นปส.55 (23): เรือใบไหวลม


หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนา (หลักคิด) คือสมดุล มั่นคง ยั่งยืน กระบวนการพัฒนา (หลักวิชา) คือสามห่วงสองเงื่อนไข (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตนที่ดี ความรู้ คุณธรรม) และเทคนิควิธีการพัฒนา (หลักปฏิบัติ) คือวิธีการทรงงานต่างๆของในหลวง

ปลายสัปดาห์ที่ 8 แล้ว เมื่อวานก่อนผมได้เตรียมสรุปเรื่องการเสริมพลังในโรงพยาบาลบ้านตากหลังจากที่เพื่อนๆได้ดูวีซีดีกันแล้ว แต่เวลาไม่พอจึงไม่ได้นำเสนอ ผมตั้งใจจะนำเสนอหัวใจสำคัญของการเสริมพลังคือการให้เจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสิ่งที่เขารับผิดชอบ การพัฒนาวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดของคุณบุญคลี ปลั่งศิริ ประกอบด้วยการมีส่วนร่วม การเปิดใจและการเสริมพลัง และสรุปKM

การจัดการความรู้เน้นประโยคที่ว่า “แม้คนจะสำคัญ แต่การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนสำคัญมากกว่า” มีการเรียนรู้ที่ไตร่ตรองด้วยตัวเอง (โยนิโสมนสิการ) และเรียนรู้จากกันและกัน (ปรโตโฆษะ) และตั้งใจจะยกตัวอย่างการเสริมพลังง่ายๆเช่นกรณีการพัฒนาตนเองของคุณอภิชาต รอดแสวง การพัฒนาฝีมือช่างของคุณสมเกียรติ จันต๊ะโพธิ์ เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน 2553 ขับรถเข้ากรุงเทพฯกับพี่เชวงศักดิ์เพื่อไปเรียนวิชายุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย กับ ศ.ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ และมีรถบัสบริการสำหรับผู้ที่ไม่ขับรถไปเอง อาจารย์ทศพรแจกเอกสารชุดใหญ่และบรรยายให้ความรู้สรุปความได้ว่า โลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่เป็นเส้นตรง มีความซับซ้อนต้องอาศัยการคิดเชิงยุทธศาสตร์และต้องการการจัดการใหม่ที่ต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงและสิ่งเหล่านี้กระทบต่อระบบราชการไทยที่ต้องปรับตัวไปเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ องค์การที่มีจริยธรรมสูงและองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง

การปฏิรูประบบราชการไทยจึงเน้นที่ธรรมาภิบาลและการปรับโครงสร้าง มีการทบทวนบทบาทภารกิจภาครัฐและจัดระบบความสัมพันธ์ของภาคส่วนต่างๆในการบริหารกิจการบ้านเมืองโดยนำแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่ร่วมกับกระแสความเป็นประชาธิปไตยมาปรับใช้เกิดเป็นค่านิยมหลักทั้งด้านประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า ประสิทธิผล คุณภาพ การะรับผิดชอบต่อผลงาน การมีส่วนร่วม การตอบสนอง เปิดเผยโปร่งใส กระจายอำนาจและนิติรัฐ

การปรับตัวของประเทศไทยในบริบทใหม่ของโลกที่เขียนไว้ในแผน10 กำหนดไว้ 5 ข้อคือการพัฒนาคุณภาพคน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ และ การเสริมสร้างธรรมาภิบาล

IBM center ได้กำหนดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล ที่ผู้นำภาครัฐควรให้ความสำคัญ 6 แนวโน้มคือการเปลี่ยนกฎกติกา การบริหารผลการปฏิบัติงาน การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน/ทางเลือก/แรงจูงใจ การสร้างานตามความต้องการ การเข้าถึงประชาชนและการใช้เครือข่าย/หุ้นส่วน

ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ.2551-2555) มี 4 ประการ คือ

1. ยกระดับการให้บริการและการทำงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของประชาชนที่มีความสลับซับซ้อนหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

2. ปรับรูปแบบการทำงานให้มีลักษณะเชิงบูรณาการ เกิดการแสวงหาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายกับฝ่ายต่างๆ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

3. มุ่งสู่การเป็นองค์การที่มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีความพร้อมและความสามารถในการเรียนรู้ คิดริเริ่ม เปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ

4. สร้างระบบการกำกับดูแลตนเองที่ดี เกิดความโปร่งใส มั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีจิตสำนึก ความรับผิดชอบต่อตนเอง ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม

ช่วงบ่าย เรียนวิชา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้ในกระแสโลกาภิวัตน์ โดย อาจารย์ ดร. วิชัย รูปขำดี ผมได้อ่านเอกสารของอาจารย์แล้วทำให้ผมมีความเข้าใจเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ผมคิดว่าเป็นเอกสารที่วิเคราะห์ปรัชญาฯได้ดีมาก

อาจารย์กล่าวถึงทุนนิยม โลกาภิวัตน์และประชานิยมที่เข้ามากระทบสังคมไทยร่วมกับไตรวิกฤตโลกและข้อจำกัดของการพัฒนานำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผิดทาง(เน้นการเติบโตของจีดีพี บนฐานของมิจฉาทิฐิเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้จนไร้ศีลธรรม การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม) หากยังคงพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจทุนนิยมต่อไปจะนำไปสู่ความล่มสลายได้ แต่เศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยแก้ไขและฟื้นฟูให้กลับสู่ปกติสุขอย่างยั่งยืนได้

อาจารย์ยกผลการวิจัยเกี่ยวกับระดับความเข้าใจของคนไทยในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงในกลุ่มคนไทย พบว่า กว่าสี่ในห้าเข้าใจสาระสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ครบถ้วนเหมือนตาบอดคลำช้าง ส่วนใหญ่รับรู้แค่ว่าคือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มี 5% นำไปปฏิบัติแบบครึ่งๆกลางๆ การขับเคลื่อนในภาครัฐเป็นกลยุทธ์ด้านงบประมาณ การขับเคลื่อนภาคเอกชนมี่สวนน้อยโดยใช้เน้นเป็นกลยุทธ์เสริมภาพลักษณ์ ส่วนการขับเคลื่อนภาคประชาชนเน้นการเกษตรเป็นหลัก

เมื่อมองเศรษฐกิจพอเพียง เป็นความรู้ในสาขาการพัฒนา จะต้องพิจารณา 3 องค์ประกอบของวิชาการบริหารการพัฒนาคือ เป้าหมายของการพัฒนา กระบวนการพัฒนา และเทคนิค/วิธีการพัฒนา เมื่อนำมาวิเคราะห์และสร้างความเข้าใจพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ดังนี้

เป้าหมายการพัฒนา คือ “สมดุล มั่นคง ยั่งยืน” เน้นคุณภาพของความเจริญ ไม่ใช่เน้นประสิทธิภาพของความเจริญแบบทฤษฎีภาวะทันสมัย (ทุนนิยม) และไม่ใช่เน้นการกระจายของความเจริญแบบทฤษฎีพึ่งพา (สังคมนิยม) แต่ยึดอุดมการณ์ “คุณธรรมนิยม”

กระบวนการพัฒนา คือ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตนที่ดี ความรู้ คุณธรรม

เทคนิควิธีการพัฒนา คือหลักการทรงงานของในหลวง ที่ได้ทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่คนไทยมาตลอดโดยเฉพาะในเรื่อง ระเบิดจากข้างใน ทำให้ง่าย ทำตามลำดับขั้นตอน ทำจากเล็กๆไปใหญ่ ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ มองอย่างเป็นองค์รวม ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ส่วนรวม การมีส่วนร่วม บริการที่จุดเดียว ไม่ติดตำรา สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ สอดคล้องกับภูมินิเวศน์ สอดคล้องกับภูมิสังคม อธรรมปราบอธรรม ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ ขาดทุนคือกำไร พึ่งตนเอง ทำงานอย่างมีความสุข รู้รักสามัคคี พากเพียร ความจริงใจต่อกัน และผลิตได้เอง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นทางสายกลาง “มัชฌิมาปฏิปทา” ของการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง ยั่งยืน ท่ามกลางกระแสของการพัฒนาหลัก 2 แนวทางคือทฤษฎีภาวะทันสมัย (ทุนนิยม) และทฤษฎีพึ่งพา (สังคมนิยม)

ทฤษฎีภาวะทันสมัย มีฐานคติด้านเป้าหมายที่เน้นประสิทธิภาพของความเจริญด้วยวิธีการแข่งขัน ใช้หน่วยวิเคราะห์ระบบสังคมเชิงหน้าที่ มีระดับการไตร่ตรองสูงและซับซ้อน มีความเป็นจริงทางสังคมแบบปฏิฐานนิยม ภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยม/ทุนนิยม

ทฤษฎีแบบพึ่งพา มีฐานคติด้านเป้าหมายเน้นการกระจายของความเจริญ ด้วยวิธีการที่เน้นการพึ่งตนเอง ใช้หน่วยวิเคราะห์ระบบสังคมเชิงขัดแย้ง มีระดับการไตร่ตรองค่อนข้างสูงและเรียบง่าย มีความเป็นจริงทางสังคมแบบวิภาษวิธีแบบเจาะจง ภายใต้อุดมการณ์แบบสังคมนิยม

ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานคติแบบเป้าหมายที่เน้นคุณภาพของความเจริญ ด้วยวิธีการสามห่วงสองเงื่อนไข ใช้หน่วยวิเคราะห์ของระบบสังคมเชิงภูมินิเวศ มีระดับการไตร่ตรองสูงและเป็นองค์รวม มีความเป็นจริงทางสังคมเป็นพลวัตรและรอบด้าน ภายใต้อุดมการณ์แบบคุณธรรมนิยม

อาจารย์ไม่ได้พูดถึง “ทฤษฎีประชานิยม” แต่ผมก็อดคิดถึงไม่ได้ เพราะไม่เข้ากับทฤษฎีไหนเลย อาจเป็นทฤษฎีใหม่ที่นักการเมืองคิดขึ้นมาเอง ผมก็เลยถือวิสาสะวิเคราะห์เองเลย ดูแล้วคล้ายๆจะเป็นแบบพึ่งพา แต่ก็ไม่ใช่ เป็นการเน้นเป้าหมายแบบสร้างความพึงพอใจส่วนบุคคล/กลุ่มบุคคล ใช้หน่วยวิเคราะห์ระบบสังคมแบบอุปถัมภ์ มีระดับการไตร่ตรองต่ำ คิดง่ายๆขอให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชนก็พอ เป็นการหวังผลช่วงสั้นต่อความพึงพอใจ แต่ไม่ได้ใส่ใจกับผลกระทบระยะยาวต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้อุดมการณ์แบบ “คะแนนนิยม

การเรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (เน้นว่าต้องมีคำว่า “ของ”) ทำให้ผมนึกถึงคำบรรยายของอาจารย์หมอเกษม วัฒนชัย ที่ได้ยกตัวอย่างการทรงงานของในหลวงว่า พระองค์จะทำอะไรจะต้องคำนึงถึง “หลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติ” เมื่อได้ศึกษาบทวิเคราะห์ของอาจารย์วิชัยแล้วผมก็ลองคิดเทียบเคียงดูกับหลักของการบริหารการพัฒนา “เป้าหมายการพัฒนาก็คือหลักคิด กระบวนการพัฒนาคือหลักวิชา และเทคนิคการพัฒนาคือหลักปฏิบัติ” ในหลวงทรงใช้ศัพท์ง่ายๆแต่สอดคล้องกับหลักการของฝรั่งตะวันตกในหลายๆเรื่องที่สะท้อนถึงความเป็นพระมหากษัตริย์นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ การปฏิรูประบบราชการที่ไปลอกตำราฝรั่งมา จะไม่จำเป็นเลย ถ้าได้ศึกษาหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงอย่างจริงจัง

ตอนเย็นมีงานเลี้ยงร่วมระหว่างรุ่น 54 และ 55 และถือเป็นการเลี้ยงส่งรุ่น 54ที่กำลังจะจบการฝึกอบรมด้วย แต่รู้สึกว่าผู้เข้าร่วมงานจะไม่มากนักทั้งสองรุ่นและไม่ค่อยสนิทกัน หลังรับประทานอาหารกันแล้ว ไม่นานต่างก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน มีอยู่ไม่กี่คนที่อยู่จนงานเลี้ยงเลิก ผมกลับไปนอนตอนสามทุ่มกว่าๆเพราะตื่นเช้าอและขับรถมาเองทำให้อ่อนเพลียจึงรีบไปนอนพัก

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน 2553 ไปเรียนรายวิชา เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริหารงานภาครัฐและศึกษาดูงานสำนักงานคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีทีมงานของ กทช.มาต้อนรับและบรรยายให้ความกระจ่างหลายคนด้วยกัน อาคารสถานที่ของ กทช.ดูหรูหราโอ่อ่ามาก ออกแบบอย่างทันสมัย น่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างมากมายอยู่ ค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศห้องประชุมห้องเดียวน่าจะมากกว่าค่ายาและเวชภัณฑ์ที่สถานีอนามัยได้รับในแต่ละเดือน

อดคิดถึงสถานบริการสาธารณสุขชุมชนที่อำเภอท่าสองยางหลายแห่งที่ผมไปเยี่ยมมา ที่ทำหน้าที่ดูแลชีวิตสุขภาพของคนในกลุ่มบ้าน เป็นเพียงเพิงไม้ไผ่เล็กๆที่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านช่วยกันทำเอง ไม่มีหมอไม่มีพยาบาล ต้องเอาคนในหมู่บ้านมาฝึกอบรมกันเองในจังหวัดเพื่อให้พอดูแลเบื้องต้นได้ กว่าจะเดินทางไปถึงสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลก็เป็นครึ่งค่อนวันด้วยการเดินเท้า อดนึกสะท้อนใจไม่ได้

สถานการณ์ด้านโทรคมนาคมโลก มีการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงเกือบสี่เท่า (4.6 พันล้านจาก 6.9 พันล้านคน) ประชากร 1 ใน 4 ของโลกใช้อินเตอร์เน็ต อัตราการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นตัววัดความสามารถในเชิงแข่งขันของประเทศต่างๆในโลกเนื่องจากปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจที่อ้างอิงพื้นฐานสังคมเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้ ประเทศในกลุ่มอเมริกา เอเชียแปซิฟิกและยุโรปมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในอัฟริกาจะน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญในการกระจายโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มที่ด้อยโอกาสโดยเฉพาะการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกตามการจัดของITU ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำปานกลาง จาก 11 ประเทศในกลุ่มเดียวกัน จีนเป็นประเทศที่มีการใช้บริการอินเตอร์เน็ตFixed Broadband สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเดียวกันและเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงว่าจีนก้าวเข้าสู่พื้นฐานสังคมเศรษฐกิจแห่งปัญญาและการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการศึกษาที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ดี

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นองค์กรอิสระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 40 และตั้งตาม พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ให้ กทช. มีอำนาจหน้าที่หลัก 2 ประการคือการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 51 ของ พรบ.ฯ รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

มีการดำเนินงาน 8 ด้านคือการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม การกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม การบริหารจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมและบุคลากรโทรคมนาคม การบริหารเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การส่งเสริมกิจการโทรคมนาคมเฉพาะกิจและการพัฒนาองค์กร

หลังเสร็จสิ้นการดูงาน ผมนั่งแท็กซี่กลับมาที่โรงแรมเพื่อขับรถกลับบ้าน วันนี้กลับคนเดียวเพราะพี่เชวงศักดิ์มีภารกิจที่กรุงเทพฯ ชีวิตทุกคนหรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็เปรียบได้กับเรือใบลำน้อยที่กำลังล่องลอยอยู่ในกระแสทะเลลึก จะกำหนดทิศทางเรือและฝ่าฟันอุปสรรคได้หรือไม่ก็ต้องกำหนดยุทธวิธีอย่างเหมาะสมและคนในเรือต้องร่วมแรงร่วมใจกัน

หมายเลขบันทึก: 387255เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท