เรียนรู้หลากปรัชญาการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตจากหนังเรื่อง “The Karate Kid”


จุดประกายเชื่อมโยงเหนี่ยวนำความรู้ ธรรมะ,ปรัชญาการศึกษา และการเรียนรู้ ได้อย่างเนียนๆ

 

หนังเรื่องนี้เป็นฉบับ Remake จากที่เคยสร้างไว้เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งก็เคยเป็นหนังที่โด่งดังทำเงินพอสมควร ใน Version นี้มีนักแสดงชูโรงอย่างเฉินหลงรับบทเป็นอาจารย์สอนกังฟูให้แก่เด็กชายผิวสีชาวอเมริกันผู้กำพร้าพ่อที่ต้องย้ายจากถิ่นฐานบ้านเกิดตามแม่มาเพื่อทำมาหากินยังเมืองปักกิ่ง ของจีนแผ่นดินใหญ่ เนื้อเรื่องโดยรวมผมคิดว่าไม่ค่อยน่าสนใจซักเท่าไหร่ เพราะเป็นพลอตเดิมๆ ที่สามารถเดาเนื้อเรื่องออกตั้งแต่ต้นจนจบ คือ เด็กไปมีเรื่องกับเจ้าถิ่น แล้วไปรู้จักกับคนเป็นมวยถ่ายทอดวิชากังฟูให้ จากนั้นก็กลับไปสู้กันใหม่ สุดท้ายก็จบด้วยชัยชนะ แต่ถ้าลองดูพินิจ พิเคราะห์ พิจารณา แล้วตีความตามปรัชญาการเรียนรู้จะเห็นว่าสามารถจุดประกายเชื่อมโยงเหนี่ยวนำความรู้ได้แง่มุมให้นำไปขบคิดต่อยอดอีกมากเลยทีเดียว นอกจากนี้ภาพบรรยากาศของหนังเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของจีนอย่างสวยงามน่าประทับใจ ผมคิดว่าครู ผู้ปกครอง นักการศึกษา น่าจะได้ดูหนังเรื่องนี้ครับ

 

 ภาพจาก http://www.majorcineplex.com/movie_detail.php?mid=416

 

เริ่มต้นจากการเดินทางจากอเมริกาไปจีน จะเห็นว่าเด็กวาดภาพเมืองจีนไว้ว่าโบราณคร่ำครึไม่ทันสมัย ซึ่งเป็นการมองอย่างคนที่เติบโตมาท่ามกลางสังคมวัตถุนิยม อาจตีความได้ว่าหนังเสียดสีความเป็นตะวันตกอย่างอเมริกาว่ารากทางวัฒนธรรมทางด้านจิตวิญญาณไม่ลึกพอ และยังหลงตัวเองว่าเป็นประเทศมหาอำนาจอยู่ ภาพที่แสดงในหนังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของวัฒนธรรม ความสวยงามของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของจีน รวมทั้งความทันสมัยของเทคโนโลยี สอดรับกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็น สนามกีฬารังนก พระราชวังต้องห้าม กำแพงเมืองจีน ยอดเขาบ่อน้ำมังกร เป็นต้น

 

 

ในเรื่องของการฝึกกังฟู แสดงให้เห็นเรื่องปรัชญาการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเห็นได้จากหลายๆตอน เช่น การให้เด็กถอดเสื้อ เก็บเสื้อ ใส่เสื้อ แขวนเสื้อ จะเห็นว่าอาจารย์ได้ใช้หลักการเรียนแบบบูรณาการหลายอย่างเข้าด้วยกัน คือ การสร้างพื้นฐานจิตใจให้เป็นคนมีระเบียบวินัย การสร้างพื้นฐานท่วงท่าให้เหมาะสม ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้โดยไม่รู้ตัว

 

 

บทสนทนาของหนังมี Key Word หลายคำที่ผมประทับใจ เช่น “กังฟูคือทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว กังฟูคือธรรมชาติ” เปรียบเหมือนการปฏิบัติธรรม คือ ทุกอริยบทคือการปฏิบัติธรรม ผมคิดว่าการฝึกกังฟูคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง คือต้องมีสติ มีสมาธิ วัตถุประสงค์การฝึกไม่ใช่การทำลายล้าง แต่เป็นการขัดกิเลส กล่อมเกลาจิตใจ  ถ้านำเรื่องนี้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนผมคิดว่า เราจะต้องไม่ยัดเยียดสิ่งแปลกปลอมที่เข้าใจว่าเป็นความรู้ให้กับเด็ก ต้องให้เด็กค้นพบความรู้นั้นด้วยตัวเอง ครูเป็นคนคอยสร้างแรงบันดาลใจ แนะแนวทาง ให้กำลังใจ  สร้างบรรยากาศให้เหมาะแก่การเรียนรู้ การเรียนการสอนไม่ควรซ้ำซากจำเจ ควรให้เห็นของจริง และได้สัมผัสกับสิ่งที่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจในบทเรียนให้ตรงกัน จะเห็นว่าความเข้าใจเด็กในหนังจะตีความตามกรอบประสบการณ์ของตัวเอง เช่น ตอนที่เห็นคนฝึกกังฟูกับงู เป็นต้น ดังนั้นครูต้องคอย Feedback สร้างความเข้าใจให้กับเด็กอยู่เสมอ ๆ ตามทฤษฎีของ MIAP (M : Motivation, I : Information, A : Application, P : Progress) ก็คือขั้นตอนของ A และ P นั่นเอง (อ่านรายละเอียดเรื่อง MIAP ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/attawutc/237875 และ http://gotoknow.org/blog/attawutc/237900)

 

 

 “อะไรที่มากไปมันก็เกินพอดี” เป็นอีก Key Word หนึ่งที่ผมประทับใจ อะไรที่สุดโต่งจะนำมาซึ่งหายนะ หนังยกตัวอย่างการแข่งขันว่า อย่าหมกมุ่นกับชัยชนะ แข่งเพื่อแข่ง ทำให้ดีที่สุด มีความสุขไปกับมัน เรื่องนี้ปรัชญาระดับคลาสสิกของพระพุทธองค์เลยทีเดียว สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดเชื่อมโยงกับหลายๆ เรื่องในชีวิตได้เป็นอย่างดี

  

 

 

หนังเรื่องนี้ยังให้แง่คิดในเรื่องการเรียนรู้ของครูอีกด้วย จากตอนที่อาจารย์หมกมุ่นอยู่กับอดีต ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข จนกระทั่งเด็กมาสะกิดใจให้ฉุกคิด จากแง่คิดนี้ผมคิดว่าคนที่เป็นครูต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ศิษย์ “แนะให้ทำ นำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสอนด้วยใจ อย่าทำตัวเป็นด้ามขวานที่ไม่เคยลิ้มรสคมขวานของตัวเอง นอกจากนี้ครูกับศิษย์ต้องเรียนรู้ร่วมกัน ฟังความคิดเห็นจากเด็กบ้าง เพราะจะเป็นการจุดประกายเชื่อมโยงเหนี่ยวนำความรู้ในการสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นเกลียวความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาได้อย่างไม่รู้จบ

 

หมายเลขบันทึก: 387423เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2010 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมากดูแล้วสนุกมากชอบตอนตีกันตอนเล่นบาด

สุรีพันธุ์ เสนานุช

ชอบเรื่องนี้มากเหมือนกันค่ะ นอกจากประเด็นของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับศิษย์ ชื่นชมคนเขียนบทที่ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้อย่างไรบ้าง บทภาพยนต์สะท้อนให้เห็นทั้งด้านมืด ด้านสว่างของการฝึกวิชากังฟูอย่างเป็นธรรม และชี้นำให้เห็นทางเลือกในด้านดี ดิฉันยังคิดว่าสื่อที่ดีควรทำหน้าที่ตรงนี้คือบอกข้อเท็จจริงและชี้นำในสิ่งที่ดีงามเพื่อช่วยกันจรรโลงสังคม การตีแผ่มุมมืดต่างๆ อย่างภาพยนต์ชีวิตเกย์ถูกเซ็นเซอร์ไป แล้วนักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายช่วยกันต่อสู้ เรียกร้องเสรีภาพอยู่นั้น ดิฉันก็อดจะตั้งคำถามไม่ได้ว่า นอกจากความสะใจของผู้สร้างแล้ว สังคมจะได้อะไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท