TU LIBS
นาง ศรีจันทร์ จันทร์ชีวะ

รายงานการไปศึกษาดูงาน สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


ดูงานสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

       วันพฤหัสที่ 27 พฤษภาคม 2553 บุคลากรหอสมุดป๋วยฯ และฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด ได้ไปศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านองค์ความรู้เพื่อการต่อยอดการปฏิบัติงานและการให้บริการ  โดยไปศึกษาดูงาน ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  โดยห้องสมุดแรกที่ศึกษาดูงานคือสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ในเวลา 9.00 น. ทางคณะประทับใจในการต้อนรับของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของทางหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นกันเอง โดยมีการแนะนำประวัติของห้องสมุด บุคลากร และก็แนวทางการบริการ รวมถึงการไต่ถามและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งปัญหาก็คล้ายๆกับหน่วยงานของเรา โดยทางหอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการเปิดบริการบางส่วน 24 ชม. ในช่วงสอบกลางภาค และปลายภาค  เพื่อบริการนักศึกษาซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่หอพัก ซึ่งนักศึกษาสามารถอ่านหนังสือได้อย่างเต็มที่  ดังนั้นนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยศิลปากรจะได้ประโยชน์อย่างยิ่งในจุดๆนี้ จากนั้นทางทีมงานของหอสมุดฯ ได้พาชมหอสมุด และงานบริการต่างๆ หอสมุดของเขาเป็นหอสมุดวิทยาเขต คล้ายๆกับหอสมุดป๋วยฯ ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา โดยส่วนงานที่ทางทีมงานไปสอบถามก็คืองานบริการห้องคอมพิวเตอร์ และจุดบริการด้านสารสนเทศต่างๆ โดยรวมแล้ว ทางหอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากรและเจ้าหน้าที่ประจำ ประมาณ 200 เครื่อง โดยจะมีบุคลากรดูแล เพียง 1 ท่าน แต่จะได้รับการช่วยเหลือจากสำนักคอมพิวเตอร์ มาดูแลในเรื่องของระบบเครือข่าย และอุปกรณ์ รวมถึง Software บางประเภท ซึ่งถือว่าโชคดีที่สำนักคอมพิวเตอร์กับทางหอสมุดมีพื้นที่ติดกัน ทำให้การปฏิบัติงานราบรื่นเป็นไปด้วยดี จากการสอบถามผู้ที่ดูแล ระบบการสืบค้นข้อมูล ทางเขาจะใช้ระบบ CPU 1 เครื่องจะแชร์ออกเป็น 4 เครื่อง รองรับการค้นข้อมูลเพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากร นับได้ว่าเป็น ไอเดียที่น่านำมาปรับใช้ในหน่วยงานของเรา และจากการสอบถามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการหาฐานข้อมูล Online ทางหอสมุดจะจัดบริการเป็นจุดๆ มีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำให้ ส่วนการบริการเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งาน Internet นั้น จะใช้ระบบคล้ายๆกับทางของเรา คือมีการจำกัดเวลาการใช้ การlogin ชื่อ password ก่อนเข้ามาใช้บริการ แต่น่าเสียดายที่ศูนย์การเรียนรู้กำลังก่อสร้างเราจึงไม่ได้ไปสัมผัสเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเขา  นอกจากนี้ทีมงานหอสมุดป๋วยฯ ได้ดูงานเครื่องให้บริการยืม-คืนอัตโนมัติโดยใช้บาร์โค้ด  งานบริการโสตทัศนศึกษา มีมีห้องคาราโอเกะเล็ก ๆ ให้น้องๆนักศึกษาได้พักผ่อนกัน ห้องหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล  ฯลฯ การดูงานครั้งนี้เราได้รับการเป็นกันเอง และความรู้สึกดีๆที่ทางหอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากรมีให้ทีมงานเรา  โอกาสหน้าเราก็อยากจะมาชมการบริการและการบริการของเขาอีกรอบ

       จากนั้นทางคณะได้แวะรับประทานอาหารกลางวันกันประมาณ 1 ชม. แล้วก็เดินทางต่อไปยัง สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยเดินทางไปถึงเวลา 15.00 น. เนื่องจากการจราจรติดขัด  แต่เมื่อเราเข้าไปแทบตะลึงถึงความโอ่อ่ากว้างขวางของทางสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เนื่องจากอาคารออกแบบเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย มีแนวความคิดที่เป็นอิสระ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ตั้งแต่ประตูทางเข้า  มีนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์ให้อ่าน 2.4  มีลานแสดงความคิดหรือเวทีสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงวิชาการและกิจกรรมเพื่อความสุนทรี เพื่อจัดกิจกรรมทั้งการแสดง  เสวนา  ประกวดฯลฯ     ห้องนิทรรศการ ห้องเกียรติยศของทางสถาบัน ห้องเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ทางทีมงานของเราได้รู้ถึงประวัติอันยาวนานของทางสถาบัน  การออกแบบห้องในส่วนต่างๆ จะออกแบบในลักษณะ Modern creative ให้ความรู้สึกผ่อนคลายเป็นกันเอง ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจเกิดการอยากใช้บริการ ในด้านเทคโนโลยีจัดได้ว่าสมบูรณ์แบบ มีระบบ Wireless Access Point บริการครอบคลุมทั้งตึกสามารถใช้ Internet ได้ถูกจุดที่ต้องการ ที่น่าประทับใจกว่านั้น ในห้องบริการมัลติมีเดีย จะเอางาน โสตฯ กับงานมัลติมีเดียมารวมกัน มีการให้บริการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ พร้อมกับจุดชมภาพยนตร์ โดยภาพยนตร์ของทางหอสมุดจะเป็นภาพยนตร์ที่ทันต่อยุคสมัยตลอดเวลา มีการนำเทคโนโลยีหูฟังไร้สายให้บริการ มีการจัดโซนบริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี มีระบบการจองการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย เกือบลืมไปทางทีมงานของเขาได้พาเราไปชม Study room ซึ่งได้นำเทคโนโลยีของ Super Close Projection  เป็นเครื่องจัดการระบบการ Present การติว/สอนนับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยทีเดียว  สามารถบันทึกการติวในแต่ละครั้งนำไปเผยแพร่ให้น้อง ๆ วิชาเดียวกันได้ใช้ต่อได้ด้วย   ก่อนกลับทางทีมงานหอสมุดฯ ได้พาไปชมสถานที่ผ่อนคลายสำหรับนักศึกษา มีหมากรุกให้เล่น ถ้านักศึกษาท่านใดมีความสามารถในการเล่นเปียโนก็สามารถเล่นเพื่อผ่อนคลายได้  ด้านหน้าอาคารมีมุมอ่านหนังสือในสวนด้วย  จากการดูงานทั้ง 2 แห่งทำให้ทีมงานเราเกิดความคิดที่ดี รวมถึงอุดมคติในการให้บริการ แนวทางการแก้ไขปัญหา  การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาองค์กรของเราให้ดีเลิศคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดไป

ภาพดูงานยังมีอีกมาก  โปรดติดตาม........

หมายเลขบันทึก: 384824เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2010 06:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท