เรื่องของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กๆ


สิ่งที่ได้มากกว่าการสร้างแกนนำเยาวชน คือการกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้ามีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรค และยังมีผลต่อครอบครัวของแกนนำเยาวชนด้วย

จาก งานทันตกรรมในโรงเรียนของฝ่ายทันตสาธารณสุข งานอนามัยโรงเรียนของกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน อย.น้อยของงานเภสัชกรรม งานโภชนาการและงานบริการผู้ป่วยนอก ของโรงพยาบาลลำลูกกา เป็นจุดก่อเกิดแนวคิดในการพัฒนาแกนนำนักเรียนใส่ใจสุขภาพขึ้น ภายใต้เครือข่ายโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนขยายโอกาส ในเขตอำเภอลำลูกกา ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัย ผู้บริหารโรงเรียน และครูอนามัย จึงเกิดขึ้น

                สภาพการให้บริการในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลลำลูกกา คงไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยนัก ปริมาณคนไข้ที่มารอรับบริการแต่ละวันช่างมากมาย เต็มแน่นพื้นที่โรงพยาบาล ความโกลาหลอลหม่านในช่วงเช้าที่แผนกผู้ป่วยนอก สร้างความเครียดให้กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกแผนกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่ห้องจ่ายยา  จัดยาจ่ายยาให้คนไข้ไม่ได้หยุด ยิ่งวันที่มีคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วยแล้ว วันนั้นจะเป็นวันที่ผู้ช่วยเภสัชกรเดินจัดยารวมระยะทางได้เป็นสิบกิโลเมตร และเภสัชกรที่จ่ายยา ก็ต้องอธิบายการใช้ยากับผู้ป่วยจนเหนื่อยล้าไปตามกัน

                เหตุใดประชาชนจึงป่วยมากมายขนาดนี้ และหากเราเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการตั้งรับเพื่อจ่ายยาอยู่ในโรงพยาบาล มาเป็นการป้องกันการเจ็บป่วย ด้วยการส่งเสริมการดูแลสุขภาพ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคจะดีกว่าหรือไม่ เราจะได้ไม่ต้องมานั่งจ่ายยากันทั้งวันแบบนี้ เป็นคำถามที่ทีมงานตั้งข้อสังเกตุไว้ ซึ่งก็ไม่ต่างกับงานบริการผู้ป่วยนอก งานทันตกรรม และกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ผู้ป่วยมากมายเช่นกัน

โดยการนำของทันตแพทย์หญิงมาลี วันทนาศิริ หัวหน้างานทันตสาธารณสุข จึงเกิดการสร้างทีมทำงาน เพื่อดำเนินงานในเชิงรุก โดยกำหนดเป้าหมายการสร้างความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพที่เด็กวัยเรียน เพื่อสร้างเด็กที่มีความรู้และใส่ใจการดูแลสุขภาพของตนให้ปราศจากโรคภัย และความเจ็บป่วยอันมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง การไม่ออกกำลังกาย และไม่สามารถดูแลตนเองเบี้องต้นเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย องค์ความรู้ด้านสุขภาพของแต่ละวิชาชีพจึงถูกกลั่นกรองออกมาเป็นฐานการเรียนรู้ ที่จัดค่ายการเรียนรู้ขึ้น ในโรงพยาบาล ผ่านแกนนำนักเรียนที่ทางครูอนามัยของแต่ละโรงเรียนคัดเลือกมา โรงเรียนละ 10 คน แกนนำนักเรียนเหล่านี้จะเป็นผู้นำในการสร้างสุขภาพในโรงเรียนผ่านทางกิจกรรมที่ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นโครงงาน โดยแนวคิดที่ว่าเด็กแข็งแรงในวันนี้ คือผู้ใหญ่ที่แข็งแรงปราศจากโรคในวันหน้า นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่อยู่ในเขตตำบลเดียวกันกับโรงเรียนแห่งนั้นคอยเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนความรู้ด้านสาธารณสุขแก่ทางโรงเรียน

                แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างของเครือข่ายนี้ได้ ทีมงานต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับครูอนามัย และผู้บริหารโรงเรียนก่อน โดยการจัดกิจกรรมสร้างทีมเครือข่ายเด็กไทยแข็งแรงขึ้น งานนี้มีเภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ ทันตาภิบาล พนักงานขับรถของโรงพยาบาลเป็นทีมงาน Walk Rally (จำเป็น) ให้กับครูอนามัย และผู้อำนวยการโรงเรียนทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กัน ผ่านไปได้แบบสนุกสนาน เพราะความมือใหม่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล แต่ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคุณครูทุกท่าน นับเป็นการเริ่มต้นของการร่วมมือร่วมใจกันที่ดีของทุกฝ่าย ในงานนี้ทีมงานได้มีการกำหนดเป้าหมายของการทำงานสร้างแกนนำนักเรียนร่วมกัน

                จากนั้นก็เป็นการจัดค่ายเรียนรู้ของแกนนำ ที่ชื่อว่า ค่ายเรียนรู้ เด็กลำลูกกา เรียนรู้สุขภาพ เด็กนักเรียนที่มาเข้าค่ายเรียนรู้นี้เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 และชั้นมัธยมปีที่ 2 โรงเรียนละ 10 คน จำนวน 25 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 250 คน มีครูที่ปรึกษารวม 25 คน เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย 14 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลลำลูกกาจากงานทันตกรรม งานเภสัชกรรม งานผู้ป่วยนอก กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน    และงานโภชนาการ ร่วมกันเป็นวิทยากร จัดฐานการเรียนรู้ในหน่วยงานของโรงพยาบาลขึ้น 4 ฐานการเรียนรู้ คือฐานสุขภาพดี ฟันไม่ผุ เป็นการให้ความรู้เรื่องการแปรงฟันอย่างถูกวิธี การดูแลรักษาฟันให้แข็งแรง และการสร้างความคุ้นเคยกับคลินิกทันตกรรมช่วยให้เด็กไม่กลัวหมอฟัน ฐานที่ 2 ฐานอิ่มอร่อยสุขภาพดี ที่มีนักโภชนากรนำตัวอย่างอาหารแต่ละหมู่มาให้เด็กๆได้ศึกษา สอนการคำนวณแคลอรี่จากอาหารแต่ละประเภท รวมถึงการบอกเล่าเรื่องอาหารที่เป็นโทษกับร่างกาย เพื่อให้แกนนำนักเรียนมีความรู้ที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และลดการรับประทานขนมกรุกรอบและน้ำอัดลม ฐานที่ 3 ฐานสุขภาพดีได้ถ้ารู้จักใช้ยาให้เพียงพอ งานนี้เปิดห้องจ่ายยาให้เด็กๆได้เข้าไปดูการทำงานและสัมผัสใกล้ชิดกับยาทุกประเภทที่ใช้กับผู้ป่วยมีเภสัชกรมาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างถูกวิธี การอ่านฉลากยา และการตรวจดูวันหมดอายุของยา ฐานที่ 4 ฐานทำอย่างไรไม่ต้องป่วย ซึ่งมีพยาบาลจากแผนกผู้ป่วยนอกมาสอนเรื่องการดูแลสุขภาพทั่วไปเมื่อเจ็บป่วย การป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุด้วยการสวมหมวกนิรภัย การป้องกันไข้หวัด รวมถึงการแนะนำขั้นตอนการมารับบริการในโรงพยาบาล การคัดกรองเบื้องต้นด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง  วัดความดันโลหิตโดยเด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทำให้เด็กๆมีความสนใจและเข้าใจมากขึ้น หลังจากที่เด็กทุกคนผ่านการเข้าฐานเรียนรู้ครบ 4 ฐานแล้ว จะมีเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยให้เด็กมาบอกเล่าเรื่องที่ได้เรียนรู้มาให้เพื่อนๆฟัง จากนั้นทั้งครูที่ปรึกษา เด็กนักเรียน และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยจะร่วมกันจัดทำแผนงานโครงการด้านสุขภาพขึ้นในเรื่องที่เด็กนักเรียนมีความสนใจที่จะนำกลับไปดำเนินการในโรงเรียนของตนเอง

                เมื่อแกนนำนักเรียนและครูที่ปรึกษาดำเนินงานตามโครงการที่กำหนดแล้วเสร็จ ก็มีการจัดมหกรรมนำเสนอผลงาน ที่เรียกว่า มหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แกนนำเยาวชนใส่ใจสุขภาพขึ้น เพื่อให้แกนนำนักเรียนแต่ละโรงเรียนมานำเสนอผลการดำเนินงานด้านสุขภาพให้เพื่อนๆแกนนำโรงเรียนอื่นได้ศึกษากัน งานนี้มีการโหวตผลงานที่โดนใจมหาชนชาวแกนนำเยาวชน ได้รับรางวัลกลับบ้านกันไปมากมาย แถมยังสร้างความภาคภูมิใจให้แกนนำนักเรียนหลายๆคน

                จากผลตอบรับที่ดีของแกนนำเยาวชนรุ่นที่ 1 จึงเกิดการจัดการอบรมแกนนำเยาวชน รุ่นที่ 2 ขึ้นในปีถัดมา มีการเพิ่มฐานการเรียนรู้เป็น 5 ฐาน คือเพิ่มฐานการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ของกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัว และมีการปรับเพิ่มเนื้อหาของแต่ละฐานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โรคที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น เช่นเพิ่มการทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร ที่ฐานห้องจ่ายยา เป็นต้น หลังจากเขียนโครงงานด้านสุขภาพตามสภาพปัญหาและความสนใจของแต่ละโรงเรียนแล้ว ทางแกนนำและอาจารย์ที่ปรึกษาได้นำไปจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนทางทีมสาธารณสุขได้จัดตั้งทีมตรวจเยี่ยมเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของแกนนำ ความประทับใจเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปเยี่ยมแกนนำนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในตลาดที่ไปไกลจากโรงพยาบาลนัก เราได้พบแกนนำนักเรียนกำลังจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 และ ประถมปีที่ 4 หนึ่งในแกนนำของโรงเรียนนี้มีเด็กชายที่ชื่อไฉ่ไล้ เด็กน้อยหน้าตี๋กำลังถือป้ายฟิวเจอร์บอร์ดที่มีภาพวาด เรื่อง อันตรายจากขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม ซึ่งเด็กชายไฉ่ไล้และเพื่อนๆแกนนำช่วยกันทำขึ้น เพื่อนำมาพูดหน้าชั้นเรียนให้รุ่นน้องฟัง ที่น่าทึ่งก็คือ เด็กประถมสามารถถ่ายทอดความรู้แก่น้องๆได้อย่างคล่องแคล่ว ความสามารถในการเล่นเกมทายปัญหาชิงรางวัลเป็นสิ่งพิเศษที่เราพบว่า การเรียนรู้ระหว่างเด็กด้วยกันเองมีความสนุกสนาน เสียงหัวเราะ การตั้งอกตั้งใจฟัง แยกกันยกมือเพื่อตอบปัญหาชิงรางวัล และความน่ารักของผู้สอนและผู้เรียน เป็นเสน่ห์ขององค์ความรู้นั้น ซึ่งหาได้น้อยในการเรียนรู้ของวัยผู้ใหญ่ ภาพของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 – 3 คน พากันมาชี้ภาพห่อขนมกรุบกรอบในบอร์ดที่ติดแสดงไว้ให้นักเรียนทั้งโรงเรียนได้ดูกัน นับเป็นความสำเร็จของเด็กชายไฉ่ไล้และเพื่อนๆแกนนำ ที่ผ่านการต่อสู้กับกระแสของการขายขนมห่อกรุบกรอบหน้าโรงเรียน ทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตตลาด แหล่งซื้อขายขนมกรุบกรอบนั่นเอง

จากนั้นก็มีการจัดมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแกนนำเยาวชนใส่ใจสุขภาพรุ่นที่ 2 ขึ้นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาทำให้ได้เห็นผลงานของเด็กๆที่ทำขึ้น ทีมงานก็เกิดความหวังถึงความสำเร็จที่จะลดอัตราการเกิดโรคขึ้นในอนาคต และนั่นคือ การลดลงของจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามารับบริการในโรงพยาบาล และภาระงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะลดลงอันเป็นพลอยได้ที่ดีทีเดียว

จนถึงวันนี้เรามีแกนนำเยาวชนรุ่นที่ 3 ที่ผ่านการอบรมไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม 2553 โดยปรับชื่อการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้นำนักเรียนด้านสุขภาพว่า หมอน้อยลำลูกกา ปี 2553 ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีหน่วยงานในโรงพยาบาลเข้ามาร่วมเป็นวิทยากรและจัดฐานการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ได้แก่ งานยาเสพติดและสุขภาพจิต งานป้องกันและควบคุมโรค(IC) งานกายภาพบำบัด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฐานการเรียนรู้ขึ้นใหม่ รวมทั้งสิ้น 10 กิจกรรม ได้แก่

  1. ละครเรื่อง ทำไมแร้งจึงไม่กินศพเด็ก ( อาหารปลอดภัย )
  2. การตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ( อาหารปลอดภัย )
  3. สิบท่าออกกำลังกาย ( กีฬาคือยาวิเศษ )
  4. การจัดงานกีฬาสามัคคี ( กีฬาคือยาวิเศษ )
  5. ละครแกละน้อยฟันผุ ( เด็กไทยฟันดี )
  6. การแปรงฟันถูกวิธี ( เด็กไทยฟันดี )
  7. บทบาทสมมุติ หนูจุ่นซุกซน ( ป้องกันอุบัติเหตุ )
  8. ละคร ก่อนจะสาย ( ต้านยาเสพติด )
  9. สะเก็ดข่าวเยี่ยมชมโรงเรียนสะอาดมาก ( อนามัยสิ่งแวดล้อม )
  10. ชวนเพื่อนล้างมือ ( อนามัยสิ่งแวดล้อม )

ใช้เวลาในการจัดกิจกรรมถึง 6 วัน แบ่งเป็น 3 รุ่นๆละ 16 โรงเรียน มีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งสิ้น 48 แห่ง ได้หมอน้อยลำลูกการวม 480 คน แต่ทำเอาวิทยากรของแต่ละฐานกิจกรรมเหนื่อยตามๆกัน เนื่องจากต้องรับเด็กนักเรียนมาเข้าฐานถึง 18 รอบด้วยกัน แต่ครั้งนี้รอยยิ้มและความสนใจในการทำกิจกรรมของเด็กๆ ก็ทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหายเหนื่อยได้ทีเดียว

     สิ่งที่ได้มากกว่าการสร้างแกนนำเยาวชน คือการกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้ามีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรค และยังมีผลต่อครอบครัวของแกนนำเยาวชนด้วย เพราะความรู้ด้านสุขภาพที่เด็กได้รับนั้น นอกจากตัวเด็กแล้วยังขยายผลไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวของเด็กเหล่านั้นด้วย และอานิสงค์ของการทำงานเชิงรุกในโรงเรียนนั้น ทำให้สัมพันธภาพระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และครูในโรงเรียน เป็นไปด้วยดี มีความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานดูแลสุขภาพของเด็กวัยเรียน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพฟันในเด็กวัยเรียน งานเด็กไทยทำได้ งาน อย.น้อย งานยาเสพติดในโรงเรียน เป็นไปได้ด้วยดี ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด คือเด็กลำลูกกาแข็งแรง เราจึงได้เรียนรู้ว่า เรื่องของเด็กไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จได้

 

                                                                                                  เภสัชกร งานเภสัชกรรม

                                                                                                    โรงพยาบาลลำลูกกา

หมายเลขบันทึก: 387723เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 12:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

พี่อ้อคะ ขอยืมไปใช้บางส่วนนะคะ ขอบคุณคะ

ขอบคุณสำหรับคำชมค่ะ จะตั้งใจทำงานพัฒนาเครือข่ายปฐมภูมิให้เต็มที่ต่อไปค่ะ

ยินดีให้นำไปใช้ต่อค่ะ หมอซีอิ๊ว คิดถึงเสมอนะคะ

ดีครับ น่าติดตามตอนต่อไป เพราะเด็กโตขึ้นทุกวันๆ ว่ามีอะไรเกิดใหม่ๆอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท