ใช้ Storytelling ในการประชุมระดมสมอง ในงานบริหารภาควิชา


        ในปลายเดือนนี้ ที่ประชุมกรรมการคณะฯ (คณะแพทย์ มอ) จะมีกิจกรรมนำเสนอ “QA (quality assurance) ภาควิชา” ซึ่งเป็นการนำเสนอการดำเนินงานประกันคุณภาพงานของภาควิชาในหัวเรื่องตามๆ ตามที่กำหนด เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ทำปีละ 4 ครั้ง ติดต่อกันมากกว่า 5 ปีแล้ว จนถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่คณะฯ ภาคภูมิใจ ก่อนจะมีกระแส KM หรือ LO เข้ามาเสียอีก
        ในครั้งนี้ (30 กันยายน) จะเป็นเรื่อง “การเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษาแพทย์” ภาควิชาพยาธิวิทยา ไม่มีนักศึกษาอยู่ในการดูแลโดยตรง (เนื่องจากการจัดการเรียนการสอน preclinic จัดเป็นระบบ block โดยส่วนกลาง) คณะฯ จึงกำหนดให้ภาคฯ นำเสนอเรื่อง “คุณธรรมจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานห้องแลบ” แทน
        ได้หัวข้อนี้ไป ซึมไปเลย เพราะนึกไม่ออกจะนำเสนออะไร เป็นเรื่องที่ฟังดูค่อนข้างนามธรรม และที่สำคัญในภาคก็ไม่เคยคุยและวางแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ  ไปขอร้องให้หลายคนช่วยนำเสนอก็ไม่มีใครยอมรับ คงตันเหมือนกันว่าจะนำเสนออย่างไร  หัวหน้าภาคก็คงต้องรับไปตามระเบียบ คิดไว้ว่าพอใกล้เวลา จะออกแบบสอบถามให้ผู้ปฏิบัติงานระดับต่างๆ ให้ข้อมูลมา และนำมารวบรวมเพื่อเตรียมนำเสนอ

        อ.เสาวรัตน์ รองฝ่ายพัฒนาฯ เป็นห่วงหัวหน้าภาคมากว่าจะเอาอะไรไปนำเสนอ   หลังจากที่ได้รับการเล่าให้ฟังเสน่ห์ของ storytelling ในการสกัดความรู้หลายครั้ง และได้รับฟังด้วยตนเองในการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งที่ 3 ของคณะฯ   อ.เสาวรัตน์จึงเกิดปิ้งแว็บ แนะว่าน่าลองเอานำเทคนิค storytelling มาใช้  เราทั้งคู่จึงช่วยกันออกแบบโดยจะจัดเสวนากลุ่ม (ประมาณ 10-12 คน) ในอังคารหน้า เพื่อระดมสมองในเรื่องนี้ แต่จะใช้รูปแบบ KM ด้วยเทคนิค storytelling ใช้เวลาสั้นๆประมาณ 1-1.5 ชม

โดยกำหนดประเด็นที่จะแลกเปลี่ยนได้แก่

  1. “คุณธรรมจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการ” ในความเข้าใจของท่าน หมายถึงอะไร มีขอบข่ายแค่ไหน
  2. ท่านคิดว่า “คุณธรรมจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานห้องปฏิบัติการ” ในความคาดหวังของผู้รับบริการที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยและญาติ คืออะไรบ้าง
  3. เล่าประสบการณ์ที่ท่านประสบเกี่ยวกับประเด็นจริยธรรม 1-2 เหตุการณ์

กำหนดวิธีการระดมสมอง

  1. หัวหน้าภาคชี้แจงวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการเสวนา
  2. แต่ละคนเสนอความเห็นในประเด็นที่ 1 และ 2  ที่ละคน
  3. แต่ละคนเล่าเหตุการณ์ที่เคยประสบการณ์  
  4. หัวหน้าภาครวบรวมประเด็นทั้งหมด จัดเป็นหมวดหมู่ และสรุปเป็นคุณธรรมจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานห้องแลบที่พึงประสงค์
  5. นำเสนอในกิจกรรม QA คณะฯ วันที่ 30 กันยายน

  ผลการระดมสมองโดยวิธี storytelling จะเป็นอย่างไร จะได้มาเล่าสู่กันฟังสัปดาห์หน้า

หมายเลขบันทึก: 3858เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2005 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท