ความหมายของ “ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”


ความหมายของ “ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 5
“ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เข้าเสนอราคาขายในการซื้อพัสดุของทางราชการ หรือเข้าเสนอราคาเพื่อรับจ้างทำพัสดุ หรือเข้าเสนองานเพื่อรับจ้างเป็นที่ปรึกษา หรือรับจ้างออกแบบและควบคุมงาน ให้แก่ส่วนราชการใด เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอื่นที่เข้าเสนอราคาหรือเข้าเสนองาน ให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน

จากระเบียบฯ ข้อ 5 ซึ่งกำหนดคำนิยามของคำว่า “ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ดังกล่าว สรุปได้ว่า ผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หมายถึง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งได้แก่ (1) การมีความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร (2) การมีความสัมพันธ์ในเชิงทุน หรือ (3) การมีความสัมพันธ์ไขว้กันกับอีกบุคคลธรรมดาหรืออีกนิติบุคคลอื่น และได้เข้าร่วมในการเสนอราคาในการประกวดราคาในคราวเดียวกัน
(1) ความสัมพันธ์ในเชิงบริหาร โดยผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ/กรรมการผู้จัดการ/ผู้บริหาร/ผู้มีอำนาจในการดำเนินกิจการ มีอำนาจหรือสามารถใช้อำนาจในการบริหารจัดการกิจการของ บุคคลหรือนิติบุคคลอีกรายหนึ่งหรือหลายราย
(2) ความสัมพันธ์ในเชิงทุน โดยผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ/หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด, บริษัทมหาชนจำกัดในอีกรายหนึ่ง (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายถึง ผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 25 ในกิจการนั้นหรืออัตราอื่นตามที่ กวพ. ประกาศกำหนด)
(3) ความสัมพันธ์ในลักษณะไขว้กัน โดยผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ/กรรมการผู้จัดการ/ผู้บริหาร/ผู้มีอำนาจในการดำเนินงาน เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ในอีกรายหนึ่ง
การดำรงตำแหน่ง การเป็นหุ้นส่วน การถือหุ้น ของคู่สมรสหรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวข้างต้น ถือว่าเป็นการดำรงตำแหน่งเป็นหุ้นส่วน หรือเป็นการถือหุ้นของบุคคลนั้นด้วย
ในกรณีบุคคลใดใช้ชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการ/หุ้นส่วนผู้จัดการ/กรรมการผู้จัดการ/ผู้บริหาร/ผู้เป็นหุ้นส่วน/ผู้ถือหุ้น โดยที่ตนเองเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารที่แท้จริง ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าเสนอราคาหรือเสนองานให้แก่ส่วนราชการนั้นในคราวเดียวกัน ถือว่าเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานนั้นมีความสัมพันธ์กัน

เอกสารหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบ
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 15 จัตวา ประกอบตัวอย่างเอกสารประกวดราคาที่ กวพ.อ. กำหนด ข้อ 3 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องยื่นเอกสารเพื่อใช้ตรวจสอบว่าเป็นผู้เสนอราคาหรือเสนองานที่มีผลประโยชน์ร่มกัน ดังนี้
(1) ผู้เสนอราคาหรือเสนองานเป็นนิติบุคคล
(1.1) บริษัทจำกัด / บริษัทมหาชนจำกัด
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- หนังสือบริคณฑ์สนธิ
- บัญชีรายชื่อกรรมการผู้จัดการ
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่
- บัญชีผู้มีอำนาจควบคุม (ถ้ามี)
(1.2) ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล
- บัญชีรายชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
- บัญชีผู้มีอำนาจควบคุม (ถ้ามี)
(1.3) กิจการร่วมค้า
1) สำเนาสัญญาของการเข้าร่วมค้า
2) ผู้ร่วมค้าฝ่ายที่เป็นบุคคลธรรมดา
- มีสัญชาติไทย ให้ยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- มิใช่สัญชาติไทย ให้ยื่นสำเนาหนังสือเดินทาง
3) ผู้ร่วมค้าฝ่ายที่เป็นนิติบุคคล ให้ยื่นเอกสารหลักฐานตามข้อ (1.1)
หรือ (1.2) แล้วแต่กรณี
(2) ผู้เสนอราคาหรือเสนองานเป็นบุคคลธรรมดา หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
(2.1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้นั้น
(2.2) สำเนาข้อตกลงที่แสดงถึงการเข้าเป็นหุ้นส่วน (ถ้ามี)
(2.3) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วน

หมายเลขบันทึก: 387714เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท