ทำงานให้เป็นข่าว


 

วันที่ 18 - 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การบริการสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว ครั้งที่ 3 (The 3rd National Migrant Health Conference) ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ของการสัมมนา คือ  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบสถานการณ์นโยบาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดบริการสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าว การสัมมนาประกอบด้วย ปาฐกถาพิเศษ โดยผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ การประชุมห้องใหญ่ (Plenary Session) ที่นำเสนอในประเด็นสถานการณ์ นโยบายการทำงานสาธารณสุขต่างด้าว และบริการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชากรต่างด้าว ส่วนการประชุมห้องย่อยมีหลากหลายประเด็น เช่น บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริการสาธารณสุขต่างด้าว การจัดการด้าน การเงินการคลัง การค้ามนุษย์ อนามัยการเจริญพันธุ์ ประสบการณ์การจัดบริการสาธารณสุขต่างด้าว พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมลานชุมชนสะท้อนวิถีชีวิตคนต่างด้าว จำลองที่พัก การทำงาน วัฒนธรรมของชุมชนมอญ โดยการสาธิตการเล่นสะบ้า บริการอาหาร และการนำเสนอนวัตกรรมการทำงานเข้าถึงกลุ่มประชากรต่างด้าวในเขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร โดยการใช้ดนตรีพม่า และที่เก๋ไก๋ อีกห้องคือ ห้อง Skill Building  หรือเรียกว่า ห้องเสริมทักษะการทำงานที่นำเสนอ เรื่อง การทำงานให้เป็นข่าว  

ได้มีโอกาสเข้าฟังในห้องเสริมสร้างทักษะการทำงาน ที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Skill Building เรื่อง การทำงานให้เป็นข่าว หรือ How to convert your works to be attractive news โดย คุณเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อมวลชนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการรับรู้ของคนในสังคม หลายหน่วยงานใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่งานของตนเอง การหวังพึ่งพิงสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีทักษะและเทคนิคบางอย่าง โดย คุณเอกลักษณ์ วิทยากรในวันนั้นได้เสนอแนะเทคนิคไว้ ดังนี้

1. สร้างวาทกรรมที่สั้น และเข้าใจง่าย โดยดูว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง และนำเสนอให้เป็นเชิงบวกกับหน่วยงานหรือองค์กรของเรา คุณเอกลักษณ์ ได้ยกประเด็นของการค้ามนุษย์ นำเด็กทารกมาขอทาน และใช้วาทกรรมสั้น ๆ ที่ว่า “หยุดสร้างบุญ ในธุรกิจบาป” ติดตามดูรายละเอียดได้ที่ www.mirror.or.th

2. ร่วมมือกับคู่ค้าหรือคู่แข่ง สร้างประโยชน์ร่วมกันโดยการผนึกกำลังกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานแบบเดียวกันกับเรา หรือคล้ายกับเรา เป็นการสร้างน้ำหนักให้เพียงพอในประเด็นที่เราต้องการนำเสนอ

 

3. เช็คเรทติ้ง โดยเข้าไปที่ www.google.go.th แล้วใส่ Keyword ที่เป็นประเด็นงานของเรา และเช็คดูว่าเราอยู่ในระดับต้น ๆ ของการค้นหาหรือไม่ โดยมีเทคนิคว่า เวลาเขียนประเด็นงานของเราใน website ของเรา ต้องใส่คำหรือประเด็นที่เราต้องการสื่อ ลงใน websiteมาก ๆ เขียนซ้ำ ๆ เวลามีคนต้องการค้นหาคำนี้ website ของเราก็จะขึ้นเป็นผลการค้นหาในลำดับต้น ๆ อย่างเช่น ผู้เขียน เขียน Webblog ส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ หากเข้า google search คำว่า ส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ Webblog ของเราก็อยู่ในระดับต้น ๆ เช่นกัน

 4. การสื่อสารสาธารณะ Website หน่วยงานของเราต้องมีการ update ทุกวัน web ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว คนดูจะรู้สึกเบื่อเหน่ายและจะไม่สนใจเข้ามาดูอีก จึงต้องมีการนำเสนอข่าวประจำวัน หรือตั้งกระทู้ทุกวัน นำเสนอข้อมูลหรือสถิติที่สำคัญ ทำให้ Website น่าสนใจและนำติดตาม

5. นักพัฒนาต้องเป็นนักเขียน ต้องหมั่นถอดบทเรียนงานของตนเอง แล้วสื่อสารลงในอินเตอร์เน็ต หรือ mail ส่งให้กับนักข่าว

ลง Internet e-mail ส่งนักข่าว อ่านออก TV / วิทยุ

การ e-mail ส่งมีเทคนิคเล็ก ๆ ที่ไม่ควรละเลย คือ signature ที่ควรระบุชื่อ – นามสกุลผู้ส่ง หน่วยงาน หมายเลขโทรศัพท์ และ e-mail address ทุกครั้ง เทคนิคการเขียนประเด็นต่าง ๆ นักพัฒนาต้องรู้จักการบริหารจัดการข้อมูล และส่งประเด็นให้สอดคล้องกับเหตุการณ์หรือวันสำคัญในช่วงนั้น ๆ เช่น

เดือนกุมภาพันธ์ - วันวาเลนไทน์ สื่อสารเรื่อง โรคเอดส์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

เดือนมีนาคม - วันเคลื่อนย้ายแรงงาน สื่อสารเรื่อง การค้ามนุษย์

เดือนเมษายน - วันครอบครัว สื่อสารเรื่อง คนหาย (เด็กหาย)

เดือนพฤษภาคม - วันแรงงาน สื่อสารเรื่อง แรงงาน เป็นต้น

6. การผลิตสื่อเองง่าย ๆ โดยคุณเอกลักษณ์ ยกตัวอย่าง clip vedio ที่เกี่ยวกับโครงการคอมพิวเตอร์ เพื่อน้อง เยี่ยมชมได้ที่ www.mirror.or.th

7. การเชื่อมต่อข้อมูลด้วยสังคม online คุณเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างสังคม online ใน facebook โดยใส่ประเด็นสั้น ๆ ที่ต้องการสื่อสารให้สังคมรับรู้ ต้องได้รับการตอบรับ แสดงความคิดเห็น จากผู้คนทั่วไปและสื่อมวลชน ที่เป็นสมาชิก คุณเอกลักษณ์ ใช้คำว่า “โยนหินให้น้ำกระเพื่อม”



เทคนิคต่าง ๆ นี้ คุณเอกลักษณ์ นำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งดูว่าไม่น่าจะยากสำหรับ

นักสาธารณสุขอย่างเราเรา น่าจะลองเอาไปใช้ดูบ้าง เผื่อจะทำงานส่งเสริมสุขภาพที่เคยพูดกันว่า ทำงานส่งเสริมสุขภาพ เหมือนทำงานปิดทองหลังพระ จะออกมาอยู่แนวหน้าได้บ้าง

หมายเลขบันทึก: 389410เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบคำว่าโยนหินให้น้ำกระเพื่อม ครับ การประชาสัมพันธ์ควรมีลักษณะดังนี้ครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาเยี่ยมชมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท