การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล


ปะการังเทียม

การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลโดยกรมประมง

        แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) หรือปะการังเทียม (Artificial Reefs) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล โดยการนำวัสดุที่แข็งแรงทนทานต้านกระแสน้ำได้และค่าใช้จ่ายคุ้มทุน ไปจัดวางที่พื้นทะเล เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย เป็นที่หลบภัย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำเป็นประโยชน์ต่อการพื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำเสริมมาตรการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรประมง


วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล

 

1. ดึงดูดสัตว์น้ำทำให้เกิดเป็นแหล่งทำการประมงที่มีประสิทธิภาพ
2. ปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดเล็ก เกิดเป็นแหล่งเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำให้ปลอดภัยจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก อวนรุน
3. เพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติ เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามระบบห่วงโซ่อาหาร
4. เกิดเป็นแหล่งอาศัยใหม่ของสัตว์น้ำเป้าหมายให้มีเพิ่มมากขึ้น


การทดลองสร้างปะการังเทียมในประเทศไทย

 

      กรมประมง โดยสถานีประมงทะเลจังหวัดระยอง ได้เริ่มทดลองสร้างปะการังเทียมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 โดยเรียกว่า “มีนนิเวศน์” ใช้วัสดุแตกต่างกันหลายชนิด เช่น ยางรถยนต์เก่า ท่อคอนกรีต ผูกมัดเป็นรูปทรงต่างๆกัน เพื่อศึกษาผลของการใช้วัสดุ และการดึงดูดสัตว์น้ำ โดยพบว่ามีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย
     ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ได้ทดลองใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กรูปสามเหลี่ยมปิรามิด ยาวด้านละ 80 ซม. จัดสร้างที่บริเวณชายฝั่งด้านหน้าของสถาบันฯ โดยเรียกว่า “แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล”
     สำหรับทางฝั่งทะเลอันดามัน สถานีประมงทะเลจังหวัดภูเก็ต ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ในการสร้างปะการังเทียมด้วยยางรถยนต์เก่า และคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดสี่เหลี่ยม ที่บริเวณอ่าวพังงา ในปี พ.ศ. 2525
     จากผลการทดลองมีการสรุปข้อดีข้อด้อย ของการใช้วัสดุต่างๆ ปัญหาอุปสรรค ในการจัดสร้างและแนวทางแก้ไข นำมาใช้เป็นบทเรียนของการจัดสร้างในปัจจุบัน

การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลในปัจจุบัน ของกรมประมง



      กรมประมง ดำเนินการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อให้เป็นแหล่งทำการประมงสำหรับชาวประมงขนาดเล็ก ช่วยลดต้นทุนในการออกไปทำการประมง และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในธรรมชาติ สร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง
      โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2528 ใช้วัสดุหลายชนิดทั้งยางรถยนต์เก่า ท่อคอนกรีตกลม และแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยม ทำการจัดวางในลักษณะกระจายคลุมพื้นที่ทำการจัดสร้าง และได้ปรับปรุงให้จัดวางเป็นกลุ่มๆ ใช้เฉพาะแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน

 

แท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยม มีขนาด กว้าง ยาว และสูง เท่ากันทุกด้าน ด้านละ 1.0 เมตร หรือ 1.5 เมตรหรือ 2.0 เมตร โดยมีความแตกต่างดังตาราง

คุณลักษณะ
หน่วยวัด
ขนาด
1.0x1.0x1.0 1.5x1.5x1.5 2.0x2.0x2.0
พื้นที่หน้าตัดโครง เซนติเมตร 15x15 17x17 20x20
ปริมาตรทั้งหมด ลูกบาศก์เมตร 1.000 3.375 8.000
น้ำหนักแท่ง กิโลกรัม 518.40 1059.82 1996.8
น้ำหนักในน้ำทะเล กิโลกรัม 297 607 1144
หมายเหตุ ขนาด 1.5 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมใช้อยู่ในปัจจุบัน
 

การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล แบ่งเป็น 2 แบบ คือ



1. แหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดเล็ก จัดสร้างในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นแหล่งทำการประมงหน้าหมู่บ้านสำหรับชุมชนประมงขนาดเล็ก งบประมาณในการก่อสร้าง แห่งละ 3 ล้านบาท ใช้แท่งคอนกรีตขนาด 1.5 เมตร จำนวน 700 แท่ง
2. แหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ จัดสร้างในพื้นที่ 30-50 ตารางกิโลเมตร เพื่อการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ เป็นแหล่งทำการประมงสำหรับชุมชนประมงในเขตหลายตำบลติดต่อกัน งบประมาณในการก่อสร้าง แห่งละ 20 ล้านบาท ใช้แท่งคอนกรีตขนาด 1.5 เมตร จำนวน 5,400 แท่ง
    แหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ทำให้สัตว์น้ำมีโอกาสเจริญเติบโตได้นานขึ้นโดยไม่ถูกจับขึ้นมาก่อนเวลาที่ควร โดยมีที่อาศัยหลบภัยเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ สามารถรอดพ้นจากการถูกจับโดยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น อวนลาก อวนรุน หรือไม่ถูกจับคราวละมากๆ จากเครื่องมืออวนล้อมจับ

การเลือกสถานที่จัดสร้าง

 

1. มีความลึกของน้ำทะเล 6 เมตร ขึ้นไป
2. พื้นทะเลไม่เป็นโคลนเหลว ทำให้เกิดการจมตัวของวัสดุ
3. ไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วในฤดูน้ำหลาก
4. ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งมีปริมาณตะกอนแขวนลอยในน้ำมาก ทำให้ตะกอนทับถมที่ผิวของวัสดุจนสิ่งมีชีวิตประเภทเกาะติดไม่สามารถอยู่อาศัยได้
5. ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ
6. ไม่เป็นพื้นที่หวงห้ามเพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆทางทะเล เช่น เขตร่องน้ำเดินเรือ เขตจอดเรือ เขตพื้นที่ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่และแก๊สธรรมชาติ เขตสัมปทานรังนก เป็นต้น
7. ไม่เป็นพื้นที่ที่อาจกระทบต่อปัญหาความมั่นคงของประเทศ เช่นเขตทหาร พื้นที่ฝึกซ้อมทางทะเล เขตชายแดนระหว่างประเทศ เป็นต้น

ขั้นตอนการจัดสร้าง



1. เลือกสถานที่ดำเนินการ
2. กำหนดพิกัดตำแหน่งพื้นที่รวมกับชาวประมง ในพื้นที่เป้าหมาย
3. สำรวจสภาวะทางการประมง และสิ่งแวดล้อม
4. ขอความเห็นชอบพื้นที่จัดสร้างจากกองทัพเรือ และขอสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
5. ดำเนินการจัดสร้างโดยการจ้างเหมาประกวดราคา
6. ควบคุมการจัดสร้างให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด
7. ประชาสัมพันธ์พิกัดพื้นที่จัดสร้างให้ชาวประมงทราบ
8. รายงานผลการจัดสร้างให้หน่วยงานต่างๆ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3833เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2005 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท