ปรับบ้านให้เย็นกาย ด้วยรายจ่ายไม่สิ้นเปลือง


ปรับบ้านให้เย็นกาย ด้วยรายจ่ายไม่สิ้นเปลือง

 ถ้าบ้านคือวิมาน และเป็นสถานที่พักอาศัยสร้างความสุขใจตลอดอายุขัยของผู้เป็นเจ้าของ เจ้าของบ้านย่อมอยากให้สมาชิกทุกคนภายในบ้าน เกิดความรู้สึกอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป หากบ้านหลังไหนเย็นสบายอยู่แล้ว เจ้าของบ้านไม่ต้องห่วงหรือเป็นกังวล แต่บ้านไหนเก็บความเย็นไม่อยู่ และการระบายความเย็นไม่เต็มที่หรือมีปัญหา ยิ่งเป็นยุคน้ำมันมีแต่จะขึ้น และรัฐบาลไทยรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน เจ้าของบ้านจะมัวชะล่าใจไม่คิดหาทางแก้ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ เรื่องของบ้านกับความเย็นนั้น คนไทยตระหนักดีว่าในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ทุกบ้านทุกครัวเรือนต่างนึกถึงความเย็นกันทั้งนั้น บางบ้านอาจมีแอร์ และบางบ้านยังคงใช้พัดลม เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งสองอย่างจะทำงานได้ต้องใช้ไฟฟ้า ตอนใช้ไม่ค่อยคิดมากกัน แต่เมื่อใบเสร็จเก็บค่าไฟมา ตัวเลขต้องจ่ายอาจทำให้เจ้าของบ้านตกใจว่า ทำไมจึงเพิ่มขึ้นพรวดพราด ปัญหานี้วิลลิสเข้าใจดี และมีกลวิธี 5 ข้อ จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญปกป้องความเย็นในบ้านมาเสนอ ให้คนไทยทั้งใน และต่างประเทศนำไปใช้คงความเย็นภายในบ้านได้เหมือนเดิม แม้อากาศหรืออุณหภูมินอกห้อง และนอกบ้านจะสูงขึ้นก็ตาม แต่รายจ่ายค่าไฟจะไม่ขยับขึ้นให้กังวลใจ "จัดการตรวจสอบพลังงานที่ใช้ในบ้านให้ถี่ถ้วน" เป็นเรื่องสำคัญเรื่องแรกที่วิลลิสอยากให้เจ้าของบ้าน นำไอเดียดีข้อนี้ไปใช้อย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจดูว่าส่วนไหนของบ้านใช้หรือกินพลังงานมากที่สุด ในสหรัฐมีข้อมูลจากเอนวิรอน เมนทอล โพรเทคชั่น เอเยนซี หรือ อีพีเอ ระบุว่าชาวอเมริกันทุกครัวเรือนใช้จ่ายไปกับพลังงาน ประมาณ 1,500 ดอลลาร์ หรือกว่า 6 หมื่นบาทต่อปี ครึ่งหนึ่งของรายจ่ายเสียไปกับการใช้เครื่องทำความเย็นและความร้อน จากตัวเลขการใช้จ่ายข้างต้น จึงสมควรที่เจ้าของบ้านจะประเมินดูความผิดปกติหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับจุดต่างๆ ที่ใช้พลังงานเพื่อผลิตทั้งความเย็น และร้อนภายในบ้าน แต่วิลลิสอ้างความเห็นผู้เชี่ยวชาญว่า สิ่งที่จะทำได้ในทันที คือ ให้เจ้าของบ้านแน่ใจก่อนว่า ช่องนำอากาศเย็น และร้อนเข้าสู่ตัวบ้านไม่ถูกเฟอร์นิเจอร์ที่จัดวางภายในบ้านปิดกั้น และไม่มีฝุ่นหรือเศษขยะหยากไย่อุดตันอยู่ การทำความสะอาดรูหรือช่องนำอากาศเย็นกับร้อนเข้าบ้าน เป็นขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถเปิดทางช่วยให้การถ่ายเทหมุนเวียนของอากาศภายในบ้านสะดวก และรู้สึกสบายขึ้น อีกทั้งช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน นำพลังงานมาผลิตความเย็นกับความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ให้แน่ใจอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแอร์หรือเครื่องทำความร้อน มีเครื่องกันรั่ว และป้องกันไฟรั่วเรียบร้อยอยู่ในสภาพเหมาะสมและดี โดยโฮมเดอพ็อตบริษัทเชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบ้าน ระบุว่ารอยรั่วเกิดกับเครื่องทำความเย็น และความร้อน ส่งผลให้การสูญเสียนี้ คิดเป็น 10-30% ของต้นทุนที่ต้องจ่ายเป็นค่าไฟทั้งหมดในแต่ละเดือน แต่วิลลิสตั้งคำถาม เตือนใจเจ้าของบ้านให้ระวังและรอบคอบว่า ทำอย่างไรเจ้าของบ้านถึงจะรู้ว่า ตัวเองเดินถูกทางในการตรวจสอบหารอยรั่ว หรือส่วนที่มีปัญหา วิลลิสย้ำว่าให้เน้นดูส่วนที่ฝุ่นหรือหยากไย่ รวมทั้งส่วนที่เกิดความชื้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนอยู่ใกล้ข้อต่อหรือเป็นร่องกับรอยต่อระหว่างชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นนั้น อัลลายแอนซ์ ทู เซฟ เอนเนอร์จี องค์กรอิสระรณรงค์การประหยัดไฟในสหรัฐ ให้ข้อมูลว่าการปิดหรืออุดไม่ให้เกิดรอยรั่ว ที่ข้อต่อตามรอยแตกร้าว และช่องต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นภายนอกทั้งหมด จะช่วยให้เจ้าของบ้านประหยัดเงินได้ 10% หรือมากกว่านี้ของเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าไฟทั้งหมดในแต่ละเดือน แต่ถ้าเจ้าของบ้านรายใดยังมีข้อกังขา เกี่ยวกับวิธีการป้องกันการรั่วไหลของพลังงานสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน วิลลิสแนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียด และสามารถสอบถามบนเวบไซต์ www.simplyinsulate.org "ตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ทำงานปกติและช่วยประหยัดพลังงาน" เพื่อกันความร้อนและเก็บความเย็นในบ้านได้ดี ขอให้เจ้าบ้านแน่ใจว่าเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้ามีส่วนช่วยประหยัด หรือนำพลังงานมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พยายามใช้งานเครื่องซักผ้า เครื่องปั่นแห้ง หรือเครื่องล้างจานในช่วงดึกถ้าทำได้ เป็นคำแนะนำของวิลลิสที่คนไทยในสหรัฐสามารถนำไปลองใช้ปฏิบัติได้ และหากเจ้าของบ้านเลือกซื้อเลือกหาเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เบอร์ 5 ประหยัดไฟ เช่น แอร์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ โคมไฟหรือหลอดไฟให้ความสว่างภายในบ้าน จะช่วยเจ้าของบ้านตัดลดรายจ่ายค่าไฟส่วนนี้ได้มากถึง 30% ทั้งนี้ ในสหรัฐเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ได้รับการรับประกันว่าประหยัดไฟมากที่สุด จะได้รับฉลากติดกำกับ ที่เรียกกันทั่วไปว่า ฉลากเอนเนอร์จี สตาร์ ซึ่งหมายความว่าสินค้าหรือเครื่องใช้ชิ้นนั้นได้มาตรฐานการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้คำแนะนำและข้อปฏิบัติกำหนดโดย เอนวิรอน เมนทอล โพรเทคชั่น เอเยนซีของสหรัฐ และหน่วยงานด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ วิลลิสเตือนด้วยว่า เจ้าของบ้านต้องจัดวางโคมไฟกับโทรทัศน์ให้ห่างจากเครื่องควบคุมความร้อนความเย็น ซึ่งรอนนี่ เควล์เลอร์ แห่งอัลลายแอนซ์ ทู เซฟ เอนเนอร์จี กล่าวว่าคำแนะนำนี้ไม่ทำให้เจ้าของบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่เควล์เลอร์กลับมองว่าเป็นความพยายาม ที่จะช่วยกระตุ้นให้เจ้าของบ้านแน่ใจว่า แอร์ทุกตัวภายในบ้านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าเจ้าของบ้านโดยเฉพาะคนไทยพำนักในสหรัฐ ยังมีข้อสงสัย และอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือรายละเอียดกว่านี้ วิลลิสแนะนำให้เข้าหรือตรวจดูในเวบไซต์ www.ase.org "คิดทำให้บ้านร่มหลบแดดเสียบ้าง" เจ้าของบ้านคนไทยในสหรัฐ อาจชื่นชอบพอใจให้บ้านรับแสงแดดร้อนสู้ความหนาวในแถบซีกโลกตะวันตก แต่ข้อเท็จจริงที่วิลลิสหยิบยกขึ้นมาเตือนใจเจ้าบ้าน ให้ฉุกคิด คือ ความร้อนแรงของแสงอาทิตย์เป็นข้อห้าม อย่าให้สาดส่องตัวบ้านหรือบริเวณในบ้านที่ต้องเก็บความเย็นให้ความสุขกับสมาชิก สภาพภูมิทัศน์รอบบ้าน เป็นดั่งธรรมชาติช่วยให้ร่มเงาแก่บ้าน และสกัดกั้นแสงร้อนแรงจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นการจัดวางต้นไม้ พุ่มไม้หรือไม้เลื้อยให้อยู่ในตำแหน่งที่ดี จะช่วยให้เกิดร่มเงาที่มีประสิทธิผลตามธรรมชาติ และยังช่วยเพิ่มมูลค่าความงามถูกหลักให้กับที่ดินของตัวเองด้วย หากเจ้าของบ้านต้องออกแบบภูมิทัศน์ในบ้านด้วยตัวเอง ขอให้ใช้ต้นไม้พื้นๆ หรือหาได้ง่ายตามท้องถิ่นของตัวเอง และจะต้องเป็นต้นไม้ที่อยู่รอดได้โดยไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก ต้นไม้ที่ผลัดใบในฤดูใบไม้ร่วง หรือที่เรียกกันว่าต้นไม้ผลัดใบปีละครั้ง จะช่วยเก็บความเย็นให้กับตัวบ้านพร้อมลดต้นทุนจ่ายค่าไฟให้กับเจ้าบ้านได้มากที่สุด การปลูกไม้เลื้อยไปตามระแนงไม้ที่ทำไว้ การปลูกไม้เลื้อยประเภทต้นไอวี่หรือต้นองุ่นสามารถให้ร่มเงากับหน้าต่าง และส่วนอื่นๆ ของตัวบ้านได้ดี เจ้าของบ้านอาจคิดถึงอุปกรณ์ให้ร่มเงา เช่น ผ้าใบบังแดดหรือบานประตูไม้ปิดเปิดด้านนอกหน้าต่างกับกระจก อุปกรณ์บังแดดเหล่านี้ จากข้อมูลของ Doityourself.com. สามารถลดความร้อนแรงจากแสงแดดให้กับหน้าต่างทางทิศใต้ของบ้านได้มากถึง 65% และลดความร้อนที่ส่องเข้ามาทางหน้าต่างฝั่งตะวันออกได้ 77% อย่างไรก็ดีวิลลิสให้ข้อมูลแก่เจ้าของบ้านได้ฉุกคิดว่า ผ้าใบบังแดดที่มีสีอ่อน จะทำหน้าที่ให้ร่มเงา สะท้อนแสงและบังแดดได้ดีกว่าผ้าใบสีเข้มถึง 2 เท่า นอกจากนี้ หากคิดทำให้ภายในบ้านร่มเย็น เจ้าของบ้านต้องลงทุนจัดตกแต่งผ้าประดับบ้านหรือผ้าม่าน สีอ่อนสว่างหรือเนื้อผ้าหนา จะสะท้อนแสงแดดได้ดีกว่าสีเข้มและเนื้อผ้าบาง "ลองกำหนดหรือตั้งเวลาเปิดปิดอุปกรณ์ให้ความเย็นภายในบ้าน" วิลลิสแนะให้ใช้ประโยชน์ที่ได้เปรียบด้วยการตั้งเวลา เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน และไม่จำเป็นต้องให้ในบ้านเย็นตลอดเวลา ลองพิจารณาติดตั้งเครื่องบังคับตัดต่อพลังงานเพื่อให้ความเย็นหรือความร้อนคงที่ ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมหรือเวลาได้ เครื่องบังคับให้ความเย็นความร้อนคงที่ ซึ่งสามารถตั้งเวลาหรือโปรแกรมนี้ จะช่วยให้แอร์เปิดปิดได้อัตโนมัติตามที่เจ้าของบ้านกำหนดไว้ โดยข้อมูลของอีพีเอระบุว่า เครื่องตัดต่อความเย็นความร้อนให้คงที่แบบอัตโนมัตินี้ สามารถประหยัดเงินต้องจ่ายเป็นค่าพลังงานให้กับคนอเมริกัน ได้ประมาณ 100 ดอลลาร์ หรือกว่า 4 พันบาทต่อปี อีกจุดหนึ่งที่เจ้าของบ้านโดยเฉพาะคนไทยในสหรัฐไม่ควรมองข้าม และสามารถประหยัดเงินจ่ายค่าไฟได้มากที่สุด คือ การติดตั้งเครื่องตัดต่อความเย็นความร้อน ให้ห่างจากจุดที่ก่อเกิดความเย็นหรือความร้อนตามธรรมชาติ ไม่ควรลืมตั้งอุณหภูมิให้สูงขึ้นกว่าปกติสำหรับเครื่องทำความเย็น และต่ำกว่าปกติสำหรับเครื่องทำความร้อน เมื่อทุกคนในบ้านต้องเดินทางไปเที่ยวไหนไกลๆ และต้องค้างคืนนอกบ้าน วิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าไฟ ให้อุปกรณ์ทำความเย็นความร้อนได้มากถึง 10% จากการรวบรวมไอเดียของผู้เชี่ยวชาญ วิลลิสให้ข้อมูลว่าเจ้าของบ้านอาจตั้งเวลาเครื่องตัดต่อไว้ ให้แอร์เริ่มทำงานประมาณ 30 นาที ก่อนที่ทุกคนในบ้านจะกลับมาในช่วงเย็นหรือค่ำ วิธีนี้ช่วยให้บ้านเป็นเสมือนวิมานบนดิน ที่สมาชิกทุกคนอยากรีบกลับมาพักผ่อนเร็วๆ เปลี่ยนหลอดไฟบ้าง" เป็นไอเดียสุดท้ายที่วิลลิสให้เจ้าของบ้านฉุกคิดว่า ควรเลิกใช้หลอดไฟที่ให้แสงสว่างสีส้มจากไส้ใน แต่หันมาพิจารณาหลอดไฟสีขาวอาจแพงกว่าหลอดไฟสีส้มเล็กน้อย แต่หลอดไฟสีขาวแบบ florescent จะใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟมาตรฐานทั่วไป 66% ทั้งนี้ เควล์เลอร์ให้ข้อมูลสนับสนุนวิลลิส เป็นการปิดท้ายว่า หากเจ้าของบ้านหาหลอดไฟให้สีขาวสว่างขนาด 32 วัตต์ มาแทนหลอดไฟให้แสงสีส้มขนาด 110 วัตต์ เขาหรือเธอก็สามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ถึง 30 ดอลลาร์ หรือกว่า 1,200 บาท ตลอดอายุขัยของหลอดไฟให้แสงสีขาว วิลลิสย้ำด้วยความมั่นใจว่า หลอดไฟให้แสงสีขาว ย่อมทำให้ภายในบ้านสว่างไสวโดยไม่สร้างความร้อน จนส่งผลให้แอร์ต้องทุกตัวภายในบ้าน ต้องทำงานหนักเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน หรือทำให้เจ้าของบ้านต้องเสียเงินจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 ก.ค.2549

หมายเลขบันทึก: 383661เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท