การจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการ


บทเรียนที่ได้รับ เป็นประสบการณ์เกิดจากการปฏิบัติจริงในการทำงาน ภายใต้ภาวะจำกัดทางด้านทรัพยากร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ ความพยายาม ความอดทน ความเสียสละ โดย ใช้หลักทฤษฎีการบริหารและทักษะการประสานงานในการแสวงหาภาคีเครือข่าย และองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ในการจัดการและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ

ผู้นำเสนอ  นางบุญตุ้ม   ปานทอง     นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำแก่น

บทคัดย่อ

                                โครง การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการ ในตำบลน้ำแก่น อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

 มีวัตถุประสงค์ 1.) เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานประจำในการปฏิบัติงานตามเกณฑ์มาตรฐาน 2.)เพื่อเพิ่มทักษะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.)เพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการแบบองค์รวมโดยสหวิชาชีพตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัวครบ 4 มิติ ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ  โดยวางยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้านประกอบด้วยการบริหารทรัพยากร  การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร การพัฒนาระบบการส่งต่อ  และการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลการดำเนินงานทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ใกล้บ้านใกล้ใจ มีความพึงพอใจต่อการบริการมากขึ้น  สามารถลดผู้ป่วยโรคทั่วไปของรพ.แม่ข่ายได้

                บทเรียนที่ได้รับ  เป็นประสบการณ์เกิดจากการปฏิบัติจริงในการทำงาน ภายใต้ภาวะจำกัดทางด้านทรัพยากร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ ความพยายาม ความอดทน ความเสียสละ โดย ใช้หลักทฤษฎีการบริหารและทักษะการประสานงานในการแสวงหาภาคีเครือข่าย และองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ในการจัดการและพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ  คือ เป็นบริการด่านแรกที่เข้าถึงได้ง่าย (Front-line care) ให้บริการที่ต่อเนื่อง (Ongoing care) บริการที่ผสมผสาน เข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการ (Comprehensive care) และเป็นหน่วยที่ประสานการบริการกับบริการเฉพาะทางและการส่งต่อรักษาที่เหมาะสม ช่วยประสานงานบริการทางสังคมที่เกี่ยวข้อง (Coordinated care)

                ปัจจัยแห่งความสำเร็จประกอบด้วย   ภาวะผู้นำในการทำงาน และการสร้างทีมงาน ที่มีความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบจากการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และเข้าใจถึงโอกาสของบุคลากรที่จะ ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการทำงานตามสาขาวิชาชีพ โดยใช้ปัจจัยภายนอกเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาสู่ระบบคุณภาพตามเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐาน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่านและ รพ.แม่ข่าย ที่ให้การสนับสนุนในการอบรมพัฒนาทักษะทางวิชาการและการปฏิบัติการ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่สนับสนุนคู่มือ/ แนวทางการปฏิบัติงาน และระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาให้ผ่านเกณฑ์ตามเป้าหมายที่กำหนด

สรุปสาระสำคัญ              การจัดระบบบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการ

นางบุญตุ้ม  ปานทอง นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.น้ำแก่น อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

 โทร. 3054-683344,683307 มือถือ 081-4721035   

บทนำ

ตำบลน้ำแก่น  อยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของ กิ่งอำเภอภูเพียง  จังหวัดน่าน  อยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน  ห่างจากตัวจังหวัด 14 กม. ด้านการปกครองแบ่ง 10 หมู่บ้าน    มีประวัติความเป็นมากว่า 300 ปี มีประชากร จำนวน 4,633 คน สถานะภาพของประชาชนจากการคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน จำนวน 174  คน  เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 476 คน  และมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในระหว่างการรักษาจากสถานีอนามัยและโรงพยาบาลน่านจำนวน 374 คน โรคเบาหวาน 93คน    และพบว่าสาเหตุการตายของประชาชน ได้ 3 อันดับแรกของได้แก่ 1.) โรคมะเร็ง 2.) โรคหัวใจ 3.)โรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุการป่วย 3 อันดับแรกของผู้ป่วยนอกคือ โรคระบบทางเดินหายใจ  โรคระบบกล้ามเนื้อ  โรคระบบย่อยอาหาร  PCU น้ำแก่น มีบุคลากรปฏิบัติงานประจำ จำนวน 10 คน ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพ จำนวน 2 คน นวก.สธารณสุข จำนวน 2 คน และจพง.ทันตฯ จำนวน 1 คน ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนจำนวน 4 คน ลูกจ้างรายคาบ จำนวน 1 คน ที่ต้องรับผิดชอบกิจกรรมบริการ 4 มิติ ทั้งเชิงรับและเชิงรุก เพื่อพัฒนาคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน ตามเกณฑ์มาตรฐาน ลดระยะเวลาในการเดินทาง ไม่ต้อเสียเวลาไปรอรับบริการจาก รพ.น่าน ซึ่งเป็นแม่ข่ายในโรคทั่วไปที่พยาบาลเวชปฏิบัติสามารถให้การรักษาได้โดยใช้ระบบการปรึกษาการรักษากับแพทย์ที่ปรึกษาและคู่มือแนวทางการปฏิบัติด้านการจัดบริการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. ,กระทรวงสาธารณสุข และแผนการรักษาของแพทย์ที่ปรึกษา ช่วยลดผู้ป่วย OPD ของรพ.แม่ข่าย

วัตถุประสงค์

                1. เพื่อพัฒนาระบบบริการของ PCU น้ำแก่นให้ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐานของ สปสช.

2.เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการที่ปฏิบัติงานประจำให้มีความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชน ตามเกณฑ์มาตรฐานตัวชีวัดคุณภาพแบบองค์รวมโดยทีมสหวิชาชีพ

3.เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

4. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่ายในการทำงาน

 

กลวิธีดำเนินการ

                โดยการจัดประชุมชี้แจงนโยบายการจัดระบบบริการปฐมภูมิแก่บุคลากรในPCU คณะกรรมการ แกนนำชุมชน เพื่อทำความเข้าใจ และสร้างทีมพัฒนาแบบมีส่วนร่วม  ร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติและร่วมประเมินผล จากการระดมความคิดเห็นได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ดังนี้คือ

1. ) การบริหารทรัพยากร  2. ) การพัฒนาบุคลากร 3. ) การพัฒนาระบบสารสนเทศและการสื่อสาร

 4. )การพัฒนาระบบการและการส่งต่อ   5. )การพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน

ผลการดำเนินงาน

                เชิงปริมาณ มีการจัดระบบคลินิกบริการให้เอื้อต่อกิจกรรมบริการดังนี้ คือ ห้องบัตรจำนวน 1ห้อง การจัดห้องตรวจรักษาและบริการฉุกเฉิน ห้องสังเกตอาการพร้อมเตียง 3 เตียง  จำนวน 4 ห้อง  ห้องส่งเสริมสุขภาพและห้องตรวจภายใน จำนวน 2 ห้อง ห้องสุขาภิบาลและป้องกันโรค จำนวน 1 ห้อง  ห้องข้อมูลข่าวสารและการบริหาร จำนวน 1 ห้อง ห้องบริการทันตกรรมจำนวน 1 ห้อง  ห้องจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ปลอดเชื้อ  จำนวน 1 ห้องห้องบริการแพทย์แผนไทยและศูนย์การเรียนรู้แพทย์แผนไทยและแพทย์  จำนวน 1 ห้อง  ห้องประชุมจำนวน 1 ห้อง เปิดให้บริการประชาชนทุกวัน 56 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีบุคลากรปฏิบัติงานประจำได้แก่พยาบาลวิชาชีพผ่านการอบรมเวชปฏิบัติจำนวน 1 คน พยาบาลวิชาชีพที่อยู่ระหว่างการอบรมเวชปฏิบัติ  จำนวน 1 คน นักวิชาการชำนาญการเป็นหัวหน้าสถานีอนามัย จำนวน 1 คน นักวิชาการปฏิบัติการ จำนวน 1 คน จพง.ทันตชำนาญงาน จำนวน 1 คน ประเภทลูกจ้าง  ประกอบด้วย นักแพทย์แผนไทย จำนวน 1 คน นวก.ส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 1 คน ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยจำนวน 1 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ จำนวน 1 คน ผู้ช่วยงานทันตกรรม จำนวน 1 คน มีคณะกรรมการพัฒนาจากสี่ภาคส่วนจำนวน 15 คน มีแพทย์ที่ปรึกษาจำวน 1 คน มีทีมสุขภาพจาก รพ.แม่ข่ายจำนวน 4 คน มาช่วยงานรายกิจกรรม  มีภาคประชาชน  ร่วมการพัฒนาระบบบริการเชิงรุก ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 106 คนและมีแกนนำสร้างสุขภาพ จำนวน 10 คน บุคคลต้นแบบ จำนวน 26 คน

                เชิงคุณภาพ  มีการให้บริการแบบองค์รวม ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสภาพ โดยพยาบาลเวชปฏิบัติ ทีมสุขภาพตำบลและภาคประชาชน ในการค้นหากลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ (ได้แก่ เด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) ในการจัดกิจกิมผู้ป่วยดูแลตนเอง หมู่บ้านละ 1ครั้งต่อเดือนเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตอนบ่าย อังคาร-พฤหัสบดี จัดให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Case conference โดยทีมสุขภาพตำบลบ่ายวันศุกร์ ประสานการรักษา Case ที่มีปัญหากับแพทย์ทางโทรศัพท์มือถือและ Skype มีการส่งต่อการรักษาโดย 1669 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.  สสอ. และรพ.แม่ข่าย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รับการรักษาโดย รพ.แม่ข่ายถูกโอนมารับการรักษาต่อเนื่องที่ PCU  ช่วยลดภาระของประชาชน ด้าน  การเดินทาง  ค่าใช้จ่าย และญาติที่ต้องหยุดงานไปดูแลผู้ป่วย

อภิปรายสรุปและข้อเสนอแนะ

การจัดระบบบริการโดยมุ่งเน้นงานปฐมภูมิมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความรู้ และทักษะทางการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถจัดการในรายละเอียดของระเบียบที่เกี่ยวข้องได้     และสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในประเด็นหลัก ในการพัฒนาซึ่งผู้บริหารต้องทำการผลักดันนโยบายและแนวทางการปฏิบัติเรื่องใหม่ๆที่คนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย ไม่เป็นที่รับรู้ และความคิดความเข้าใจยังไม่ตรงกัน ให้เกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาระบบบริการสู่เกณฑ์มาตรฐาน และขาดบุคลากรที่มีองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ครอบครัวตามกรอบมาตรฐาน จึงต้องพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรที่มีอยู่ให้สามารถทำงานตามเกณฑ์มาตรฐานในภาวะที่ขาดแคลนงบประมาณ ที่ต้องใช้จ่ายในการพัฒนา ระบบโครงสร้าง บุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้  นับเป็นปัญหาใหญ่ของPCU ที่ต้องวางระบบงานและควบคุมกำกับในรายละเอียดปลีกย่อย นับว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ได้รับว่าบุคลากรที่ปฏิบัติงานหน่วยบริการปฐมภูมิต้องใช้เวลานอกเวลาราชการในการทำงานและทำความเข้าใจทีมงานและประชาชนให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จของการจัดบริการปฐมภูมิแบบบูรณาการที่สำคัญคือ การนำทางด้วยนโยบาย ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อให้เกิดกระบวนการบริหารอย่างเป็นระบบ จึงจะบรรลุถึงหัวใจของการบริการปฐมภูมิ ที่กำหนดให้บริการปฐมภูมิ   เป็นบริการด่านแรกที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย (Front-line care) ให้บริการที่ต่อเนื่อง (Ongoing care) บริการที่ผสมผสาน เข้าใจความต้องการขอผู้ใช้บริการ (Comprehensive care) และเป็นหน่วยที่ประสานการบริการกับบริการเฉพาะทางอื่น และช่วยประสานสนับสนุนบริการทางสังคมอื่นที่เกี่ยวข้อง (Coordinated care)  แต่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ต้องทำหน้าที่มากมายทั้งด้าน การบริหาร การจัดบริการ และวิชาการ  ยังไม่ได้รับการสนับสนุนความก้าวหน้าในวิชาชีพ และ ด้านขวัญกำลังใจ ค่าตอบแทนการทำงานยังไม่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ปัจจุบันให้เฉพาะแพทย์และพยาบาล   แต่ด้านบริหาร  วิชาการ และอื่นๆ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนนับ เป็นจุดหักเหที่ก่อให้เกิดความแตกแยกของหน่วยบริการปฐมภูมิ

หมายเลขบันทึก: 387720เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท