ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

เก็บจำปาดะ..แบบระน้องระนอง


เพื่อนใหม่ชื่อวิจารณ์ หล่อเพชร

       ป้าเจี๊ยบเขียนเรื่อง "จำปาดะ...น้องฝาแฝดของขนุน"  (อ่านที่นี่) เมื่อปีที่แล้ว และมีผู้มาทักทายแสดงความคิดเห็นหลายคน

       หนึ่งในจำนวนนั้นคือ คุณวิจารณ์ ซึ่งบอกว่า "ผมมีสวนจำปาดะที่ระนอง คนที่เคยรับประทานแล้วบอกว่ารสชาติดี ถ้ามีโอกาสมาที่ระนองขอเชิญมาชิม ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม"

       หลังจากโต้ตอบกันทางบล็อก คุณวิจารณ์ก็แสดงความจริงใจโดยทิ้งเบอร์โทรศัพท์ไว้ในบันทึกนั้น

       10 กรกฏาคมปีนี้ ป้าเจี๊ยบมีโอกาสตามเพื่อนคือ รศ.ศุภานัน สิทธิเลิศไประนอง  ระหว่างที่เพื่อนไปสอนหนังสือ ป้าเจี๊ยบก็นั่งทำงานอยู่ที่โรงแรมจันทร์สมธารา นึกถึงคุณวิจารณ์ขึ้นมา จึงเปิดอินเตอร์เนตเพื่อดูเบอร์โทรศัพท์  แล้วก็ต่อสายทันที

       เสียงห้วนๆสไตล์ปักษ์ใต้รับสาย พอป้าเจี๊ยบแนะนำตัวแบบว่าท้าวความเดิมไปหนึ่งปี ก็ได้ความจากเสียงตามสายโดยสรุปว่า ปีนี้จำปาดะพันธุ์ดีให้ผลเร็ว ตอนนี้หมดแล้ว ป้าเจี๊ยบก็เลยต้องกล่าวขอบคุณและวางสาย ...ผิดหวังเล็กๆๆ

       ที่ไหนได้...  บ่ายแก่ๆ.. พนักงานโรงแรมมาเคาะประตูและยื่นโน้ตเล็กๆ เขียนว่า "เรียนป้าเจี๊ยบ  ผมมาหาป้าเจี๊ยบ รออยู่ล็อบบี้ครับ" ลงลายเซ็น แล้วก็เขียนชื่อ "วิจารณ์ หล่อเพชร" 

       คุณวิจารณ์มาพาป้าเจี๊ยบไปเที่ยวสวนค่ะ แม้ว่าจำปาดะพันธุ์ดีจะหมดรุ่นไปแล้ว แต่จะพาไปดูสวนจำปาดะที่อยู่บนภูเขา (เธอมีสวน 2 แห่ง) อาจมีเหลืออยู่บ้าง  รศ.ศุภานัน กลับมาพอดีจึงได้ไปด้วยกัน แถมมีจำปาดะทอดมาฝากป้าเจี๊ยบ 2 เม็ดด้วย (น้อยจัง)

       เราขึ้นไปบนภูเขาค่ะ ทางสุดยอด เพราะไม่มีถนนเรียบๆให้วิ่ง นั่งตัวโยนไปโยนมา พอจอดรถแล้วก็ต้องปีนเขาขึ้นไปยังต้นจำปาดะด้วย  (งานนี้เพื่อนขอนั่งรอที่รถ)

       คุณวิจารณ์ใช้มีดฟันหญ้าเดินดุ่มๆ นำทางให้ป้าเจี๊ยบเดินตามขึ้นไป  (โดยไม่สนใจว่าหญิงที่เดินตามเธอนั้นอายุแก่กว่าเธอหนึ่งรอบ!)   พอถึงต้นจำปาดะเธอก็ปีนขึ้นต้นอย่างรวดเร็ว ป้าเจี๊ยบได้แต่แหงนดูคอตั้งบ่า  คิดในใจว่า "แล้วจะตัดลงมายังไงหว่า สูงออกยังงั้น นี่อิฉันจะต้องทำหน้าที่รับลูกจำปาดะที่เธอโยนลงมาหรือเปล่านี่?"  ต้นจำปาดะที่นี่ไม่ยักกะเตี้ยเหมือนที่สตูลแฮะ

       จำปาดะต้องเก็บเมื่อผลสุกนะคะ เพราะตัดออกจากต้นแล้ว ไม่สุกต่อเหมือนขนุน ตัดมาดิบอย่างไร ก็ดิบอยู่อย่างนั้น 

        เรื่องนี้คุณวิจารณ์อธิบายให้ทราบเมื่อ ป้าเจี๊ยบสงสัยว่าทำไมมีจำปาดะถูกผ่าทิ้งไว้โคนต้น  เธอบอกว่าเป็นฝีมือขโมยค่ะ  ตัดมาแล้วพบว่ายังไม่สุก ก็ต้องทิ้ง เพราะเก็บไปบ่มเหมือนขนุนไม่ได้

       หลังจากไต่ไปกิ่งโน้นทีกิ่งนี้ทีเพื่อเลือกจำปาดะ  คุณวิจารณ์ก็ตัดผล แล้วผูกขั้วด้วยเชือกที่ถือติดมือขึ้นไป  หย่อนลงมาให้ พอถึงพื้นก็กระตุกเชือกเบาๆ  เชือกหลุดออกจากผล  แล้วดึงกลับขึ้นไปทำแบบเดิมอีก 2 ลูก (โดยป้าเจี๊ยบไม่ต้องทำหน้าที่รับลูก)

       ว้าว..ป้าเจี๊ยบทึ่งจัดเลย ผูกปมยังไงหว่า ถึงได้กระตุกทีเดียวหลุด อย่างงี้ก็เก็บผลไม้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นได้ชะงัด  คนเก็บไม่ต้องลงจากต้นเลยนิ ...สุดยอดดด..  ก็ต้องบันทึกภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นอันนี้ไว้หน่อย เผื่อเป็นประโยชน์ในภายหน้า อิ อิ อิ.. นี่ไง  

       หลังจากกลับลงมาที่รถ เราเดินต่อไปอีกนิดเพื่อเก็บสะตอ งานนี้รศ.ศุภานัน ไม่ยอมพลาด

       ระหว่างทางลงจากเขา คุณวิจารณ์แวะตัดต้นมันสำปะหลังริมทาง 2-3 ต้นใส่ท้ายรถ  พาเราไปวัดเพื่อเลี้ยงปลาค่ะ  ต้นมันที่ตัดมานั้น สำหรับให้เราเลี้ยงปลา  ส.ว. ทั้งสองเพิ่งรู้วันนี้เองว่าปลากินผักสดอย่างใบมันสำปะหลังด้วย  และคนที่เลี้ยงปลาข้างเราก็ใช้ถั่วฝักยาว 

       ก่อนจากกัน เราแวะไปกินอาหารเย็นริมทะเล บรรยากาศเยี่ยม  ขอบคุณเพื่อนใหม่สำหรับมิตรภาพและความรู้ค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 383267เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2010 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ หนูอยู่ชุมพร ค่ะ ใกล้ระนองแค่นี้เอง

คิดว่าจาปาดะ จะมีมากแถว จังหวัดสตูล ชะอีกนะค่ะ

หนูเป็นคนชอบทานจำปาดะมากค่ะ หนูว่ามันอร่อยกว่าขนุนนะค่ะ

แต่หนูไม่ค่อยชอยแบบทอดค่ะ อิจฉา ป้าเจี๊ยบ จังเลยค่ะ

มาส่งความสุขกับคนเพศเดียวกับแม่ครับ...จำปาดะน่าทานนะครับ

เคยทานหนึ่งชิ้น เละ กว่า ขนุนนิ ท่าน

ขอบคุณป้าเจี๊ยบมากครับ อยากได้มาปลูกบ้างครับ เห็นต้นแล้วสวยดี ดกจัง

สวัสดีค่ะ ป้าเจี๊ยบ

เมื่อเดือนก่อน มีงานของชาวใต้ ที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ค่ะ ได้ชิมจำปาดะทอด ค่ะซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ชิม เดินวนกลับมารอบที่ 2 ซื้อกลับมาฝากคนที่บ้านค่ะ อร่อยดี ชอบที่เม็ดของจำปาดะข้างในค่ะ

อ่านบันทึกของป้าเจี๊ยบเห็นภาพสนุกจัง  อยากไประน้อง ระนอง

ที่บ้านผม ก็มีคับ จำปาดะ อร่อยมาก หวานด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท