สิ่งที่น่ารู้


การเมือง (อังกฤษ: Politics) คือ กระบวนการและวิธีการ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน คำนี้มักจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐบาล แต่กิจกรรมทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุกกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งรวมไปถึงใน บรรษัท, แวดวงวิชาการ และในวงการศาสนา

ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ นักทฤษฎีการเมืองคนหนึ่ง ได้นิยามการเมืองว่า เป็นการตัดสินว่า "ใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร"

วิชารัฐศาสตร์ คือ วิชาที่ศึกษาพฤติกรรมทางการเมือง และวิเคราะห์การได้มาซึ่งอำนาจและการนำอำนาจไปใช้ ซึ่งหมายถึง ความสามารถที่จะบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามสิ่งที่ตนตั้งใจ

เราอาจเคยสงสัยและตั้งคำถามว่า เหตุใดมนุษย์จึงต้องปกครองกัน ทำไมไม่ปล่อยให้มนุษย์อยู่กันเอง กระทั่งอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า การเมืองกับการปกครองเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งหลายคนจำเพาะในกลุ่มผู้ที่ขาดความสนใจต่อความเป็นมาเป็นมาในกิจการทางการเมืองอาจฟังดูไม่กระจ่างนัก ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประการใด

คำตอบต่อความสงสัยข้อแรกนั้นโยงใยไปถึงความข้อต่อมากล่าวคือ มนุษย์นั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน หากมิได้กำหนดกติกาอะไรสักอย่างขึ้นมากำกับการอยู่รวมกันของมนุษย์แล้วนั้น มนุษย์ด้วยกันเองยังเชื่อว่าน่าจะก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นในสังคมและการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เนื่องจากโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น ป่าเถื่อน ขลาดกลัวและไม่เป็นระเบียบดังที่ โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1588-1679 ได้เคยกล่าวไว้ในผลงานปรัชญาการเมืองเลื่องชื่อเรื่อง “Leviathan” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1651 ว่า เมื่อมนุษย์จำต้องอาศัยอยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้กติกาแล้ว ก็จำเป็นอยู่ในตัวเองที่จะต้องกำหนดตัวผู้นำมาทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้สังคมหรือการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย เช่นที่กล่าวมาเราคงพอจะทราบบ้างแล้วว่าเหตุใดจึงเกิดมีระบบการปกครองขึ้น

และโดยนัยที่มนุษย์จำต้องปกครองกันนั้น หากเกิดปัญหาขึ้นในระหว่างมนุษย์ด้วยกัน หรือการจะทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นไป หลีกเลี่ยงมิได้เสียที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมือง อันมีความหมายและบริบทที่สะท้อนออกมาในเรื่องของการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน การเมืองการปกครองซึ่งเป็นสภาพการณ์และผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ (Eulau 1963, 3) จึงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ ซึ่งก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้ใดก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสนใจกับเรื่องการเมืองการปกครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (Developmental Program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นเรื่องภาคราชการทั้งหลายต่างรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ภายใต้ความมุ่งประสงค์ที่จะหยั่งรากประชาธิปไตยในสังคมไทย และหากได้มองย้อนไปถึงแนวคิดของนักปรัชญาการเมืองโบราณเช่น อริสโตเติล (Aristotle) ปรัชญาเมธีชาวกรีกโบราณ ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์” ผู้กล่าวไว้ว่า มนุษย์ตามธรรมชาติเป็นสัตว์การเมืองต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน อันแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่น ๆ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณเป็นหลัก หากแต่มนุษย์ นอกจากจะอยู่ด้วยสัญชาตญาณแล้ว ยังมีเป้าหมายอยู่ร่วมกันอีกด้วย ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของมนุษย์จึงมิใช่มีชีวิตอยู่ไปเพียงวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น หากแต่เป็นการอยู่ร่วมกันเพื่อจะให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย เราก็จะมองเห็นภาพของการเมืองในแง่หนึ่งว่าการเมืองนั้นก็คือ การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ในชุมชนหรือสังคมเพื่อให้มีความสงบสุข

ในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ มุมมองที่ใช้พิจารณาการเมืองหรือพูดเป็นศัพท์ทางวิชาการก็คือแนวการศึกษาวิเคราะห์การเมือง (Approach to Political Analysis) ก็ย่อมแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ใครจะเห็นว่าแนวการมองการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงต่อการอธิบายความเป็นการเมืองได้มากที่สุด โดยคำว่า “การเมือง” นี้ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด ตามแต่จะใช้ตัวแบบใดในการศึกษาวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางการเมือง และด้วยตัวแบบที่เป็นกรอบในการศึกษาวิเคราะห์นี้ จะยังผลให้กรอบการมองคำว่าการเมืองต่างกันไป ในขณะที่สาระสำคัญของคำจำกัดความเป็นไปในทำนองเดียวกันกล่าวคือเป็นเรื่องของการใช้อำนาจแบบสองทางระหว่างฝ่ายที่เป็นผู้ปกครอง (Rulers) และฝ่ายผู้ถูกปกครอง (Ruled) ดังจะได้ยกมากล่าวถึง ซึ่งสำหรับผู้ศึกษารัฐศาสตร์มือใหม่แล้ว การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่าการเมืองนั้น จึงดูจะเป็นเรื่องที่สร้างความสับสนอยู่มิใช่น้อย เนื่องมาจากความหมายของการเมืองที่ปรากฏอยู่ในตำราเล่มต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นเผยแพร่นั้นมีอยู่หลากหลายต่างกันไปตามความเจตนารมณ์และมุ่งประสงค์ในการนำความหมายของการเมืองเพื่อไปอธิบายปรากฏการณ์ของผู้ให้คำนิยามความหมายของการเมือง ดังได้กล่าวไปแล้ว

คำจำกัดความของการเมืองที่ชัดเจนและรัดกุมมากที่สุดโดยนัยที่ได้กล่าวไปนี้ พิจารณาได้จากทัศนะของชัยอนันต์ สมุทวณิช (2517, 61) ที่ว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปของรัฐและการจัดระเบียบความสัมพันธ์ภายในรัฐระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยเมื่อสังคมมนุษย์ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาล คนเราจึงต้องแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่บังคับกับผู้ถูกบังคับเสมอ

ผู้เรียบเรียงได้รวบรวมและประมวลคำนิยามหรือความหมายของคำว่าการเมือง มานำเสนอโดยจำแนกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มแรก การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ โดยเป็นการต่อสู้กันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและอิทธิพลในการบริหารกิจการบ้านเมือง โดยคำนิยามของการเมืองในเชิงอำนาจที่น่าสนใจอันหนึ่ง ที่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนมากได้แก่นิยามของ เพนนอคและสมิธ (Pennock and Smith 1964, 9) ที่กล่าวว่า การเมือง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม มีอำนาจในการทำให้จุดประสงค์ร่วมกันของสมาชิกในสังคมได้บังเกิดผลขึ้นมา และมีอำนาจในการประนีประนอมความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม

อีกหนึ่งคำนิยามการเมืองที่ถือได้ว่าครอบคลุมและช่วยให้เห็นภาพความเกี่ยวพันของการเมืองกับบุคคลในสังคมได้แก่ ณรงค์ สินสวัสดิ์ (2539, 3) ที่กล่าวว่า การเมืองเป็นการต่อสู้ช่วงชิง การรักษาไว้และการใช้อำนาจทางการเมือง โดยที่อำนาจทางการเมืองหมายถึง อำนาจในการที่จะวางนโยบายในการบริหารประเทศหรือสังคม อำนาจที่จะแต่งตั้งบุคคลเพื่อช่วยในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และ อำนาจที่จะใช้ข้าราชการ งบประมาณหรือเครื่องมืออื่น ๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวการมองการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ (Power Approach) ดังที่ได้ยกตัวอย่างไปนี้ เป็นแนวทางการศึกษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมชมชอบในหมู่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั่วไป ที่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องหรือมีบริบทเกี่ยวกับการใช้อำนาจเพื่อการปกครองประชาชน ก็มักให้คำนิยามของการเมืองว่าเป็นปฏิสัมพันธ์ในเชิงการใช้อำนาจของรัฐาธิปัตย์ ต่อผู้อยู่ใต้อำนาจซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง โดยคำนิยามเช่นนี้ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ออกมาจากสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ในการตรากฎหมายต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ มาจากรัฐบาลในรูปของนโยบายสาธารณะ (Public Policies) โครงการพัฒนา (development program) และงานต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นหรือดำเนินไปโดยภาคราชการ รวมไปถึงการตัดสินคดีความหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่อบุคคล และบุคคลกับรัฐ จึงล้วนแต่เป็นเรื่องที่การเมืองส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและบุคคลทั่วไป โดยบริบทดังกล่าวการศึกษาเรื่องการเมืองและการปกครองของประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแทบทุกสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษาให้นักศึกษาได้ร่ำเรียน ทำความรู้ความเข้าใจในฐานะที่อย่างน้อยก็เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม และเป็นความรู้หนึ่งที่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยสมควรสั่งสมให้แก่พลเมืองของรัฐ เพื่อประโยชน์เป็นพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นักรัฐศาสตร์บางท่านมองว่า แท้จริงนั้น การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องการต่อสู่แย่งชิงกันของกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Group) ที่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในอันที่จะแย่งชิงกันเข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้ผลผลิตจากระบบการเมือง (Political Outputs-ผลผลิตของระบบการเมือง เป็นคำศัพท์เทคนิคทางรัฐศาสตร์ตามทัศนะของอีสตัน (David Easton) นักรัฐศาสตร์อเมริกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของแนวคิดทฤษฎีการเมืองเชิงระบบ (the Systems Theory) อันได้แก่ นโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ โครงการหรือแผนงานพัฒนาของภาครัฐและภาคราชการ ซึ่งผลในทางที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด เราเรียกการวิเคราะห์การเมืองแนวทางนี้ว่าเป็น การวิเคราะห์เชิงกลุ่มผลประโยชน์ ซึ่งดูไปก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแนวการมองการเมืองเชิงอำนาจที่จะกล่าวถึงต่อไป ความหมายของการเมืองในมุมมองนี้ จึงเป็นว่า การเมืองการเมืองคือการที่บุคคลใดหรือกลุ่มใดในสังคม ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือขัดกันก็ตาม หรือมีความเห็นเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ตาม มาทำการต่อสู้เพื่อสรรหาบุคคลมาทำหน้าที่ในการปกครองและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะให้เขาสามารถตัดสินใจในเรื่องของส่วนรวมได้โดยชอบธรรม ซึ่งจัดเป็นแนวที่นักรัฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมการเมือง (Political Scientist) นิยมกัน

กลุ่มที่สอง มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรของรัฐหรือสิ่งที่มีคุณค่าทางสังคม ดังเช่นมุมมองของอีสตัน (David Easton) ซึ่งได้อธิบายไว้ว่า การเมือง เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ให้กับสังคมอย่างชอบธรรม (The authoritative allocation of values to society) ความหมายของการเมืองดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นนิยามที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสำนักพหุนิยม (Pluralism) อย่างไรก็ดี ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2535, 4-5) อธิบายว่า เราจะใช้ความหมายการเมืองดังกล่าวนี้ได้ก็ต่อเมื่อ ในสังคมนั้น ๆ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความเห็นพ้องต้องกันและยอมรับในกติกาที่กำหนดการใช้อำนาจเพื่อแบ่งปันสิ่งที่มีคุณค่าเท่านั้น ส่วนในสังคมที่ยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับกติกาการกำหนดสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม ชัยอนันต์ อธิบายว่า การเมืองยังคงเป็นเรื่องของการแข่งขันกันเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันคุณค่าที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากที่สุด เท่าที่จะเป็นได้ หรือ “The competition for the authority to determine the authoritative allocation of values to society” โดยนัยเช่นนี้ การเมืองจึงมีสองระดับ ระดับแรก การเมืองอยู่ภายใต้การแข่งขัน ขัดแย้งของฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองที่ทุก ๆ ฝ่ายยอมรับได้ ในขณะที่การเมืองในความหมายอย่างแรกดังทัศนะของนักคิดกลุ่มพหุนิยมที่ได้กล่าวไปแล้ว ดูจะยอมรับในจุดเน้นว่ารัฐ เป็นการรวมกันหรือประกอบกันของกลุ่มหลากหลายในสังคม และรัฐมิได้เป็นเครื่องมือทางการบริหาร โดยที่มิได้เป็นตัวกระทำทางการเมือง (actors) ที่จะชี้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่รัฐเป็นเพียงรัฐบาล (State as government) ที่ทำหน้าที่เพียงเอื้ออำนวยความสะดวกในการแข่งขันกันของกลุ่มหลากหลายเท่านั้น (ชัยอนันต์ สมุทวณิช 2535, 6)

นอกจากนี้ คำนิยามการเมืองในกลุ่มที่สอง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงอย่างสูงยังได้แก่ ทัศนะของลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ที่กล่าวว่า การเมือง เป็นเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลและผู้มีอิทธิพล และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับว่า ใคร ทำอะไร เมื่อไร และอย่างไร (Politics is, who gets “What”, “When” and “How”)

กลุ่มที่สาม มองว่า การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ทั้งนี้เนื่องจากทรัพยากรของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ผู้คนซึ่งต้องการใช้ทรัพยากรนั้นมีอยู่มากและความต้องการใช้ไม่มีขีดจำกัด การเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการที่คนในสังคมไม่อาจตกลงกันได้หรือเกิดมีความขัดแย้งขึ้น อย่างไรก็ดี การมองการเมืองในลักษณะนี้มีข้อโต้แย้งอยู่มากว่า หากไม่อาจยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ บ้านเมืองย่อมตกอยู่ในสภาวะยุ่งยากวุ่นวาย ต่อมาจึงมีผู้ให้มุมมองการเมืองใหม่ว่าเป็นเรื่องของการประนีประนอมความขัดแย้งมากว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง

กลุ่มที่สี่ มองว่าการเมืองเป็นเรื่องของการประนีประนอมผลประโยชน์ เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความขัดแย้งจากการดำเนินงานทางการเมืองที่ไม่มีทางออก

กลุ่มที่ห้า ถือว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐและการบริหารประเทศในกิจกรรมหลัก 3 ด้านคือ งานที่เกี่ยวกับรัฐ การบริหารประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย และการอำนวยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นการควบคุมให้มีการดำเนินงานตามนโยบาย ซึ่งหากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว การเมืองโดยนัยยะความหมายประการนี้ เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการเมืองในความหมายเชิงอำนาจ ซึ่งก็เป็นเพราะอำนาจทางการเมืองนั้น ได้ถูกนำไปใช้ผ่านกระบวนการนโยบายและการแต่งตั้งคัดสรรผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ (ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ) ในรูปของอำนาจและการปฏิบัติงานทางการปกครอง และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและการบริหารหรือการปกครองที่ยากจะแยกออกจากกันได้

กลุ่มที่หก การเมืองเป็นเรื่องของการกำหนดนโยบายของรัฐ กล่าวคือ การเมืองคือกิจกรรมใดใดที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย หน่วยงานและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย โดยนัยหนึ่ง การเมืองก็คือกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ นั่นเอง

 

นักการเมืองกับอนาคตประเทศ

 

วันที่ : 1 ตุลาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์เม็งราย

 

ในบรรดาอาชีพต่าง ๆ ที่ถูกเหน็บแนบ ดูถูกดูแคลน ไม่ให้ความเชื่อมั่นศรัทธามากที่สุด ปรากฏว่า อาชีพ “นักการเมือง” ติดหนึ่งในอาชีพที่มีคนกล่าวถึง ในเชิงเสียดสี เย้ยหยัน ดูถูกดูแคลน มาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีต มีคำกล่าวจำนวนมาก ที่ค่อนขอด เหน็บแนม นักการเมือง อาทิ อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า “ความดีของมนุษย์ต้องสิ้นสุด เมื่อเริ่มเล่นการเมือง” จอร์จ ปอมปิโด อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวไว้ว่า “รัฐบุรุษ คือ นักการเมืองที่อุทิศตัวเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ส่วนนักเมืองนั้น คือ รัฐบุรุษ ที่เอาประเทศชาติมารับใช้ตนเอง”  แม้แต่บุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมืองระดับสูง – ผู้นำประเทศที่มีชื่อเสียง ก็ยังมีคำพูดที่แสดงถึงความ “หมดศรัทธา” ในตัวนักการเมือง แฮรี่ เอส ทรูแมน ประธานาธิบดี คนที่ 33 ของสหรัฐ เคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้าต้องการมากที่สุดในทางการเมือง คือ อยากรู้วิธีเลิกเล่นการเมือง”ในประเทศเราเช่นกัน นักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจเท่าที่ควร คำเรียก นักการเมืองน้ำเน่า พวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด เป็นคำกล่าวที่เราคุ้นชินว่าหมายถึงใครถึงกระนั้น ไม่ว่า นักการเมือง จะถูกกำหนดนิยามเช่นไร แต่แท้จริงแล้วนักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่สำคัญยิ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นผู้ได้รับสิทธิโดยชอบธรรมจากการเลือกของประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศ พวกเขาเป็นกลุ่มบุคคลที่จะชี้อนาคต ชี้ความเป็นความตายของประเทศชาติ และประชาชน แท้จริงแล้ว นักการเมือง โดยตัวมันเองแล้วมีความเป็นกลาง (neutral) และในความเป็นจริงนักการเมืองจำนวนมากในโลกนี้ เป็นคนดี มีอุดมการณ์ มีจิตสาธารณะ ปรารถนาทำสิ่งดีเพื่อประชาชน เพื่อสังคม เพื่อชาติ อาจเป็นกลุ่มที่เรียกว่า นักการเมืองน้ำดี ซึ่งถ้าเรารวมกลุ่ม นักการเมืองน้ำดี ให้มีจำนวนที่มากขึ้น และรวมพลังกันอย่างเข้มแข็ง อนาคตของประเทศ ย่อมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน ในช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใกล้เข้ามา เป็นโอกาสอีกครั้งที่ประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้แทนของตน ทว่า..นักการเมืองน้ำดีมีโอกาสมากน้อยเพียงใดนั้น เมื่อมองอนาคตประชาธิปไตยไทย หากดำเนินต่อไปในสภาพที่เป็นอยู่ แม้ว่าเราจะสามารถแก้ไขระบบให้ดี แก้รัฐธรรมนูญที่มั่นใจได้ว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด แต่อนาคตประชาธิปไตยคงเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้รากแก้ว ย่อมไม่สามารถต้านทานลมพายุที่พัดผ่านมาได้ หากบุคคลที่สำคัญที่สุด 2 กลุ่ม อันได้แก่ ประชาชน และนักการเมือง ขาดความสำนึกในคุณค่าของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่สนใจที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย และหากพรรคการเมืองยังไม่ได้เป็นพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น อนาคตประเทศจะเป็นเช่นไรจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ มีนักการเมืองน้ำดีจำนวนมาก นักการเมืองน้ำดี ในที่นี้ หมายถึง นักการเมืองที่มีอุดมการณ์ เป็นผู้ที่มี “เป้าหมายชีวิตชัดเจน” คือ เป็นนักการเมืองเพื่อสังคม โดยมิได้มองว่า นักการเมืองเป็นเพียง “อาชีพหนึ่ง” ที่มีเพื่อสร้างรายได้ เพื่อความอยู่รอด แต่เป็นมืออาชีพที่ทำให้เป้าหมายสำเร็จ มิใช่เพื่อประโยชน์ของเรา แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ผมคิดว่า ถ้าเราต้องการหาเงิน เราไม่ควรเป็นนักการเมือง เพราะนั่นเป็นทาง “ฆาตกรรมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของตนเอง แต่ควรตระหนักว่า นักการเมือง คือ อาชีพที่มีเกียรติ เพราะเป็นตัวแทนประชาชน เพื่อทำประโยชน์แก่ประชาชน ควรได้รับคำสรรเสริญเป็นรางวัล ไม่ใช่คำสาปแช่ง ที่สำคัญ นักการเมืองต้องตระหนักว่า ตนเองไม่ได้เป็นเพียง “ตัวแทน” ประชาชน เท่านั้น แต่อยู่ในบทบาท “ผู้นำ” ประชาชนด้วย แต่จะเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราต้องการ นำประชาชนเพื่ออะไร หากเรานำเพื่ออนาคตที่ดีของประเทศชาติ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน เพื่อสร้างปราสาทคอนกรีต ไม่ใช่ปราสาททราย นักการเมืองผู้นั้น ย่อมนับได้ว่าเป็น นักการเมืองที่มีเกียรติ มีคุณค่ามีพรรคการเมืองที่เป็นของประชาชน แนวคิดการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุนเป็นแนวคิดที่ผมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ.2548 ผมได้สื่อสารแนวคิดนี้แก่ผู้มาฟังคำปราศรัย ได้กล่าวเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาค นอกจากนี้ ได้เสนอว่า ต้องแก้กฎหมายเพื่อจำกัดวงเงินสนับสนุนพรรคการเมืองของกลุ่มทุน เพื่อเปิดโอกาสให้ “คนดี-คนเก่ง” เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ “คนรวย” เท่านั้น หากแนวคิดนี้ขยายผลสู่ภาคปฏิบัติที่กว้างขวางขึ้น เราจะมีนักการเมืองที่เป็น “ตัวแทน” ประชาชน ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากขึ้นอย่างแน่นอนประชาชนทุกคนควรจับตาดูว่า นักการเมืองที่สมัครเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรในสมัยเลือกตั้งที่จะมาถึงนั้น เป็นกลุ่มบุคคลเช่นไร เป็นนักการเมืองน้ำดีที่พร้อมจะเข้ามาลบล้างภาพ นักการเมืองเดิม ๆ ที่ถูกดูหมิ่น ดูแคลน และแทนที่ด้วยคำยกย่อง ชื่นชม จากประชาชนเพราะช่วยแก้ปัญหาและนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ ประชาชนทุกคนต้องตั้งใจพิจารณาดู

 

 ข้าราชการ คือ ผู้ทำงานของพระราชา ฉะนั้นข้าราชการจึงต้องทำงานตามรอยพระยุคลบาท อย่างแรกต้องยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการ..."เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"  และทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ มีความเพียรความอดทน เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วยดี เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์และมีความสุข...ที่สำคัญต้องฝึกตนให้รักประชาชนดังเช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรักประชาชน...การทำสิ่งต่าง ๆ ให้คน
ที่เรารัก..ย่อมทำด้วยความเต็มใจ ทำแต่สิ่งดี ๆ ให้คนที่เรารัก...ซึ่งจะส่งผลให้เกิด
ความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมานั้น เห็นได้ชัดเจนว่า ค่านิยมของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นไปในลักษณะที่รับใช้พระมหากษัตริย์หรือพระเจ้าแผ่นดิน คือ เป็น "ข้าของ แผ่นดิน" ทั้งนี้ เพราะคำว่า "ราชการ" เป็นคำย่อ คำศัพท์เต็มเรียกว่า "ราชการของพระผู้เป็นเจ้า" พระผู้เป็นเจ้านั้น หมายถึง พระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหลังจากการพิธีพระบรมราชาภิเษก ด้วยเหตุนี้ระบบราชการสมัยนั้น จึงเป็นระบบที่มีลักษณะพิเศษ จะเรียกว่า เป็นกึ่งศาสนาก็ได้ แต่ไม่ใช่ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ หรือศาสนาอื่นใด เป็นอีกศาสนาหนึ่งซึ่งมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าราชการที่ทำราชการของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็เปรียบได้กับพระในศาสนา เป็นบุคคลที่มีหน้าที่พิเศษ มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไปแต่คอยรับใช้พระผู้เป็นเจ้า เป็นข้าของพระผู้เป็นเจ้า ราชการก็เป็นราชการของพระผู้เป็นเจ้า ฐานะของข้าราชการนั้น จึงเป็นฐานะที่ค่อนข้างจะสูง เป็นฐานะที่มีความขลัง มีความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาปนอยู่ด้วย ข้าราชการสมัยก่อนนึกและเข้าใจเช่นนั้น ไม่นึกว่าตนเองเป็นคนธรรมดาสามัญ ขณะเดียวกัน ข้าราชการก็มีระเบียบ มีศีล มีวินัยที่ต้องปฏิบัติตามเช่นเดียวกับพระในศาสนาอื่น ๆ โดยศีลหรือวินัยของข้าราชการนั้นแตกต่างไปจากคนธรรมดาสามัญ มีความพิเศษเหนือกว่า มีความยับยั้งชั่งใจมากกว่าคนธรรมดา และอยู่ได้ด้วยอำนาจและบารมีของพระผู้เป็นเจ้า คือพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดความผูกพันและเป็นความยึดเหนี่ยวระหว่างข้าราชการกับองค์พระประมุขของประเทศต่อเนื่องกันมาช้านาน "

ข้าราชการ  คือ ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้บริหารงานของแผ่นดิน

โดย..เนติวิทย์ ขาวดี

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    พระราชทานแก่ ...ข้าราชการพลเรือนเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน  ปีพุทธศักราช  2550   “ งานของแผ่นดินนั้น เป็นงานส่วนรวม  มีผลเกี่ยวเนื่องถึงความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลงของบ้านเมือง และสุขทุกข์ของประชาชนทุกคน   ข้าราชการผู้ปฏิบัติบริหารงานของแผ่นดิน   จึงต้องสำนึกตระหนักในความรับผิดชอบที่มีอยู่   และตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มกำลังความสามารถ   ด้วยความเข้มแข็งสุจริต   และด้วยปัญญา  รู้คิดพิจารณา   ว่าสิ่งใดเป็นความเจริญ   สิ่งใดเป็นความเสื่อม  อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ   อะไรเป็นสิ่งที่ต้องละเว้น  และจำกัด   อย่างชัดเจน  ถูก  ตรง”   ข้าราชการไทยทุกคนควรน้อมนำเอาพระบรมราโชวาทดังกล่าวมาเป็นหลักในการทำงาน   เพื่อมุ่งสร้างความสุขสวัสดีแก่พี่น้องประชาชน    

          ข้าราชการ      จะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ของข้าราชการที่ว่า    “ ข้าราชการ  คือ ผู้ทำงานให้ประชาชนชื่นใจ ”   ต้องสร้างจิตสำนึกในการเป็นผู้ให้บริการประชาชน ยึดหลักความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ ไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ต้องวางตัวเป็นกลาง  ปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างของข้าราชการและประชาชน ตลอดจนยึดมั่นในศีลธรรมอันดี โดยยึดหลักการประพฤติและปฏิบัติตน ดังต่อไปนี้

                1.  การครองตน

                   1.1  ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรม   คือ  ต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี   ต้องปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดี  และต้องมีความเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียง ต้องยึดถือและประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในหลักธรรมตลอดเวลา  และจะต้องตระหนักว่าตนมีภารกิจที่สำคัญ คือ “จะต้องดูแลประชาชนให้ดีที่สุด” 

                   1.2   มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีเมตตาธรรม ไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชน  สงเคราะห์ทุกคนเป็นญาติ เพราะชีวิตการเป็นข้าราชการต้องมีการพบปะรู้จักบุคคลหลายฝ่าย   ไม่ใช่ญาติก็เสมือนญาติ  การโยกย้ายสถานที่ทำงาน การเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง  ทำให้รู้จักบุคคลมากมาย ซึ่งจะต้องให้การสงเคราะห์ตามสมควรแก่กรณี ทั้งในหน้าที่การงาน และส่วนตัว ตามวิธีทางที่ถูกต้อง

                   1.3  ยึดมั่นในแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อสร้างประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  และมีสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประชาชน

                   1.4   ต้องมีความอดทน  เพราะข้าราชการจะต้องพบกับปัญหาหลาย ๆ รูปแบบ จึงต้องมีความอดทนต่อปัญหาเหล่านั้น  ทั้งต่อความลำบากของท้องที่   อดทนต่อความรู้สึกทางใจเพราะอาจถูกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลด่าว่าให้เสียหายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามที่เขาว่า  เพราะฉะนั้น  ข้าราชการจะต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุด 

              2.   การครองคน

               การเป็นข้าราชการที่ดีจะต้องมีความสามารถในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถจูงใจให้เกิดการยอมรับและให้ความร่วมมือ  หลักในการครองคน  จะต้องยึดหลัก  การทำงานเป็นทีม  (Team  Work)  เพื่อสร้างความร่วมมือ  ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดตั้งแต่ต้น  คือ วางเป้าหมายร่วมกันว่าจะเดินไปทิศทางใดตลอดจนยึดหลักมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นกันเอง มีความจริงใจ  และยึดหลักการ “เข้าถึงคน   เข้าถึงใจ   เข้าถึงพื้นที่ที่รับผิดชอบ” 

  ข้าราชการที่ดีจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม ค่านิยมของตัวเองให้เอื้อต่อการพัฒนาระบบราชการ โดยเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการบริหารความรู้( KM )   และสร้างการมีส่วนร่วม(Participation) การบริหารงานของ ข้าราชการ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานหรือผู้บริหารงานในพื้นที่จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการทำงานให้มากยิ่งขึ้นจะต้องดำเนินงานให้มีการผนึกกำลังร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่   จะต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาและประชาชนร่วมดำเนินการ  ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน เอกชน กลุ่มองค์กรต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข ของประชาชน  และชุมชนมีความเข้มแข็งตลอดไป (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

คำสำคัญ (Tags): #netword
หมายเลขบันทึก: 381865เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2010 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท