นปส.55 (28): รู้เขารู้เรา


ปราชญ์ผู้พลิกแผ่นดิน ไม่ใช่แค่บัณฑิตผู้รู้หนังสือ

สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 9 ของการฝึกอบรมด้วยการสรุปบทเรียนหมวดวิชาที่ 3 มุมมองในระดับประเทศ หลังจากได้แนวคิดบทสรุปดีๆจากเพื่อนร่วมกลุ่มมาแล้ว ผมก็มาพยายามสรุปเพื่อนำเสนอให้สั้น กระชับ ง่ายและได้ใจความ กิจกรรมกลุ่มสรุปบทเรียนจะมีพี่นีหรือปราณี จุณณะปิยะ ธนารักษ์พื้นที่ระยอง เป็นตัวตั้งตัวตีในการรวบรวมบันทึกการเรียนรู้ของทุกคนมาแจกกัน พี่นี เป็นคนน่ารัก ยิ้มง่าย ไม่ถือตัว มีน้ำใจกับเพื่อนๆดีทั้งในกลุ่มและในรุ่น ดูท่าทางเป็นคนใจเย็นและเป็นคนใจดี

อีกคนที่อยากพูดถึงคือพี่เชดหรือโชติพัฒน์ สิชฌรังสี นายอำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นนักเรียนนายอำเภอรุ่น 48 ท่าทางเป็นคนใจดี พูดน้อยแต่ให้ข้อคิดที่ดี ยิ้มง่าย ชอบร้องเพลง พี่เชดจะสรุปบันทึกการเรียนรู้ได้ค่อนข้างละเอียดมากและส่งตรงเวลาตลอด ให้ความร่วมมือกับกลุ่มดี ใจเย็น ไม่หงุดหงิดง่าย

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เรียนรู้แนวคิดทางการบริหารผ่านวรรณกรรม 2 แนวทางคือวรรณกรรมจีนจากเรื่องสามก๊กและวรรณกรรมไทยอิงอินเดีย (พุทธศาสนา) ผ่านนิทานชาดก ทำให้ได้แนวคิดผู้บริหารมากพอควร ในอดีตไทยก็รับอิทธิพลมาจากทั้งอินเดียและจีนและอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน เมื่อราว 2,000 ปีก่อน เศรษฐกิจจีนและอินเดียรวมกันแล้วค่าจีดีพีเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ของจีนราว 24% อินเดีย 19% และมายุคนี้ความยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออกภายใต้การนำของจีน อินเดียกำลังจะหวนกลับมาอีก

พระอาจารย์จักรกฤษณ์ ได้สรุปบทเรียนผู้นำจากนิทานชาดกหลายเรื่องเพื่อให้เป็นแนวทางให้ผู้นำปฏิบัติตน 10 ประการคือ "รู้จักผู้ใต้บังคับบัญชา มีความสามารถรู้จักตัวบุคคลจัดวางตำแหน่งได้เหมาะสม มีความระมัดระวังไม่ทำลายชื่อเสียงองค์การ มีวุฒิภาวะสูงแสดงความสามารถของตนอย่างถูกต้อง แสวงหาความรู้รู้จักคิดมีทีมงานที่ดีในการทำงาน ชักนำกระบวนการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์แก่สมาชิกในองค์การ รู้แนวทางการบริหารจัดการ ประเมินศักยภาพของกลุ่มจากการกำหนดเป้าหมาย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมและมวลสมาชิกเป็นสำคัญ และให้บำเหน็จรางวัลแก่ผู้ทำงานดี"

สามก๊กของจีนที่อาจารย์เจริญนำมาวิเคราะห์ให้พวกเราได้ฟังกันก็น่าสนใจมาก โจโฉผู้ยอมทรยศโลกแต่ไม่ยอมให้โลกทรยศ ผู้เป็นใหญ่ด้วยอำนาจฟ้า เจ้าของวลีสำคัญ “หากไม่คิดช่วยชาติ ย่อมไม่ต่างจากเดรัจฉาน” เป็นคนมีวิสัยทัศน์กว้างลึกยาวไกลล้ำหน้าคนร่วมยุค กล้าเสี่ยงในสภาวะที่ควรเสี่ยง เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ ชุบเลี้ยงคนเก่งคนมีฝีมือ

ซุนกวนเป็นใหญ่ด้วยอำนาจดิน สืบทอดอำนาจจากพ่อและพี่ชาย ไม่เริ่มต้นจากศูนย์ ผู้มีแนวคิดการบริหารว่า “ผู้นำไม่ต้องลงมือทำเองทุกเรื่อง ขอเพียงรู้จักใช้คนและผูกใจคนไว้ให้ได้” และได้แนวทางสำคัญจากซุนเซ็ก พี่ชายที่กล่าวไว้ว่า “เมื่อคิดการใหญ่ต้องเริ่มที่คน การใช้คนต้องไม่สงสัย ถ้าระแวงสงสัยใครจะไว้ใจเรา ไว้ใจแต่อย่าวางใจ”

เล่าปี่เป็นผู้นำที่ควบคุมอารมณ์ได้เป็นเยี่ยม ผู้พนมมือแก่ทุกชนชั้น เจ้าของวลีเด็ด “พี่น้องเหมือนแขนขา ลูกเมียเหมือนเสื้อผ้า” สุมาเต็กโชได้เคยพูดกับเล่าปี่ในคราวแนะนำให้ไปหาขงเบ้งว่า “กวนอู เตียวหุย จูล่ง แม้มีฝีมือเยี่ยมยุทธ์แต่ยังใช้ไม่เป็น” ส่วนที่ปรึกษาที่มีอยู่แล้วนั้นก็เป็นเพียง “บัณฑิตที่รู้หนังสือ แต่ไม่ใช่ปราชญ์ที่พลิกแผ่นดิน”

เล่าปี่มีแนวทางการบริหารงานตามคำพูดของตนเองที่ว่า “จะยิ่งใหญ่อยู่ในโลกนี้ได้ เมื่อเราคับขันตกอับ เราต้องจำยอมน้อมกาย ต้องคอยโอกาส ไม่ควรแข็งขืนจนหักลง” และ “ผู้นำที่ขาดจริยธรรม คุณธรรม ไร้ธรรมาภิบาล ทำให้ความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองจึงหมดไปด้วย

ขงเบ้ง แม้ไม่ใช่ผู้นำก๊ก แต่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดปรากฏการณ์สำคัญๆในสามก๊ก ขงเบ้งเป็น “ปราชญ์ผู้พลิกแผ่นดิน ไม่ใช่แค่บัณฑิตผู้รู้หนังสือ” มีความปราดเปรื่องในการวางแผนยุทธศาสตร์ มีภูมิปัญญารอบรู้ ยุทธศาสตร์สำคัญในสามก๊กจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลของขงเบ้งที่ให้แก่เล่าปี่ด้วยคำ 8 คำคือ “ผูกมิตรซุนกวน ต่อต้านโจโฉ” เป็นนักการทูตที่ชาญฉลาด รู้ชั้นเชิงในการเจรจา ชอบและถนัดใช้จิตวิทยาเชิงยั่วยุ เจ้าของวลีเด็ด “ตียึดเมืองเป็นรอง ครองใจคนเป็นเอก”

ขงเบ้งเคยกล่าวเตือนใจไว้ว่า “ผู้ที่จะเป็นรัฐบุรุษนั้น พึงยึดความเจริญสุขของชาวราษฎร์เป็นที่ตั้ง คนที่ดีแต่พูด เก่งแต่ยกตนข่มท่าน ถึงเวลาที่จะต้องทำจริง กลับทำไม่ได้อย่างปากพร่ำ คนอย่างนี้ดีแต่เป็นที่เย้ยหยันของชาวโลก หาเป็นประโยชน์อันใดไม่

ขงเบ้ง แม้จะมีจุดเด่นเลอเลิศ แต่ก็มีจุดอ่อนไม่น้อย มีความมั่นใจตนเองสูงจึงมักลงมือทำงานเอง ตั้งมาตรฐานสูงลูกน้องตามไม่ทัน ไม่ได้สร้างตัวตายตัวแทน ขาดศิลปะการมอบหมายงาน เหมางานไว้ทำคนเดียวแม้ยามออกศึกก็หอบงานขุนนาง (บุ๋น) ออกไปทำ ตรากตรำจนป่วย และเลือกที่รักมักที่ชัง

กุยแก เสนอหลักการที่ดีของผู้นำ 10 ข้อ และมีอยู่ในตัวโจโฉคือ "อย่าดูถูกลูกน้อง อย่าหยาบช้าเห็นแก่ตัว อย่าหลอกใช้ลูกน้อง (ใช้คนโดยสุจริตมีหลักเกณฑ์) อย่าลำเอียงใกล้ไกลดูแลเสมอกัน อย่าหลงคนสอพลอ (อย่าหลงคนใกล้ตัว) อย่างเป็นผู้นำที่ลังเลผัดวันประกันพรุ่ง อย่าเป็นผู้นำที่อ่อนแอปลกเปลี้ย ทำงานอย่างไตร่ตรองรอบคอบไม่บุ่มบ่าม มีหลักการแน่วแน่ไม่แกว่ง และรู้จักวิธีแก้ปัญหารอบรู้มีข้อมูล"

ผมเคยไปเที่ยวชมเมืองจีนสามสี่ครั้ง เคยไปดูงานการใช้การแพทย์แผนจีนในระบบบริการสุขภาพของประเทศ ดูระบบการจัดการการท่องเที่ยวและการพัฒนาประเทศของเขา ก็น่าทึ่งมาก สำหรับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์แต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ผมเคยไปเที่ยวปักกิ่ง คุนหมิง กุ้ยหลิน สิบสองปันนาและเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งเคยไปไต้หวันครั้งหนึ่ง แต่ไม่เคยไปฮ่องกง เวลาพูดถึงจีนก็พอจะนึกภาพออกบ้าง แต่พอพูดถึงอินเดียแล้วยังไม่เคยไปจึงเห็นแต่เพียงในรูปหรือหนังสือเท่านั้น

ผมเคยนึกฝันไว้ว่า อยากไปเที่ยวหลายๆประเทศแล้วพยายามเปรียบเทียบกันเป็นคู่ๆ ระหว่างจีนกับอินเดีย ญี่ปุ่นกับเยอรมัน ไต้หวันกับสิงคโปร์ อเมริกากับรัสเซีย อังกฤษกับฝรั่งเศส ออสเตรเลียกับแคนาดา สวิสกับนิวซีแลนด์ ฮ่องกงกับโมนาโค ฮอลแลนด์กับเบลเยี่ยม อิตาลีกับกรีซ ไทยกับมาเลเซีย พม่ากับเวียดนาม ลาวกับกัมพูชา ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเชีย เป็นต้น ผมคิดเอาเองว่าทุกอย่างในโลกล้วนมีคู่ มีภาพสะท้อนหรือมีคู่เทียบคู่แข่งของกันและกันอยู่

การเรียนรู้มุมมองในระดับสากลจึงควรมีการพานักศึกษาไปดูงานต่างประเทศ แต่ควรมีการวางแผนในการเรียนรู้ให้มากกว่าการไปเที่ยว อาจต้องให้ฝึกเดินทางกันเองบ้างโดยเฉพาะยุโรปที่มีระบบขนส่งมวลชนดีมาก เวลาดูงานกลับมาจะได้มีแนวทางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้มากกว่าแค่การสร้างถนนเพื่อรองรับการซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้กันเท่านั้น

กลุ่มร่วมกันสรุปภาพรวมการพัฒนามุมมองในระดับประเทศ ซึ่งเป็นการ “รู้เรา” หลังจากที่ “รู้เขา” มาจากหมวดวิชาที่ 2 มุมมองในระดับสากลไปแล้ว หมวดวิชานี้มี 9 รายวิชา ผมจัดออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือเศรษฐกิจ สังคม การเมือง 1 สไลด์และสรุปประเด็นความรู้ที่ได้ใน 1 สไลด์

ด้านเศรษฐกิจไทย: Economy: นโยบายเศรษฐกิจ การคลังและทิศทางเศรษฐกิจไทย หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปได้เป็น ปัจจัยเบื้องต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ (พลังงาน ขนส่ง สื่อสาร เศรษฐกิจเสรี การเงิน เทคโนโลยี) ความเสี่ยง (อสังหาริมทรัพย์ น้ำมัน ตลาดหุ้น นโยบายการค้าของต่างประเทศ สงครามราคา สงครามการเงิน ข้อจำกัดนโยบายเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน)

ด้านสังคม: Social: สิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การรักษาความมั่นคงภายในประเทศไทย การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมของนักบริหาร สรุปได้เป็นการรักษาความั่นคงของประเทศ (การเมือง การทหาร สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี) ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น (สิทธิทางการเมือง สิทธิในการพิทักษ์ผลประโยชน์) การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม (กำหนดค่านิยมหลัก ผู้นำเป็นแบบอย่าง สร้างแรงจูงใจทางบวก ผนวกการจัดการความรู้ สู่การขับเคลื่อนร่วมกัน)

ด้านการเมือง: Politics: รัฐธรรมนูญกับการพัฒนาประเทศ ทิศทางการเมือง การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครองของไทย การเมืองภาคประชาชน สรุปได้เป็นรัฐธรรมนูญ (ละเอียด มีปัญหาในการปฏิบัติ ถูกยกเลิกบ่อย) การเมือง (กระจายอำนาจ เน้นประสิทธิผลประสิทธิภาพ เน้นการมีส่วนร่วม ปรับสู่การเมืองภาคประชาชน) ศาลปกครองมีบทบาทถ่วงดุลการตัดสินใจอำนาจรัฐ

และนำเสนอการประยุกต์ใช้ความรู้ต่อยอดจากความรู้ที่ได้รับว่า ทางเลือกทางรอด เราจะทำอะไรได้บ้างอีก 1 สไลด์ ประกอบด้วย

ด้านเศรษฐกิจ: ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมาย (สมดุล มั่นคง ยั่งยืน) หลักการ 3 ห่วง2เงื่อนไข (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตน ความรู้ คุณธรรม) และหลักปฏิบัติ (วิธีทรงงานต่างๆของในหลวง)

ด้านการเมือง: ใช้หลักประชาธิปไตยเชิงเนื้อหาภายใต้ธรรมาภิบาล (REPEAT) คือนิติธรรม คุณธรรมการมีส่วนร่วม ความคุ้มค่า ความรับผิดรับชอบ ความโปร่งใส (Rule of Law, Ethics, participation, Economy, Accountability, Transparency

ด้านสังคม: เสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมแก้ไขภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง (Social Immunodeficiency syndrome: SIDS) 3 เรื่องสำคัญคือความรู้ (โดยการจัดการความรู้) ความรัก (โดยการจัดการความรู้สึกหรือความสัมพันธ์) ความรอดทน (โดยการจัดการความรู้สึกตัว ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาหรือไตรสิกขา)

และจบท้ายด้วยภาพที่ได้มาจากอินเตอร์เน็ตซึ่งคาดว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้รับมาบ้างแล้ว เป็นภาพเกี่ยวกับความพอเพียง ภาพหนึ่งเป็นภาพวาดของเด็กชายหญิงสองคนนั่งหันหลังหน้ามองดวงจันทร์พร้อมคำบรรยายว่า “ชาวนามีแสงจันทร์เป็นโคมไฟส่องสว่างตลอดเวลาในเวลากลางคืนโดยไม่ขาดแคลน แต่เขาก็มีเพียงแสงจากโคมไฟที่ต้องซื้อด้วยเงิน” อีกภาพหนึ่งเป็นพ่อชาวนามือซ้ายแบกจอบแขนขวามีลูกชายวันซนเกาะอยู่ “เขาขอบคุณพ่อ ที่ทำให้เขารู้คำตอบ ว่าจริงๆแล้ว เรายากจนกว่าชาวนามาก ความพอเพียงไม่ได้ยกระดับฐานะ แต่ยกระดับจิตใจเราสิ่งนั้นไม่ได้ช่วยให้เราเร็วขึ้น...เพียงแต่...ช่วยให้รู้จักความสบายแท้จริง ที่เงินหาซื้อไม่ได้

ผมกลับมาคิดถึงสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่มีหลักการสำคัญว่าเป็นองค์กรประเภทที่ไม่หวังกำไร แต่ต้องทำกำไรตามความเหมาะสม เพื่อให้สหกรณ์อยู่รอดและบริการสมาชิกได้ แต่ความเหมาะสมนี้คงตีความไปได้หลายทางตามที่แต่ละคนคิด แต่น่าจะเข้าได้กับคำว่า “พอเพียง” การบริหารงานสหกรณ์ออมทรัพย์ก็คล้ายๆการบริหารธุรกิจ ต้องรู้จัก สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน ต้องรู้จักที่มาของรายได้ รู้จักที่ไปของรายจ่าย

ในส่วนการหารายได้นั้น นอกจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว ถ้าจะลงทุนให้เกิดรายได้แก่สหกรณ์มากขึ้น ก็สามารถนำเงินไปลงทุนหรือหาช่องทางรายได้จากตลาดเงินและตลาดทุนได้ ตลาดเงินเป็นแหล่งระดมเงินออม และการให้สินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เช่น เงินฝาก บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงินและตั๋วเงินคลัง ส่วนตลาดทุน เป็นแหล่งระดมเงินออมและการให้สินเชื่อระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เช่น ตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์

การลงทุนในตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนเราก็เป็น “เจ้าหนี้” ถ้าบริษัทที่เราไปลงทุนด้วย เจ๊งเราก็ไม่เจ๊งด้วย แต่ถ้าเราไปลงทุนในตลาดตราสารทุน เราจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ถ้าเจ๊งเราก็เจ๊งด้วย ดังนั้นดูแล้วตลาดตราสารหนี้น่าจะเสี่ยงน้อยกว่า แต่ตลาดตราสารหนี้ ก็มีความเสี่ยงหลายประการเช่น ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากเครดิต ความเสี่ยงจากการมีอำนาจซื้อลดลง ความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนใหม่ที่ได้ผลตอบแทนลดลง ความเสี่ยงจากการที่ตราสารหนี้เดิมครบกำหนดอายุต้องหาที่ลงทุนใหม่ ความเสี่ยงที่เกิดจากผู้ลงทุนคืนเงินก่อนกำหนด

สหกรณ์ออมทรัพย์หลายแห่งมีการนำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้แล้วสามารถสร้างกำไรได้สูงขึ้น จ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกได้มากขึ้น แต่อีกหลายแห่งก็ยังไม่กล้านำไปลงทุน ยังคงเน้นให้สมาชิกกู้หรือสหกรณ์อื่นกู้เป็นหลัก รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตากที่ผมรับหน้าที่ประธานกรรมการอยู่ด้วย อาจเป็นเพราะว่าเราดำเนินการมาแบบอนุรักษ์นิยมเน้นความมั่นคงมานานจึงทำให้ไม่ได้นำเงินไปลงทุนด้านอื่นและอีกส่วนหนึ่งกรรมการส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่นักลงทุนหรือมีความรู้ด้านนี้มากนัก ซึ่งผมเองก็ไม่รู้มากนักเช่นกัน จึงต้องปลอดภัยไว้ก่อน

หมายเลขบันทึก: 388635เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท