เครือข่ายชุมชน กทม.ต้านทุจริต


ด้วย "สำนึกพลเมือง"เครือข่ายชุมชน ร่วม ป.ป.ท.ต้านทุจริตใน กทม.

สมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม. ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต กทม.เฉลิมประเกียรติในโอกาสวันเฉลิมฯ  12 สิงหาคม 2553

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553    ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น   เขตจตุจักร กทม. สมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม. โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานป้องกันปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้จัด การประชุมผุ้นำชุมชนใน กทม.จำนวน 350 คน  

ในพิธีดังกล่าวนี้ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตในกรุงเทพมหานคร ต่อหน้าฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ  และสมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม.   ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ สำนักงาน ป.ป.ท.ที่จะดำเนินการแก้ปัญหาทุจริตใน กทม.ร่วมกัน

นายณัชพล  เกิดเกษม  ประธานสมัชชาสภาองค์กรชุมชน กทม.

                โดยอาศัย พรบ.สภาองค์กรชุมชน (พ.ศ.2551) ขณะนี้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนอย่างเป็นทางการได้ 25 เขต (จาก 50 เขต) ส่วนที่ยังไม่เป็นสภาองค์กรชุมฃน ก็เชื่อมต่อกันในนามเครือข่ายกิจกรรม ซึ่งครอบคลุมทั่ว กทม. ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม ที่ผ่านมา  สมัชชาสภาองค์กรชุมชน ได้ร่วมกับ ป.ป.ท.จัดการอบรมแกนนำชุมชนจำนวน 270 คน  ทุกคนเห็นว่าทุจริตเป็นปัญหาอันตรายของชาติ  จึงได้ประกาศที่จะร่วมเป็น “อาสาสมัครต่อต้านทุจริต กทม.” (อสปท.)  โดยสร้างกระแส “กทม.ไม่เอาทุจริต”  โดยการทำกิจกรรมยุทธศาสตร์ 3 เรื่อง คือ 1)  จัดตั้งอาสาสมัครป้องกันทุจริต   2) พัฒนาแกนนำให้มีคุณภาพ  3) เชื่อมต่อข้อมูลกับป.ป.ท. เฝ้าระวัง การทุจริตของทุกหน่วยงานใน กทม.   โดยเน้นในระดับชุมชนและระดับเขต  

สมัชชาฯ วางเป้าที่จะสร้างอาสาสมัครให้ได้ 5,000 คน เพื่อร่วมฉลองในวัน 5 ธันวาคม ปีนี้

พล.ต.อ.วศิษฐ์  เดชกุญชร  ประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาทุจริต กทม.

                ทุจริตเป็นโรคระบาดร้ายแรงของโลกรวมทั้งประเทศไทย ต้นเหตุ คือ บุคคล ที่กระทำการทุจริต    รัฐบาลทุกสมัยประกาศปราบทุจริต วางโทษหนักถึงประหาร  แต่ไม่ได้ผล ผู้มีอำนาจต้องคดีไม่กี่คน  ติดคุกไม่นานก็พ้นโทษ    รัฐบาลมี ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.เป็นกลไกสำคัญในการแก้ทุจริต กำลังไม่พอ ต้องร่วมกับภาคประชาชน   การแก้ปัญหาทุจริตที่ได้ผล ต้องแก้ที่คน ทำให้คนมีคุณธรรม ให้รู้จักศีลข้อ 2 ไม่ขโมยของ คือ รู้จักสิทธิของคนอื่น  อุปสรรคใหญ่ คือ กลุ่มผู้ทุจริตมีความเข้มแข็ง มีเงิน มีพวกมาก มีอิทธิพลต่อการเมืองและต่อระบบราชการ   ภาคประชาชนจะต้องร่วมกันให้เป็นพลังต่อต้านพวกทุจริต  จะขอร่วมกับขบวนการนี้ด้วยไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด

 นายภิญโญ ทองชัย  เลขาธิการ ป.ป.ท.

            การทุจริตทำความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ  มูลค่าการทุจริตเป็นตัวเงินมากกว่าปัญหายาเสพติดถึง 5 เท่า  มีผลกระทบต่อทุกอนูของประเทศ  ที่น่าเป็นห่วงคือ มีแนวโน้มว่าประชาชนทุกกลุ่มยอมรับหรือยอมจำนนต่อปัญหาการทุจริต  การทุจริตพัฒนาเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เริ่มแต่ นักการเมือง ราชการ นักธุรกิจ    การทุจริตผูกพันกับการเมืองกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” หรือ “วงจรปีศาจ” ของสังคมไทยในปัจจุบัน  เป็นความเสียหายสร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชน และก่อความเหลือมล้ำในสังคม  ขอเสนอว่าภาคประชาชนควรมีเวทีทำความเข้าใจเรื่องนี้และมีเวทีพูดคุยกันตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับเขต และ กทม.ส่วนกลาง   ควรทำจากเรื่องใกล้ตัวที่ชาวบ้านมองเห็นปัญหา ขยายตัว ก่อเป็นกระแสการขับเคลื่อนขบวนสังคม (Social Movement) สำนักงาน ป.ป.ท.พร้อมสนับสนุนสมัชชาสภาองค์กรชุมชนอย่างต่อเนื่อง  เพื่อลดการทุจริตใน กทม.และก่อผลสะเทือนระดับประเทศ                               

องค์กรภาคีที่ได้อภิปรายสนับสนุนการต่อต้านทุจริตของชุมชนกรุงเทพมหานคร

นายประยงค์ ปรียาจิตร  รองเลขาธิการ ป.ป.ท.

             ปัญหาทุจริตแก้ไม่หมด เกิดสภาพ ปัญหาตกค้าง สะสม และขยายตัว  แต่กลุ่มทุจริตก็ยังเป็นคนส่วนน้อยชองประเทศ  ประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน  แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  ยุทธศาสตร์ของ ป.ป.ท.       คือ   1) ลดปัญหาทุจริต 2) ควบคุมไม่ให้ทุจริตรายใหม่เกิด 3) จัดระบบเฝ้าระวัง    จะพัฒนาองค์กร ป.ป.ท. เป็นองค์กรตัวอย่างที่ปราศจากการทุจริต  ได้ใช้นโยบาย “ไม่มีที่ยืนให้คนโกงในองค์กร”

ม.ล.สุทธิฉันท์  วรวุฒิ  ที่ปรึกษาสภาพัฒนาการเมือง

           ภารกิจของสภาพัฒนาการเมืองคือ 1) กำกับ ดูแล พฤติกรรมนักการเมืองทุกระดับ โดยรายงานต่อรัฐสภา  2) ให้ความรู้การเมืองและประชาธิปไตยแก่ประชาชน  3) ส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง  เรื่องส่วนบุคคลถึงเป็นเรื่องใหญ่ ก็เป็นเรื่องเล็ก  เรื่องของประเทศชาติ ถึงเรื่องเล็กก็เป็นเรื่องใหญ่  จะต้องช่วยกันแก้ปัญหาทุจริตในทุกระดับ

น.พ.พลเดช  ปิ่นประทีป  คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง

          ประเทศไทยกำลังสนใจรูปแบบการแก้ทุจริตของสิงค์โปร์ และ ฮ่องกง  เพื่อนำมาใช้  แต่เงื่อนไขความสำเร็จขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนไทย  เราต้อง “กระแทกสำนึกคนไทย” ให้เกลียดการทุจริตจน “เข้ากระดูกดำ”    เราต้องปลุกที่ตัวเองก่อนจนสามารถปกครองตนเองได้ (Self Governing)  เราเลิกทาสมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 แต่คนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่า “เป็นราษฎรในปกครอง”  ต้องรู้สึกว่าเราเลือกนักการเมืองมารับใช้ ไม่ใช่มาปกครองประชาชน   กระบวนการสร้างสำนึกใหม่ ก็คือ 1) ต้านทุจริต   2) ปกครองตนเอง  3) มีสำนึกรักชาติบ้านเมือง รักชุมชนท้องถิ่น

ข่ายเครือข่ายท้องถิ่นไทย 23 ส.ค. 53

www.facebook.com/localthai             www.gotoknow,org/blog/users/localthai

หมายเลขบันทึก: 387556เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท