ประวัติพระบรมธาตุ


ประวัติพระบรมธาตุ
 ประวัติพระบรมธาตุ
 … พระยาลือไทยราช  ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย  เป็นหลานแก่พระยารามราช  เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขไทย ได้ราชาภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยาขึ้น  ชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราชหากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น  พระมหาธาตุอันนี้ใช้ธาตุอันสามานต์ คือ พระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดายเอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญขุนมาราธิราชได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้ามาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้  "ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรี-มหาโพธิ์นี้ว่าไซร้มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอ ดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล…"
ข้อความจากจารึกนครชุมที่คัดมาได้บอกประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุได้ชัดเจนที่สุดเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ มีอายุเก่าแก่กว่า ๖๔๒ ปี คือตั้งแต่่
พ.ศ.๑๙๐๐ สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งสุโขทัย
       วัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชร วัดพระบรมธาตุขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อ พ.ศ.๑๘๕๘ ในสมัยต้นกรุงสุโขทัย เมื่อตีความจากจารึกนครชุม วัดพระบรมธาตุควรจะสร้าง เมื่อ พ.ศ.๑๗๖๒ ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  เจดีย์มหาธาตุเมืองนครชุมเดิมมีสามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหงและพญาลิไทสร้างเป็นพุทธเจดีย์ประจำพระองค์
       วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากว่า ๒๐๐ ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะ ล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม  เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชร ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า ๓๐๐ ปี จนกระทั่งถึงต้นกรุง-  รัตนโกสินทร์วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ณ เมืองกำแพงเพชร  ความว่า…
       ใน พ.ศ.๒๓๒๙ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตารามได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
       ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง  พบเจดีย์ตามจารึกจริงและปฏิสังขรณ์ขึ้น
       ในปี พ.ศ.๒๔๑๔ แซภอ (แซงพอ หรือพระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาจะบูรณะปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้ดังปรากฎสำเนาสารตราจากสมุหนายก  ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนี้
       
      สารตราพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปราการมพาหุมาถึงพระยาจ่าแสนเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระยากำแพงเพชรมีใบบอกลงไปว่า
               … แซภอ …  เข้ามาทำหนังสือสัญญาขอทำไม้ขอนสัก ณ ป่าคลองสวนหมาก คลองวังเจ้า คลองประกัง แขวงเมืองกำแพงเพชร ได้ผลประโยชน์มาก แซภอ มีใจศรัทธาอยากจะสร้างพระเจดีย์ก่อสวมพระเจดีย์เก่า ทีวัดพระธาตุหน้าเมืองกำแพงเพชร ฝั่งตะวันตก แซภอ ได้จ้างราษฎรทำอิฐเก้าหมื่นสิ้นเงิน ๔๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท จะก่อสวมพระเจดีย์เก่าลงทั้งสามองค์ กว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๕ วา ชักเป็น ๔ เหลี่ยม มีมุข ๔ ด้าน แล้วจะก่อเจดีย์บนมุขด้านละองค์ ขอพระราช-ทานที่ดินก่อกำแพงรอบพระเจดีย์หน้าสามศอก สองสี่ศอก ห่างพระเจดีย์ออกไปอีก ๑๐ วา จะเอาช่างเมืองนอกมาก่อจะลงมือกระทุ้งราก ณ เดือนหก ข้างขึ้นปีวอกจัตวาศก แต่รูปพระเจดีย์เก่าที่ชำรุดหักพังนั้น  ได้นำแผนที่ถ่ายตัวอย่างให้ข้าหลวงชำนาญภาษาลงไปนั้น ได้แจ้งตามบอกแล้ว จึงให้พระเสนาปลัดทูลฉลอง มหาดไทยฝ่ายเหนือ บอกเสนอท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราช-การแผ่นดิน ท่านเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก ได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า แซภอ กระเหรี่ยงมาทำป่าไม้ขอนสักแขวงเมืองกำแพงเพชร  มีทุนรอนมากมีใจศรัทธาที่จะสถาปนาพระเจดีย์เก่า ทำมุขก่อกำแพงสวมพระเจดียธาตุนั้น เป็นกองการกุศลของ แซภอ ต่อไปในพระพุทธศาสนาจะได้เป็นที่สักการะบูชาต่อไป
       ต่อมา พ.ศ.๒๔๑๘ แซภอถึงแก่กรรมการปฏิสังขรณ์ชะงักไป จนถึง พ.ศ.๒๔๗๗-๒๔๘๘ พะโป้จึงรวบรวมทุนทรัพย์ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ จนสำเร็จและยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเดือน ๖ พ.ศ.๒๔๔๙ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร เพียง ๓ เดือน พระองค์ทรางมีพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า
       พระเจดีย์นี้ทาสีเหลือง มีลายปูนขาวแลดูในน้ำงามดี พะโป้ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายพระราชกุศล เล่ารายละเอียดในการบูรณะว่า
       ข้าพระพุทธเจ้า นายร้อย พะโป้ ผัวทองย้อยภรรยา ข้าพระพุทธเจ้าชาติกะเหรี่ยงคนในบังคับอังกฤษ  แต่ทองย้อยภรรยาเป็นคนสยาม ตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลคลองสวนหมาก ท้องที่อำเภอเมือง แขวงเมืองกำแพงเพชร  ขอถวายรายงานทูลเกล้า ถวายพระราชกุศลการปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุยื่นต่อพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอฝ่าพระบาทได้ทรงตรวจดูเห็นไม่มีโทษแล้วขอให้ทรงนำขึ้นกราบบังคมทูล  พระกรุณาใต้ฝ่าละอองธุลี- พระบาททรงทราบ
       ข้อ ๑ เดิมช้านานประมาณ ๓๗ ปีมาแล้ว พระยาตะก่าชาติกะเหรี่ยง พี่ชายข้าพระพุทธเจ้าได้ก่อสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ ไว้ที่ตำบลพระบรมธาตุ แขวงเมืองกำแพงเพชร แต่ยังหาทันสำเร็จไม่ พระยาตะก่าถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่นั้นมาก็หาจะมีผู้ใดจะปฏิสังขรณ์ขึ้นไม่
       
       ข้อ ๒ ครั้ง ศก ๑๒๓-๑๒๔ ข้าพระพุทธเจ้ามีศรัทธา ได้ออกทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้า ๑๕,๐๐๐ บาท เมื่อศก ๑๒๓ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนครชัยศรีทรงโมทนาในพระบรมธาตุ ๑๐๐ บาท เมื่อศก ๑๒๔ พระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงโมทนาในพระบรมธาตุ  ๑๐๐ บาท เมื่อ ศก ๑๒๔ พระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ทรงโมทนาในพระบรมธาตุ ๒๐ บาท พระวิเชียรปราการผู้ว่าราชการเมือง  โมทนา ๑๐๐ บาท นายบุญเจ้าพนักงานสรรพากรเมืองกำแพงเพชร ๒๐ บาท หลวงประชุมเมืองชัยนาท ๘๐ บาท จีนล่ำซำ ๑๐๐ บาท พระครูเมธีคณานุ-รักษ์ เจ้าอธิการวัดนี้ ๑๒๐ บาท นายวัน อำแดงไทย ๑๐๐ บาท นายชุ่ม อำแดงวิง ๑๐๐ บาท พระครูวิเศษ แขวงพรานกระต่ายกับข้าพระพุทธเจ้า เป็นหัวหน้าเรี่ยราย ได้เงิน ๑,๕๐๐ บาท รวมเป็นเงิน
ทั้งสิ้น ๑๕,๕๐๐ บาท
       ข้อ ๓ เมื่อต้นเดือนเมษายน ศกนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้จ้างคนออกไปซื้อยอดพระบรมธาตุมาจากเมืองย่างกุ้ง เป็นราคา ๑,๗๐๐ บาท เมื่อเดือกหกศกนี้ขึ้น ๑๕ ค้ำ ได้ประชุมมหาชนบรรดาที่ศรัทธาในพระบรมธาตุ ยกยอดพระบรมธาตุทำการมหกรรมมีมโหสพฉลอง ได้มีพระธรรมเทศนาสังคายนา          และมีพระไตรลักษณ์พระจตุราริยสัจ รวม ๓ วัน เป็นการฉลองได้ถวายไทยทานแก่
พระสงฆ์ ๓๘๐ รูป ทั้ง ๓ วัน ตามกำลังศรัทธาของข้าพระพุทธเจ้าและมหาชนทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระราชกุศล
       นอกจากหลักฐานจากจารึกนครชุม และจดหมายเหตุใบบอกของพระยาตะก่าและนายร้อยพะโป้แล้ว  ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากวรรณกรรมทุ่งมหาราชของนายมาลัย  ชูพินิจ นักประพันธ์ชาวกำแพงเพชร ที่เติบโตจากลุ่มน้ำคลองสวนหมากข้างวัดพระบรมธาตุนี้เอง ประพันธ์ไว้ว่า
       … แต่ก่อนที่นี้มีพระเจดีย์อยู่สามองค์ไม่มีใครรู้ว่ามีมาแต่ครั้งไหน ไม่มีใครรู้ว่ามีใครมา สร้างไว้นอกจากชาดกเรื่องปรำปรา หรือเรื่องเทพนิยายแต่ทุกคนรู้ว่าใครเป็นผู้มารวมพระเจดีย์สามองค์ขึ้น สร้างเป็นองค์เดียวทุกคนรู้ว่าใครยกยอดฉัตรทอง แต่ก่อนมาข้ามองแล้วเกิดอัศจรรย์ใจว่าสุดวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาสามัญสมัยนี้จะทำอย่างนั้นได้มาเมื่อกี้นี้เองทันใดที่ก้มกราบองค์พระข้าก็ได้นึกพะโป้ภายหลังได้พูดจากับแกครั้งนั้นแล้วข้าคิดว่า ข้าเข้าใจว่าทำไมพระองค์นี้ จึงเป็นเจดีย์ใหญ่มหึมาขึ้นมาได้  และทำไมการยกยอดฉัตรทองจึงสำเร็จคนอย่างพระยาตะก่าพี่ พะโป้ น้องหาอีกไม่ได้ในชาตินี้ แกไม่ใช่คนไทยแต่แกก็รักเมืองไทย รักคนไทยเพราะมันเป็นถิ่นฐานที่สร้างแกขึ้นมา
       จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ทรงบันทึกถึงวัดพระบรมธาตุไว้ว่า …
       … ครั้งแรกที่ได้พบพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้เดิม ณ ปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (พ.ศ.๒๓๔๒)  สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆังกรุงเทพฯ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นจารึกอักษรไทยที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จได้ความว่ามีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ริมน้ำปิงฝั่งตะวันตก  ตรงข้ามเมืองเก่า ๓ องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง(น้อย)  ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลาจึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่พบมี ๓ องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุชำรุดบ้างทั้ง ๓ องค์
       จากหลักฐานบันทึกการตรวจการณ์คณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๖ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิชรญาณวโรรส ว่าเสด็จทอดพระเนตรโบสถ์ โบสถ์เล็กเตี้ย ฝาผนังตึก ในโบสถ์ไม่มีพระประธานเมื่อทรงสักการะแล้วดำรัสสั่งให้พระครูเมธีคุณานุรักษ์เชิญพระพุทธรูปที่บ้านโคน องค์ที่ทรงเลือกไว้มาประดิษฐาน ณ อุโบสถนี้
 
จากหลักฐานที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือว่าด้วยระยะทางล่องลำน้ำปิง ดังนี้
       กลับมาแวะที่วัดมหาธาตุ ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๓ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ซึ่งอยู่ในพระหอสมุดฯ ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทราบว่าเดิมอยู่ที่ไหน ได้ทราบจากพระครูชัดเจนว่าศิลาจารึกแผ่นนั้นเดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้เองตั้งอยู่ที่มุขเด็จ วิหารหลวงภายหลังผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร เอาไปรักษาที่วัดเสด็จแล้วจึงส่งลงไปกรุงเทพฯ พระครูได้พาไปดูฐานที่ตั้งศิลาจารึกแผ่นนั้นยังคงอยู่ที่มุขเด็จ เป็นศิลาแลงแท่งใหญ่  พิเคราะห์ดูช่องเฉพาะฝั่งโคนศิลาจารึก พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับขนาดศิลาจารึกแผ่นนั้น พระมหาธรรมราชาลิไท ทำไว้ที่วัดนี้ และเมืองนี้ครั้งสมัยสุโขทัย เรียกว่า เมืองนครชุมไม่มีที่สงสัย วิหารหลวงหลังนี้เป็นวิหารเก้าห้อง ก่อด้วยแลงมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงทั้งแท่ง พระครูบอกว่าเดิมกำแพงเพชรชำรุดหักพังก้อนศิลาแลงกองเกลื่อนกลาดอยู่  เมื่อซ่อมพระมหาธาตุผู้ซ่อมเอาช้างลากก้อนแลงเหล่านั้นลงไปทิ้งน้ำทำเขื่อนกันน้ำเซาะยังปรากฎจนทุกวันนี้  องค์พระมหาธาตุนั้นพระครูบอกว่าฐานล่างเป็นศิลาแลง  ส่วนพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐแบบอย่างเจดีย์สุโขทัย ๓ องค์  อยู่กลางตรงศูนย์กลางพระวิหารองค์หนึ่ง ต่อมาทางตะวันออกองค์หนึ่ง ทางตะวันตกวิหารองค์หนึ่งบนฐานใหญ่เดียวกัน  อยู่มามีพม่าพ่อค้าไม้คนหนึ่งเรียกกันว่าพระยาตะก่าขออนุญาตปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ  ครั้นได้รับอนุญาตจากกรุงเทพแล้ว พม่าคนนั้นศรัทธาทำ  พระเจดีย์ใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม จึงรื้อพระเจดีย์เดิมเสียทั้ง ๓ องค์ เมื่อรื้อนั้นได้พบพระบรมธาตุในเจดีย์องค์กลางใส่ภาชนะทำเป็นรูปสำเภาบรรจุไว้มีพระธาตุ ๙ องค์ พระครูได้ทันเห็นแล้วจึงเอาเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ใหม่ ซึ่งพม่าผู้ศรัทธานั้นสร้างตามพระเจดีย์พม่า  ก็ไม่เห็นเจ้าเมืองห้ามปราม พระมหาธาตุ เมืองกำแพงเพชร จนกลายเป็นพระเจดีย์พม่าอยู่จนบัดนี้  เจ้าคณะจังหวัดอยู่วัดนี้มีงานไหว้พระบรมธาตุเป็นงานประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงแรม ๑๕ ค่ำ
       วัดพระบรมธาตุนครชุม  มีหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ ที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่าเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครชุมอย่างแท้จริง
       ปัจจุบัน  วัดพระบรมธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญได้รับการสถาปนา ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙  ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  ครั้งหลังเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุ และสารเณร
       วัดพระบรมธาตุเป็นหลักใจ  และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครชุมและชาวกำแพงเพชรอย่างแท้จริง
       วัดพระบรมธาตุตั้งอยู่เลขที่ ๑๕/๑๑ หมู่ ๓ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๒ งาน พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำปิง ทางฝั่งใต้ (ขณะนี้ติดคลองสวนหมาก)  อาคารเสนาสนะต่างๆ  มีพระอุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นอาคารคอนกรีต มีพระวิหารสร้างใหม่ ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ กุฎิสงฆ์ จำนวน ๒๓ หลัง เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น ๑ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒๑ หลัง อาคารไม้ ๑ หลัง
 
 
หมายเลขบันทึก: 389335เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีนะทำให้ได้รู้ถึงประวัติพระบรมธาตุด้วย

เราก็เคนไปนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท