ผู้ใหญ่ให้กำลังใจ เหมือนให้น้ำทิพย์


การให้กำลังใจแก่คนทำงาน ถือเป็นน้ำทิพย์ชูกำลังชั้นดีสำหรับคนทำงาน

วันนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 8 สองหน ปีขาล วันที่ 5 สิงหาคม 2553 เวลา 07.30 - 10.00 น. ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมจัดการประชุมและรับฟังข้อเสนอแนะของท่านผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เรื่อง การปฏิรูปอุดมศึกษารอบสอง ในฐานะสมาชิกของกลุ่มงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งมี ผอ.สมศักดิ์ ตันติแพทยางกูร กำกับดูแลอยู่

การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมได้พิจารณา ประเด็น "โครงสร้างพื้นฐานของวิชาการสายรับใช้สังคมเพื่อแก้วิกฤตชาติ" ซึ่งท่านประธาน กกอ. คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้เมตตาบรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟัง ซึ่งท่านไฝ่ฝันมากว่า 10 ปีแล้วที่จะให้นักวิชาการรับใช้สังคมไทยอย่างแท้จริง มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะจำนวน 11 ท่าน ด้วยหวังที่จะช่วยกันผลักดันให้อุดมศึกษาไทยช่วยแก้ปัญหาวิกฤตชาติอีกทางหนึ่งด้วย

รายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมประชุมให้ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) นายศุภชัย พงศ์ภคเธียร 2) ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช 3) ดร.สีลาภรณ์  บัวสาย 4)ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ 5) รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภวัลย์ พลายน้อย 6) ศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ 7) ดร.เพชรา พิพัฒน์สันติกุล 8) ดร.นงเยาว์ เปรมกมลเนตร 9) นางสาวอมรา รสสุข 10) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ดร.สุเมธ แย้มนุ่น) และ 11) รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล)

ในภาพรวมของการประชุมวันนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านล้วนได้แสดงความเห็นด้วยกับท่านประธาน กกอ.ในการนำผลงานการวิจัยมารับใช้สังคม/ชุมชน เพื่อให้มีการอนุรักษ์ของดีที่มีอยู่และพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมของดีสิ่งใหม่ๆ พร้อมกันไปด้วย อีกทั้งจะช่วยให้ภูมิปัญญาของคนไทยพัฒนาก้าวไกลเข้าสู่การเป็นภูมิปัญญาในระดับนานาชาติอีกด้วย หลายท่านได้ยกกรณีตัวอย่างผลงานวิจัยในชุมชนที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จมานำเสนอประกอบด้วย บางท่านก็ยกประเด็นปัญหาของการวิจัยและผลการวิจัยขึ้นมานำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมหาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาด้วย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ทุกข้อเสนอแนะ/ปัญหา ที่ผู้ทรงคุณวุฒิได้กรุณานำเสนอในวันนี้ น่าจะได้รับการสนองตอบอย่างดีจากผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงนำไปสู่การปฏิบัติ แก้ไข พัฒนา และสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่องต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของ สกอ.คือ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ดร.สุเมธ แย้มนุ่น) ท่านคงจะดีใจและยินดีอย่างยิ่งที่จะรับดำเนินการนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป

การประชุมในครั้งนี้ หากนำข้อเสนอจากผู้ทรงคุณวุฒิไปสู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังแล้ว ก็นับเป็นโอกาสดีและเป็นผลดีอย่างยิ่งสำหรับนักวิชาการไทยในสายปฏิบัติที่ลงมือไปทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำเพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชน เพราะ issue หลักสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การทำผลงานตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น ผศ., รศ., หรือ ศ. จะมีการสร้างหลักเกณฑ์การทำผลงานทางวิชาการ โดยนับเอาผลงานในเชิงที่เห็นประจักษ์เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม/ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการด้วย โดย สกอ.จะเป็นหน่วยแม่งานหลักในการพิจารณาดำเนินการ ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าน่าจะอีกไม่ช้าไม่นานจะเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อวันนั้นมาถึงนักวิชาการไทยน่าจะมีความหลากหลายมาก มีทั้งนักปฏิบัติ นักเขียน ฯลฯ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนและสังคมไทยให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง สัมผัสได้ กินได้ ทำประโยชน์ได้ แต่บางท่านก็ยังมีข้อกังวลอยู่ว่าอาจจะมีการแบ่งเกรดของนักวิชาการบ้าง เช่น นักวิจัยบ้านนอก นักวิจัยเมือง นักวิจัยระดับประเทศหรือนานาชาติ เป็นต้น ตัวอย่างอันนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนเองไม่เกี่ยวข้องกับที่ประชุมดังกล่าว ซึ่งประเด็นข้อกังวลดังกล่าวมานี้ไม่น่าจะเป็นอุสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่เรื่องนี้ดูเหมือนว่าเวลาพูดคุยกันแล้วดูจะง่ายๆ แต่การลงมือปฏิบัติจริงๆ ยากครับ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า สกอ.จะสานฝันของท่านประธาน กกอ.ให้เป็นจริงได้อย่างแน่นอน

การประชุมครั้งนี้ ก่อนจบการประชุม ท่านประธาน กกอ.ได้นำในการปรบมือให้กำลังใจท่านอาจารย์ศุภชัย พงศ์ภคเธียร อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์) ซึ่งขณะนี้ได้ย้ายไปทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์) ที่เป็นผู้ริเริ่มประสานให้เกิดการประชุมในวงนี้ขึ้น แม้จะยังไปทำหน้าที่ในกระทรวงอื่น แต่ก็ยังเสียสละเวลาให้กับวงประชุมนี้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอดมา จึงเป็นผู้ควรค่ากับเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ศุภชัย พงศ์ภคเธียร ท่านคงจะดีใจเหมือนกับได้น้ำทิพย์ให้ช่วยมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานเพื่อชาติต่อไป

กล่าวถึงวงประชุมดังกล่าวนี้ เป็นการเชื่อมประสานกันระหว่างฝ่ายการเมืองผู้ทำหน้าที่ในการบริหารในระดับกระทรวงกับฝ่ายข้าราชการประจำให้เกิดการเชื่อมโยงกันกับทุกภาคส่วนได้เข้ามาทำงานช่วยกันอย่างสอดคล้อง โดยได้กำหนดวันประชุมในทุกวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน เวลา 07.30 - 09.30 น. โดยเริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2552 ในปี 2552 มีการประชุมรวมจำนวน 9 ครั้ง และ ปี 2553 มีการประชุมแล้วนับครั้งนี้ด้วยรวมจำนวน 7 ครั้ง การประชุมแต่ละครั้งจะมีผู้ทรงคุณวุฒิผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมานำเสนอแนะในเชิงนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อหวังจะให้เกิดการปฏิรูปอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม 

เดิมที การประชุมในวงนี้ สกอ.ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหลักๆ ประจำอยู่ 5 ท่าน ประกอบด้วย นายศุภชัย พงศ์ภคเธียร, ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช, รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ, ดร.กฤษณพงศ์  กีรติกร และดร.สีลาภรณ์  บัวสาย และผู้บริหาร สกอ.จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย ท่านเลขาฯ, ท่านรองเลขาฯทั้ง 3 ท่าน, ผอ.สนผ., ผอ.สมอ., ผอ.สพน. และผอ.สพบ ต่อมาก็เชิญ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ และ ผศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร เพิ่มเติมด้วย และมีการหมุนเวียนเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานสำคัญต่างๆ เข้ามาให้ข้อเสนอแนะ ทำให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ หลากหลาย อันจะก่อประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ที่ได้ประสบ พบ เจอ ครับ คนไทยต้องให้กำลังใจและสนับสนุนคนไทยด้วยกันครับ "คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า" ซะงั้น อิอิ

ขอบคุณครับ

ทีโกสรัมย์

5 ส.ค.53

หมายเลขบันทึก: 381994เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2010 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คนไทยค่ะ...(รายงานตัว)เลยต้องมาให้กำลังใจกันไงคะ...สู้ๆค่ะ

ขอบคุณครับ คุณมาตายี ที่มาให้กำลังใจกันครับ

ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว เพิ่งมากล่าวคำขอบคุณครับ ขอประทานโทษด้วย คงไม่ว่ากัน แต่ได้แวะไปเยี่ยมบล๊อกของคุณมาตายี บ่อยๆ ครับ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านรองนายกฯบริหารงานด้วยความเข้มแข็ง เป็นขวัญใจของชาวบ้านตลอดไปนะครับ ขอให้ได้ขยับขึ้นเป็นท่านนายกฯโดยไวนะครับ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท