ใครกัน? ที่จะมายืนยันว่า ลูกอีก 4 คนของป้าสันเกิดที่อ.ไทรโยคจริง : บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิด: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 2


“ว่าไม๊ ..ถ้าป้าแกอยู่กับที่ ไม่ย้ายไปไหน ป่านนี้ลูกๆ แกน่าจะได้บัตรเหมือนฉันไปแล้วนะ” วรรณาพูดด้วยน้ำเสียงเห็นใจครอบครัวป้าสันที ประโยคสุดท้าย พวกเราได้ยินกันหลายรอบ และป้าสันทีคงได้ยินมากกว่าพวกเราหลายสิบเท่า (บางครั้งได้ยินจากน้ำเสียงตัดพ้อจากลูกบางคน) ป้าสันทีบอกว่า “ฉันต้องไปหางานทำ ฉันก็ไม่มีกิน ลูกๆ ฉัน ก็อดตาย ฉันไม่รู้หรอกว่ามันจะยุ่งยากแบบนี้ ป้าไม่อยากให้ลูกๆ อด ไม่มีกิน”

ใครกัน? ที่จะมายืนยันว่า ลูกอีก 4 คนของป้าสันเกิดที่อำเภอไทรโยคจริง

บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า ครบขั้นตอนและถูกต้อง : กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 2

โดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล[1]
อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
8 สิงหาคม 2553

หลังจากที่คณะทำงานสามารถจดทะเบียนการเกิดขั้นตอนแรก หรือการขอเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ย้อนหลังจากโรงพยาบาลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ให้กับบุญชัย-ลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวป้าสันทีได้สำเร็จ[2] ทำให้พวกเรามั่นใจมากขึ้นกับภารกิจต่อไป นั่นคือ การลงพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เพื่อสอบข้อเท็จจริงและพยานในวันรุ่งขึ้น เพื่อระบุตัวพยานที่จะยืนยันว่าลูกอีก 4 คนของป้าสันที คือ ปัจรา อำพล และอดุลย์นั้นเกิดที่บ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จริง เพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนการเกิดคนทั้ง 4 ต่อไป

พยานบุคคลเท่าที่เรามีอยู่

 “ถ้าป้าแกอยู่กับที่ ไม่ย้ายไปไหนต่อไหน ป่านนี้ลูกๆ แกก็มีบัตรไปแล้ว ดีไม่ดี อาจจะได้บัตรไทยไปแล้วด้วยซ้ำ”

ประโยคสนทนาเชิงให้ความเห็นข้างต้นนี้เป็นของชาวบ้านหลายคนที่บ้าน “ฝั่งมอญ” หรือบ้านหม่องสะเทอ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ที่คณะทำงาน[3]  ลงไปสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำพยานที่จะมารับรองการเกิดของลูกๆ อีก 5 คนของป้าสันที[4] ..แม้จะเป็นประโยคที่เรียกรอยยิ้มของคณะทำงาน แต่ถ้าย้อนนึกถึงเรื่องราว (ที่ต้องค่อยๆ ปะติดปะต่อ) ของครอบครัวป้าสันทีแล้ว ก็พูดได้ว่า การเดินนำครอบครัวย้ายบ้านไปตามที่ต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อปากท้องของลูกๆ


จากคำบอกเล่า (ที่ไม่ปะติดปะต่อเท่าไรนัก) ของป้าสันที เธอเป็นคนมอญ เมื่อพ่อเสียชีวิต แม่เลี้ยงและน้องชายก็เดินทางเข้ามายังประเทศไทย สองปีต่อมาแม่เลี้ยงของเธอก็ให้น้องชายมารับ ปลายทางของการจากบ้านครั้งแรก ก็คือบ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ป้าสันทีและพยานบุคคลหลายคนเล่าเรื่องตรงกันว่า เวลานั้นคนมอญที่อพยพจากพม่า นอกจากจะไปตั้งรกรากแถวบ้านวังกะ เพื่ออยู่ใกล้กับวัดหลวงพ่ออุตตมะ[5] ชาวมอญจำนวนไม่น้อยก็เลือกไปตั้งรกรากที่บ้านทุ่งก้างย่าง

ป้าสันที รวมถึงชาวบ้านที่บ้านทุ่งก้างย่างทำงานรับจ้างปลูกฝ้าย ในพื้นที่ของนายทุนที่ชื่อนายพายัพ ร่วม 2 ปีต่อมาป้าสันทีก็อยู่กินกับนายสอน ต่อมาป้าสันทีและลุงสอนพอเก็บเงินได้ ก็เปิดร้านขายของเล็กๆ  มีลูกด้วยกัน 8 คน (แต่มีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน 5 คน)
มีเพียงบุญชัยซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องที่คลอดที่โรงพยาบาลท่าเรือ[6] ส่วนลูกคนอื่นๆ ทุกคน ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็คือ ปัจรา อำพล อดุลย์ และชาญชัย โดยมีพยานรู้เห็นการเกิดของลูกคือหมอตำแย และเพื่อนบ้านที่เคยผ่านการมีลูกที่มาช่วยหมอตำแยทำคลอด

ป้าและครอบครัวอพยพออกจากบ้านทุ่งก้างย่าง เพราะทหารสั่งให้คนมอญอพยพออกจากที่นั่น ป้าสันทีจึงย้ายออกไปเปิดร้านขายของอยู่แถวด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็ย้ายมาที่บ้านหม่องสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี อยู่ได้ “สักพัก” ก็ย้ายกลับไปที่อำเภอไทรโยค และย้ายบ้านอยู่ภายในอำเภอไทรโยค จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการและอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ป้าสันทียืนยันว่าเพื่อนบ้านที่เห็นเธอท้องและคลอดลูกทั้ง 4 ที่บ้านทุ่งก้างย่างนั้น ยังมีชีวิตอยู่ คณะทำงานภายใต้อนุกรรมการฯ อีกชุดก่อนหน้า ได้สอบปากและบันทึกปากคำพยานไว้แล้ว รวม 6 ราย คือ นางตี, นายแจ้ง, นายปี, นายติน, นางมิตร และนางชินโท โดยทุกคนยังคงอาศัยอยู่แถวบ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค[7] ส่วนอีก 2 คนเป็นพยานที่อ้างเพื่อยืนยันว่า รู้เห็นการมาสร้างบ้านของครอบครัวป้าสันทีที่บ้านมองสะเทอ ในช่วงปี 2526-2527 ที่เปิดรับคนมอญจำนวนหนึ่งที่หนีน้ำท่วมจากบ้านวังกะเดิม ได้แก่นางวุ๊ด และนางระย้า

มีข้อสังเกตว่า พยาน 8 คนที่ครอบครัวป้าสันทีอ้างมานั้น หลายคนถือถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย กลุ่มผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า, กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า ขณะที่บางคนถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ขณะที่คนไทยอีก 5 คนที่ครอบครัวป้าสันทีอ้างเป็นพยานเหมือนกัน ป้าสันทีบอกว่าไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ดีป้าสันทีจะอ้างรายชื่อของทั้ง 13 คนนี้ในฐานะพยานบุคคล

ครอบครัวป้าสันทีเคยมีบ้านอยู่ที่นี่ ..ริมถนนสายห้วยมาลัย-สังขละ

ฝนรินตลอดทางห้วยมาลัย-สังขละ เมื่อถึงบ้านหม่องสะเทอ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี บ้านแรกที่พวกเราไปเยี่ยม คือบ้านป้าวุ๊ด ซึ่งเปิดร้านขายของอยู่ริมถนนสายห้วยมาลัย-สังขละ ป้าวุ๊ดรู้เห็นการเข้ามาตั้งบ้านเรือนของครอบครัวป้าสันทีที่นี่ เพราะป้าสันทีสร้างบ้านถัดจากบ้านเธอไปเล็กน้อย และระหว่างบ้านของป้าสันทีและบ้านของป้าวุ๊ด ก็เป็นบ้านลุงซวย

สักพักลุงซวย ก็เดินข้ามถนนจากฝั่งตรงข้ามมาสมทบ คณะทำงานเดินออกไปที่ถนนสายห้วยมาลัย-สังขละ ตามลุงซวย ไปชี้จุดที่เคยเป็นบ้านของป้าสันทีและลุงซวย

ลุงซวยเล่าว่า ย้ายมาจากบ้านวังกะ ตอนที่น้ำท่วม แล้วก็มาสร้างบ้านอยู่ข้างบ้านป้าวุ๊ด หลังจากนั้นป้าสันทีและครอบครัวก็มาปลูกบ้านอยู่ข้างๆ ทั้งป้าวุ๊ดและลุงซวยจำไม่ได้แน่ชัดว่าครอบครัวป้าสันทีย้ายเข้ามาเมื่อไรหรือปีพ.ศ.ไหน จำได้แต่ว่ามันเป็นบ้านหลังเล็กๆ ป้าสันทีและครอบครัวทำงานรับจ้าง อยู่ได้ประมาณปี-สองปี เมื่อลุงสอน สามีของป้าสันทีเสียชีวิต ทั้งครอบครัวก็ย้ายออกไป และลุงซวย ก็ย้ายบ้านไปอยู่อีกฝั่งของถนน ลึกเข้าไปในถนนเล็กๆ

หลังจากนั้น พวกเราก็ข้ามถนนกลับไปพร้อมลุงซวย เพื่อไปสอบและบันทึกปากคำป้าระย้า และลูกสาว

ตามหา ‘พยานที่น่าเชื่อถือ’

จากรายชื่อพยานและสถานะบุคคลของพยาน มีคำถามในใจเกิดขึ้นต่อ “พยานที่น่าเชื่อถือ” แน่นอน-เราไม่สามารถตัดพยานออกไป (หรือไม่รับฟังพยานปากใดปากหนึ่ง) ด้วยเหตุผลที่ว่า “พยานไม่ใช่คนไทย” แต่ความรู้สึกบางอย่างบอกว่ามันน่าจะต้องเติมอะไรด้วยอีกสักหน่อย

ฉัน
ถามน้องที่มาช่วยเป็นล่ามตอนคุยกับลุงซวยว่า ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนที่บ้านหม่องสะเทอ รู้จักครอบครัวป้าสันทีหรือเปล่า รวมถึงรู้จักป้าวุ๊ด ลุงซวยและป้าระย้ามากน้อยแค่ไหน ล่ามของเราไม่แน่ใจ ฉันขอให้ล่ามพาไปหาผู้ใหญ่บ้าน บรีซตามมาด้วย

บ้านนั้นอยู่ข้างบ้านป้าระย้า และเราเจอผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อแนะนำตัว เขาบอกว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เขาไม่ได้เป็นคนพื้นเพที่บ้านหม่องสะเทอ ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนใหม่เพิ่งรับตำแหน่งได้สอง-สามเดือน เป็นผู้หญิง จะรู้จักกับครอบครัวป้าสันทีหรือไม่ เขาไม่แน่ใจ ส่วนผู้นำชุมชนนั้นเป็นคนอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอมานาน บ้านนี้-ต้องข้ามถนนไป เข้าไปในซอยที่ติดกับบ้านป้าวุ๊ด ไม่ลึก-เดินได้-และเขาน่าจะอยู่บ้าน

ฉันกับบรีซตกลงใจลองไปหาดู ตอนแรกเรานั่งรถตู้ของกสม. แต่พอเริ่มลึกเข้าไป ซอยเริ่มมีทางแยกเป็นซอยเล็กๆ ทั้งฝั่งซ้ายและขวา เราจึงลงรถ ใช้วิธีเดินถามชาวบ้านเอา บางบ้านมีเด็กวัยรุ่นแต่งตัวแนวๆ อยู่ แต่บอก “ไม่รู้จัก”แดดแรง เหงื่อเริ่มท่วมตัว ฉันเริ่มถอดใจ บรีซบอกว่า ขอลองอีกบ้านหนึ่ง เขาเดินนำไปข้างหน้า สักพักก็กลับมาบอกว่า เราเดินเลยมา ต้องเดินกลับไปแล้วเลี้ยวซอยแรก บ้านเป็นร้านขายของ

รถยนต์ตามเราสองคน ไปจนถึงประมาณกลางซอยเล็กๆ แล้วเราก็เจอร้านขายของจริงๆ

มีผู้หญิงสองคนอยู่ในร้าน ฉันและบรีซบอกว่า จะมาหาผู้นำชุมชน หญิงสาวบอกว่า ผู้นำชุมชนเป็นสามีเธอ และไปข้างนอก สักพักน่าจะกลับมา เราขอนั่งรอ และชี้แจงว่าอยากสอบถามว่าผู้นำชุมชนรู้จัก “ครอบครัวป้าสันที” ที่ย้ายมาจากทุ่งก้างย่าง หรือเปล่า

หญิงที่ดูสูงวัยกว่า บอกว่า “ถามฉันก่อนก็ได้ ฉันก็ย้ายมาจากทุ่งก้างย่าง”

เราย้อนความเรื่องให้เธอเล็กน้อยว่า ป้าสันทีเคยเปิดร้านขายของที่บ้านทุ่งก้างย่าง มีลูก 5-6 คนแล้วก็เคยย้ายมาอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอ หญิงสาวบอกว่า “เอ.. คุ้นๆ นะ ที่มีลูกสาวด้วยหรือเปล่า ชื่อ “มี” หรือเปล่า”

ครอบครัวป้าสันที กับการให้ถ้อยคำจากความทรงจำของ ‘นางวรรณาและนายเสวก’

          วรรณา เป็นลูกสาวของคนมอญ เกิดที่บ้านทุ่งก้างย่าง อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2511 ส่วนพ่อและแม่เกิดที่พม่า ตั้งแต่จำความได้เธอเห็นป้าสันทีในฐานะเจ้าของ “ร้านขายของใหญ่โต” แต่ไม่มีชื่อร้าน เธอจำ “บุญมี” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นปัจจรา) ได้ เพราะเป็นรุ่นน้องที่โรงเรียนทุ่งก้างย่าง

ประมาณปี 2527 ทหารขอให้ชาวมอญหรือคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอพยพย้ายออกไปจากบ้านทุ่งก้างย่าง เธอและสามีคือนายเสวก จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านวังกะซึ่งเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ใน อำเภอสังขละบุรี ต่อมาเกิดน้ำท่วม ชาวมอญส่วนหนึ่งรวมถึงครอบครัวเธอจึงย้ายมาสร้างบ้านที่บ้านหม่องสะเทอ

          หลังจากน้ำท่วม ประมาณหนึ่งปี วรรณาก็ได้พบกับครอบครัวป้าสันที “เจอ ป้าแก นางมี, อำพล แล้วก็ฮะเล (นายอดุลย์) ย้ายมาอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอ เขาสร้างบ้านอยู่กันที่ริมถนนใหญ่โน่น อยู่ข้างบ้านลุงชู (ชื่อตามบัตรคือ นายซวย) กับป้าวุ๊ด”

          “ตอนนั้นก็ถามเขาว่าเขาไปอยู่ไหนมา แกบอกว่าไปอยู่ด่านเจดีย์ (สามองค์)”

          คุยกันได้สักพัก สามีของวรรณาก็กลับมาถึงบ้าน

          เราชี้แจงว่า มาเพื่อเสาะหาพยานที่สามารถยืนยันได้ว่า ป้าสันทีเคยอยู่ที่บ้านทุ่งก้างย่าง ลูกๆ ของป้าก็เกิดที่นั่น และป้าสันทีและครอบครัวเคยย้ายมาที่บ้านหม่องสะเทอ

          วรรณา หันไปเล่าเรื่องที่เพิ่งคุยกันไปให้สามีฟัง นายเสวกบอกว่า “คุ้นๆ”

           ประมาณปี 2524 นายเสวก ซึ่งเป็นคนไทยได้เดินทางไปบ้านทุ่งก้างย่างเพื่อหางานทำ เขารู้จักกับป้าสันทีในฐานะเจ้าของร้านขายของ ต่อมานายเสวกได้อยู่กินกับนางวรรณา นายเสวกจำได้ว่า “แกมีลูกเยอะ”

ต่อมาประมาณปี 2526 นายเสวกและนางวรรณาย้ายออกจากบ้านทุ่งก้างย่าง เพราะมีการไล่ที่ เขาและครอบครัวจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านวังกะ ประมาณปี 2527 เกิดน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อน จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอ ตอนแรกเปิดร้านขายของและรับจ้างรับ-ส่งนักเรียน นายเสวกเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นกรรมการหมู่บ้าน และผู้ใหญ่บ้านเพิ่งแต่งตั้งให้เป็นผู้นำชุมชนบ้านหม่องสะเทอ เมื่อเดือนที่ผ่านมา

          วรรณา เสริมว่า “ตอนผู้ไหญ่บ้าน ชื่อ ชาย นามสกุลอะไรไม่รู้ เรียกไปทำประวัติ ถ่ายรูป ก็ยังเจอกันอยู่เลยที่วัด”

          แต่ทั้งเสวกและวรรณา จำไม่ได้แน่ชัดว่าป้าสันทีและครอบครัวอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอ นานแค่ไหน จำได้แค่ว่า “พอผัวแกเสีย แกก็ย้ายออกไป ตอนงานศพผัวแก ฉันยังไปช่วยงานอยู่เลย”

          “ถ้าเจอกันอีก จะจำได้ไหม?”

          วรรณา หัวเราะแล้วพูดว่า “ไม่รู้เหมือนกันนะ”

           เราตัดสินใจนั่งรถออกมาตามครอบครัวป้าสันที แล้วกลับมาที่บ้านของเสวกและวรรณาอีกครั้ง

          เจอกันอีกครั้ง-ทั้งสองฝ่ายนิ่งกันไปครู่ แล้วก็ส่งเสียงทักทายกัน วรรณาจำป้าสันที ได้ เมื่อถามวรรณาว่า ปัจจรา ชื่ออะไร วรรณาตอบว่า “มันชื่อ บุญมี”  นอกจากนี้ วรรณายังจำฮะเล (อดุลย์) ได้ ส่วนนายเสวกบอกว่าจำป้าสันทีได้ และรู้สึกคุ้นๆ ลูกๆ ของป้าสันที

          เมื่อได้นั่งคุยกัน วรรณาบอกว่าหลังจากครอบครัวป้าสันทีย้ายออกไปจากบ้านหม่องสะเทอ วรรณาได้เจอกับป้าสันทีอีกครั้ง เมื่อตอนที่เธอและสามีไปเยี่ยมญาติที่บ้านท่าทุ่งนา ที่อำเภอไทรโยค แล้วเจอป้าสันที ตอนนั้นป้าสันทีตอบเธอว่า พอย้ายออกจากหม่องสะเทอก็ไปอยู่แถวท่าเตียน อำเภอไทรโยค

        นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้พบกัน จนถึงวันนี้

        หลังจากทักทายกันเสร็จ เราขอให้ครอบครัวป้าสันทีกลับไปที่จุดนัดพบก่อน

หลังจากนั้นเราถามถึงความสมัครใจของเสวกและวรรณาว่า ทั้งคู่จะยินดีเป็นพยานรับรองว่ารู้เห็นการอาศัยอยู่ของป้าสันทีและสามีที่บ้านทุ่งก้างย่าง รับรองว่าลูกของป้าสันทีคือ บุญมี อำพล อดุลย์ เกิดที่บ้านทุ่งก้างย่าง (ไม่แน่ใจว่ารู้เห็นการเกิดของบุญชัย) ตลอดจนครอบครัวป้าสันทีเคยย้ายมาอยู่ที่บ้านหม่องสะเทอ หรือไม่ ทั้งคู่ตอบตกลง และได้ให้บันทึกการให้ถ้อยคำไว้[8]

          ก่อนกลับเราถามหาพยานคนอื่นๆ อีก วรรณานึกถึง “ครูอรุณ” ที่เป็นครูใหญ่โรงเรียนทุ่งก้างย่าง และปัจจุบันได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่พัฒนา ที่ห่างจากบ้านหม่องสะเทอออกไปไม่เท่าไร

“ว่าไม๊ ..ถ้าป้าแกอยู่กับที่ ไม่ย้ายไปไหน ป่านนี้ลูกๆ แกน่าจะได้บัตรเหมือนฉันไปแล้วนะ”

          วรรณาพูดด้วยน้ำเสียงเห็นใจครอบครัวป้าสันที

          ประโยคสุดท้าย เราได้ยินกันหลายรอบ และป้าสันทีคงได้ยินมากกว่าพวกเราหลายสิบเท่า (บางครั้งได้ยินจากน้ำเสียงตัดพ้อจากลูกบางคน) ป้าสันทีบอกว่า “ฉันต้องไปหางานทำ ฉันก็ไม่มีกิน ลูกๆ ฉัน ก็อดตาย ฉันไม่รู้หรอกว่ามันจะยุ่งยากแบบนี้ ป้าไม่อยากให้ลูกๆ อด ไม่มีกิน”

ฉันว่าพวกเราทุกคนเข้าใจได้ถึงเหตุผลป้าสันที ..และมันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราต้องมาที่นี่ ตอนนี้เราได้พยานยืนยันว่าครอบครัวป้าสันทีเคยอยู่ที่ทุ่งก้างย่างจริง และเคยย้ายมาที่บ้านหม่องสะเทอหลังประมาณปี 2527 จริง และได้รับการบันทึกทะเบียนและจัดทำสำมะโนครัวพร้อมๆ กับหลายครอบครัวที่บ้านหม่องสะเทอจริง

แต่เรายังไม่มีพยานบุคคลที่รู้เห็นชัดๆ ถึงการเกิดของ ปัจจรา (หรือบุญมี) อำพล อดุลย์ และชาญชัย

สำหรับวรรณา ที่มีอายุไล่เลี่ยกับลูกๆ ของป้าสันทีทุกคน และหากจะโต้แย้งให้ถึงที่สุด  วรรณาอาจใช้เป็นพยานบุคคลเพื่อยืนยันการเกิดของลูกป้าสันทีไม่ได้ โดยเฉพาะการยืนยันการเกิดของปัจรา

เราน่าจะหาพยานบุคคลเพิ่มอีก !

 


[1] อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT)

[2] อ่าน ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, “ย้อนเวลา 29 ปี เพื่อตามหาเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้บุญชัย: บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 1, วันที่ 6 สิงหาคม 2553,

http://gotoknow.org/blog/darunee-universal-birth-km-4-registration/383097

[3] คณะทำงานโครงการพัฒนาต้นแบบการพิสูจน์สถานะบุคคลที่ตกหล่นจากการพิสูจน์สัญชาติพม่า กรณีนางสันทีและครอบครัว  ภายใต้อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพ และชนพื้นเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประกอบไปด้วย (1) กิติวรญา รัตนมณี (ไหม) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, (2) ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักกฎหมาย (ด๋าว) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT) ในฐานะอนุกรรมการฯ, (3) วัฒชนะ วงศ์สินนาค (บรีซ) เจ้าหน้าที่ กสม. (4) พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (เชอรี่) นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ฝึกงานโครงการบางกอกคลินิค และ (5) กรกนก  วัฒนภูมิ (ชมพู่) นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ(SWIT)

[4] รายละเอียดของป้าสันทีและครอบครัว สืบค้นได้ที่ ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง http://gotoknow.org/blog/chonthesis-unidentifiedperson/184338, กิติวรญา รัตนมณี และปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว  http://gotoknow.org/blog/h4s/325277 และ http://gotoknow.org/blog/h4s/325663

[5] วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งอยู่ที่สามประสบ (จุดบรรจบของแม่น้ำซองกาเลีย บิคลี่ และรันตี)  อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาเมื่อมีการกักเก็บน้ำของเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ์ท่วมในปี 2527 ทำให้น้ำท่วมตัวอำเภอและชุมชนมอญทั้งอำเภอ วัดและชุมชนมอญจึงย้ายมามาตั้ง ณ ที่ปัจจุบัน คือตำบลหนองลูก ซึ่งอยู่ในอำเภอสังขละบุรี

[6] ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล “ย้อนเวลา 29 ปี เพื่อตามหาเอกสารรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ให้บุญชัย: บันทึกการทำงานเพื่อการจดทะเบียนการเกิดถ้วนหน้า: กรณีครอบครัวป้าสันที ตอน 1” วันที่ 6 สิงหาคม 2553

[7] สอบและบันทึกปากคำ โดย กิติวรญา รัตนมณี โครงการบางกอกคลินิก ในฐานะอนุกรรมการฯ กสม. สอบและบันทึกปากคำ

[8] บันทึกการให้ถ้อยคำ ของนายเสวก วงษ์ขวัญเมืองและนางวรรณา วิภาสวี สอบและบันทึกปากคำโดย ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 383163เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 10:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่ด๋าว

จัดตัวอักษรใหม่ดีกว่าครับ อ่านยากต้องเลื่อนไปเลื่อนมา

ขอบคุณหลายเด้อค่า

เอ เพ้งคะ พี่เปิดโดยใช้ google chrom แล้ว บ่ มีปัญหาเด้อค่า (เลยแก้ ไมดถูกเลยว่า มันเลือ่นยังไง)

เดี๋ยวลองเชค โดยใช้เครื่องอื่น (brower) อื่นก่อน

อย่างไรก็ดี ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท