัดฟัน เป็นเส้นใยไนล่อน มีทั้งชนิดเคลือบขี้ผึ้ง และไม่เคลือบ ชนิดเคลือบขี้ผึ้งยังมีกลิ่นต่างๆ อีก เช่น มิ้นท์ ซินนาม่อน

ซอกฟัน เป็นตำแหน่งที่เกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบได้มาก ทั้งนี้เพราะ มีคราบอาหาร หรือเศษอาหารที่ติดซอกฟัน และการแปรงฟัน หรือบ้วนน้ำ ไม่สามารถช่วยได้ เพราะขนแปรงเข้าไปทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง ปัญหานี้ไหมขัดฟันช่วยได้

เมื่อทำความสะอาดตรงนี้ได้ นอกจากจะช่วยป้องกัน โรคฟันผุ และเหงือกอักเสบแล้ว ยังช่วยลดกลิ่นปาก ที่เกิดจากเศษอาหาร ที่หมักหมมตามซอกฟันได้

การใช้ไหมขัดฟัน ใช้ง่าย ไม่เสียเวลา แม้แต่เวลานั่งดูรายการโทรทัศน์ ก็สามารถทำได้

วิธีใช้ไหมขัดฟัน มีดังนี้

  1. ดึงไหมขัดฟัน ยาวประมาณ 12-18 นิ้ว พันรอบนิ้วกลางทั้ง 2 ข้าง
  2. ดึงไหมขัดฟันให้ตึงด้วยนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ ไห้ไหมอยู่ระหว่างนิ้วทั้งสอง ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว
  3. ผ่านไหมขัดฟันเข้าที่ซอกฟัน ด้วยการขยับไปมาแบบเลื่อย ระวังอย่าให้เร็วมาก จนไหมกระแทกยอดเหงือก
  4. โอบไหมขัดฟัน กับฟันซี่หนึ่งให้แนบบริเวณคอฟัน สอดเข้าใต้เหงือกประมาณ 0.5 มม. แล้วขยับไหมขัดฟันขึ้นลง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์
  5. ทำแบบเดิมในฟันซี่ติดกัน เมื่อเสร็จจากซอกฟันแต่ละซอก เลื่อนไหมขัดฟัน จากนิ้วกลางข้างหนึ่ง ไปยังอีกข้างหนึ่ง เพื่อใช้ไหมขัดฟันที่สะอาด กับซอกฟันอื่นๆ ทำอย่างนี้ให้ครบ ทุกซี่ ทั้งฟันบน และล่าง

 

เคลือบหลุมร่องฟัน ... ป้องกันฟันผุ

ฟันกรามด้านบดเคี้ยว โดยเฉพาะฟันกรามที่ขึ้นมาใหม่ๆ จะเป็นบริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุได้มาก เพราะเป็นบริเวณที่มีร่องลึก เป็นที่สะสมของเศษอาหาร และคราบจุลินทรีย์ การเคลือบหลุมร่องฟัน ด้วยวิธีการใช้สารคล้ายพลาสติก ปิดทับร่องฟัน จะทำหน้าที่เหมือนเกราะคลุมอยู่บนร่องฟัน ป้องกันร่องฟัน ไม่ให้สัมผัสกับสภาพแวดล้อม ที่จะมีผลต่อการเกิดโรคฟันผุ และยังช่วยให้สามารถ ทำความสะอาดฟันที่ด้านบดเคี้ยว ได้ง่ายขึ้น

สารเคลือบร่องฟัน ที่ใช้กันโดยทั่วไป เรียกว่า ซีลแลนท์ มีลักษณะเป็นของเหลว สามารถนำใส่ในร่องฟันได้ และจะแข็งตัวในเวลาไม่นานนัก โดยการใช้สารเคมี หรือใช้แสงช่วยให้แข็งตัว มีคุณสมบัติยึดติดกับผิวฟันได้ดี จึงทำให้มีความคงอยู่ และปิดทับร่องฟันได้นาน ซีลแลนท์มีทั้งชนิดใส ไม่มีสี สีขาว หรือสีเหลือง

เวลาเคลือบร่องฟันที่เหมาะสมที่สุด คือ ช่วงเวลาที่ฟันกรามเพิ่งขึ้นมาใหม่ๆ และนิยมทำกับฟันกรามแท้ซี่แรก เนื่องจากผลการศึกษา พบว่า ฟันกรามแท้ที่ผุ ส่วนใหญ่คือ ฟันกรามแท้ซี่แรก และมักจะผุในปีแรกที่ฟันขึ้น ดังนั้น การเคลือบร่องฟัน จึงเคลือบในเด็กที่มีอายุประมาณ 6 ปี ซึ่งจะช่วยป้องกันฟันผุในฟันกรามซี่นี้ได้ดี

 

การใช้ฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์ เป็นสารช่วยป้องกัน หรือลดการผุของฟันได้ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผลต่อฟันเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. ขณะที่ฟันยังไม่ขึ้น และมีการสร้างตัวอยู่ในขากรรไกร สารฟลูออไรด์จะเข้าไปรวมตัวกับแร่ธาตุ ในส่วนที่จะเป็นผลึกของฟัน ทำให้ฟันมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น
  2. ในกรณีที่ฟันขึ้นแล้ว ฟลูออไรด์ช่วยทำให้เกิด กระบวนการคืนกลับของแร่ธาตุสู่ผิวเคลือบฟัน มีผลต่อการซ่อมแซมกระบวนการผุเริ่มแรกของฟัน ที่บริเวณเคลือบฟัน ให้คืนสู่สภาพปกติ และมีผลให้คราบจุลินทรีย์ ลดการสร้างกรดที่เป็นอันตรายต่อฟันด้วย

การนำฟลูอออไรด์มาใช้ ในการป้องกันฟันผุ มี 2 ลักษณะ คือ โดย การรับประทาน และ การสัมผัสผิวเคลือบฟัน ฟลูออไรด์ที่ใช้รับประทาน ส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบของยาเม็ดฟลูออไรด์ ยาน้ำฟลูออไรด์ วิตามินผสมฟลูออไรด์ การเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และในรูปแบบที่กำลังอยู่ระหว่าง การวิจัยทดลอง คือ นมฟลูออไรด์ การรับประทานฟลูออไรด์จะให้ผลดี กับฟันที่กำลังสร้างตัวอยู่ในขากรรไกร การรับประทานฟลูออไรด์ให้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ต้องใช้กับวัยเด็ก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 12 ปี ในส่วนของฟันที่ขึ้นมา ในช่องปากแล้ว จะใช้ฟลูออไรด์ในลักษณะ ให้สารฟลูออไรด์ได้สัมผัสกับผิวเคลือบฟัน เช่น การแปรงฟันด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ การใช้ยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ ซึ่งจะทำให้สภาพของช่องปาก ได้รับสารฟลูออไรด์ในความเข้มข้นต่ำๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงเพิ่มให้กับผิวฟันขึ้นได้ ... โดยเฉพาะการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์นั้น ไม่ควรบีบยาสีฟันใช้ในปริมาณมากเกินไป ให้ใช้เพียงขนาดที่เหมาะสม สำหรับการแปรงฟันแต่ละครั้งก็เพียงพอแล้ว

ในการใช้ฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุนั้น ต้องมีการควบคุม ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินความจำเป็น เพราะการได้รับฟลูออไรด์ปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว ก่อให้เกิดอันตรายอย่างเฉียบพลันได้ (ในเด็ก ปริมาณที่อันตราย คือ 5-30 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในผู้ใหญ่ ปริมาณที่อันตราย คือ 32-64 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) จึงต้องควบคุมปริมาณการใช้ ไม่ให้มากเกินไป และต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัยจากมือเด็ก

ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ปรึกษาทันตแพทย์ หรือศึกษา หาความรู้ที่ถูกต้อง ก่อนที่จะใช้ฟลูออไรด์นะคะ

 

อาหาร กับสุขภาพช่องปาก

เราควรกินอาหารให้ครบ อาหารหลัก 5 หมู่ เป็นประจำทุกวัน เพื่อสุขภาพ ฟัน เหงือก และร่างกาย

โดยเฉพาะอาหารที่มีแร่ธาตุแคลเซียม ฟลูออไรด์ และแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการเสริมสร้าง กระดูกและฟัน ซึ่งร่างกายจะได้รับโดยการกินอาหารพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ปลาที่กินได้ ทั้งกระดูก ผักสีเขียว และผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล

การเลือกรับประทานอาหาร จะเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเดียว คงไม่เป็นการเพียงพอ ควรคำนึงถึงลักษณะของอาหารด้วย เช่น

  1. รูปแบบของอาหาร อาหารที่ได้จากธรรมชาติ โดยตรงจากผัก ผลไม้ จะมีความหวานและติดฟันน้อยกว่าอาหารที่สังเคราะห์หรือสกัด เช่น ลูกอม ชอกโกแลต น้ำอัดลม น้ำหวาน เป็นต้น
  2. ความอ่อนนิ่มของอาหาร อาหารที่นิ่มๆ จะใช้แรงบดเคี้ยวเพียงเล็กน้อย เช่น ขนมปัง ขนมเค้ก จะติดฟันได้ง่าย ทำให้เกิดฟันผุได้
  3. อาหารรสเปรี้ยว มีกรดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ทำให้ฟันกร่อน เกิดอาการเสียวฟัน ควรงดอาหารประเภทนี้ หรือรับประทานแต่น้อย เพื่อสุขภาพฟันที่แข็งแรง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 389421เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 05:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท