เรียนรู้ซาบซึ้งกับเพลงกล่อมลูกภาคอีสาน (แม่หม้ายกล่อมลูก ๑)


นอกจากจะควรค่าแก่การอนุรักษ์แล้ว ยังมีคุณค่าในแง่ดนตรีบำบัดด้วย (Music Therapy)

 

 

เมื่อหลายเดือนก่อนผมได้มีโอกาสฟังเพลงกล่อมลูกที่ได้ถูกรวบรวมเรียบเรียงบรรจุไว้ในแผ่น CD ชื่อว่า “เพลงกล่อมลูกชาวสยาม” ที่ได้มาจากตลาดนัดแบกะดินแถวบ้าน (บางพูน) ซึ่งแผ่น CD เพลงชุดนี้จัดทำโดยสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วงแรกก็เปิดฟังเพลินๆ ไม่ได้ฟังแบบ พินิจ พิเคราะห์ พิจารณา ซักเท่าไหร่  และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ผมได้ลองฟังเพลงนี้อย่างจริงจังเสียที ตอนที่ผมต้องเลี้ยงลูกตามลำพังโดยไม่มีแม่เขาอยู่ด้วย (ลูกไม่สบาย แม่ไปทำงาน ผมลางานเลี้ยงลูก) ความรู้สึกที่ผมได้พบในวันนั้น ทำให้ผมแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่เลยทีเดียว โดยเฉพาะเพลงกล่อมลูกของภาคอีสาน (แม่หม้ายกล่อมลูก ๑) ที่ขับกล่อมโดยนางฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) จังหวัดอุบลราชาธานี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๓๖

 

 

ความจริงในปกของ CD ก็มีเนื้อเพลงไว้ให้เหมือนกัน แต่ผมลองฟังและเปรียบเทียบกับเนื้อเพลงที่มีไว้นั้นพบว่ามีบางคำที่พยายามใช้คำศัพท์ให้เทียบเคียงกับภาษากลาง ทำให้ให้ความหมายผิดเพี้ยนไป ผมก็เลยลองแกะเนื้อเพลงที่เป็นภาษาอีสานแล้วแปลความตามความหมายให้เป็นภาษากลางที่คิดว่าน่าจะได้ความหมายที่แท้จริง ประจวบเหมาะช่วงเดือนนี้เป็นวันสำคัญที่เกี่ยวกับวันแม่แห่งชาติพอดี ผมก็ถือโอกาสนำสิ่งดีๆ เหล่านี้เพื่อเป็นตัวแทนระลึกถึงพระคุณของแม่มาฝากกันครับ

 

แม่หม้ายกล่อมลูก ๑ :

ขับกล่อมโดย นางฉวีวรรณ ดำเนิน (พันธุ) จังหวัดอุบลราชาธานี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๓๖

 

นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อม / นอนเถิดลูกรักหลับตาแม่จะกล่อม

นอนอู่แล้วนอนแล้วแม่สิกวย / นอนเปลแล้วนอนแล้วแม่จะไกว

นอนสาหล่ากัลยาน้อยอ่อน / นอนเถิดลูกรัก กัลยาตัวน้อย

แม่สิสอนลูกแก้ว ยอมส่อยให้ข่อยฟัง / แม่จะสอนลูกแก้ว ช่วยค่อยๆ ฟังนะ

เป็นคนดียำเกงผู้ใหญ่ คาราวะหละผู้เฒ่า / เป็นคนดียำเกรงผู้ใหญ่ คาราวะผู้เฒ่า

พันไก้หมอบคาน / เข้าใกล้ให้หมอบคลาน

ย่างไก้เพิ่นให้เข้าเอิ้นขอทาง / เดินผ่านท่านให้เรียกขอทาง

เพิ่นเอิ้นขายเจ้าอย่าได้เว่าหยาบ / ท่านเรียกพูดจาด้วยอย่าได้พูดหยาบ

เป็นคำบาป บ่จบบ่งาม / เป็นคำบาป ไม่สวยไม่งาม

กิริยาเลวทราม ขายหน้าพ่อแม่ / กิริยาเลวทราม ขายหน้าพ่อแม่

ลูกขี้แพ้พ่อแม่อยากอาย / ถ้าลูกเป็นคนขี้แพ้ จะทำให้พ่อแม่ขายหน้า

เกิดเป็นซายวิซาเป็นทรัพย์ / เกิดเป็นชายวิชาเป็นทรัพย์

เพิ่นจั่งนับหน้าถือตา / เขาจะได้นับหน้าถือตา

บรรพชาสมบัติคือบวช / บรรพชาสมบัติคือบวช

ให้หมั่นกวดศึกษาเล่าเรียน / ให้หมั่นกวดศึกษาเล่าเรียน

การทำเพียรกำจัดกิเลส / การทำเพียรกำจัดกิเลส

บ่เป็นเหตุ เสียซาติตะกูล / ไม่เป็นเหตุ เสียชาติตะกูล

ลูกหล่าแม่ให้มีใจกรุณา / ลูกรักแม่ให้มีใจกรุณา

ใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ / ใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

คนดีแม่ให้มีใจก้วงขวง / คนดีของแม่ให้มีใจกว้างขวาง

คนทั้งปวงจะสิยอยกเจ้า / คนทั้งปวงก็จะยอยกเจ้า

ยามกินเข้าให้คิดถึงคุณควย / เมื่อกินเข้าให้คิดถึงบุญคุณของควาย

พระอิศวรเพิ่นจึงมาพายโผด / พระอิศวรท่านจึงจะมาปลดปล่อย

บ่เป็นโทษกายวาจาใจ / ไม่ถือเป็นโทษกายวาจาใจ

เว่านำไผเพิ่มก็สมซื่น / พูดกับใคร เขาก็นิยมชมชื่น

ไปบ้านอื่นสิมีผู้บูชา /  ไปบ้านอื่นก็จะมีมีผู้คนบูชา

เทวดารักษาปกป้อง / เทวดารักษาปกป้อง

ผุงน้องพี่ยกย่องสรรเสริญ / กลุ่มน้องพี่ยกย่องสรรเสริญ

 

อึม ฮึอือ ฮึอื้อ ฮึอือ อึม อือ อือ อึม อือ อืม

 

เจ้าหากแม่นหลานปู่หละคนฮู้ผู้ดี / เจ้าเป็นหลานปู่ผู้ดีมีความรู้

แนวเศรษฐีลังกามาเกิด / สืบเชื้อสายจากเศรษฐีลังกามาเกิด

ผู้ประเสริฐตัวเจ้าจงนอน / ผู้ประเสริฐตัวเจ้าจงนอน

ให้เจ้าฟังคำสอนหละพุทโธโอวาท / ให้เจ้าฟังคำสอนพุทโธอวาท

ขูนักปาดเอิ้นผู้ทรงธรรม / ครูนักปราชญ์เรียกผู้ทรงธรรม

รัตนังอู๋คอนคำหมาก / รัตนังอู่คอนคำหมาก (ยึดมั่นในพระรัตนตรัย)

เหตุยุ่งยากนอนแล้วบ่หนี / เหตุยุ่งยากนอนแล้วไม่หนี

สวัสดีนอนหลับคนตื่น / สวัสดีนอนหลับคนตื่น

ขั้นบวชเข้าในศาสนา  / ครั้นบวชเข้าในศาสนา

เป็นบุญญาทดคุณพ่อแม่ / เป็นบุญญาทดแทนคุณพ่อแม่

พ่อแม่เฒ่าให้เลี้ยงรักษา / พ่อแม่แก่เฒ่าให้เลี้ยงรักษา

ยามเพิ่มมรณาทำบุญส่งให้ / เมื่อท่านมรณาทำบุญส่งให้

ลูกจึงได้สื่อว่าคนดี / ลูกจึงได้ชื่อว่าคนดี

 

เอ่อ เอ้อ เออ เอ้อ เอ่อ เออ อื่ม อื้ม อืม

 

นอนสาเดอหล่าหลับตาแม่สิก่อม / นอนเถิดนะลูกรักหลับตาแม่จะกล่อม

แม่สิไปเข็นฝ้าย เดือนหงายเว่าผู้บ่าว / แม่จะไปปั่นฝ้าย เดือนหงายพูดคุยกับหนุ่มๆ

แม่สิเอาพ่อนหนำ มาเลี้ยงให้ใหญ่สูง / แม่จะพามาเลี้ยงให้เติบใหญ่

แนวโตเป็นกำพร้าอนาถาบ่มีพ่อ / ลูกเป็นกำพร้าอนาถาไม่มีพ่อ

ทุกข์แท้หนอลูกแก้ว แนวเจ้าพ่อบ่มี / ทุกข์ยากแท้หนอลูกแก้ว ที่เจ้าไม่มีพ่อ

พ่อตายแล้วสิ้นแม่ขาดคา / พ่อตายแล้วซิ่นแม่ขาดคาขา (ชีวิตแร้นแค้น จนต้องทนใส่ผ้าถุงขาด)

พ่อตายแล้วนาก็ขาดเข่า / พ่อตายแล้วนาก็ขาดข้าว

บ่มีเสาสิค้ำคือแนเด๋ / ไม่มีเสาจะช่วยค้ำยัน

ความทุกข์มาสู่มื้อลุงป้าบ่ว่าเด๋ / ความทุกข์มาทุกวันลุงป้าก็ไม่ว่าอะไรเลย

ตั้งแต่ก่อน ก่อนกี้ ตั้งแต่พ่อเจ้ายังมี / ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่พ่อเจ้ายังมีชีวิตอยู่

ไผก็ดีปานหยังหมู่ฝูงลุงป้า / ใครๆ เขาก็ดีกับเจ้าทั้งเพื่อนฝูงลุงป้า

อาวอาพร้อมถนอมดีเกื้อก่อม  / อาว์ (น้องชายของพ่อ) อาพร้อมถนอมดีเกื้อกล่อม

พ่อบ่มีเพิ่นบ่เว่าลุงป้าบ่ว่าหลาน / พ่อจากไปแล้วลุงป้าเขาก็ไม่นับเป็นหลาน

พริกก็อยู่เฮือนเหนือ เกลือก็อยู่เฮือนใต้ / พริกก็อยู่บ้านเหนือ เกลือก็อยู่บ้านใต้

หัวสิงไคอยู่บ้านเพิ่น / ตะไคร้ก็อยู่บ้านเขา

ขึ้นเฮือนลุงเพิ่นก็เว่า / ไปบ้านลุงเขาก็พูด (บ่น)

ขึ้นเฮือนอาวเพิ่นก็เว่า / ไปบ้านอาว์เขาก็พูด (บ่น)

ขึ้นเฮือนหย่าก็บ่ได้ / ไปบ้านย่าก็ไปไม่ได้

กวดหยากแต่แกมกิน / อดอยากต้องประหยัดกิน

นอนสาหล่านอนอู่สายปอ / นอนเถิดลูกรักนอนเปลสายปอ

นอนกะท้อหย่าห่างสมนางบ่มีพ่อ / นอนในกระบุงอย่าห่างสมนางไม่มีพ่อ

เชือกอู่ขาดฮ้อยต่อบ่ติดกัน / เชือกเปลขาดร้อยต่อไม่ติดกัน

แม่นไผหนอสิมาฝั้นเล็นปอ เป็นเชือกอู่ลูกแม่เอ๋ย / ใครเลยเล่าจะฝั้นปอเป็นเชือกเปลให้ละลูกแม่เอ๋ย

 

นอนสาหล่าหลับตาแม่สิก่อ / นอนเถิดลูกรักหลับตาแม่จะกล่อม

นอนอู่ฝ้ายป้ายใส่อู่ใหม่ / นอนเปลฝ้ายป้ายใส่เปลใหม่

นางสายใจนอนสาเจ้าอย่าตื่น / นางสายใจนอนเถิดเจ้าอย่าตื่น

ฮอดมื้ออื่นยามเช้าแม่สิไป / ถึงวันพรุ่งนี้ตอนเช้าแม่ก็จะไป

แม่สิไปหาไม้ รั่วฟืนขึ้นมาผ่า  / แม่จะไปหาไม้ หาฟืนมาผ่า

เพราะแม่เป็นแม่ห่างผัวสิเลี้ยง / เพราะแม่เป็นแม่หม้ายไม่มีผัวจะเลี้ยง

แม่นบ่มี.. ผัวสิซ้อน แม่นบ่มี / ไม่มี ผัวคอยดูแล ไม่มี

เอ๋ย เออ เอ่ย เอ้ย หน่อ

 

Download เพื่อฟังเพลงกล่อมลูกจาก CD ชุด “เพลงกล่อมลูกชาวสยาม” ทั้งหมดได้ที่ http://www.dhammathai.org/radio/song_klomluk.php

 

 

 

จากเนื้อหาดังกล่าวผมพยายามแปลความหมายจากเนื้อหาในภาพรวมทั้งหมด ซึ่งอาจจะมีบางตอนที่ไม่ได้แปลตรงๆ ตัว เช่น "พ่อตายแล้วสิ้นแม่ขาดคาขา" (พ่อตายแล้วซิ่นแม่ขาดคาขา) ผมเข้าใจว่าเมื่อพ่อตายจากไปก็ทำให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวแร้นแค้นขึ้น จนแม่ต้องทนใส่ผ้าถุงขาดๆ วิ่นๆ หรืออาจมีบางตอนที่ไม่สามารถแปลความหมายออกมาชัดๆ ได้ เพราะเป็นคำกลอนเพื่อให้การขับกล่อมคล้องจอง อุปมาอุปไมย เช่น "ให้รัตนังอู๋คอนคำหมาก" / รัตนังอู่คอนคำหมาก (ยึดมั่นในพระรัตนตรัย)

 

เพลงกล่อมลูกเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งนับวันก็จะยิ่งสูญหายไปตามกาลเวลาทุกที จึงอยากจะส่งเสริมให้คนไทยเราได้รู้จักและซาบซึ้งและบทเพลงเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ตามมุมมองของประเพณีและวัฒนธรรมของไทยเราแล้ว บทเพลงเหล่านี้ยังมีคุณค่าในแง่ดนตรีบำบัดด้วย (Music Therapy) ไม่ว่าจะเป็นเนื้อร้องและทำนองที่ทำให้เด็กเกิดความซาบซึ้ง เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไปไม่น้อยไปกว่าดนตรีคลาสสิคของชาวตะวันตกอย่างซิมโฟนีหมายเลข 5 เลยทีเดียว

 

หมายเลขบันทึก: 384132เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท