อนงค์นาถ
นาง อนงค์นาถ อนงค์นาถ ศูนย์ศร

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต


วาระสุดท้ายของชีวิต

“ทุกสิ่งในโลกมีเกิดแล้วย่อมมีดับเป็นธรรมดา”

ดิฉันเชื่อว่าทุกท่านคงมีประสบการณ์เกี่ยงกับการได้ดูแล ได้ใกล้ชิดใครสักคนในวาระสุดท้ายของชีวิตมาบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป ท่านได้ลองคิดทบทวนดูสิคะว่า ทำอะไรบ้าง

 ดิฉันมีเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตมาแลกเปลี่ยนค่ะ

 ความตาย คือ ธรรมชาติที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ทุกคนมักจะปฏิเสธความตาย

วาระสุดท้ายของชีวิต หลายคนก็จะอยู่ในโรงพยาบาลซึ่งเป็นสถานที่ผู้ป่วยไม่คุ้นเคย ญาติก็จะไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วยเนื่องจาก มีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์มากมาย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วยและญาติ  

 ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ต้องการอะไร

เมื่อรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด และกำลังเข้าใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ บางคนจะโมโหร้าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย  บางคนก็จะรู้สึกเศร้า โดดเดี่ยว ท้อแท้  ผู้ป่วยที่มีสติรู้ตัวดีมักจะอยากมีโอกาสกลับบ้านเพื่อจะได้เห็นสิ่งที่เคยรัก เคยผูกพัน ได้สั่งลาเป็นครั้งสุดท้าย (ขอกลับไปตายบ้าน)

การได้สัมผัสสิ่งที่รัก ที่ผูกพันจะทำให้เพลิดเพลิน ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจซึ่งจะช่วยให้ลืมความเจ็บปวดได้บ้าง หน้าที่สำคัญยิ่งของผู้ดูแลคือ ช่วยให้ผู้ป่วยทีอาการสงบ ช่วยให้มีสติระลึกถึงกฎของธรรมชาติ ยอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ และมีศักดิ์ศรี

หลังจากนั้น ควรเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูดระบายความรู้สึก ได้พูดในสิ่งที่ค้างคาใจ  และควรทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังที่ดี คอยเป็นเพื่อนให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่อย่างโดยเดี่ยว  และพูดถึงสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีความภาคภูมิใจ ชื่นชมในความสำเร็จในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผู้ป่วยบางคนก็จะต้องการทำบุญ ถวายสังฆทานโดยเชื่อว่าจะส่งผลให้มีชีวิตที่ในภพหน้า

พึงระลึกเสมอว่าผู้ป่วยใกล้ตายมักมีอาการเหนื่อยเพลีย ต้องการพักผ่อนมากกว่า  ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบ อากาศถ่ายเทสะดวก  พยายามรบกวนผู้ป่วยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การสัมผัสควรสัมผัสบริเวณแก้ม ซอกคอ เพราะจะรับความรู้สึกได้ดีกว่าการสัมผัสส่วนปลายเช่น มือ เท้า ประสาทสัมผัสสุดท้ายที่ผู้ป่วยยังมีอยู่คือการได้ยิน แต่ควรพูดให้เสียงดังกว่าปกติ ไม่ใช่กระซิบ

สำหรับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ที่แตกต่าง ก็ขอเชิญแลกเปลี่ยนเข้ามาได้นะคะ

หมายเลขบันทึก: 383474เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะพี่นาถ

ผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าเห็นใจมากนะค่ะ การดูแลที่ครอบคลุมทั้งด้านกาย จิต อารมณ์ สังคมและจิตวิญญาณสำคัญมาก ชื่นชมผู้ดูแลที่เข้าใจและใส่ใจพวกเขาค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ....

เข้าใจอย่างดียิ่งค่ะเพราะมีประสบการณ์จากการดูแลคุณพ่อ  ที่เป็นมะเร็งในสมองและต้องผ่าตัด  รวมทั้งดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลตลอดสามเดือน  โดยที่โต้ตอบหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย  ลูกๆ  ต้องเปลี่ยนกันมาดูแล  รวมทั้งจ้างพยาบาลพิเศษเวลาไม่มีใครว่างจริงๆ( แต่น้อยครั้งมาก )

พวกเราช่วยกันดูแลอย่างดีที่สุด  จนพยาบาลชมว่าไม่มีแผลกดทับให้เห็นเลยและทุกอย่างต้องอยู่ในสายตาตลอด    จนกระทั่งท่านจากไปโดยสงบ..

สวัสดีจ๊ะ อุ้ม

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนับว่าเป็นเรื่องที่เครียดพอสมควรค่ะ ส่วนมากญาติก็จะไม่กล้าพูดถึงความจริง เพราะกลัวผู้ป่วยจะเสียใจ ทำเหมือนเป็นการซ้ำเติม ส่วนมากจะพูดลักษณะให้กำลังใจ จะพูดอีกอย่างว่าหลอกผู้ป่วยก็คงไม่ผิด ข้อมูลบางอย่างก็เป็นสิทธิที่ผู้ป่วยควรจะได้รับรู้

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น

คิดถึงนะคะ

  • สวัสดีครับพี่นาถ
  • การรู้ว่าตนเองจะตายเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากครับ แต่ก็จำเป็นในการเตรียมผู้ป่วยและญาติ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมด้านจิตวิญญาณให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุข ความสงบ รวมถึงและสนับสนุนให้กำลังใจญาติผู้ดูแลด้วยครับ
  • ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

สวัสดีค่ะ krugui chutima

ชื่นชมนะคะอาจารย์ ที่ได้ทำหน้าที่พึงกระทำของบุตร ทุกคนมีพ่อแม่ได้คนเดียว และท่านก็ตายแค่ครั้งเดียว ถ้าก่อนจากกันชั่วนิรันดร์ได้มีโอกาสได้ดูแล ตอบแทนพระคุณท่านบ้างก็นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนที่เป็นลูก และท่านก็จะได้ภาคภูมิใจในตัวเรา จากเราไปด้วยจิตใจที่สงบ สมัยนี้บุตรน้อยนักที่จะได้มีโอกาสได้ดูแลพ่อ-แม่ในวาระสุดท้าย เพราะมีภาระกิจต้องรับผิดชอบมากมาย

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณชำนาญ

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็น และขอโทษที่ตอบ coment ช้าค่ะ

เรื่องจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน จะต้องเอื้ออำนวยทั้งเวลาและสถานที่ แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ พยาบาลก็จะเร่งรีบในการดูแลทางกายมากกว่าค่ะ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลระดับตติยภูมิคงทำได้ครอบคลุมมากกว่านะคะ

หลายบทเรียนที่ผ่านมา แต่ละบทไม่เหมือนกัน จนมาบทสุดท้ายต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป มันเป็นความเจ็บปวดที่ทรมาน และซื้อคืนมาไม่ได้ ถ้าย้อนเวลาได้จะทำให้ดีที่สุด และการตัดสินใจผิดพลาด ทำให้เสียใจจนทุกวันนี้ แม้จะมีทรัพย์สมบัติมากมาย ก็ไม่มีความสุขเลยแม้แต่วินาทีเดียว ถ้าแลกได้อยากขอชีวิตเขาคืนมา

สวัสดีค่ะ คุณเทียร์

ใช่ค่ะ ทรัพย์สินเงินทองแลกทุกอย่างไม่ได้ทั้งหมด ทุกอย่างต้องแล้วแต่โอกาส และในช่วงเวลานั้นคุณก็คงอยู่ในสถานการณ์หรือโอกาสไม่เหมาะที่จะทำสิ่งที่ใจอยากทำ ก็เลยทำให้รู้สึกเจ็บปวด โทษตัวเองที่ต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในช่วงเวลานั้น แต่พระท่านว่า "สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม" บางครั้งแม่ว่าเราจะทำเต็มที่แล้วสิ่งที่มันจะเกิดก็ต้องเกิดอยู่ดี นึกเสียว่าทำบุญร่วมกันมาแค่นั้น เวลาที่เหลือของเราก็สร้างกรรมดี อุทิศส่วนกุศลไปให้ ขออโหสิกรรมให้กันจะดีกว่าไปหวนคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ เพราะอดีตเราย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้สู้ ๆ ต่อไปนะคะ

คุณแม่ผมนอน icu มา 2 สัปดาห์แล้ว เข้าใจถึงความจริงของชีวิต เพียงต้องการให้ท่านได้จากไปอย่างสงบ ขอให้กำลังใจทุกคนที่ต้องอยู่ใน สถานะการณ์

เดียวกัน

ลือศักดิ์

สวัสดีค่ะ คุณลือศักดิ์

ขอเป็นกำลังใจให้อีกแรง ขอให้เข้มแข็ง  ผ่านพ้นระยะวิกฤตนี้ไปด้วยดีนะคะ

อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองด้วย

สวัสดีคะพี่ ๆ ทุกคน

ดิฉันก็เป็นลูกอีกคนหนึ่งที่พึ่งจะสูญเสียคุณพ่อไปเมื่อเดือนกันยายน 2553 มันเป็นเหตุการณ์ที่รวดเร็ว  เกินกว่าจะตั้งตัว  แต่ก็ทำให้พ่อเห็นว่าลูกเข้มแข็ง  พ่อจะได้ไม่ห่วง  พ่อจากไปด้วยสงบ  มันทรมานจิตใจลูกมาก            พ่อเคยบอกว่า     พ่อไม่อยากไปโรงพยาบาล  เพราะกลัวจะไม่ได้กลับบ้าน  นั้นคงเป็นความรู้สึกที่พ่อรับรู้ถึงอาการขั้นสุดท้ายที่พ่อกำลังเผชิญ  ถึงแม้เราจะได้ยินจากแพทย์ผู้รักษา  แต่ไม่เคยบอกให้พ่อรับรู้  เลย  พ่อก็บอกกับลูกเสมอว่าอาการพ่อเบาแล้ว  ท้องยุบแล้ว  แต่มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ลูกเห็น  พ่ออดทน  พ่อสู้เพื่อไม่ให้ลูกอ่อนแอ  ไม่ให้ลูกกังวล  และพ่อก็จากลูกไป  พร้อมการดูแลของลูกในบ้านที่พ่อผูกพันธ์  พ่อดิฉันป่วยเป็นตับแข็งคะ  ขอเป็นกำลังใจให้พี่ ๆ ทุกคนสู้เพื่อผู้ป่วยจะได้เข้มแข็ง  และต่อสู้กับโรคได้นะคะ   

10/7/54 ถ้าหากมีคนที่รักอยู่ในสภาวะระยะสุดท้ายปาฏิหารย์อาจเกิดขึ้นได้ บางคนอาจอยู่ในภาวะตัดสินใจว่าจะดูแลใกล้ชิดคนที่รักอย่างเดียวก่อนหรือจะดูแลและทำงานไปด้วย อยากบอกว่าเวลาของคนที่เรารักอาจเหลือน้อยขอให้ตัดสินใจเลือกดูแลเขาก่อน เพราะถ้าเขาจากไปจะไม่มีคำว่า "เสียใจ" เพราะเราได้ตัดสินใจถูกแล้ว แต่ถ้าคนที่รักรอดถือว่าเป็นอานิสงค์ผลบุญของเราและคนที่เรารักที่จะได้อยู่เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในโลกใบนี้ ระหว่างงานที่รัก กับ คนที่เรารัก ขอให้เวลานี้จงเลือกที่จะดูแลเขาเถิด ตัดสินใจให้ถูก ให้มีสติ แล้วคุณจะรู้สึกว่าครั้งนี้คุณตัดสินใจถูกต้องแล้ว ด้วยความปรารถนาดี.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท