ครูผู้เจียระไนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ : เหลี่ยมเพชรในมือครู ๒


เหลี่ยมเพชรในมือครู

 

             วันนี้ได้พูดคุยกับเพื่อนที่ติดสอยห้อยตามกันมา เริ่มตั้งแต่ทำงานด้วยกัน      จนกระทั่งมาเรียนต่อ สิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวบุคคลก็เหมือนจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง    แต่สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ  ก็คงเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางของมัน  ในขณะเดียวกันก็ได้กลิ่นอายเก่าๆ และกลับถิ่นเก่า คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วงหนึ่งของชีวิตเคยเวียนว่ายตายเกิดในการเรียนและประกอบอาชีพอยู่ที่นี่ 

          วกกลับมาเรื่องที่พูดคุยมากมายจิปาถะ  ทุกเรื่องก็มีประโยชน์ทั้งนั้น หมายรวมแม้กระทั่งเรื่องไร้สาระก็ยังจับสาระได้อยู่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  สิ่งที่พูดคุยกันเรื่องหนึ่ง ทำให้ฉุกคิดถึงวิชาชีพก่อนที่จะมาเรียนต่อนั่นคือ การศึกษาพิเศษ ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ได้ทิ้งขว้างหรือหลงลืมอะไร ยังกลับไปทำกิจกรรมกับนักศึกษาเอกการศึกษาพิเศษอยู่อย่างเนืองนิด  เพียงแต่กำลังมุ่งมั่นกับศาสตร์ใหม่ คือ การศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนามนุษย์  ที่กำลังศึกษาด้วยการค้นคว้า Lecture  และการบ้านที่จะต้องนำเสนอ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ อีกมากมายก่ายกอง ขณะนี้ลุล่วงไปแล้ว (ไม่รู้รอดมาได้อย่างไร)  และสุดท้ายสิ่งที่ทำให้จบหลักสูตรโดยสมบูรณ์คืองานวิจัย ๓๖ หน่วยกิต เขาเรียกว่า  Dissertation  และงานวิจัยที่สำเร็จออกมานั้น ต้องได้องค์ความรู้ใหม่และไม่ควรจะขี้เหร่ชนิดที่คนหยิบมาอ่าน "อ่านไปด่าไป" (และ   คิดในใจว่าจบมาได้อย่างไรวะ) แต่ก็อาจจะมีจุดบกพร่องบ้างให้คนนำมาวิพากษ์เพื่อเป็นบทเรียนในห้องเรียนของนิสิต นักศึกษา            รุ่นน้องๆ ต่อไป  เข้าเรื่องดีกว่า สรุปว่าสิ่งที่ได้คุยกับเพื่อนก็ทำให้สะกิดความรู้สึกขึ้นมา  จนอยากที่จะเขียนถึง

          คำว่า   “การศึกษาพิเศษ”   ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Special Education”       ซึ่งผู้เขียนได้ร่ำเรียนมาทางการศึกษาพิเศษ สาขาการศึกษาสำหรับเด็กปัญญาเลิศ  ลักษณะการจัดการศึกษาพิเศษของประเทศไทย จัดการศึกษาในระบบ (Formal Education)   ๒ แบบ คือ 

          แบบที่ ๑   การจัดการเรียนร่วม เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติ  (ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งเมืองไทยจะพยายามจัดการศึกษาพิเศษในรูปแบบของการศึกษาแบบเรียนรวม  (Inclusive)  ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร) 

          แบบที่ ๒  การจัดการศึกษาในโรงเรียนเฉพาะความพิการ   เช่น       โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัด....................  โรงเรียน.............................................ปัญญานุกูล  โรงเรียนตาบอด......................ฯลฯ

           ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะกรณี การจัดการเรียนร่วม ภาษาอังกฤษใช้กันอยู่     ๒ คำ คือ Mainstreaming และ  Integration ซึ่งมีรายละเอียดต่างกันนิดหน่อย หาอ่านเอานะคะ  การจัดการเรียนร่วมมี ๖ รูปแบบ  (ศ.ดร.ผดุง  อารยะวิญญู.  ๒๕๔๒ : ๒๒๑-๒๒๓)

            รูปแบบที่ ๑  เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับเด็กปกติในชั้นปกติเต็มเวลา  เรียนเหมือนเด็กปกติทั่วไป ลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีความพิการน้อย มีความพร้อมในการเรียน มีภาวะทางอารมณ์และสังคม

            รูปแบบที่ ๒ เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติเต็มเวลา และ  มีครูการศึกษาพิเศษให้คำแนะนำปรึกษา ไม่ต้องทำการสอน แต่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีสอน การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก และประเมินผลพัฒนาการ ของเด็ก

            รูปแบบที่ ๓  เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติและรับบริการจากครูเวียนสอน  เด็กฯ จะได้รับบริการด้านการสอนเพิ่มเติมจากครูการศึกษาพิเศษซึ่งจะเดินทางไปตามโรงเรียนต่าง ๆ

           รูปแบบที่ ๔  เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมในชั้นปกติและรับบริการในห้องเสริมวิชาการ (resourse room)  ครูเสริมวิชาการจะประจำอยู่ในห้องเสริมวิชาการ เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะเข้ามาเรียนกับครูเสริมวิชาอย่างน้อยวันละ ๑ ๒ ชั่วโมง โดยเด็กจะมีตารางเรียนกำหนดไว้

           รูปแบบที่ ๕  เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนชั้นพิเศษในโรงเรียนปกติและเรียนร่วมบางเวลา  โรงเรียนจัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษไว้รวมกันในห้องพิเศษมีครูสอนแทบทุกวิชา และ  เรียนร่วมกับเด็กปกติบางวิชา เช่น พลศึกษา ศิลปะ 

          รูปแบบที่ ๖  เด็กที่มีความต้องการพิเศษเรียนชั้นพิเศษในโรงเรียนปกติ  จัดเด็กที่มีความต้องการพิเศษที่มีความบกพร่องประเภทเดียวกันไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน และเรียนในชั้นพิเศษตลอดเวลา ลักษณะนี้เหมาะสำหรับเด็กที่มีความพิการค่อนข้างมาก

          ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ”  คะ

          เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า  “Children with Special Needs”    กินความหมายรวมทั้งเด็กที่มีความบกพร่องประเภทต่าง ๆ ๙ ประเภท และเด็กปัญญาเลิศด้วย ตามมุมมองของผู้เขียน จุดร่วมของการพัฒนาเด็กที่มีความบกพร่องและ        เด็กปัญญาเลิศ  (ครูควรคัดแยกให้ได้ว่า  เด็กมีความเก่งมากกว่าเก่ง ด้วยวิธีการ/เครื่องมือคัดแยกสำหรับเด็กเก่ง จนส่งเสริมให้เป็นปัญญาเลิศ)  มีจุดร่วม  ๒ ประเด็น ได้แก่  

          ประเด็นที่ ๑  คือการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP : Individualize Education Program)  และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP : Individual Implementation Plan) 

          ประเด็นที่ ๒  คือ ดึงจุดเด่นของเด็กมาส่งเสริมและพัฒนา  ทั้งเด็กปัญญาเลิศและเด็กที่มีความบกพร่อง 

          กรณีเด็กเก่งในชั้นเรียน  เด็กบางคนอาจเป็นเด็กเก่งธรรมดา เด็กบางคนอาจเก่งกว่าธรรมดา   ซึ่งถ้าครูรู้จักเด็กอย่างถ่องแท้  หรือ ครูมีอาการเอ๊ะ!!!  เอ๊ะเด็กคนนี้ไม่ธรรมดา  เอ๊ะเด็กคนนี้เก่งนะความคิดความอ่านไม่เหมือนเพื่อน  เอ๊ะเด็กคนนี้พูดจาแปลกๆ กว่าเด็กวัยเดียวกัน  ภายใต้ข้อสงสัยหรือเอ๊ะของครูนั้น ครูอาจมีวิธีการตรวจสอบหรือคัดแยกเด็กได้หลายรูปแบบ  (ถ้าสนใจศึกษาเพิ่มเติมนะคะ   มีเครื่องมือคัดแยกเด็กเก่งมากมาย)  ครูอาจจะค้นพบว่า ลูกศิษย์เป็นเด็กปัญญาเลิศ และพร้อมจะดึงศักยภาพเพื่อส่งเสริมเด็กได้ถูกทาง  เด็กจะได้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่ และไม่รู้สึกอึดอัด  ที่จะต้องเรียนบทเรียนไปพร้อมๆ กับเพื่อน  จริงๆ เด็กปัญญาเลิศต้องการบทเรียนที่ยากขึ้นกว่าเพื่อนในระดับเดียวกัน และซับซ้อนกว่าเด็กเก่งทั่วๆ ไป  ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลให้แก่เด็กปัญญาเลิศ  เพื่อเด็กจะได้ใช้ความสามารถเต็มตามศักยภาพ  ขอเน้นอีกครั้งว่าเด็กเก่งธรรมดากับเด็กปัญญาเลิศไม่เหมือนกัน  แต่เด็กเก่งธรรมดาอาจเป็นเด็กปัญญาเลิศก็เป็นได้ ถ้าพ่อแม่และครูค้นพบ จะเป็นคุณอนันต์สำหรับเด็ก  ซึ่งเด็กรอให้พ่อแม่และครูเจียระไนอยู่ค่ะ

         กรณีเด็กที่มีความบกพร่องประเภทต่าง ๆ  ที่เรียนร่วมกับเด็กปกติ จำเป็นต้องจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลอยู่แล้ว    มุมมองของผู้เขียนคิดว่าการพัฒนาควรจะดึงจุดเด่นของเด็กขึ้นมาส่งเสริมมากกว่าหรือพอๆ กับการหยิบปัญหาขึ้นมาพัฒนาไม่ควรละเลยหรือมองข้ามจุดเด่นเป็นอันขาด  ถ้าครูใช้จุดเด่นเป็นตัวตั้ง  อาจจะทำให้ครูทำงานง่ายขึ้น  และในความเป็นจริงเราไม่จำเป็น จะต้องตอกย้ำปัญหาบนความพิการหรือเริ่มต้นพัฒนาจากปัญหาเพียงอย่างเดียว  จากความเชื่อที่ว่า การดึงจุดเด่นมาส่งเสริมอาจจะช่วยฉุดรั้งจุดด้อย/ความบกพร่องให้พัฒนาตามมาด้วย  วิธีการอาจนำ   จุดเด่นของเด็กที่มีความบกพร่องหรือสิ่งที่เด็กชอบ สนใจ มาวิเคราะห์และสร้างเป็นนวตกรรมเพื่อการพัฒนาเด็ก ก็เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งผู้เขียนเคยทำได้ผลมาแล้ว

         จากสภาพความเป็นจริงของมนุษย์หรือการคิดถึงใจเขาใจเรา ใครเห็นความสามารถของเราและดึงออกมาใช้  เราคงยินดี  ดีใจ    อิ่มใจ มีประโยชน์ มีคุณค่า          เฉกเช่นเดียวกันเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  ถ้าเราจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลโดยเอา       จุดเด่นหรือความสามารถเป็นตัวตั้งนั้น  สิ่งที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษน่าจะได้รับจากอานิสงค์นี้อย่างน้อยสามมิติทั้งทางกายและจิตใจ  คือ มิติหนึ่ง เด็กที่มีความต้องการพิเศษได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจุดเด่นเต็มตามศักยภาพ มิติที่สอง    นำจุดเด่นหรือสิ่งที่ชอบ สนใจและถนัดของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาสร้างนวตกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทั้งจุดเด่นและจุดด้อย   มิติที่สาม  เด็กจะเรียนรู้อย่าง มีความสุขทางกายและจิตใจ

         สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด  ครูจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการ   “เจียระไนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ  :  เหลี่ยมเพชรในมือครู

                                                                  Kasalong : ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๓ 

หมายเลขบันทึก: 384575เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2010 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท