สวนสวย กับ สังคมเมือง ของขวัญทางใจจากมั่นคงฯ


สวนสวย กับ สังคมเมือง ของขวัญทางใจจากมั่นคงฯ

  บ้านหลังใหญ่ๆ ตกแต่งด้วยวัสดุราคาแพงๆ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของนิยามคำว่า "บ้านน่าอยู่" หากขาดสิ่งสำคัญไปอย่างหนึ่งนั่นคือ "การออกแบบตกแต่งสวน" ที่ดูร่มรื่นและสวยงามตามอัตภาพของบ้านหลังนั้นๆ ที่สำคัญ "สวนสวย" ต้องเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านด้วย ยิ่งอยู่ในยุคสังคมเมือง ซึ่งถูกจำกัดด้วยเวลาและพื้นที่ของที่อยู่อาศัย "ธรรมชาติ" จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังโหยหา ด้วยเหตุผลนี้บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ของ "ชวน ตั้งมติธรรม" ดีเวลอปเปอร์รุ่นแรกของเมืองไทย ต่างเห็นความสำคัญตรงกัน จึงเจียดเงินทุนมาจัดกิจกรรมเกี่ยวกับสวนอย่าง ต่อเนื่อง เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ได้จัดประกวดออกแบบสวน "สวนชวนชื่น" โดยจัดวงสนทนาในหัวข้อ "แนะ นำการจัดสวนรับสังคมเมือง" หรือ Metro garden ณ บริเวณสวนสวยของร้านบ้านก้ามปู วันนั้นมีผู้เชี่ยวชาญในการจัดสวนมาร่วมแนะนำเคล็ดลับและแนวทางการจัดสวนที่ถูกต้อง ซึ่งเรียกความสนใจได้มากโข "ชุติมา ตั้งมติธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.มั่นคงเคหะการ บอกว่า ในฐานะที่มั่นคงฯอยู่ในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมากว่า 50 ปี ก็อยากจะทำอะไรที่รู้สึกดีๆ และเติมเต็มความสวยงามให้กับที่อยู่อาศัยของทุกๆ คน อย่างน้อยก็ช่วยสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้ครอบครัวได้บ้าง "อรเอม ตั้งกิจงามวงศ์" อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความรู้ผ่านหลักการ 3 ข้อ ว่า "การพยายามใช้พื้นที่ขนาดเล็กที่มีจำกัดให้เป็นมากกว่าสวน มิใช่เพียงแค่การสร้างมุมมองที่สวยงามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเพิ่มการใช้งานให้กับสวนด้วย เช่น การสร้างห้องสวน (outdoor room) เพื่อให้คนในบ้านเกิดกิจกรรมร่วมกันในสวนได้ เช่น ทานข้าว พักผ่อน โดยการผนวกแนวคิดของสวนผ่อนคลายความรู้สึก (sensuous garden) เพื่อตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส และการได้ชิม เข้าไปสู่การออกแบบ การสร้างห้องสวน ซึ่งการออกแบบสามารถเลือกใช้วัสดุทั้งที่เป็นวัสดุพื้นแบบผิวแข็ง (hardscape) พื้นแบบผิวนุ่ม (softscape) เช่น หญ้า การจัดองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสม เช่น การใช้เสียงของน้ำ กลิ่นหอมของไม้หอม ประกอบด้วย ไม้ผล ไม้ดอกสีสดใส รวมทั้งการเลือก texture วัสดุในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ห้องสวนสามารถตอบสนองต่อการใช้งานในกิจวัตรประจำวัน และเป็นสวนขนาดเล็กที่ตอบสนอง ต่อการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และช่วยผ่อนคลายความ เครียดได้อีกด้วย" การเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกที่มีอยู่จำกัดสู่ภายใน จะต้องเน้นการใช้สอยของพื้นที่ภายในอาคาร ให้กลมกลืนไปกับสวน ซึ่งสามารถทำได้โดยการสร้างความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกในลักษณะต่างๆ เช่น การสร้าง transi tional space เชื่อมต่อพื้นที่ภายในและสวนภายนอก ได้แก่ การยื่นของระเบียง ชานพัก ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะได้ความเชื่อมโยงกันในพื้นที่ขนาดจำกัดแล้ว ยังได้พื้นที่ใช้สอยเป็นพื้นที่พักผ่อนจากภายในออกมาด้วย การสร้างสวนแนวตั้ง สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กำแพงทึบที่มีไม้เลื้อยจำพวกตีนตุ๊กแกเกาะ หรือรั้วต้นไม้ เช่น โมก ชาข่อย ต้นแก้ว สน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรั้วที่ทำโครงสำหรับให้ไม้เลื้อยเกาะยึด เช่น พวงคราม เล็บมือนาง เฟื่องฟ้า ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานแต่เมื่อโตเต็มที่แล้วรั้วหรือกำแพงที่เขียวชอุ่มนี้จะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนให้กับบ้าน เพิ่มอากาศบริสุทธิ์ และเพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่ใช้สอยในบริเวณใกล้ๆ รวมทั้งช่วยกรองฝุ่นควัน เสียงและมลพิษได้เป็นอย่างดี ด้าน "สมภพ จิรสนธิการณ์" ภูมิสถาปนิก บริษัท คอนเซป อินเตอร์เนชั่นแนล ดีไซน์ จำกัด ผู้ชนะเลิศในโครงการประกวดออกแบบสวนชวนชื่นปี 2548 กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าจะเป็นสวนภายนอกระเบียงหรือข้างบ้าน ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้สวน สุนทรียภาพและงบประมาณเป็น สิ่งสำคัญ ส่วนหลักการเลือกต้นไม้สำหรับการจัดสวนนั้น "สมภพ" แนะว่าต้องดูขนาดพื้นที่ของสวนเป็นสำคัญ หากจำกัดการใช้ต้นไม้ใหญ่ก็ควรเลือกต้นไม้ที่มีรากไม่แผ่กว้างมากและไม่ควรเป็นต้นไม้เนื้ออ่อน เพราะปลูกใกล้กับอาคารอาจเกิดความเสียหายได้ และการเลือกไม้พุ่มหรือไม้คลุมดิน ต้องคำนึงถึงต้นไม้ที่ชอบแสงแดดต่างกัน ฟังแนวคิดที่หลากหลายแล้ว กลับบ้านวันนี้ลองหาพื้นที่จัดสวนตามใจตัวเองสักมุม "ความสุข" ก็อยู่แค่เอื้อม ! ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ก.ค.2549

หมายเลขบันทึก: 383712เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท