ผลเสียของการเล่นเกมส์


ให้ทุกคนได้ดู

นินเทนโดอักเสบ โรคของการเล่นเกมส์ -=By หมอแมว=-


เช้าวันหยุดวันหนึ่งแพทย์ประจำบ้านวัย29ปีตื่นมาพร้อมกับอาการปวดต้นแขนเป็นอย่างมาก เขาปฏิเสธประวัติการกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุใดๆ ตรวจร่างกายก็พบว่ากล้ามเนื้อบริเวณใต้สะบักอักเสบ ในที่สุดเมื่อนึกไปนึกมาก็ได้คำตอบว่า เมื่อวานนี้เขาซื้อเครื่อง"วี" (Wii)มา และเล่นเกมส์เทนนิสทั้งคืน
เรื่องข้างต้นเป็นเรื่องที่ลงในข่าวรอยเตอร์และในวารสารการแพทย์ New England Journal of Medicineเมื่อไม่นานมานี้ และเค้าก็เรียกโรคนี้ว่า Acute Wiiitis (โรควีอักเสบ)

สำหรับประเทศไทยต้องยอมรับกันก่อนว่าการเล่นวีดีโอเกมส์ถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของบ้านเราไปแล้ว เด็กๆที่เลิกเรียนจากโรงเรียนเมื่อเดินออกมาหน้าโรงเรียนก็เดินเข้าไปในร้านเกมส์และนั่งเล่นเกมส์กันได้เป็นชั่วโมงๆอย่างมีสมาธิ(ผิดกับตอนเรียน^_^) ถ้าเป็นเมื่อสัก20กว่าปีก่อน ก็คงจะเป็นเครื่องFamicom ขาวแดง ส่วนในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์กับเกมส์ออนไลน์
เมื่อมีจำนวนคนที่เข้าไปเล่นมากขึ้น ก็จะพบกับกับปัญหาที่ตามมามากขึ้น และปัญหาที่ผมจะคุยก็คือ ปัญหาสุขภาพที่ตามมาจากการเล่นเกมส์

1. ปัญหาทางด้านสุขภาพตา
เป็นที่รู้กันดีว่าหากเราเพ่งสมาธิสนใจกับสิ่งใดก็ตาม ดวงตาของเราจะตอบสนองอย่างเห็นได้ชัด ม่านตาจะขยายออก เปลือกตาจะกระพริบน้อยลง

สมัยก่อนจะมีเนื้อหาในวิชาสปช.ว่าไม่ควรอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงจ้ามากเกินไปเพราะจะทำให้เกิดอาหารแสบตาได้ แต่น้อยนักที่จะมีคนมาพบแพทย์ด้วยอาการเคืองตาแสบตาอันเกิดจากการอ่านหนังสือมากเกินไป ส่วนใหญ่มาด้วยเรื่องแสบตาหลังจากการจ้องมองจอทีวีหรือจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปมากกว่า

ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยก็แค่ตาแดงอักเสบเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นมากๆอย่างเช่นเด็กที่เล่นเกมส์ติดต่อกันอย่างตั้งใจเป็นเวลา8-9ชั่วโมง อาจจะพบได้ถึงขนาดที่ว่ากระจกตาอักเสบจนมีอาการแสบตาลืมตาไม่ขึ้นเทียบเท่ากระจกตาอักเสบในคนที่ไปอ๊อกเชื่อมเหล็กโดยไม่ใส่แว่นตาป้องกันเลยทีเดียว

2. ปัญหากล้ามเนื้อ
ปัญหาทางกล้ามเนื้อที่พบได้ในการเล่นวีดีโอเกมส์คือการที่กล้ามเนื้อของผู้เล่นอยู่ผิดที่ผิดทางหรือถูกใช้ย้ำๆซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง

ผิดที่ผิดทางที่พบได้บ่อย คือการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ สะบัก หลังหรือแม้กระทั่งปวดขา อันเนื่องมาจากการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะเป็นเวลานานๆ ... การจะนั่งในท่าที่ผิดนั้น ก็เกิดเนื่องมาจากการที่โต๊ะคอมพิวเตอร์หรือจอ ตั้งอยู่ไม่เหมาะสมกับผู้เล่น คีย์บอร์ดหรือเมาส์วางอยู่ในระนาบที่ไม่เหมาะ
เด็กอายุ12-13ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอปวดหลัง หลายๆครั้งถ้าซักย้อนกลับไปก็จะได้ประวัติว่าไปเล่นเกมส์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆตามร้านเกมส์

ถูกใช้ย้ำๆซ้ำๆ ที่จริงมักพบในเกมส์สมัยก่อนโดยเฉพาะเกมส์Action มักก่อให้เกิดความเจ็บปวดกับกล้ามเนื้อที่โดนใช้บ่อยๆเป็นเวลานานๆ ในวารสารการแพทย์ก็มีกล่าวถึงโรคเหล่านี้ระบุเป็นชื่อตามเกมส์หรือเครื่องเล่นเช่น

Space Invader''s Wrist : กล่าวถึงครั้งแรกในปี 2524 โดยกล่าวถึงการเล่นเกมส์Space invader''s ด้วยJoystick จนกระทั่งเจ็บปวดข้อมือ
Nintendinitis : กล่าวถึงครั้งแรกในปี 2531 โดยกล่าวถึงในลักษณะการเล่นจนเจ็บกล้ามเนื้อของมือและแขน
Playstation Thumb : เล่นเกมส์เพลยฯจนกระทั่งเอ็นนิ้วโป้งอักเสบ
Wiiitis : เล่นเครื่องวี(ของนินเทนโด) จนกระทั่งกล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งตำแหน่งกล้ามเนื้ออักเสบก็ขึ้นกับเกมส์ที่เล่น

สำหรับการเล่นเกมส์เครื่องคอมพิวเตอร์หรือเกมส์ออนไลน์ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องปวดข้อมือและแขนข้างที่ถนัดได้จากการลากเมาส์และกดบ่อยๆ

สมัยก่อนผมเองก็เคยเล่นเกมส์แบบมาราธอน เล่นติดต่อกันตั้งแต่คืนวันศุกร์จนถึงเช้าวันอาทิตย์ (พักช่วงละ1-2ชั่วโมง) เป็นประจำ พอจะเข้าใจเรื่องปวดกล้ามเนื้อพวกนี้ดีว่ามันปวดเมื่อต่างจากการปวดเมื่อยแบบเล่นกีฬาอย่างลิบลับ ... ปวดจากเล่นกีฬาออกกำลังหายปวดและหายอ่อนเพลียเร็วกว่าเป็นไหนๆ

3. ปัญหาทางด้านพฤติกรรม
มีความพยายามที่จะทดสอบหรือหาความเกี่ยวข้องทางด้านพฤติกรรมของเด็กที่ติดเกมส์เพื่อมาชี้ผลเสียของการเล่นเกมส์ให้เห็นกัน แต่ว่าเรื่องราวเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอะไรที่ชี้ชัดมากไปกว่าการแสดงให้เห็นว่าการเล่นเกมส์มีความ"สัมพันธ์"กับพฤติกรรมที่ไม่ดี

ในวัยเด็กเป็นช่วงที่เด็กต้องเรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นๆ การละเล่นในสมัยก่อนที่เล่นกันระหว่างเด็กๆเป็นกลุ่มๆ หรือการเล่นกีฬา เป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมของเด็กๆและการอยู่ร่วมกันภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน แม้จะมีการเปลี่ยนการละเล่นไปเรื่อยๆแต่กลุ่มที่เล่นก็มักเป็นกลุ่มเดียวกัน ... สมัยก่อนตอนที่หลายๆคนยังเด็กจะมีสภาพคล้ายๆกับภาพยนต์เรื่อง"แฟนฉัน" นั่นคือมีเพื่อนวัยเด็กเป็นกลุ่มๆและสนิทกันอยู่ในละแวกบ้านเดียวกัน

มาสมัยนี้ตอนเย็นๆเดินออกไปหน้าปากซอย จะเห็นเด็กๆก็แต่ตอนวิ่งแยกย้ายเข้าบ้านและเล่นเกมส์อยู่คนเดียว

หากรู้สึกว่าเล่นเกมส์ใดแล้วไม่ชอบ ก็สามารถเปลี่ยนเกมส์ได้ง่ายดาย(เพราะเกมส์มีราคาถูกกว่าแต่ก่อน) ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้กฎ แต่เป็นการเปลี่ยนกฎเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่ตนต้องการ สร้างอุปนิสัยเอาแต่ใจได้
เรื่องพฤติกรรมยังมีอีกมากมายหลายเรื่องจนมากเกินที่จะคุยได้หมด ... เอาเป็นว่าวิธีแก้นั้นเป็นวิธีเดียวกันคือ การไม่เล่นเกมส์มากจนเกินไป

การแก้ไขหรือป้องกันปัญหาจากการเล่นเกมส์
ว่าเรื่องปัญหาแล้ว ก็จะว่าด้วยเรื่องการแก้ไข
1. ปรับแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ที่เล่นให้พอดี ซื้อฉากกันรังสีฉากกรองแสงมาใช้ และนั่งให้ห่างจากจอพอประมาณ
2. จัดที่นั่งให้พอดีก่อนการเล่นเกมส์ โดยเฉพาะการไปเล่นในร้านเกมส์หรือที่ที่ไม่ใช่ที่ประจำ
3. กำหนดเวลาเล่นไม่ให้ติดต่อกันนานจนเกินไป อาจจะต้องพักทุกๆหนึ่งชั่วโมงแล้วลุกมายืดเส้นสาย
4. กำหนดเวลาที่จะเล่นในแต่ละวันอย่างแน่นอน และรักษาวินัยไว้อย่างเคร่งครัด
5. หากรู้สึกว่าอ่อนเพลีย ปวดล้า หรือเครียด จากการเล่นเกมส์ .... นั่นแปลว่าเล่นเกมส์มากเกินไปแล้ว

จริงๆไม่มีอะไรมากครับเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องกำหนดให้ได้เองว่า อะไรคือ "พอดี" "มากเกินไป" "พอประมาณ" เท่านั้นก็จะเล่นเกมส์ได้อย่างมีความสุขและไม่เกิดโทษครับ

Reference
1. Bonis J. Acute Wiiitis . N Engl J Med 2007;356:2431-2432
2. Karim SA. Playstation thumb -- a new epidemic in children. S Afr Med J 2005;95:412-412.
3. Brasington R. Nintendinitis. N Engl J Med 1990;322:1473-1474

===========================
Editor Note:

ร้อนใน-แผลในปาก -=Byหมอแมว=- 3 มิ.ย. 50
รูหู คุณกำลังดูแลหรือทำร้าย -=By หมอแมว=-   18 พ.ค. 50
น้ำเหลืองไม่ดี -=Byหมอแมว=-  10 พ.ค. 50
หมอแมวสอนวิธีเก็บฉี่ -=Byหมอแมว=-  29 เม.ย. 50
อาหารติดคอ อุ๊กส์ -=By หมอแมว=-  21 เม.ย. 50
หมอให้ยาผิด.....หรือเปล่า -=Byหมอแมว=-  13 เม.ย. 50
อาหาร"เสริม"เบาหวาน -=Byหมอแมว=-  7 เม.ย. 50
ผิดๆถูกๆกับการออกกำลังกาย -=By หมอแมว=-  2 เม.ย. 50
เมื่อโรงพยาบาลไม่ต่างอะไรกับโรงเก็บยา -=Byหมอแมว=-  24 มี.ค. 50
สั่น...ไม่ได้มีแต่พาร์กินสัน -=Byหมอแมว=-   17 มี.ค. 50
การแพทย์ทางเลือก ดูอย่างไรว่าน่าเชื่อถือ -=Byหมอแมว=-  11 มี.ค. 50
ชื่อยานั้นสำคัญไฉน -=Byหมอแมว=-  5 มี.ค. 50
รวมบทความของหมอแมว  (อัพเดต 25

 

อ้างอิง

http://webboard.mthai.com/7/2007-06-11/327723.html

หมายเลขบันทึก: 388491เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2010 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท