ข้าวต้มปลา-ผลไม้เปรี้ยว เมนูถอนเมาค้าง


ข้าวต้มปลา-ผลไม้เปรี้ยว เมนูถอนเมาค้าง

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีแก้อาการเมาค้างให้รับประทานอาหารอ่อนพวกข้าวต้มปลา โจ๊ก ซีเรียล เพิ่มผลไม้รสเปรี้ยวมีวิตามินซีกระตุ้นปลายประสาท เตือนหากร่างกายไม่ไหวควรหยุดพัก อย่าฝืนทำงานหรือขับรถ ระบุ การอาเจียนฟ้องว่าตับทำลายแอลกอฮอล์ไม่ไหว ร่างกายรับไม่ได้

นายสง่า ดามาพงศ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งเหล้า เบียร์ ไวน์ ตับต้องทำงานหนัก เพื่อขจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ลมหายใจ รวมทั้งขับสารอาหารสำคัญออกมาด้วย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินซี เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง ปวดร้าวในศีรษะแทบระเบิด ที่เราเรียกว่า “เมาค้าง” มีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ ร่างกายขาดน้ำ ส่งผลให้เสียสมดุลของฮอร์โมน เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท อาการทั่วไปที่พบ คือ ปวดศีรษะ คอแห้ง ผิวหน้าแห้ง ริมฝีปากแห้ง หน้าบวม หน้าซีดเซียว คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ถ่ายเหลว มือสั่น เหนื่อย ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง ความดันโลหิตลดลง หัวใจเต้นเร็ว คนที่เป็นโรคหัวใจจึงมีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตจากการเมาค้างได้ง่าย เพราะเป็นการเพิ่มการทำงานของหัวใจ เกิดภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร “วิธีแก้เมาค้างให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะมีวิตามินซีสูง กระตุ้นปลายประสาททำงานเป็นปกติ อาหารควรเป็นอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้มปลา ไม่ใช่ข้าวต้มหมู และโจ๊กย่อยง่าย ซีเรียลที่ย่อยง่าย เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม ขนมหวาน ให้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เครื่องดื่มอุ่นๆ และนมร้อน” นายสง่า กล่าว และว่า ไม่ควรดื่มกาแฟเพื่อบรรเทาอาการเมาค้าง เพราะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ยิ่งทำให้เสียสมดุลของของเหลวในร่างกาย ควรดื่มน้ำมากๆ ก่อนนอน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีที่เด็ก 11 ขวบ ดื่มเบียร์ผสมน้ำอัดลม อาเจียนแล้วเสียชีวิตนั้น หากร่างกายได้รับเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ กาเฟอีน แก๊ส และน้ำตาล จากการผสมเครื่องดื่มดังกล่าว ทำให้ร่างกายรับไม่ได้ ระบบการหายใจล้มเหลวได้ เรียกร้องสังคมร่วมแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนดื่มเหล้า เบียร์ โดยเฉพาะการเลียนแบบจากการโฆษณา เรียกร้องลดละเลิกการดื่มเหล้า เพราะมีงานเลี้ยงปีใหม่ไร้แอลกอฮอล์คนก็สนุกสนานได้

 

""ที่มาข้อมูล :

หมายเลขบันทึก: 383598เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 18:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท