"เยาวชน"อยู่ตรงไหนในกระบวนการพัฒนาสวัสดิการ ?


สวัสดิการชุมชน อาจเป็นคำตอบของครอบครัวและชุมชน แล้วจะเชื่อมโยงเอาเยาวชนเหล่านี้ เข้าไปให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ด้วยหรือไม่?

ช่วง 2-3 อาทิตย์นี้ ที่กำลังมองเห็นความชัดเจนมากขึ้น ในการทำงาน "สวัสดิการชุมชน" ร่วมกับงาน "สิทธิมนุษยชน" เพื่อเป้าหมายที่ "ความมั่นคงของมนุษย์" อย่างที่เพิ่งบันทึกครั้งก่อน

ก็มีเรื่องของ "คน" ที่ไม่ค่อยจะมั่นคงในชีวิต เข้ามาให้ได้กระทบความรู้สึก ติดๆ กันถึง 3 คน

โยฮา  เยาวชนชายที่เรียนจบชั้น ป.6 ได้ 2-3 ปีแล้ว แต่ไม่ยอมเรียนต่อ อาจด้วยความท้อแท้ ที่ติดเชื้อ HIV ตั้งแต่เกิดจากมารดาที่เสียชีวิตไปได้หลายปีแล้ว พอไม่นานบิดาก็แต่งงานใหม่ โยฮาจึงอยู่กับปู่และย่ามาตลอด  หลังจากปีก่อนที่ย่าซึ่งโยฮารักมากตายไปอีกคน และปู่ซึ่งเป็นคนเดียวที่เหลือในชีวิตก็มาแต่งงานใหม่ เขาจึงต้องกลับไปอยู่กับบิดาซึ่งไม่ผูกพันกัน  เมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับทราบข่าวว่า โยฮาทานยาฆ่าตัวตายแล้ว คนในหมู่บ้านบอกว่าเป็นเพราะความประมาท แต่หลายคนก็เชื่อว่าเป็นเพราะสภาพจิตใจ และการสิ้นไร้ความหวัง

เดช เยาวชนชายอีกหมู่บ้าน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี แต่เดชก็ไม่ยอมเรียนหนังสือให้จบชั้นมัธยมต้น มาได้ข่าวอีกทีก็ตอนที่พ่อเขามาบอกว่าต้องไปจ่ายเงินปิดคดีให้ตำรวจ เพื่อเปลี่ยนจาก "ผู้ค้า" มาเป็น "ผู้เสพ" พอถามเด็กก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง ไปซ่อมรถมอเตอร์ไซด์แล้วที่อู่ถามว่าบนหมู่บ้านมียาไหม เขาก็ตอบว่ามีเยอะ จึงเอาลงมาให้เขาตามที่เขาบอก !!  จนถูกจับ

ล่าสุดวันนี้ เพื่อนมาเล่าให้ฟังว่าเจอ โม เยาวชนหญิงหน้าตาดีที่รู้จักอีกคน ที่ท่ารถกำลังจะไปอยู่กับพ่อเลี้ยงคนหนึ่งที่จะอุปการะเธอ แต่ขอให้เธอไปทำแท้งลูกในท้องของเธอที่เกิดจากเพื่อนชายของเธอเสียก่อน !!

ปัญหาของเยาวชนทั้งสามที่เห็นมาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กประถม ทำให้ต้องหยุดคิดบางอย่าง

มีบางคนบอกว่า "ต้องคอยติดตามเด็กแต่ละคน เหมือนติดตามลูกแกะที่หลงทาง"

มีความรู้สึกบางขณะในตอนนี้ที่คล้ายๆ เมื่อ 5-6 ปีก่อนที่ตัดสินใจว่าจะไม่ทำงาน "สิทธิมนุษยชน" เมื่อเห็นว่าหลังจากต่อสู้ให้พวกเขาได้สิทธิ (ในสัญชาติไทย) แล้ว เยาวชนหลายคนที่เราเห็นแต่เด็ก หันไปขายยาบ้า บางคนถูกวิสามัญ บางคนเข้าคุก บางคนไปต่างประเทศ บางคนได้ไปเรียนไกลบ้าน แต่ก็ท้องกลับมา และอีกคนต้องฆ่าตัวตายหลังจากทุ่มเทต่อสู้ให้ตนเองได้สัญชาติเพื่อหวังจะเปลี่ยนชีวิต แต่ก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตคนพิการในหมู่บ้านตามเดิม

ครั้งนั้นเกิดคำถามในใจว่า "บัตรประชาชนหรือ คือที่สุดของชีวิต!!"

แล้วครั้งนี้ล่ะ "สวัสดิการชุมชน อาจเป็นคำตอบของครอบครัวและชุมชน  แล้วจะเชื่อมโยงเอาเยาวชนเหล่านี้ เข้าไปให้ผ่านพ้นวิกฤตได้ด้วยหรือไม่?"

"ถ้ามัวแต่ไปจัดการภาพใหญ่ของชุมชน แล้วชีวิตที่อ่อนไหวเหมือนใบไม้ของเยาวชนเหล่านี้ จะปล่อยให้พายุพัดพาให้หลุดร่วงไปทีละใบ ๆ ต่อหน้าต่อตาหรือ?"

บ่นไปด้วยความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งที่รู้ว่าทั้งหมดคงเป็นเรื่องเดียวกัน และต้องไปด้วยกัน  แต่จะไปด้วยกันได้อย่างไรล่ะ??

 

หมายเลขบันทึก: 385729เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ  เยาวชนถูกปล่อยให้หลงทางเข้าป่าคอนกรีต เขาพบว่าชีวิตที่เขาต้องการคือความโลดโผนในความเป็นคนของเขา  เขาจะลืมพ่อแม่ ลืมญาติ ลืมพี่น้อง  ผมเคยมีประสบการณ์นำเด็กชาวเขาจากกาญจนบุรี   ตาก และอีกหลายจังหวัดมาบวชเป็นสามเณรในนิกายมหาญานที่วัดถาวรวรารามหาดใหญ่  การทำผิดของเขาทุกเรื่องเขาจะบอกไม่ผิดทั้งหมด  จนต้องส่งกลับบ้าน  คนที่มีความคิดดีก็เหลือไม่กี่คน  การสอนก็เอาอกเอาใจอย่างดีตลอด แต่ก็ทำได้แค่ดูแลอย่างเดียว กินฉันอย่างสบายเรียนถึงม.ปลาย แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว  แต่เราก็ยังพยายาม  จุดสำคัญคือทุกครั้งที่เขากลับไปเยี่ยมบ้านกลับมาพฤติกรรมจะเปลี่ยนทุกครั้ง    บนความตั้งใจที่จะช่วยเด็กเราก็พยายามทำ ไม่ท้อถอย  ขอเป็นกำลังใจครับอย่าท้อถอย  ขอบคุณที่ช่วยสุดความสามารถครับ

ต้องเข้าใจชีวิตนะคะ

มันเป็นเช่นนั้นเอง

แก้ปัญหาที่สาเหตุค่ะ

@ ขอบคุณค่ะ อ.แหวว

@ ขอบคุณค่ะ คุณธนา

สำหรับเด็กเยาวชนที่อยู่ในสถาบันการศึกษา หรือมีศูนย์ช่วยให้การอบรมก็ยังไม่ค่อยน่าห่วง อย่างน้อยในช่วงเวลานั้น เขายังมีคนอบรม รับได้บ้างไม่ได้บ้างก็ขึ้นกับตัวเด็ก

แต่กลุ่มที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว ที่ยังเป็นเยาวชนล่องล่อยอยู่ในหมู่บ้าน ท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สถาบันครอบครัวไม่อาจให้การอบรมได้อย่างแน่นแฟ้นเหมือนเก่า และไม่มีใครติดตามอบรมดูแล ปล่อยให้เขาเรียนรู้เองจากสื่อบริโภคนิยมสมัยใหม่ และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้าไปในชุมชน นี่สิคะน่าห่วง

อย่างที่คุณธนาเจอ แค่เพียงช่วงปิดเทอมกลับบ้าน ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปทุกครั้ง จริงไหมคะ ?

แล้วเราจะทำอย่างไรดี แก้ที่สาเหตุคืออะไรคะจารย์แหวว? แก้ที่ระบบบริโภคนิยมที่ทำลายคุณค่า แก้ที่ครอบครัวที่ไม่อบรมดูแล แก้ที่ประเทศพม่าหรือประเทศไทยที่ปล่อยให้เขาอพยพเข้ามาเรื่อยๆ หรือตามแก้ที่สาเหตุของปัญหาของเด็กเป็นรายๆ หรือย่างไรดีคะ??

พวกเราอยู่กับเด็กๆ อยู่กับชาวบ้าน อยู่กับคนจน อยู่กับความไม่รู้ อยู่กับความด้อยโอกาส อยู่กับการถูกเอาเปรียบ

พวกเราอยู่กับปัญหาที่พบเห็น และอยู่กับมันมาตลอด

และแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกันมาตลอดครับ

แล้วสาเหตุแห่งทกข์และปัญหาคืออะไร ?

ชีวิต?

อยู่กับความจริงและช่วยเหลือดูแลกันไปให้ดีที่สุดครับ

ท่ามกลางปัญหามากมาย ที่หลายคนเสนอแนะทางออกหลากหลาย เราคงต้องค่อยๆ แสวงหาหนทาง อดทนและก้าวเดินไป พร้อมกับทำในสิ่งที่ทำได้

ล่าสุดเมื่อวานนี้ เราได้ไปพบน้องโม พูดคุย และแนะนำเธอให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยสำหรับเธอและลูกที่กำลังจะคลอด ซึ่งเธอก็เต็มใจและยินดีสำหรับทางออกนี้

นึกในใจว่า ถ้าเรามัวแต่ท้อ เศร้าใจ ห่วงใย แต่ไม่ทำอะไร ป่านนี้เธออาจตัดสินใจทำแท้ง ตามที่ผู้หวังดีแนะนำเธอไปแล้วก็ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท