ล้าทางความคิด...จิตเร่งอารมณ์ล้า


ขอบคุณกรณีศึกษาและนักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการประเมินการรู้คิดและวิเคราะห์ผลของการทำกิจกรรมการรู้คิดที่เห็นผลลัพธ์น่าสนใจ

กรณีศึกษาท่านหนึ่งได้เคยรับการตรวจประเมินการรู้คิดจากนักกิจกรรมบำบัดและได้ฝึกฝนการระลึกจำและคำนวณตัวเลขทันทีแบบย้อนกลับในขณะที่ผ่อนคลายจากการทำงานประจำ ซึ่งกรณีศึกษารู้สึกว่า "ความคิดเร็วขึ้นเล็กน้อย แต่บางครั้งเมื่อไม่ได้ฝึกสมอง ความระลึกจำก็ทำงานไม่ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อมีข้อมูลมากๆ เร่งรัดในขั้นตอนการทำงาน"

ผมจึงแนะนำให้นักกิจกรรมบำบัดตรวจประเมินการรู้คิดด้วยแบบทดสอบมาตราฐาน พบว่า กรณีศึกษามีแนวโน้มรับรู้รายละเอียดของข้อมูลมิติสัมพันธ์แบบสองมิติที่พอใช้ และมีความกังวลคาดการณ์ข้อมูลมากเกินไปจนทำให้ระลึกจำข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน นั่นคือ จดจำข้อมูลได้ในส่วนลึกของสมองจากระบบการมองเห็นและการได้ยิน แต่การระลึกข้อมูลมาใช้ทันทีนั้นจะต้องฝึกจิตให้นิ่ง ผ่อนคลาย และค่อยๆ รับรู้ความคิดที่ง่ายและเป็นลำดับ ทั้งนี้กรณีศึกษามีความล้าทางความคิดระดับปานกลางจนเริ่มแสดงความล้าทางจิตใจระดับเล็กน้อย เช่น กังวล ตื่นเต้น ย้ำคิดจนไม่มั่นใจในความคิดของตนเอง เป็นต้น

ดังนั้นผมจึงแนะนำกระบวนการฝึกกิจกรรมบำบัดความล้าในอีกมิติหนึ่ง ที่เน้นการจัดการความคิด (ผ่านทักษะการจดจ่อและการแก้ไขปัญหา) ร่วมกับการฝึกจิตใจให้ผ่อนคลายในหนึ่งกิจกรรม คือ การพลิกธนบัตรกระดาษที่สุ่มจำนวนเงินวางคว่ำหน้าตัวเลขบนโต๊ะจำนวน 12 ใบ วางเป็น 4 แถวแนวนอนกับ 3 แถวแนวตั้ง โดยแต่ละครั้ง กรณีศึกษาต้องคิดหาวิธีที่พลิกธนบัตรเพื่อจำตัวเลขแล้วคำนวณจำนวนเงินทั้งหมด โดยคิดในใจ หรือ/และ กดเครื่องคิดเลข และต้องไม่เปิดธนบัตรหงายหน้าตัวเลขให้เห็น 12 ใบ นักกิจกรรมบำบัดจะบันทึกเวลาทันทีที่กรณีศึกษาบอกจำนวนเงิน จากนั้นผมจึงตั้งเป้าหมายให้กรณีศึกษาพยายามทำให้ดีที่สุด (จำนวนเงินถูกต้องในเวลาสั้น) 10 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่      วิธีการที่กรณีศึกษาคิดและทำ   จำนวนเงิน (บาท)            เวลา (วินาที) 

1            เปิดปิดทีละใบ-จำ-คิดในใจ      1,890                          60

2            เปิดหมด-จำ-คิดในใจ             1,890                          29   

              (ผิดเงื่อนไข-เปิด 12 ใบ)

3-5         เปิดปิดแนวตั้ง/แนวนอน-จำ-     1,890, 1,890, 1,890      35, 30, 29

              คิดในใจ-กดเครื่องคิดเลข  

6-8         ผมใบ้ให้เปิดได้ 11 ใบ             1,890, 1,890, 1,940       60, 40, 35 

              -จำ-คิดในใจ-กดเครื่องคิดเลข

9            เปิดแนวตั้ง-ปิดหนึ่งใบสุดท้าย   1,890                           25

              -จำ-คิดในใจ-กดเครื่องคิดเลข

10          ผมใบ้ให้จัดหมวดตัวเลข-จำ-     2,240                           29

             คิดในใจ-กดเครื่องคิดเลข-ปิดหนึ่งใบสุดท้าย        

11-13     หลังจากฝึกผ่อนคลายจิต-        1,890,1,890,1,890          15, 24, 24

             จัดหมวดตัวเลข-จำ-คิดในใจ-กดเครื่องคิดเลข-ปิดหนึ่งใบสุดท้าย  

หมดจำนวนครั้งที่ให้โอกาสพยายามฝึกรู้คิด พบว่า กรณีศึกษามีความล้าทางการรู้คิด เมื่อผมเริ่มใบ้ให้ขึ้นวิธีการใหม่ๆ ในครั้งที่ 6 เป็นต้นมา แม้ว่ากรณีศึกษาจะคิดจำนวนเงินถูกต้องและเร็วที่สุดในครั้งที่ 9 ด้วยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่ยังคงมีความล้าทางการรู้คิดและจิตใจกังวลในเวลาที่คาดหวังไว้สูง (จากการสอบถามความคิดหลังครั้งที่ 10) นั่นคือ กรณีศึกษาจัดการความล้าทางการรู้คิดได้ในระดับหนึ่งในครั้งที่ 9 แต่ยังคงล้าทางการรู้คิด (6/10) และเริ่มมีความล้าทางจิตใจ (กังวลเรื่องเวลา) ตามมาในครั้งที่ 10  

ผมจึงแนะนำให้กรณีศึกษาฟังความคิดเห็นจากนักกิจกรรมบำบัดอีกท่านหนึ่งที่สังเกตการณ์และจับเวลา โดยแนะนำว่า "กรณีศึกษามีการจับธนบัตรกระดาษขึ้นมาจ้องดู ทำให้เสียเวลาในการทำกิจกรรม" และผมก็เสนอให้กรณีศึกษาลองผ่อนคลายจิตด้วยวิธีหลับตาและสื่อสารกับความคิดของตนเองอย่างสงบในสองประเด็น คือ ค่อยๆ คิดวิธีการที่น่าจะทำได้อย่างมั่นใจที่สุด ทำสบายๆ ไม่กังวลหรือคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นใดๆ กับ ค่อยๆ ทบทวนความคิดและการกระทำใน 10 ครั้งที่ผ่านมาแบบย้อนกลับ แล้วลองเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยความสุขและความสามารถระลึกข้อมูลให้ดีที่สุด จากนั้นผมจึงให้โอกาสกรณีศึกษาอีก 3 ครั้งสุดท้าย พบการเปลี่ยนแปลงความสามารถที่ดีขึ้นในสุขภาวะที่จัดการความล้าทั้งการรู้คิดและการควบคุมจิตใจอารมณ์ (ดูจากครั้งที่ 11 ล้าระดับ 4/10)

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษาไม่สามารถคงไว้ในความสามารถจัดการความล้าในครั้งที่ 12-13 ซึ่งต้องฝึนฝนสุขภาวะทางการรู้คิดและการผ่อนคลายจิตใจอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน โดยผมขอให้กรณีศึกษาสำรวจวิธีการที่น่าจะทำได้จริงด้วยตนเอง มีการสังเกตแล้วลองฝึกฝนในระหว่างหนึ่งอาทิตย์นี้ แล้วขอรบกวนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบันทึกนี้ต่อไป...  

หมายเลขบันทึก: 389064เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2010 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่าน Dr. Popที่นับถือ

  • ขอมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ
  • ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ มีประโยชน์มากค่ะ

ขอบคุณมากครับคุณยาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท