"สิทธิ" และ "สวัสดิการ" หนทางสู่ "ความมั่นคงของมนุษย์"


เป้าหมายการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ คือให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ ด้วยเครื่องมือที่ต้องมีทั้ง "สวัสดิการชุมชน" และ "สิทธิมนุษยชน"

กำลังเดินหน้าต่อ พร้อมหันมองดูประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ออกสตาร์ทเริ่มงานในชีวิตเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยประเด็น สิทธิมนุษยชน ร่วมกับทีมนักวิชาการด้านกฎหมาย

แม้ตัวเองจะจบด้านมานุษยวิทยา และชอบทำงานชุมชน แต่ก็ได้ไปวิ่งงานผลักดันนโยบายอยู่พักนึง ก่อนจะพยายามค้นหาตัวเองด้วยการดิ้นรนกลับมาทำงานชุมชนอีกครั้งเมื่อ 3-4 ปีก่อน ด้วยตระหนักว่า เมื่อพวกเขาได้ "สิทธิ" ที่ไขว่คว้ามานาน แต่ชีวิตก็ยังวิ่งอยู่ในวังวนติดกับของ "การพัฒนา" จนบางคนเอาชีวิตไม่รอด !!

แม้จะชอบงานพื้นที่แต่ก็ไม่มีประสบการณ์ด้านงานพัฒนาเลย ได้แต่พยายามแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนชัดว่าจะเลือกสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านช่วยเหลือกันและพึ่งพาตนเอง ในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ตนเอง ครอบครัวและชุมชน

และไม่นานมานี้ อาจารย์แหวว นักกฎหมายที่ทำงานสิทธิมนุษยชนร่วมกันมา ก็ต้องหันมาทำการบ้านเรื่อง สวัสดิการสังคม ในวาระที่กระทรวงพัฒน์ชูประเด็น "วาระสังคมสงเคราะห์และพัฒนาสังคม : มาร่วมกันสร้างสิทธิมนุษยชนที่เป็นจริงในสังคม"

วันนี้ขณะกำลังเตรียมแผนการสอนชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ในหลักสูตร "ภาษาไทยเพื่อชีวิต"  ที่บูรณาการภาษาไทย ที่ชาวบ้านอยากเรียนรู้กับแนวคิดงานพัฒนาต่างๆ ที่มุ่งให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งตนเองได้ในสังคมไทย ในบทสรุปสุดท้ายหัวข้อ "ทางออกในปัญหาปัจจุบัน" ที่พยายามใส่แนวคิดเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน เข้าไปว่าคือ "ทางออก"

ก็มานึกถึงการเรียนการสอนชั่วโมงก่อนๆ ที่ให้พวกเขาแลกเปลี่ยนกันถึงปัญหาในชุมชน ก็มีหลากหลาย ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ แต่ที่ถกเถียงกันมากคือ เรื่องปัญหาการจัดการศึกษาของโรงเรียนบนดอย พวกเขาถูกละเมิดสิทธิที่พวกเขาไม่รู้ว่ามันเป็นสิทธิ สิทธิในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของบุตร ร่วมตรวจสอบการจัดการศึกษาของโรงเรียน

ดังนั้น จึงยิ่งชัดว่าเป้าหมายการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ คือให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้ ด้วยเครื่องมือที่ต้องมีทั้ง "สวัสดิการชุมชน" และ "สิทธิมนุษยชน" โดยมีรากฐานอยู่บนศาสนาและวัฒนธรรม !!

 

 

หมายเลขบันทึก: 384644เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2010 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อุปสรรคในการทำงาน ยังมีอีกมาก

มนุษย์เสพติด "ความช่วยเหลือจากคนอื่น" อย่างมาก

พอนึกได้ แล้วตกใจค่ะ มนุษย์ในยุคนี้ชอบของฟรีค่ะ

จริงค่ะ ยิ่งได้ของฟรี ดูเหมือนความรับผิดชอบก็จะน้อยลงด้วย

อย่างฟัง รุ่นน้องคนนึงที่เป็น อ.มหาลัยทางภาคเหนือเล่าให้ฟังถึงทัศนะของชาวบ้านรอบมหาลัยต่อ "โครงการประกันรายได้"

ที่รัฐตั้งใจจะช่วยเหลือแล้วน่าตกใจ

อ.บอกว่าตอนช่วงเริ่มหน้าฝนปีนี้ที่ดูเหมือนน้ำจะไม่พอ รัฐบอกให้ยังไม่ต้องปลูกข้าว เพราะจะตายหมด

แต่ชาวบ้านไม่สนใจ ปลูกกันถ้วนหน้า พอถามก็ว่า เสียหายยังไงก็ได้เงินประกันรายได้อยู่ดี !!

สวัสดีค่ะ

ได้รับเมล์แล้วนะคะ ขออนุญาตตอบผ่านบล็อก เรื่อง "การประกันรายได้เกษตรกร" ของพี่เองนะคะ (เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต)

ส่วนตัวคิดว่า เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะ รัฐจำเป็นต้องใช้นโยบายชุดอื่นในการแก้ปัญหาค่ะ เช่น นโยบายสวัสดิการที่ไม่ได้มีเป้าหมายให้ขายข้าวได้ราคาแพง แต่ต้องสร้างหลักประกันด้านอื่นๆขึ้นมาทดแทนค่ะ

แต่ปัญหาพื้นฐานสำคัญที่สุด คงจะเป็น การยอมรับการเป็นพลเมือง ใช่ไหมคะ ตรงนี้ รัฐผูกขาดอำนาจในการให้ "ความเป็นพลเมือง" เลยยากหน่อย ต้องไปทำงานเรียกร้องกับรัฐ

ส่วนเรื่องสวัสดิการนั้น ยังมีภาคเอกชน ภาคประชาชนและชุมชน ที่น่าจะช่วยเป็นพลังได้ ไม่ต้องง้อรัฐมากนัก

แต่ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเห็นปัญหาร่วมกันและหันมาสนับสนุนทั้งสองเรื่องค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ อ.ปัท สำหรับความคิดเห็นและคำแนะนำ

เห็นด้วยกับอาจารย์อยู่เหมือนกันที่ไม่อยากสอนให้ชาวบ้าน "ง้อรัฐ" อยากให้เรียนรู้พึ่งพากันเองน่าจะมั่นคงกว่า แต่ถ้ารัฐมีนโยบายจะให้อยู่แล้ว ชาวบ้านก็น่าจะมีสิทธิได้รับอย่างทั่วถึงด้วยใช่ไหมคะ

อย่างกรณีที่ถามอาจารย์ไป ชาวบ้านเกือบ 1,000 ครอบครัว ที่ตกหล่นจากการประกันรายได้ข้าวโพด ทั้งหมดมี "ความเป็นพลเมืองไทย" เต็มขั้น มีสัญชาติไทยกันหมดแล้ว แต่การสื่อสารนโยบายมาไม่ถึงชาวบ้าน พอเกิดเรื่องเจ้าหน้าที่กำลังโทษกันว่า เป็นเพราะ "ผู้ใหญ่บ้าน" หรือ "ชาวบ้าน" ที่ไม่สนใจ หรือไม่รู้เรื่อง (เพราะเป็นชาวเขา) แต่ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า "เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล" ไม่ได้มาบอกในพื้นที่ แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านยังไม่รู้เรื่อง

พวกเราเลยกำลังช่วยชาวบ้านกลุ่มนี้ส่งเสียงถึงผู้เกี่ยวข้องอยู่ค่ะ

สำหรับชาวบ้านที่ยังไม่มีสิทธิ "ความเป็นพลเมืองไทย" ซึ่งก็มีอีกไม่น้อย แน่นอนว่า ไม่ต้องรอความหวังเรื่องสวัสดิการจากรัฐมากนัก คงต้องพึ่งตนเองสถานเดียว เรื่องนี้กำลังพยายามเริ่มให้ชาวบ้านมองเห็น และลุกขึ้นช่วยตัวเองอยู่ค่ะ

คิดถึงอาจารย์มากอยู่เหมือนกันค่ะ และเห็นว่าระยะหลังอาจารย์ไม่ค่อยได้เข้ามาใน gotoknow เลยใช้วิธีส่งไปถามทาง hotmail อาจารย์สบายดีนะคะ ต้องขอโทษอาจารย์ที่หายไปนาน แต่ติดตามอาจารย์อยู่เสมอค่ะ โดยเฉพาะทางทีวี

ยังคิดถึงและอยากให้อาจารย์มาเยี่ยมพวกเราและชาวบ้านที่นี่นะคะ

จะตามไปอ่านในบล็อกอาจารย์ต่อนะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท