นปส.55 (31): โลกกว้างใบเล็ก


คำขวัญเชียงราย “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง”

ปลายสัปดาห์ที่ 10 คณะนักศึกษาหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 55 วิทยาลัยมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย ได้ออกปฏิบัติการเรียนรู้ภาคสนามครั้งที่ 2 ด้วยการไปทัศนศึกษาจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย 1 แห่งคือเชียงรายพร้อมกับพื้นที่ต่างประเทศ 3 ประเทศคือแขวงท่าขี้เหล็ก สหภาพเมียนมาร์ แขวงบ่อแล้วและแขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนชาว (ลาว) และเขตปกครองตนเองชาวไท สิบสองปันนา (จังหวัดเชียงรุ้ง) สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) 

การศึกษาดูงานดังกล่าวนี้ อาจารย์ได้มอบหมายให้แต่ละกลุ่มนำข้อมูลจากการฟังคำบรรยาย เอกสารที่ได้รับคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องและการได้สังเกตการณ์จากการสัมผัสพื้นที่จริง มาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ 4 ประเด็น คือ

ส่วนที่ 1         เนื้อหาสาระการศึกษาดูงาน

ส่วนที่ 2             สิ่งที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน

ส่วนที่ 3             บทวิเคราะห์บทเรียนจากการศึกษาดูงาน

ส่วนที่ 4             ข้อเสนอแนะเชิงสร้างสรรค์

ทั้งนี้ในส่วนที่ 1 เป็นข้อมูลที่สรุปที่ได้ทั้งจากการฟังคำบรรยาย ซักถาม สังเกต การลงพื้นที่จากผู้เกี่ยวข้องรวมกับการทบทวนเอกสาร ส่วนที่ 2-4 เป็นผลสรุปจากการรับรู้ คิด วิเคราะห์ อภิปราย สรุปประเด็นและสังเคราะห์ขึ้นจากมุมมองของแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ

เส้นทางการดูงานครั้งนี้ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งมุมมองในระดับสากลตามการเรียนรู้ในหมวดวิชาที่ 3 (ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงคือพม่า ลาวและเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของโลกคือจีน) และมุมมองในระดับประเทศไทย ตามหมวดวิชาที่ 3 กำหนดการเดินทางตั้งแต่ 23-26 มิถุนายน 2553

วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2553 ตื่นแต่เช้า เราออกเดินทางด้วยรถบัส 2 คัน จากวิทยาลัยมหาดไทย บางละมุงไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผมจอดรถยนต์ไว้ที่วิท’ลัย ระหว่างทางบนมอเตอร์เวย์ รถถูกตำรวจทางหลวงจับในข้อหาวิ่งเลนขวาสุดตลอด แต่ก็พูดคุยกันได้เพราะเราต้องรีบเดินทางไปขึ้นเครื่องบินและถนนก็โล่งมีรถยนต์ไม่มากนัก ถึงสนามบินฯราว 7 โมงเช้า รีบไปเช็คอินและเข้าไปนั่งรอที่ประตูทางออกและขึ้นเครื่องบินตอน 8 โมงเช้าจนถึงสนามบินนานาชาติเชียงราย มีรถตู้มารับพร้อมกับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากพี่ตุ้ม (รัชกฤช)

เชียงราย จังหวัดทางเหนือสุดของประเทศไทย ทิศเหนือจรดแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า โดยมีทางหลวงแผ่นดินทะลุผ่านถึงกัน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกจดทิวเขาหลวงพระบางซึ่งปันเขตแดนไทยกับลาว และติดต่อกับจังหวัดพะเยา ทิศใต้กับจังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง และเชียงใหม่ ทิศตะวันตกกับจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเมืองหนึ่งของประเทศไทย และเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจีนตอนใต้-อินโดจีน

แนวเขตชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า ด้านอำเภอแม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง และเชียงแสน รวม 130 กิโลเมตร แยกเป็นแนวภูเขา 100 กิโลเมตร แนวแม่น้ำสาย 10 กิโลเมตร และแนวแม่น้ำรวก 20 กิโลเมตร แนวเขตชายแดนติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีระยะทาง 180 กิโลเมตร โดยเป็นแนวแม่น้ำโขง 90 กิโลเมตร และแนวภูเขา 94 กิโลเมตร

พ่อขุนเม็งรายสร้างเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 1805 และครองราชสมบัติอยู่จนถึง พ.ศ. 1839 จึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในท้องที่ระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง และครองราชสมบัติอยู่เมืองเชียงใหม่จนถึง พ.ศ. 1860 จึงสวรรคต ส่วนเมืองเชียงรายนั้นให้พระราชโอรสคือ ขุนคราม (พระไชยสงคราม) ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมาและขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ ต่อมาแคว้นล้านนาไทยตกอยู่ในปกครองของพม่า พม่าได้ส่งขุนนางมอญคือพระยาชิตวงศ์มาปกครองเมืองเชียงรายและสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. 2329

พ.ศ. 2330 พม่ายกกองทัพจากแคว้นเชียงตุงลงมา ตีได้เมืองเชียงแสนและเมืองเชียงราย ทัพเมืองฝางเข้าสมทบทัพพม่า และทัพพม่าผ่านเมืองพะเยาลงมาตีเมืองลำปาง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป นับแต่นั้นเมืองเชียงรายก็ร้างไปถึง พ.ศ. 2386 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ตั้งเมืองเชียงรายขึ้นเป็นเมืองในสังกัดเมืองเชียงใหม่ กระทั่ง พ.ศ. 2453 จึงมีพระราชบัญญัติยกเมืองเชียงรายขึ้นเป็นจังหวัด

ภูมิประเทศ เป็นป่าไม้และเทือกเขาสูง ทำให้ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมจากทะเลน้อยมาก และยังผลให้ฤดูร้อนกับฤดูหนาวมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก คือ ประมาณเดือนธันวาคมของทุกปีอุณหภูมิจะต่ำมาก เฉลี่ยประมาณ 8.7 องศาเซลเซียส และในเดือนเมษายนจะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง

แบ่งการปกครองเป็น 18 อำเภอ 124 ตำบล 1,510 หมู่บ้าน ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอเชียงของ อำเภอเทิง อำเภอพาน อำเภอป่าแดด อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย อำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงแก่น อำเภอขุนตาล อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ลาว อำเภอเวียงเชียงรุ้งและอำเภอดอยหลวง

มีประชากร ณ ปี 2549 รวมทั้งสิ้น 1,003,174 คน เป็นชาย 499,844 คน หญิง 503,330 คน สำหรับอำเภอที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองมีจำนวน 141,245 คน รองลงมา ได้แก่ อำเภอพานมีจำนวน 120,887 คน และอำเภอเทิงมีจำนวน 77,818 คน สำหรับอำเภอที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุด คือ อำเภอแม่สาย 208.74 คน/ตร.กม. รองลงมาได้แก่ อำเภอเวียงชัย 146.82 คน/ตร.กม. และอำเภอพาน 118.17 คน/ตร.กม. พลเมืองส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนั้นก็ทำสวนเมี่ยง ทำไร่ยาสูบ ไร่อื่น ๆ ตลอดจนทำป่าไม้ ปศุสัตว์ ทำสวนเป็นต้น

คำขวัญเชียงราย  “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง” สินค้าขึ้นชื่อจังหวัดเชียงราย มีทั้งสินค้าชายแดนและสินค้าเกษตรกรรมเช่นชาดอยวาวี ชาดอยแม่สะลอง สับปะรดนางแลและภูแล กาแฟดอยช้าง ลิ้นจี่ ลำไย ข้าวเหนียวเขี้ยวงู

คณะเราออกจากสนามบินด้วยรถตู้ เดินทางไปสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช มีฝนโปรยปรายลงมาต้อนรับพวกเราด้วย หลังจากนั้นก็เดินทางเข้าสู่อำเภอแม่สาย เพื่อศึกษาดูงานด่านชายแดนอำเภอแม่สายและตลาดชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เดินชมตลาดท่าขี้เหล็ก ที่ประกอบไปด้วยสินค้านานาชนิดคับคั่งกว่าตลาดชายแดนแม่สอด-เมียวดีมาก อากาศไม่ร้อนมากเพราะมีเมฆมาบังแสงอาทิตย์ไว้ ทำให้เดินสบายขึ้น

อำเภอแม่สาย เหนือสุดของจังหวัดเชียงรายและเหนือสุดของประเทศไทย มีพื้นที่ 285.0 ตร.กม. ประชากร 84,830 คน (พ.ศ. 2552) ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแม่สาย ตั้งอยู่เลขที่ 100 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่ตำบลเวียงพางคำ ทิศเหนือจดแม่น้ำสายซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอเชียงแสนจังเชียงราย ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และประเทศพม่า

ด่านชายแดนไทย-พม่าเรียกว่า "ด่านแม่สาย" สามารถผ่านด่านข้ามไปยังจังหวัดท่าขี้เหล็กของพม่าได้โดยมีแม่น้ำสายเป็นพรมแดนทางธรรมชาติ การคมนาคมจากอำเภอเมืองเชียงรายไปอำเภอแม่สายทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน ตอนเชียงราย-แม่สาย) ระยะทาง 64 กิโลเมตร อำเภอแม่สายแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออก เป็น 8 ตำบล 92 หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ระดับ ได้แก่ เทศบาลตำบล 4 แห่ง กับองค์การบริหารส่วนตำบล 6 แห่ง

คำขวัญอำเภอแม่สาย “เหนือสุดยอดในสยาม ลือนามพระธาตุเจ้าดอยตุง ผดุงวัฒนธรรมล้านนา เปิดมรรคาสู่อินโดจีน  แผ่นดินพระเจ้าพรหมมหาราช

ตลาดแม่สาย เป็นตลาดการค้าชายแดนที่มีชื่อเสียงมานานหลายสิบปี เนื่องจากชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยจะเข้ามาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จากฝั่งไทยอย่างคึกคัก ปัญหาชนกลุ่มน้อย ยาเสพติด ทำให้การผ่านแดนต้องเป็นไปอย่างเข้มงวด คนไทยจึงต้องทำหนังสือผ่านแดนหากต้องการไปท่องเที่ยวที่ท่าขี้เหล็ก

พักเที่ยง ไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านเจ๊ลี่ เป็นก๋วยเตี๋ยวมีชื่อของแม่สาย แต่ต้องรอนานและการเร่งทำจำนวนมาก อาจทำให้รสชาติก๋วยเตี๋ยวด้อยลงไปบ้างและพวกเราต้องเสิร์ฟตัวเอง เพราะบริการไม่ทันเนื่องจากพวกเรามีเป็นร้อยคนเข้ามาพร้อมๆกัน ท่านผู้ว่าฯเชียงรายให้เกียรติมาร่วมรับประทานด้วย

เวลา13.30-16.30 น. รับฟังบรรยายสรุป การวางแผนพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัด/กลุ่มจังหวัด การลงทุนชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน การค้าขายชายแดนด่านพรมแดน แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และนายด่านศุลกากรแม่สาย ที่ด่านศุลกากรแม่สาย (2)

ด่านศุลกากรแม่สาย มียุทธศาสตร์การทำงานตามแนวทางของกรมศุลกากร 4 ประการคือ พัฒนาระบบงานศุลกากรให้เป็นมาตรฐานโลก พัฒนามาตรการทางศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ พัฒนาศักยภาพการควบคุมทางศุลกากรด้วยมาตรฐานสากล และบริหารจัดการระบบจัดเก็บภาษี โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ด่านแม่สายมีการพัฒนาการบริการโดย นำเอาระบบ e – Customs มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบันด่านฯ แม่สาย ให้บริการผ่านพิธีการใบขนสินค้า ขาเข้า - ขาออก ทั้งหมดในระบบ  ด่านที่ 1 ดูแลเส้นทางหลักทางบก R3B จากแม่สาย- ท่าขี้เหล็ก- เชียงตุง- เมืองลา-เชียงรุ่ง ระยะทางประมาณ 380 กิโลเมตร   (ถึงพรมแดนจีนประมาณ 252 กิโลเมตร) ด่าที่ 2 เปิดที่ทำการด่านศุลกากรแม่สายแห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 อย่างเป็นทางการ บนพื้นที่ 270 ไร่

จนถึงเวลา 16.30-17.30 น. คณะเดินทางศึกษาดูงานบริเวณท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศลาว ท่าเทียบเรือเป็นทุ่นลอยน้ำ 2 ทุ่น มีสะพานเชื่อมระหว่างทุ่นกับเขื่อน ให้รถบรรทุกลงไปทำการบรรทุกขนถ่ายสินค้าข้างเรือได้ ตัวทุ่นและสะพานเชื่อมมีหลังคาคลุมกันแดดฝน จึงสามารถทำการบรรทุกและขนถ่ายได้ในแม้มีฝนตก สามารถรับเรือเทียบท่าได้ไม่เกิน 200 ตันกรอส ยาว 50 เมตร กินน้ำลึก 2 เมตร ในอนาคตสามารถรับเรือขนาด 300 ตัน กรอสได้ โดยการปรับปรุงด้านข้างของท่าเทียบเรือ ทุ่นเทียบเรือจำนวน 1 ทุ่น สามารถรองรับเรือสินค้าได้อีก 2 ลำ/ครั้ง ทุ่นเทียบเรือในโครงการจำนวน 2 ทุ่นและด้านข้างอีก 1 ลำ สามารถรองรับเรือสินค้าได้สูงสุด 5 ลำ/ครั้ง

การขนถ่ายสินค้าต้องลำเลียงผ่านสะพานทางเชื่อม (Gang Way) ซึ่งมีหลังคาคลุมตลอดทั้งสะพานเพื่อป้องกันฝนขณะขนถ่ายสินค้า โดยสะพานทางเชื่อมมีขนาดกว้าง 6.0 เมตร ยาว 30.0 เมตร ออกแบบรับน้ำหนัก800 กิโลกรัม/ตารางเมตร สามารถใช้รถ Fork Lift และรถบรรทุกขนาดเล็กในการขนถ่ายสินค้าได้ สะพานมีความลาดชัน 12 องศา เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างคณะเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคไทยและลาว มีลานจอดรถบรรทุกซึ่งสามารถรองรับรถบรรทุก 8-10 ล้อ ได้ประมาณ 50 คัน มีปั้นจั่นเคลื่อนที่ขนาด 50 เมตริกตัน 1 คัน และสายพาน ลำเลียงสินค้า 1 ชุด ที่ให้บริการโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย

ปี 2545 มีการส่งออกจากไทยไปจีนตอนใต้ผ่านเชียงแสนเพิ่มขึ้นจากปี 2544 ประมาณ 44% และสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ลำไยอบแห้ง ยางรถยนต์ และผงชูรส ส่วนสินค้าขาเข้า จะเป็นแอปเปิ้ลสด กระบือมีชีวิต ไม้แปรรูป สาลี่สด เมล็ดทานตะวัน กระเทียม การค้าขายระหว่างไทย - จีน ขยายตัว อย่างรวดเร็ว สินค้าขาออกของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับจีนตอนใต้ถึง 1,831.24 ล้านบาท ในปี 2545

หลังจากการบรรยายของนายด่านศุลกากรและประธานหอการค้าเชียงรายแล้ว พวกเราก็ได้ฟังสุดยอดการบรรยายที่ให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนานบันเทิงใจจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่เป็นทั้งนักบริหารและนักพูดที่ทำให้เราเห็นภาพแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงรายได้เป็นอย่างดี ท่านบอกว่าอยากให้เชียงรายเป็น “Smile Land, Flower City” ดังวิสัยทัศน์ “เมืองทองของวัฒนธรรมล้านนา นำการค้าสู่สากล ประชาชนเป็นสุข

พอการบรรยายจบ พี่นัดก็ได้เป็นตัวแทนกล่าวขอบคุณโดยกล่าวเป็นกลอนสุภาพที่ไพเราะมาก ทราบภายหลังว่าพี่ก๊อดเป็นคนแต่งให้ และอาจารย์พินัย อนันตพงศ์ เป็นตัวแทนมอบของที่ระลึกจากวิทยาลัยฯ กับนายอำเภอเฉลิมพล เป็นตัวแทนมอบของที่ระลึกจากคณะนักศึกษาหลังจบการบรรยายก็เดินทางสู่อำเภอเชียงแสนเพื่อเข้าที่พักที่โรงแรมอิมพีเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล (Imperial Golden Triangle)

พี่ก๊อดหรือพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร นับได้ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมากคนหนึ่ง เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เป็นคนพูดเก่ง มีน้ำใจ ไม่หวงวิชา มีข้อมูลเยอะ จำบทกวีต่างๆได้แม่นยำมาก แล้วนำมาถ่ายทอดให้พวกเราฟังได้อย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะบทอัศจรรย์ต่างๆในวรรณคดี มีความรอบรู้ทางด้านศิลปะโบราณคดี ชอบอำชอบแซวและสนิทสนมกับสาวๆในรุ่นเป็นอย่างดีคล้ายๆพี่ไก่ พี่ก๊อดจบปริญญาโทจากอินเดียและนิวซีแลนด์

เข้าห้องพักแล้ว ก็ไปรับประทานอาหารเย็น ที่ร้านครัวไทย ริมแม่น้ำโขง บรรยากาศดีมาก ลมพัดเย็นสบาย อาหารอร่อย ภายใต้การประสานงานของพี่ตุ้ม หลังทานอาหารเสร็จหลายคนทยอยกลับไปพักผ่อนที่โรงแรม แต่ก็มีเพื่อนๆราว 30 คนอยู่สังสรรค์และร้องเพลงกันต่อ เวทีและไมค์ไม่ว่างเลย หลายๆคนแสดงความสามารถในการร้องเพลงได้ดีมากเช่นพี่ไกรสร ส่วนพี่จ้อนก็ถูกคะยั้นคะยอให้ครวญเพลงไพเราะๆจนได้ งานสังสรรค์แบบกันเองช่วยกันสร้างบรรยายกาศอย่างสนุกสนานและเป็นมิตร

พี่ตุ้มหรือรัชกฤช สถิรานนท์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ตั้งรกรากอยู่ที่เชียงราย เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายในสำนักงานจังหวัดเชียงรายมาก่อน จึงมีความคุ้นเคยกับเชียงรายดี พี่ตุ้มเป็นคนที่ดูเงียบๆแต่ถ้าสนิทด้วยก็จะคุย แต่ก็เป็นคนยิ้มง่าย เป็นมิตร ไม่ถือตัว เป็นคนมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนๆในรุ่นเป็นอย่างดี ช่วยแบ่งเบาภาระของพี่แบนไปได้มาก

พี่ป๋องหรือวัชระ รัตนวิไล พาณิชย์จังหวัดหนองคาย เป็นคนที่รู้เรื่องเขตเศรษฐกิจชายแดน 4 ประเทศเป็นอย่างดี เป็นพาณิชย์จังหวัดมาเกือบ 20 ปีแล้ว เคยไปเที่ยวสิบสองปันนามาหลายครั้ง เคยอยู่ที่จังหวัดเชียงรายและพะเยา เป็นผู้ให้ข้อมูลและช่วยกระตุ้นให้พวกเราได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานที่จีน พี่ป๋องเป็นผู้ใหญ่ใจดี ยิ้มง่าย เป็นมิตร เป็นกันเอง ชอบออกกำลังกายทั้งเช้าและเย็น พี่ป๋องอยู่หมู่นกเค้าแมวเหมือนกับผม ตอนเข้าค่ายลูกเสือพี่ป๋องจะช่วยผมล้างจานเกือบทุกวัน ตอนแรกนึกว่าเป็นคนเงียบๆ แต่จริงๆแล้วก็คุยเก่งและคารมดีด้วย ส่วนเรื่องร้องเพลงไม่แน่ใจ เพราะจำได้ว่า ยังไม่ได้ฟังพี่ป๋องร้องเพลงเลย

พี่จ้อนหรืออภิชาติ ชุ่มเชื้อ นายอำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ดูตอนแรกๆเหมือนเป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่พอได้รู้จักสนิทสนมกันขึ้น พี่จ้อนเป็นคนน่ารัก คุยสนุก ไม่ถือตัว เป็นผู้ใหญ่ใจดี อารมณ์ดี ใจเย็น ไม่ขี้โมโห พี่จ้อนจบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเป็นนักเรียนนายอำเภอรุ่น 49

พี่สรหรือไกรสร กองฉลาด นายอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น คนหนุ่มที่ความมุ่งมั่นในการพัฒนางาน เป็นคนใจดี ใจเย็น พูดน้อย ยิ้มง่าย ดูเงียบๆ ขรึมๆ แต่ไม่ใช่คนถือตัว ผมนึกว่าพี่สรร้องเพลงไม่เป็น ที่ไหนได้ร้องได้เก่งมากโดยเฉพาะเพลงวัยรุ่น ร้องได้ดีมาก อยู่หมู่นกเค้าแมวด้วยกัน พี่สรจะขยันช่วยเก็บกวาดค่ายเป็นอย่างดี พี่สรสนิทกับพี่จ้อนมาก เป็นรูมเมทกันและไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด เป็นนักเรียนายอำเภอรุ่น 49 เช่นกัน ปีที่แล้วได้รางวัลนายอำเภอแหวนทอง

หมายเลขบันทึก: 388871เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2010 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท