อรกิตติ์
นางสาว อรกิตติ์ พานิชยานุสนธิ์

เขตการค้าเสรีกับการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ


เขตการค้าเสรีกับการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ
เขตการค้าเสรีกับการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ

               

อย่างที่ทราบกันว่าเขตการค้าเสรี คือการขจัดปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศคู่สัญญา โดยวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเสรีในเรื่อง เงินทุน สินค้า หรือคน (Free movement)การเคลื่อนย้ายเสรีในเรื่องของคน(Person Free Movement) นั้นเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของการทำเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area โดยอาจมีมาตรการได้หลายทาง ไม่ว่าการออกวีซ่าที่ง่ายขึ้นจนไปถึงการไม่ต้องขอวีซ่าระหว่างประเทศ ซึ่งก็ก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายทาง ที่สำคัญเช่น ในทางการท่องเที่ยว                การเคลื่อนย้ายเสรีในเรื่องของคน(Person Free Movement) ที่สำคัญ และจะเกิดขึ้นแน่นอน คือการเคลื่อนย้ายคนในลักษณะแรงงาน ทั้งแรงงานมีฝีมือ และไม่มีฝีมือ ปัญหาแรงงานไม่มีฝีมือได้มีผู้กล่าวมามากในหลายแง่มุม เช่น ในแง่มุมที่เมื่อมีการเปิดการค้าเสรีย่อมมีการลงทุนจากประเทศคู่สัญญา คนส่วนใหญ่คิดว่าจะทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วเงินทุนได้เข้าพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้นการจ้างงานที่ว่ามากขึ้นอาจกลายเป็นน้อยลง

แต่ปัญหาอีกด้านที่ควรพิจารณาก็คือ กรณี แรงงานมีฝีมือ ผู้บริหาร นักวิชาการหรือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศทำได้ง่ายหรือ โดยเสรีก็จะมีการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศคู่สัญญามากขึ้น ไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ไม่ว่าเพราะค่าตอบแทน หรือ สวัสดิการ การดำรงชีวิตที่ดีกว่าประเทศไทย ย่อมทำให้เกิดสภาพ สมองไหล ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาประเทศ ยิ่งถ้าเป็นบุคลากรทางด้านวิชาการ ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาการพัฒนาตัวบุคคล ซึ่งจะกลายไปเป็นปัญหาระยะยาว

                เพราะฉะนั้นการที่จะทำให้แรงงานประเภทดังกล่าว ไม่เดินทางไปทำงานยังประเทศคู่สัญญาเขตการค้าเสรี จึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงอย่างหนึ่ง ในเรื่องของค่าตอบแทนนั้น ถ้าประเทศไทยทำสัญญาเขตการค้าเสรีกับประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่า ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะไปแข่งขัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำได้ คือเรื่องสวัสดิการ ถ้าประเทศไทยสามารถให้สวัสดิการที่ดีแก่แรงงานมีฝีมือ อาจยับยั้งการไหลออกของแรงงานเหล่านี้ได้

                กฎหมายที่เกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานนี้มีอยู่ด้วยกันหลายฉบับ อาจเป็นข้าราชการ ลูกจ้างซึ่งก็ยังแบ่งเป็นแล้วแต่ว่า อาจเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ บริษัท หรือองค์กร แต่ละกลุ่มก็จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันไป ซึ่งที่สำคัญคือ กฎหมายเหล่านี้ใช้กับคนต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย ดังนั้นถ้าประเทศไทยสามารถจัดการกฎหมายสวัสดิการแรงงานให้ดี ก็จะทำให้มีแรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาทำงานมากขึ้น และทำให้เกิดการลงทุนตามมา รวมทั้งแรงงานมีฝีมือ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเทศก็จะไม่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

            กฎหมายแรงงานที่มีความสำคัญมีอยู่หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2540, พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518, พระราชบัญญัติประกันสังคม 2533, พระราชบัญญัติเงินทดแทน 2537, พระราชบัญญัติแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 หรือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว 2542

            นอกจากกฎหมายดังกล่าวแล้ว รัฐยังมีนโยบายที่ให้สวัสดิการให้โดยเฉพาะกับข้าราชการ เพื่อเป็นการดึงให้คนเข้ามาทำงานให้ภาครัฐมากขึ้น เช่น สวัสดิการในด้านการลดหย่อนภาษี การลดหย่อนค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

                แต่ถึงแม้รัฐจะมีกฎหมาย หรือสวัสดิการใดๆที่ส่งเสริมให้แรงงานมีฝีมือ ผู้บริหาร หรือ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำงานในประเทศ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าตอบแทน ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศคู่สัญญาเขตการค้าเสรีที่มีเศรษฐกิจที่ดีกว่า ประเทศไทยย่อมไม่สามารถสู้ได้

                ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยควรจะพิจารณาให้มีนโยบายเพื่อส่งเสริมให้แรงงานมีฝีมือเหล่านี้ไม่ไหลออกนอกประเทศ ก็เช่น

-          การส่งเสริมให้ สินค้าของประเทศไทยสามารถแข่งขันกับ Brand ต่างประเทศได้ สาเหตุหนึ่งที่แรงงานมีฝีมือไปทำงานในต่างประเทศ เพราะการเชื่อมั่นในบริษัทต่างชาติ มากกว่าบริษัทหรือองค์กรภายในประเทศ ทุกคนย่อมต้องการทำงานกับบริษัทหรือองค์กรที่ดีที่สุด ดังนั้นถ้าประเทศไทยสามารถทำให้บริษัทหรือองค์กรในประเทศดีเท่า หรือดีกว่าในต่างประเทศได้ ก็จะแก้ปัญหาการไหลออกของแรงงานมีฝีมือได้

-          การให้สวัสดิการที่ดีแก่แรงงานไม่เพียงที่มี ตามพระราชบัญญัติที่มี โดยเฉพาะกรณีลูกจ้างบริษัทที่เป็นบริษัทของประเทศไทย ควรจะได้รับสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ เพราะจริงๆแล้ว แรงงานกลุ่มนี้ได้นำความรู้ความสามารถมาใช้พัฒนาบริษัท หรือ องค์กร ซึ่งสุดท้ายก็เป็นประโยชน์แก่ประเทศ คือทำให้บริษัทของไทยเติบโต สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งนำประโยชน์ต่อมาอีก เช่นทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น หรือประเทศไทยสามารถเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้มากขึ้น

-          การให้สวัสดิการบางประการแก่แรงงานมีฝีมือ ผู้บริหาร นักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาทำประโยชน์ให้ประเทศ

-          การพยายามไม่ให้ค่าตอบแทนภายในประเทศกับต่างประเทศแตกต่างกันจนมากเกินไป จริงอยู่ที่รัฐ บริษัท หรือองค์กรในประเทศไทยอาจไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้เท่ากับในต่างประเทศ แต่ถ้าค่าตอบแทนไม่แตกต่างกันมากเกินไปย่อมสามารถดึงดูดให้คนไทยที่เป็นแรงงานมีฝีมือ ไม่ไปทำงานในต่างประเทศได้ เพราะในความเป็นจริงคงไม่มีใครอยากทำงานไกลบ้าน

 

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการที่ประเทศไทยสามารถหยุดไม่ให้มีการไหลออกของแรงงานมีฝีมือได้ ก็คือ การที่ทำให้มีแรงงานที่มีฝีมือช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ไม่ว่าในกรณีที่เป็นนักวิชาการที่ช่วยพัฒนาคนในประเทศ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะช่วยพัฒนาด้านอื่น และเมื่อในประเทศไทยมีแรงงานที่มีฝีมือในประเทศมากย่อมเป็นที่สนใจของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ

โดยส่วนใหญ่แล้วคนจะมองการทำเขตการค้าเสรีในด้านดีมากกว่าผลเสียบางประการที่จะเกิดขึ้น อย่างในกรณีแรงงานมีฝีมือนี้ คนมักจะมองในแง่ที่จะส่งออกแรงงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองถึงในทางกลับกันว่าจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง  
หมายเลขบันทึก: 38428เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท