บทเรียนจากผู้ป่วย :ภัยร้ายของยาลดความอ้วน


ผู้ป่วยจิตเวช ยาลดความอ้วน

บทเรียนจากผู้ป่วย :ภัยร้ายของยาลดความอ้วน

วันนี้ขอทำหน้าที่พยาบาลจิตเวชให้สมกับชื่อบล็อกซักหน่อย ขออนุญาตนำประสบการณ์ที่ได้ดูแลผู้ป่วยมาเล่าสู่กันฟัง  เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจแก่ผู้ที่กำลังรับประทานหรือผู้ที่คิดอยากใช้ยาลดความอ้วนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

 เรื่องมีอยู่ว่า  มีผู้ป่วยหญิงมารับการรักษาด้วยอาการทางจิต คือ มีอาการหวาดระแวงคิดว่ามีคนจะมาทำร้ายตนเองและคนในครอบครัว  มีหูแว่วได้ยินเสียงคนพูดคุยกัน  คิดว่ามีคนติดตาม  มีกล้องสอดส่องและคิดว่าตนเองสื่อกระแสจิตกับคนอื่นได้ อาการเริ่มเป็นได้ 6 เดือน  แพทย์ซักประวัติพบว่าผู้ป่วยใช้ยาลดความอ้วนมาตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยซื้อตามคลินิกแพทย์ ต่อมาสั่งซื้อทางอินเตอร์เนต  (ดังรูป)

 แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นโรคจิตจากการใช้สารเสพติด ( Substance  induce Psychosis)

จากที่ได้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ :ผู้ป่วยจะเป็นคนโครงร่างใหญ่ รูปร่างสูงประมาณ 170 เซนติเมตร   และไม่ได้อ้วนอย่างที่ผู้ป่วยคิดเลย   แต่สาเหตุที่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาลดความอ้วน เนื่องจากคนในครอบครัวทักว่าอ้วน ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในรูปร่างตนเอง  ไม่กล้าพบหน้าคนอื่น จึงอยากผอม แต่ไม่สามารถควบคุมการกินอาหารได้ จึงต้องอาศัยยาลดความอ้วนช่วย เพราะเชื่อว่ายาลดความอ้วนจะช่วยให้ผอมได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด  เพราะยาลดความอ้วนจะมีอนุพันธ์ของยาบ้าทำให้มีโอกาสเป็นโรคจิตได้ และที่อันตรายที่สุดคือทำให้หัวใจวายตายได้  ซึ่งจะมีข่าวในโทรทัศน์บ่อย  จริงๆแล้วการที่คนเราจะผอมหรืออ้วน ขึ้นกับ 2 พ คือ

พ ที่1 คือ พันธุกรรม   กล่าวคือ คนที่มีพ่อแม่อ้วนโอกาสจะอ้วนง่ายกว่าที่พ่อแม่ไม่อ้วน

พ ที่ 2 คือ พฤติกรรม   กล่าวคือ คนที่ชอบกินจุบกินจิบ  ชอบกินขนมหวานและไม่ชอบออกกำลังกายจะมีโอกาสอ้วนง่ายกว่าคนที่กินอาหารเป็นเวลา ไม่กินหวานมากและชอบออกกำลังกาย

 ซึ่งสาเหตุของผู้ป่วยรายนี้ถึงแม้พันธุกรรมจะไม่อ้วน แต่มีพฤติกรรมเหมือน พ ที่ 2   นอกจากนี้การที่ถูกคนใกล้ชิดทักว่าอ้วน ทำให้ผู้ป่วยเสียความสมดุลระหว่าง Real กับ Image ผู้ป่วยจึงคิดว่าตนเองอ้วน ทั้งที่จริงไม่ได้อ้วนเลย

การพยาบาลที่ให้

1.รักษาด้วยยาต้านโรคจิต

2.สอนจิตศึกษา ดังนี้

   -บอกให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าการเจ็บเกิดจากการใช้ยาลดความ  ซึ่งช่วงแรกผู้ป่วยไม่ยอมรับ คิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อได้รับข้อมูลบ่อยๆผู้ป่วยก็ยอมรับ

   -แนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน  งดขนม รับประทานผลไม้ และออกกำลังกาย

   -สอนให้ผู้ป่วยยอมรับรูปร่างตนเองตามความเป็นจริง

   -แนะนำญาติไม่ให้ทักว่าผู้ป่วยอ้วน แต่ควรให้กำลังใจ

   -บอกอันตรายและส่วนประกอบของยาลดความอ้วนให้ผู้ป่วยรับรู้

    ตลอดระยะ  2 สัปดาห์ที่ผู้ป่วยอยู่รักษาผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและยอมรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง

 ข้อคิดที่ได้จากผู้ป่วย     ไม่มีตัวช่วยอะไรจะช่วยให้เราผอมได้ นอกจากตัวเราเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 382142เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2010 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับ
  • บรรยายเห็นภาพได้ชัดเจนเลยครับ ปัญหาเรื่องความอ้วนถือเป็นปัญหาทางใจโดยเฉพาะคุณผู้หญิงครับ ทักอะไรก็ทักไป แต่ทักว่าแก่ ว่าอ้วนนี่ รับไม่ค่อยไหว แต่ถ้าแก้ไขผิดวิธีเช่น ใช้ยาลดความอ้วนก็อาจจะเสี่ยงอันตรายสักหน่อย
  • มีคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากมายที่ใช้วิธีซื้อยามากินเพื่อลดความอ้วน อ่านบันทึกนี้แล้วคงต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นตามที่บอกมาแล้วหละครับ 
  • ไม่อยากให้อ้วน คือ เข้าเท่ากับออก ไม่ใช้พลังงานมากก็อย่ากินมาก กระเพาะไม่ทำงานหนักแถมประหยัดเงินซื้อของกินด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท